มารู้จัก FIRE พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่โหมเก็บเงิน เร่งเกษียณให้เร็วขึ้น
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

มารู้จัก FIRE พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่โหมเก็บเงิน เร่งเกษียณให้เร็วขึ้น

icon-access-time Posted On 06 ตุลาคม 2566
By Krungsri The COACH
ทุกยุคทุกสมัยก็มักจะมีเทรนด์ มีพฤติกรรมการเก็บเงินที่แตกต่างกันออกไป และในยุคปัจจุบันนี้ก็มีเทรนด์การเงินสำหรับคนรุ่นใหม่หลากหลาย แต่เทรนด์ล่าสุดหลายคนน่าจะเคยได้ยินแนวคิดการเก็บเงินของคนรุ่นใหม่มาบ้าง ซึ่งก็คือ Fire Movement (FIRE) กำลังเป็นที่นิยมทั่วในไทย และต่างประเทศ เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับเทรนด์การเงินอันนี้ว่าคืออะไร? มีข้อดีและข้อสังเกตอย่างไรบ้าง?

Fire Movement คืออะไร?

FIRE ย่อมาจาก Financial Independence, Retire Early แปลตรง ๆ ได้ว่า อิสรภาพทางการเงินเพื่อการเกษียณให้เร็ว ใช้เรียกกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดอยากมีอิสรภาพทางการเงินที่เร็ว โดยการวางแผนเก็บออมเงิน โหมเก็บเงินอย่างหนักกว่าคนทั่วไป เพื่อให้มีเงินเยอะพอที่จะเกษียณได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ ไม่ต้องรอจนถึงอายุ 60 ปีอีกต่อไป

พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้เป็นการเก็บออมเงินแบบสุดโต่ง โดยจะเก็บออมอย่างหนัก ใช้เงินอย่างประหยัด ควบคุมรายจ่าย หารายได้เพิ่มจากหลากหลายช่องทาง และลงทุนอย่างหนัก กล้าเสี่ยงสูงเพื่อต้องการผลตอบแทนที่สูงมากขึ้น
 
หญิงสาววางแผนออมเงินเกษียณ

จุดเริ่มต้นของ FIRE มาจากหนังสือ Your Money or Your Life เขียนโดย Vicki Robin และ Joe Dominguez ถูกตีพิมพ์ตั้งแต่ในช่วงปีค.ศ. 1992 โดย Joe Dominguez เป็นอดีตนักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีท และสามารถเกษียณตัวเองได้เมื่ออายุเพียง 31 ปี เขาจึงนำประสบการณ์ต่าง ๆ มาเขียนหนังสือเล่าถึงแนวคิด Financial Independence หรือ อิสรภาพทางการเงิน ร่วมกับ Vicki Robin คนรุ่นใหม่อย่างกลุ่ม Gen Y หรือกลุ่ม Millennium ในปัจจุบันจะอยู่ในช่วงอายุของเด็กเรียนจบใหม่ถึงคนวัยทำงานที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน เติบโตมาพร้อมกับพ่อแม่ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จในชีวิตบ้างแล้ว ได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี มีการศึกษาที่ดี ค่อนข้างเลี้ยงแบบตามใจลูก ทำให้คนรุ่นใหม่เป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเอง รักอิสระ จึงส่งผลต่อความคิดแนวทางการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และพฤติกรรมการใช้เงินอีกด้วย

คนเหล่านี้จึงมีการวางแผนเพื่ออนาคตไว้ล่วงหน้า โดยเป้าหมายของคนกลุ่มนี้คือ มีชีวิตเป็นของตัวเอง ได้ออกไปใช้ชีวิตในสิ่งที่ตัวเองรักโดยไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้ แต่การจะทำแบบนั้นได้ต้องมีเงินก้อนที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และครอบคลุมถึงรายจ่ายในอนาคตระยะยาว รวมถึงอาจจะต้องมีเงินเพียงพอสำหรับวัยเกษียณอีกด้วย

ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงหาแนวทางการสร้างรายได้เพื่อเก็บเงินก้อนใหญ่ให้เพียงพอแล้วค่อยออกไปใช้ชีวิตอิสระ ไม่ต้องทำงานประจำเหมือนคนอื่นอีกต่อไป
 
หญิงสาววางแผนเกษียณตั้งแต่อายุน้อย

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ แนวคิด FIRE กลับมาเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ และได้รับการพูดถึงอีกครั้งทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ เนื่องจากพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่อยากใช้ชีวิตอย่างมีอิสระ อยากมีอิสรภาพทางการเงิน อยากมี Passive Income รวมถึงอยากเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อย มีแนวคิดที่คล้ายกับพฤติกรรมการเก็บออมเงินแบบ FIRE จึงทำให้คนรุ่นใหม่สนใจ และอยากจะลองทำตามแนวคิดนี้ ประกอบกับโลกออนไลน์ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วขึ้น การแพร่กระจายของแนวคิดนี้จึงเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลกได้ง่ายกว่าสมัยก่อน

How to เก็บเงินสไตล์ FIRE

1. สมการการออมเงินที่ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

คือ “รายได้ - เงินออมเงินลงทุน = รายจ่าย หากอยากเก็บเงินแบบ FIRE ต้องเริ่มจาก “ออมก่อนใช้” เพื่อจะได้บริหารเงิน และควบคุมการใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น
 

2. ทำตารางออมเงิน

หลายคนที่เพิ่งเริ่มหัดออมเงินอาจจะประสบกับปัญหาว่าวันนี้ลืมเก็บเงินหยอดกระปุก หรือแอบยืมเงินจากก้อนนี้ออกไปใช้ก่อนแล้วไม่เอามาคืน หากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้เราเก็บเงินถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ยากขึ้น และไม่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้น ตารางออมเงินจึงถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราได้เก็บเงินอย่างมีวินัย จะไม่ได้ลืมเก็บเงิน และทำให้สามารถเก็บออมเงินได้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยตารางออมเงินที่พบเห็นส่วนใหญ่จะมีทั้งแบบออมรายวัน ออมรายสัปดาห์ ออมรายเดือน หรืออาจเป็นตารางที่เอาจำนวนเงินตั้งเป้าหมาย เช่น ตารางออมเงิน 50,000 บาท เป็นระยะเวลา 100 วัน เป็นต้น
 

3. โหมเก็บเงินอย่างหนัก ตั้งเป้าออมเงิน 70% ของรายได้

พฤติกรรมของคนกลุ่ม FIRE จะโหมเก็บเงินหนักกว่าคนทั่วไป โดยจะเก็บเงินมากถึง 50-70% ของรายได้ จนกว่าจะมีเงินออมที่มากกว่ารายจ่ายต่อปีประมาณ 30 เท่า จึงจะตัดสินใจเกษียณตัวเอง และลาออกจากงานประจำ
 

4. ควบคุมค่าใช้จ่าย และตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก

จากการที่คนกลุ่ม FIRE ต้องการเก็บเงินสูงถึง 70% ของรายได้ จึงจำเป็นให้คนกลุ่มนี้ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้นเพื่อเอาเงินส่วนใหญ่ไปเก็บออม และลงทุนต่อยอดทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ หากรายจ่ายไหนไม่จำเป็นก็จะตัดออกไป ใช้จ่ายอย่างมีเหตุมีผลมากกว่าคนทั่วไป
 

5. เน้นลงทุนให้เงินงอกเงย กล้าลงทุนที่ความเสี่ยงสูง

คนกลุ่มนี้ยังได้ศึกษาเรื่องการลงทุนอย่างหนัก เพื่อนำเงินออมไปลงทุนให้งอกเงย และได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น จะได้มีเงินถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้เร็วขึ้นด้วย บางคนเน้นลงทุนแบบ Passive Investment หรือบางคนก็เน้นลงทุนในหุ้นเติบโตสูง ขึ้นอยู่กับสไตล์ความชื่นชอบ และความถนัดของแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่มักจะกล้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เพื่อต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า นอกจากนี้ เมื่อลงทุนไปแล้ว จะมีการติดตาม และวัดผลพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละครั้ง หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จะได้ปรับพอร์ตการลงทุนได้อย่างทัน
 

6. บริหารเงินเกษียณด้วยกฎ 4%

ใช้แนวคิดวิธีการจัดการเงินเกษียณด้วยกฎ 4% คิดค้นโดย William Bengen ในปี 1994 เป็นแนวคิดถอนเงินออกมาใช้จ่ายประมาณปีละ 4% ของเงินในพอร์ต โดยไม่ทำให้เงินต้นหมดลง หรืออาจจะลดลงช้ามาก ๆ จนเราเสียชีวิตก่อนที่เงินจะหมด

ตัวอย่างเช่น มีเงินก้อนสำหรับเกษียณ 5 ล้านบาท คาดหวังจะได้ผลตอบแทนจากพอร์ตเฉลี่ย 7% ต่อปี หากถอนเงินปีละ 4% ของเงินในพอร์ต หรือประมาณ 200,000 บาท เงินในพอร์ตนี้จะหมดในอีก 72 ปีข้างหน้า

ข้อดีของการเก็บเงินแบบ FIRE

1. มีอิสระในการใช้ชีวิตตามแบบที่ชอบ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน

เมื่อเรามีเงินก้อนใหญ่ที่มากเพียงพอสำหรับไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ และมีเงินอีกก้อนเพียงพอสำหรับใช้ชีวิตอิสระ ก็สามารถลองเสี่ยงทำในสิ่งที่เคยฝันไว้ หรือออกมาใช้เวลาค้นหาตัวเองเพิ่มเติม เปิดโอกาสให้ตัวเองได้พบเจอกับมุมมองอื่น ๆ เช่น บางคนอยากมีร้านกาแฟเป็นของตัวเองแต่ไม่กล้าลาออกจากงานประจำมาเสี่ยงลงทุนทำร้านกาแฟ ถ้าเรามีเงินก้อนเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในระยะยาวก็อาจจะไม่ต้องกังวลว่าเราจะมีรายได้จากร้านกาแฟไม่เพียงต่อค่าใช้จ่ายส่วนตัวในแต่ละเดือน

ทั้งนี้ หากใครที่กังวลเรื่องลงทุนทำธุรกิจเองแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งไว้ แนะนำให้บริหารเงินแบ่งสัดส่วนไปลงทุนธุรกิจตามความเหมาะสมของแต่ละ อาจจะแบ่งเงินเพียงบางส่วนมาเริ่มต้นทำธุรกิจก่อน อย่านำเงินทั้งก้อนทั้งหมดมาลงทุนในช่วงแรก
 
ชายหนุ่มได้เกษียณอายุก่อน 60
 

2. ได้เกษียณเร็ว ได้ลาออกจากงานประจำเร็วกว่าคนอื่น

โดยส่วนใหญ่คนทั่วไปจะเกษียณตอนอายุ 60 ปีเป็นต้นไป แต่กลุ่มคน FIRE จะสามารถเกษียณได้ในวัยประมาณ 40 ปี ทำให้มีเวลาได้ใช้ชีวิตอิสระมากกว่า ไม่ต้องทำงานประจำจนถึงอายุ 60 ปี รวมถึงไม่ต้องกังวลว่าเราจะตกงานก่อนในวันที่ยังเก็บเงินไม่พอเกษียณ
 

3. มีวินัยในการออมเงิน

เนื่องจากคนกลุ่ม FIRE จะต้องเก็บออมเงินเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นการฝึกตัวเองเก็บออมเงินทุกเดือนก็ถือเป็นการสร้างความมีวินัยไปในตัวด้วย เพราะหากขาดช่วงในการเก็บเงินไปอาจจะทำให้เกษียณได้ช้าลงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
 

4. มีทักษะในการบริหารจัดการเงิน และวางแผนการเงิน

ยิ่งเราบริหารจัดการเงินได้ดีก็จะยิ่งทำให้มีเงินเก็บออม และลงทุนมากขึ้น คนกลุ่มนี้จึงได้พัฒนาทักษะการบริหารจัดการการเงินของตัวเอง รู้จักการลดรายจ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น ใช้จ่ายอย่างมีเหตุมีผล และรอบคอบกับการใช้เงินเสมอ
 

ข้อควรระวังของการเก็บเงินแบบ FIRE

1. อาจรู้สึกกดดันเกินจนไม่มีความสุข

จะเห็นได้ว่าคนกลุ่ม FIRE จะเก็บเงินเยอะมาก และเหลือเงินใช้จ่ายในสัดส่วนที่น้อย หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า ใช้ชีวิตอย่างประหยัด อยู่อย่างพอเพียง ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก เช่น ไม่ไปกินเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อน ไม่ซื้อของแบรนด์เนม ไม่จ่ายรายเดือนของแอปฯ สตรีมมิ่งดูหนังฟังเพลง เป็นต้น จึงอาจจะทำให้พฤติกรรมนี้ไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของบางคน
 

2. ต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง

แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงตามไปด้วย หากเราลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนน้อย เช่น ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล บัญชีเงินฝากประจำ ก็อาจทำให้เงินลงทุนเติบโตช้าและอาจแพ้อัตราเงินเฟ้อต่อปีได้ และจะส่งผลให้ระยะเวลาที่จะเกษียณเร็วล่าช้าออกไปอีก

เงินเฟ้อเกี่ยวอะไรกับการออมเงิน ทำไมต้องออมเงินให้ชนะเงินเฟ้อด้วยนะ ตามมาอ่านต่อที่นี่ได้เลย
 

3. ต้องวางแผนใช้จ่ายเงินช่วงหลังเกษียณให้รอบคอบ

ตามทฤษฎีของ FIRE เมื่อหลังเกษียณจะใช้จ่ายเงินด้วยกฎ 4% เป็นการถอนเงินในอัตราส่วน 4% ของจำนวนเงินเก็บคงเหลือในพอร์ต ซึ่งหากเราเกษียณตอนอายุยังน้อย ๆ การถอนเงินออก 4% ทุกปีจะทำให้เงินในพอร์ตสามารถหล่อเลี้ยงเราจนถึงวัยสูงอายุมั้ย ดังนั้นเมื่อเราวางแผนหาวิธีเก็บเงินเกษียณอายุแล้ว อย่าลืมลองวางแผน และคาดการณ์การถอนเงินจากพอร์ตออกมาใช้จ่ายจนถึงวันสิ้นอายุขัยนะ เพราะหากเงินไม่เพียงพอจนถึงวันนั้นเราอาจจะต้องเปลี่ยนแผนการถอนเงินออกมาใช้ในแต่ละปี
 
คู่รักช่วยกันวางแผนออมเงินเกษียณ

จะเห็นได้ว่า การโหมเก็บเงินหนักอย่าง FIRE ช่วยให้เราสามารถเกษียณได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่จำเป็นต้องรอเกษียณตอนอายุ 60 ปีอีกต่อไป แต่การเก็บเงินหนักสุดขั้วก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน หากคนที่กำลังเตรียมวางแผนเกษียณอาจนำเป็นไปอีกทางเลือกหนึ่งได้ แนะนำให้ลองพิจารณาคิดอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจเริ่มเก็บเงินแบบ FIRE นะ

ซึ่งแน่นอนว่า FIRE ดูจะเป็นวิธีที่ไม่ได้เหมาะกับทุกคน สุขภาพทางการเงิน หรือสุขภาวะทางการเงินของแต่ละคนก็มีนิยามที่แตกต่างกัน โดย เราสามารถนำบางไอเดียของ FIRE มาปรับใช้ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเองได้เหมือนกัน

เช่น เราไม่ต้องออมสุดขั้วจนชีวิตไม่ได้ทำอะไร อาจจะหยิบแค่ FI (มีอิสรภาพทางการเงิน / Financial Independence) มาใช้เพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจ RE (เกษียณไว / Retire Early) หากออมเงินสุดขั้วมากเกินไป บางคนก็คงรู้สึกต้องกดดันกับชีวิตตัวเองและอาจจะใช้ชีวิตแบบไม่มีความสุขเลย แต่อาจจะลองเปลี่ยนเป็นการเพิ่มรายได้แทน ทั้งจากการทำงาน และให้เงินช่วยทำงานผ่านการลงทุน

เริ่มต้นเก็บออมเงินตั้งแต่วันนี้ ระหว่างทางแต่ละคนอาจจะมีวิธีการที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะถึงปลายทางได้เร็วกว่า บางคนอาจจะช้ากว่า แต่ปลายทางทุกคนจะมีเงินใช้ตอนเกษียณและมีอิสรภาพทางการเงินอย่างแน่นอน
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา