สรุปรายการลดหย่อนภาษี 2566 เช็กเพื่อวางแผนได้ทันที
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

สรุปรายการลดหย่อนภาษี 2566 เช็กเพื่อวางแผนได้ทันที

icon-access-time Posted On 18 สิงหาคม 2566
By Krungsri The COACH
คนไทยทุกคนที่มีเงินเดือนประจำตั้งแต่ 120,000 บาท/ปี หรือมีรายได้ประเภทอื่นตั้งแต่ 60,000 บาท/ปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี โดยไม่เกี่ยวข้องกับอายุแต่อย่างใด ส่วนจะต้องเสียภาษีเท่าไรนั้นจะขึ้นอยู่กับฐานของเงินได้สุทธิในแต่ละปี ซึ่งทุกคนสามารถวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้สามารถประหยัดภาษีลงไปได้ หรืออาจจะไม่ต้องเสียภาษีเลยหากเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้วเหลือไม่เกิน 150,000 บาท/ปี ด้วยเหตุนี้เอง การวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีจึงควรทำตั้งแต่เริ่มต้นปี เพราะจะช่วยให้สามารถคำนวณสิทธิลดหย่อนแบบเต็มอัตราได้ และค่าลดหย่อนบางประเภทยังเป็นแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณได้ด้วย มาเริ่มต้นทำความเข้าใจกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เราจะได้รับเพิ่มเติม อัปเดตเลยว่าค่าลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงรายละเอียดอย่างครบถ้วนเลยทีเดียว
 
การลดหย่อนภาษีคืออะไร

การลดหย่อนภาษีคืออะไร

การลดหย่อนภาษี หรือที่เรียกว่า “ค่าลดหย่อน” นั้น คือ รายการใช้จ่ายที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้มีเงินได้สามารถนำไปหักออกจากเงินได้ หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วเพิ่มเติมได้ และวิธีนี้ไม่ใช่การเลี่ยงภาษี แต่เป็นรายการที่กฎหมายอนุญาตให้ทุกคนทำได้

วิธีการคำนวณเงินได้สุทธิ คือ “(รายได้รวมต่อปี - ค่าใช้จ่าย) - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ”

ซึ่งยิ่งมีค่าลดหย่อนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้คุณจ่ายภาษีน้อยลง เนื่องจากเหลือเงินได้สุทธิที่ลดลง โดยปัจจุบันคุณสามารถคำนวณภาษีได้สะดวกและง่ายมากขึ้น ผ่านเครื่องมือคำนวณภาษีของธนาคารกรุงศรีอยุธยานี้
 
ค่าลดหย่อนภาษีพื้นฐาน

รายการพื้นฐานที่ใช้สำหรับลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง

รายการลดหย่อนภาษีตามที่กฎหมายกำหนดในแต่ละปีจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้การสนับสนุน และกระตุ้นให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมในเรื่องการลงทุนมากขึ้น ดังนั้นในแต่ละปีจะต้องตรวจเช็กว่า มีรายการลดหย่อนภาษีอะไรบ้างที่ใช้ได้ มาอัปเดตของปี 2566 กันเลย
 

ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว และครอบครัว

  1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว
    หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท เป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ที่มีรายได้ทุกคน ที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ทันที
  2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส
    หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท ซึ่งคู่สมรสต้องไม่มีรายได้ และจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หากคู่สมรสมีรายได้ต้องพิจารณาว่า ต้องการยื่นรายได้รวมกันหรือแยกกัน
  3. ค่าลดหย่อนบุตร
    1. บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ ต้องอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 21-25 ปีที่กำลังศึกษากำลังศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป
      • บุตรที่เกิดก่อนปี 2561 หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
      • บุตรที่เกิดหลังปี 2561 คนแรกหักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาท คนที่ 2 เป็นต้นไปหักค่าลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท
      • ใช้ลดหย่อนได้ตามจำนวนบุตรจริง
      • บุตรที่นำมาใช้สิทธิจะต้องมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/ปี
    2. บุตรบุญธรรม ต้องจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมาย
      • หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 3 คน
      • หากมีบุตรชอบด้วยกฎหมายด้วย จะต้องใช้และนับสิทธิก่อน หากใช้ครบแล้ว 3 คน จะไม่สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้อีก
      • บุตรบุญธรรมที่นำมาใช้สิทธิจะต้องมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/ปี
    3. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร หักได้ตามจริงที่จ่ายให้สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท/การตั้งครรภ์ หากเป็นครรภ์ฝาแฝดจะนับเป็น 1 การตั้งครรภ์
  4. ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
    • หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
    • สามารถหักลดหย่อนได้ทั้งของตนเองและของคู่สมรส รวมสูงสุด 4 คน
    • บิดา มารดาที่นำมาใช้สิทธิ ต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท
    • ในกรณีครอบครัวนั้นมีบุตรหลายคน พี่น้องจะสามารถนำบิดา มารดา ไปใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีซ้ำได้
    • บุตรบุญธรรม ไม่สามารถนำบิดา มารดา ที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมมาลดหย่อนได้
  5. ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ
    • หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
    • ผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ และต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะของผู้มีรายได้
    • ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้มีเงินได้ จะสามารถใช้สิทธิได้ทั้ง 2 ส่วน และไม่จำกัดจำนวนคน เช่น กรณีอุปการะเลี้ยงดูบิดา หักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาท และบิดาเป็นผู้พิการ ก็จะได้ค่าลดหย่อนเพิ่มอีก 60,000 บาท รวมแล้วสามารถหักค่าลดหย่อนได้ 90,000 บาท หรือกรณีเป็นคู่สมรสจะหักได้ถึง 120,000 บาท เป็นต้น
    • ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ไม่ได้เป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้มีเงินได้ จะสามารถใช้สิทธิได้เพียง 1 คน

11 ค่าลดหย่อนภาษี จากการซื้อประกัน การออมเงิน และการลงทุน

  1. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
    หักค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่บังคับหักเข้ากองทุน 5% ของเงินเดือนทุกเดือน โดยมีขั้นต่ำ 83 บาท/เดือน และสูงสุด 750 บาท/เดือน (จำนวนสูงสุดจะคิดที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท เท่านั้น)
  2. เบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันแบบสะสมทรัพย์
    • ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้เท่ากับเบี้ยที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
    • กรมธรรม์ที่ทำต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
    • ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น
    • หากคู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถนำเบี้ยประกันของคู่สมรสมาลดหย่อนได้เพิ่มเติม และสูงสูด 10,000 บาท
      ในกรณีที่คุณยังไม่ได้ทำประกันชีวิต และกำลังมองหาแบบประกันชีวิตที่เข้ากับคุณ สามารถเข้าไปดูข้อมูลประกันชีวิตลดหย่อนภาษีผ่านเว็บไซต์ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ทันที
  3. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุเฉพาะความคุ้มครองสุขภาพ
    หักค่าลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 25,000 บาท ทั้งนี้เมื่อนำเบี้ยประกันสุขภาพ ประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์มารวมกัน จะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  4. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
    • หักค่าลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
    • กรมธรรม์ที่ทำต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
    • ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น อย่างเช่น ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีแบบบำนาญจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา
    • ต้องมีเงื่อนไขการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ และต้องกำหนดช่วงอายุของการจ่ายเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55-85 ปีขึ้นไป
  5. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา
    สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนภาษีเท่าที่จ่ายจริง และเมื่อรวมทั้งบิดาและมารดาต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดยที่บิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ในส่วนนี้จะไม่มีเงื่อนไขอายุของบิดามารดาที่ต้องครบ 60 ปีขึ้นไป
  6. เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
    สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง และต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  7. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
    นำมาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้หากสนใจที่จะลงทุนใน กอช. จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ
    • ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 15-60 ปี
    • ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนภายใต้ระบบประกันสังคม ยกเว้นผู้ประกันตนมาตรา 40 (1)
    • ไม่ได้เป็นข้าราชการ และสมาชิก กบข., ไม่ได้เป็นสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และไม่ได้เป็นพนักงานประจำ
    • เข้าใจง่าย ๆ ว่า เป็นกองทุนสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งไม่ได้มีนายจ้างนั่นเอง
  8. การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
    เงินที่ลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีอย่าง RMF (Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง โดยจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  9. การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
    เงินที่ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี SSF (Super Saving Funds) สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง โดยจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ปัจจุบันจะให้สิทธิลดหย่อนได้ 5 ปี คือ ปี 2563-2567
  10. เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
    หักค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องลงทุนหรือลงหุ้นในธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมภายในข้อกำหนดของ พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 และหากเป็นการลงทุนในหุ้น มีข้อบังคับให้ต้องถือหุ้นจนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น ๆ จะเลิกกิจการ
  11. การลงทุนใน กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG)
    เงินที่ซื้อกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง โดยจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ปัจจุบันจะให้สิทธิลดหย่อนได้ 10 ปี คือ ปี 2566-2575

อย่าลืม!!! : คำนวณอัตราสูงสุดที่ใช้ลดหย่อนได้ เพื่อความคุ้มค่าในการลงทุนและประหยัดภาษี
  1. ประกันชีวิต + ประกันแบบสะสมทรัพย์ + ประกันสุขภาพ + ประกันอุบัติเหตุเฉพาะความคุ้มครองสุขภาพ = 100,000 บาท
  2. ประกันชีวิตแบบบำนาญ + กองทุนเพื่อการเกษียณอายุ* = 500,000 บาท
*กองทุนเพื่อการเกษียณอายุในปัจจุบัน คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
 

ลดหย่อนภาษีด้วยเงินบริจาค

  1. เงินบริจาคทั่วไป
    เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  2. เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน คือ
    • สถานศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน
    • สถานพยาบาลของรัฐ
    • การบริจาคผ่าน e-Donation ผ่านสภากาชาด, กองทุนยุติธรรม, หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย, กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กองทุนสนับสนุนการวิจัยตามกฎหมาย, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขม, กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้ง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก, การจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน ให้กับสถานศึกษาของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษา, โครงการฝึกอบรมอาชีพ สถานพักฟื้น บำบัด และฟื้นฟูเด็ก และเงินบริจาคให้คนพิการเพื่อการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ
  3. เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง
    นำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
ทั้งนี้การลดหย่อนผ่านเงินบริจาค ต้องมีการอัปเดตเงื่อนไขจากภาครัฐอยู่เสมอ เพราะอาจมีทั้งองค์กรที่เพิ่มขึ้น และเงื่อนไขการรับบริจาคที่ปรับปรุงใหม่
 

ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมผ่านมาตรการรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

  1. ดอกเบี้ยบ้าน
    สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง และสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  2. ช้อปดีมีคืน สำหรับลดหย่อนภาษี 2566
    • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 - 15 กุมภาพันธ์ 2566
    • สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท
    • 30,000 บาทแรก ต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ทั้งแบบกระดาษ และแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
    • 10,000 บาทที่เหลือ ต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ เฉพาะแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
    • ทั้งนี้ผู้มีเงินได้ต้องเก็บรักษาใบกำกับภาษีไว้เป็นหลักฐาน ทั้งแบบกระดาษและแบบอิเล็กทรอนิกส์ หากเป็นกระดาษที่หมึกจางหายได้ แนะนำให้สแกนไฟล์หรือถ่ายเอกสารประกบไว้อีก 1 ชุด
วิธีเช็กค่าลดหย่อนภาษี

วิธีตรวจสอบสิทธิลดหย่อนภาษี 2566 ที่ทำได้ด้วยตัวเอง

  1. เริ่มต้นโดยเข้าไปยังเว็บไซต์กรมสรรพากร
  2. คลิกเลือกเมนู My Tax Account ซึ่งจะเป็นบริการตรวจสอบข้อมูลภาษี รวมถึงค่าลดหย่อนด้วย
  3. ก่อนใช้งานต้องลงทะเบียน หรือล็อกอินด้วยบัญชีเดียวกับระบบ e-Filing
  4. เลือกรายการลดหย่อนเพื่อตรวจสอบ

ข้อแนะนำในการลดหย่อนภาษี 2566

  1. ควรมีการวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปี เพื่อให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า ในปีภาษีนั้น ๆ ควรใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเท่าไหร่ เช่น ค่าลดหย่อนภาษีปี 2566 มีอะไรบ้างที่อัปเดตขึ้นมาใหม่ ต้องใช้เงินเพื่อลดหย่อนจำนวนเท่าไหร่ที่จะครอบคลุมเงินได้ในปีภาษี 2566 ทั้งหมด และมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องลดหย่อนเต็มอัตรา ซึ่งจะทำให้คุณสามารถบริหารเงินสดในแต่ละปีได้ดีขึ้น ไม่ต้องใช้เงินสดจำนวนมากเพื่อลดหย่อนในช่วงโค้งสุดท้ายของปี
  2. ระยะเวลายื่นภาษี ผู้มีรายได้ที่ต้องยื่นภาษี สามารถยื่นภาษีแบบกระดาษได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม ของทุกปี และหากไม่สะดวกไปยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เอง ก็สามารถยื่นภาษีทางออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 เมษายน ซึ่งหากตรงกับวันหยุดจะเลื่อนวันสิ้นสุดออกไป ทั้งนี้ในแต่ละปีภาครัฐอาจจะมีนโยบายขยายระยะเวลาสิ้นสุดมาบังคับใช้เพิ่มเติมด้วย
  3. ระวัง!!! ไม่ยื่นแบบ ยื่นล่าช้า ยื่นผิด มีโทษปรับและจำคุก
    • ไม่ยื่นแบบ ยื่นเกินเวลา มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
    • ยื่นแบบเกินเวลาและมีภาษีต้องชำระ มีค่าปรับเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
    • ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ไม่จ่ายภาษีภายใน 31 มีนาคม ต้องไปยื่นแบบที่สำนักสรรพากรพื้นที่ และมีค่าปรับร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
    • กรณีกรมสรรพากรตรวจพบว่า คุณไม่ยื่นแบบและออกหมายเรียก หรือยื่นแล้วแต่ชำระภาษีไม่ครบ ต้องชำระเงินเพิ่ม และต้องเสียเบี้ยปรับ 1 หรือ 2 เท่า ของภาษีที่ต้องชำระ
    • จงใจยื่นแบบด้วยข้อมูลเท็จ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และมีโทษปรับ 2,000 - 200,000 บาท
    • ตั้งใจละเลยไม่ยื่นแบบเพื่อเลี่ยงภาษี มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. สามารถผ่อนชำระภาษีได้ หากมียอดชำระภาษีตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป สามารถผ่อนชำระได้ 3 เดือน แต่ต้องระวังไม่ให้จ่ายภาษีเกินกำหนด เพราะจะมีโทษปรับร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
  5. ช่องทางติดต่อกรมสรรพากร หากมีข้อสงสัยเกี่ยวการยื่นภาษี สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161 ทุกวันทำการ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. - 18.00 น.

จะเห็นได้ว่า การวางแผนการลดหย่อนภาษีนั้นเกี่ยวข้องกับทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องเสียภาษีเพื่อนำไปพัฒนาประเทศต่อไป และเพื่อให้สามารถประหยัดภาษีได้อย่างคุ้มค่าในแต่ละปี การรักษาสิทธิด้วยค่าลดหย่อนเป็นอีกสิ่งที่ต้องมีในแผนการเงินของทุกคน โดยเฉพาะกับการลงทุนในกลุ่มประกันชีวิตและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุต่าง ๆ เช่น SSF ลดหย่อนภาษี หรือ RMF ลดหย่อนภาษี ที่นอกจากจะช่วยลดภาษีลง ยังถือว่าเป็นการวางแผนเกษียณไปในตัว ซึ่งหากท่านใดต้องการคำแนะนำที่เหมาะสมกับตนเองโดยเฉพาะ สามารถปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมกับทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน การลงทุน การวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษี ที่สามารถให้คำปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-296-5959 ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 9.00 น.-17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาติดต่อกลับก็ได้เช่นกัน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุนรวม SSF เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม และ RMF ลงทุนเพื่อเกษียณอายุ ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา