วางแผนหลังเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน เมื่อมีเงินก้อนจัดการอย่างไรดี
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วางแผนหลังเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน เมื่อมีเงินก้อนจัดการอย่างไรดี

icon-access-time Posted On 21 ธันวาคม 2565
by Krungsri The COACH
รู้หรือไม่ว่าเมื่อถึงเวลาเกษียณจากงานไม่ว่าคุณจะเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน หรือรับราชการก็ตามคุณจะได้รับเงินก้อนที่เปรียบเสมือนเงินขวัญถุงให้แก่คุณยามเกษียณ ซึ่งปัญหาของเงินก้อนนี้ คุณจะต้องวางแผนให้ดี เพื่อคุณจะได้มีเงินเพียงพอในการจัดสรรปันส่วนสำหรับค่าใช้จ่ายและนำเงินไปต่อยอดได้ในอนาคต
 
เงินเกษียณอายุ

การวางแผนเตรียมเกษียณ ไม่จำเป็นจะต้องรอใกล้เกษียณก็สามารถเตรียมตัวได้ตั้งแต่ต้น เพื่อที่คุณจะได้วางแผนการเงินในระยะยาว

เงินเกษียณอายุมาจากไหน

สิทธิประโยชน์ที่คุณจะได้รับหลังเกษียณ หลัก ๆ แล้ว หากคุณเป็นมนุษย์เงินเดือน คุณจะได้รับสิทธิประโยชน์หลังเกษียณ ดังนี้


“รู้หรือไม่ เกษียณ ก็สามารถได้รับเงินชดตามกฎหมายแรงงาน”


หลายคนมักเข้าใจว่า เมื่อเกษียณแล้วคุณจะได้รับเงินรายเดือนเพียงก้อนสุดท้ายเท่านั้น แต่ยังจะได้รับเงินก้อนที่มาจากการชดเชยตามกฎหมายอีกด้วย และการเกษียณไม่จำเป็นจะต้องมีอายุ 60 ปีเท่านั้นถึงจะเกษียณได้ ซึ่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้มี 2 กรณีด้วยกัน ได้แก่
  1. กรณีเกษียณตามที่ได้ตกลงกันไว้ จะเป็นการทำข้อตกลงกันระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ที่วางแผนไว้ร่วมกันว่าจะเกษียณได้ต้องมีอายุถึงที่ได้ตกลงกัน ซึ่งอาจจะเกิน 60 ปี หรือต่ำกว่านั้น
  2. กรณีเกษียณโดยไม่ได้มีการตกลงกัน ระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิ์ขอเกษียณอายุได้ โดยต้องแจ้งให้นายจ้างทราบก่อนเกษียณ 30 วัน
ประเภทของเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจะมีอยู่หลายประเภท ซึ่งคุณจะได้รับเงินชดเชยก็ต่อเมื่อทำงานจนครบเกษียณอายุการทำงาน โดยบุคคลที่จะได้รับเงินชดเชยกรณีเกษียณอายุ มีเกณฑ์ดังต่อไปนี้
 

คุณสมบัติลูกจ้างที่มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุ

  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จะได้เงินชดเชย 30 วัน
  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้รับเงินชดเชย 90 วัน
  • ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับเงินชดเชย 180 วัน
  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จะได้รับเงินชดเชย 240 วัน
  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี จะได้เงินชดเชย 300 วัน
  • ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป จะต้องได้รับเงินชดเชย 400 วัน

เงินบำเหน็จบำนาญหลังเกษียณ

ในกรณีที่คุณทำงานราชการ คุณมีสิทธิ์เลือกว่าจะรับบำเหน็จหรือบำนาญ โดยการสนับสนุนหลังเกษียณทั้ง 2 ประเภทนี้จะไม่เหมือนกัน

เงินบำนาญ คือ ผู้เกษียณยังคงรับสิทธิประโยชน์จากสวัสดิการต่าง ๆ ของราชการอยู่ เช่น สวัสดิการด้านการเบิกค่ารักษาพยาบาล และได้รับเงินก้อนสมทบจากกบข. (กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ)

เงินบำเหน็จ คือ ผู้เกษียณเลือกรับเงินก้อนอย่างเดียว แทนการเลือกรับสวัสดิการข้าราชการ และได้รับเงินก้อนสมทบจากกบข. ซึ่งผู้ที่เลือกรับเงินบำเหน็จจะต้องวางแผนการใช้จ่ายเงินที่จะได้รับให้ดี เพื่อที่จะได้เพียงพอต่อการใช้จ่ายตลอดชีวิต
 

เงินเกษียณจากกองทุนประกันสังคม

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานราชการ ไม่ต้องเสียใจไปเพราะผู้ที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ยังมีกองทุนประกันสังคมที่มอบเงินก้อนให้คุณในยามเกษียณ คุณอาจมองข้ามไป แต่ประกันสังคมที่คุณถูกหักจากเงินเดือนในอัตรา 5% ของทุกเดือน (ไม่เกิน 750 บาท) คุณยังได้สิทธิ์อื่น ๆ นอกจากสิทธิ์การรักษาพยาบาลอีกด้วย

เงินที่คุณจะได้รับจากกองทุนประกันสังคมในกรณีเกษียณ จะขึ้นอยู่กับอายุการทำงาน จำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ ซึ่งหมายความว่าแต่ละคนจะได้รับเงินเกษียณจากกองทุนประกันสังคมไม่เท่ากัน โดยคุณสามารถตรวจสอบ เช็กสิทธิประกันสังคมทุกสิทธิผ่าน SSO CONNECT เพื่อที่จะได้วางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือนได้ตั้งแต่ตอนนี้
 

เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

บางคนอาจไม่ได้รับเงินก้อนนี้ เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(PVD) จะไม่ได้มีทุกบริษัท ซึ่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเป็นการตกลงกันระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างแบบสมัครใจ โดยเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บออมเป็นเงินสำรองไว้ให้แก่ลูกจ้างในกรณีจำเป็นต่าง ๆ อย่างการทุพพลภาพ การเสียชีวิต ไปจนถึงการเกษียณ โดยเงินสะสมนั้นจะหักจากเงินเดือนของลูกจ้างทุก ๆ เดือน (ประมาณ 2-15% ของค่าจ้าง) และมีเงินที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนเป็นเงินสมทบอีกด้วย ซึ่งเงินที่อยู่ในกองทุนจะถูกนำไปบริหารให้เกิดประโยชน์โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)

วิธีการจัดการเงินก้อน วางแผนหลังเกษียณให้มีเงินใช้ 

วางแผนทางการเงิน

เชื่อว่าทุกคนก่อนที่จะตัดสินใจเกษียณ ต้องมีการวางแผน และมองอนาคตไว้แล้ว แต่ก็อย่าลืมจัดการกับเงินก้อนที่คุณจะได้รับหลังจากการเกษียณด้วย ไม่ว่าจะเป็นเงินจากการเก็บออมส่วนตัว หรือเงินก้อนที่เป็นสวัสดิการหลังเกษียณต่าง ๆ อันดับแรกคือ ให้คุณนำเงินก้อนที่มีอยู่เหล่านี้มาแบ่งเป็นสัดส่วน เพื่อนำเงินที่มีไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด และวางแผนด้านการใช้เงินในแต่ละเดือนอย่างรอบคอบ
 

วางแผนการใช้เงินในแต่ละเดือนอย่างรอบคอบ

การบริหารเงินเกษียณในแต่ละเดือน ยิ่งมีวินัยในการควบคุมการใช้เงิน มีการบริหารจัดการรายจ่ายได้ดีมากพอ จะทำให้คุณไม่ไปรบกวนเงินในส่วนที่จัดสรรไว้ ที่สำคัญควรมีการวางแผนการใช้เงินในแต่ละเดือนให้ดี และพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เพราะหลังจากที่คุณเกษียณจะได้ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการอยู่บ้าน ค่าใช้จ่ายข้างนอกบ้านอาจลดลง แต่ค่าใช้จ่ายในบ้านก็จะเพิ่มขึ้นแทน การวางแผนการเงินหลังเกษียณที่ดีจะช่วยให้คุณบริหารค่าใช้จ่ายได้เพียงพอตลอดชีพ
 

เก็บเป็นเงินสำรองสำหรับค่ารักษาพยาบาล

อายุมากขึ้นเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง โอกาสที่คุณจะเจ็บป่วยมีได้สูง ทั้งเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงอาการเจ็บป่วยของโรคประจำตัวผู้สูงอายุ ซึ่งการที่คุณมีเงินก้อนสำรองจะเป็นเงินที่คอยช่วยซัพพอร์ตคุณในยามจำเป็นได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นควรวางแผนเกษียณ ด้วยการแบ่งเงินก้อนที่ได้รับหลังเกษียณส่วนหนึ่งมาเป็นเงินเก็บสำรองที่สามารถนำมาใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน

 

วางแผนมรดกให้ลูกหลาน

จำนวนเงินก้อนที่คุณได้รับแน่นอนว่าเป็นเงินที่มาก หากคุณไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินก้อนนี้ และเก็บเงินก้อนนี้ไว้เป็นเงินเย็น คุณอาจต้องนึกถึงเรื่องการทำพินัยกรรมสักหน่อย หลายคนอาจคิดว่าการทำพินัยกรรมอาจเป็นการแช่งตัวเองหรือเปล่า? อันที่จริงแล้วไม่ใช่เลย การทำพินัยกรรมเป็นการจัดสรรเงินมรดกที่ทายาทของคุณจะต้องได้อย่างชอบธรรม และเพื่อเป็นการป้องกันการบาดหมางกันหากบรรดาทายาทของคุณแบ่งมรดกได้ไม่ลงตัว เงินก้อนนี้หากคุณเก็บไว้เป็นเงินเย็นเฉย ๆ เงินนั้นก็จะมีมูลค่าเท่าเดิม หากเกิดสถานการณ์เงินเฟ้อ จะส่งผลให้ค่าเงินลดลงได้ ทางที่ดีหาทางนำเงินก้อนนั้นไปลงทุนต่อยอด เพื่อให้ได้เงินปันผลกลับมาอย่างงอกเงยจะดีกว่า
 

นำเงินก้อนไปต่อยอดให้งอกเงย

หากคุณไม่อยากให้เงินก้อนที่ได้รับหลังเกษียณนั้นอยู่เฉย ๆ ก็ต้องนำเงินก้อนเหล่านั้นไปต่อยอด และมีวินัยในการออมเงินตั้งแต่ต้น โดยการนำเงินไปลงทุน เพื่อไปทำประโยชน์ด้านอื่น ๆ ซึ่งวิธีการนำเงินไปต่อยอดให้เพิ่มพูนขึ้นมาหลังเกษียณ มีดังนี้
  • นำเงินก้อนไปฝากในบัญชีออมทรัพย์
    เก็บเงินเกษียณด้วยการนำเงินก้อนไปฝากในบัญชีออมทรัพย์ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับการนำเงินไปต่อยอด แค่เปิดบัญชีออมทรัพย์กับทางธนาคาร แล้วฝากเงินก้อนที่ได้รับหลังเกษียณไว้ที่บัญชีธนาคารนั้น ๆ แต่วิธีที่ง่ายดายแบบนี้ คุณอาจได้รับผลตอบแทนที่ต้องใช้เวลาสักหน่อยจึงจะได้กินเงินดอกเบี้ยที่น่าพึงพอใจ
  • นำเงินก้อนไปลงทุนในกองทุนรวม
    การเลือกเก็บเงินเกษียณด้วยการนำเงินก้อนไปลงทุนในกองทุนรวม หลายคนอาจกังวลว่า การลงทุนในกองทุนรวมต้องมีความรู้เรื่องการบริหารจัดการกองทุนด้วยหรือไม่? อันที่จริงแล้วไม่ต้องมีความรู้เรื่องนี้เสมอไป ก็สามารถนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมได้ เพราะจะมีผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลกองทุนเป็นคนบริหารจัดการเงินของคุณให้ โดยมีกองทุนให้คุณเลือกหลากหลาย สำหรับบุคคลที่เตรียมวางแผนเกษียณจะเป็นกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) อีกทั้งข้อดีของการลงทุนในกองทุนรวม จะสามารถลดหย่อนภาษีในแต่ละปีได้อีกด้วย จึงเป็นวิธีการเก็บเงินที่เราแนะนำเป็นอย่างยิ่ง
จะเห็นได้ว่าถ้าอยากเกษียณอย่างสุขสบาย คุณจะต้องมีการวางแผนเกษียณตั้งแต่ต้น ไม่จำเป็นต้องรอใกล้เกษียณ การบริหารจัดการเงินหลังเกษียณก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน อย่าลืมที่จะหา Passive Income ที่เป็นดั่งรายได้อีกทางของคุณ เพื่อที่จะได้สบายเมื่อเกษียณ โดยไม่ต้องรอพึ่งพาเงินก้อนเพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้คุณนำเงินก้อนที่ได้รับนั้นไปต่อยอดทำเงินให้งอกเงย เพื่อสร้างความมั่นคงอีกขั้น ด้วยการนำเงินนั้นไปลงทุน หากคุณต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมในด้านวางแผนเกษียณ ทางธนาคารกรุงศรีก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ที่สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรี ติดต่อกลับ

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา