5 สิ่งต้องเริ่มวางแผนการเงินครอบครัวเมื่อลูกน้อยกำลังจะถึงวัยเรียน ฉบับมนุษย์เงินเดือน
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

5 สิ่งต้องเริ่มวางแผนการเงินครอบครัวเมื่อลูกน้อยกำลังจะถึงวัยเรียน ฉบับมนุษย์เงินเดือน

icon-access-time Posted On 26 พฤษภาคม 2561
By Krungsri The COACH
การเริ่มต้นเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน คือสัญญาณของการเปิดเทอมใหม่อย่างเป็นทางการ สิ่งที่พ่อแม่หลาย ๆ คนต้องหาเงินจ่ายกันในช่วงนี้ก็คือค่าเทอมลูก ๆ อย่างแน่นอน อาจบอกได้ว่าเรื่องของการวางแผนการศึกษาของลูกหลานนั้น หากวางแผนดีย่อมไม่ติดขัดเรื่องค่าใช้จ่าย แต่หากพ่อแม่คนไหนยังวางแผนการเงินครอบครัวไม่รัดกุม ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้นะครับ
และนี่คือ 5 สิ่งที่คุณต้องเริ่มทำ เมื่อลูกน้อยถึงวัยเรียนครับ

1. วางแผนครอบครัว

เมื่อคุณและคู่ครองตัดสินใจที่จะมีลูกแล้ว สิ่งที่ต้องคิดถึงเป็นอันดับแรกคือความพร้อมเรื่องการวางแผนการเงินครอบครัว เพราะการมีลูกนั้นย่อมมีค่าใช้จ่ายที่ตามมาเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว คุณจำเป็นต้องสร้างรากฐานที่มั่นคงก่อนพอสมควร เช่น คุณและคู่ครองต้องไม่มีหนี้สินมากนัก ต้องมีเวลาเลี้ยงดูลูกหรือมีคนช่วยเลี้ยงดูลูกได้ในขณะที่เราต้องทำงานหารายได้ การวางแผนครอบครัวจะช่วยไม่ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายประจำที่คุณต้องรับผิดชอบในแต่ละเดือน ทั้งค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ค่ารถ ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น และมีการเก็บเงินเพื่อลูกด้วย โดยคุณอาจฝากเงินแบบฝากประจำกับธนาคาร เมื่อเปิดเทอม คุณก็จะมีกำลังมากพอในการส่งเด็ก ๆ เข้าเรียนได้อย่างราบรื่น

2. วางแผนการศึกษาให้ลูก

คุณต้องสำรวจค่าเทอมโรงเรียนต่าง ๆ ที่คุณต้องการให้ลูกเข้าไปศึกษาเล่าเรียน รวมไปถึงค่าแรกเข้า แนวโน้มค่าใช้จ่ายในเทอมต่อไปในชั้นปีที่สูงขึ้น รวมถึงค่าเสื้อผ้า หนังสือเรียน และอุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ ให้ดี เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก ๆ ทั้งนี้แล้ว อย่าลืมที่จะต้องเก็บเงินเพื่อลูกโดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษาเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น
โรงเรียนเลิศหล้า เกษตรนวมินทร์ ค่าเทอมในเทอมแรก 64,000 บาท ค่าอุปกรณ์ 20,000 บาท ค่าเสื้อผ้า 5,000 บาท ค่าเทอมในเทอมต่อไป 64,000 บาท
โรงเรียนอนุบาลโชคชัย ลาดพร้าว ค่าเทอมปีแรก 50,200 บาท ค่าแรกเข้า 9,000 บาท ค่าปรับพื้นฐาน 11,000 บาท ค่าเทอมปีต่อไป 50,200 บาทต่อปี
โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา หลักสูตร GGP ค่าแรกเข้า 13,000 บาท ค่าเทอมในเทอมแรก 23,000 บาท เทอมต่อไป 29,000 บาท
เมื่อคุณทราบคร่าว ๆ ว่าค่าเทอมของแต่ละที่นั้นมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง คุณควรเปรียบเทียบค่าเทอมของแต่ละที่ และความเหมาะสมที่จะส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนนั้น ๆ คุณจะได้วางแผนการเงินครอบครัวได้อย่างรัดกุม หากคุณต้องการให้ลูกเรียนพิเศษด้วย ก็อย่าลืมคำนวณค่าใช้จ่ายเข้าไปในยอดการเก็บออมเพื่อการศึกษาของลูกด้วยนะครับ

3. ศึกษาวิธีหาเงินในกรณีขาดสภาพคล่อง

เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินในกรณีฉุกเฉินสำหรับการศึกษาของลูก เราจะหาเงินด่วนได้ที่ไหน โรงรับจำนำไม่ใช่ทางออกเดียวอย่างที่หลายคนเข้าใจ สินเชื่อส่วนบุคคลจากธนาคารก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยนะครับ หากคุณรู้จักวิธีการหมุนเงินที่สะดวกและปลอดภัย จะทำให้การเปิดเทอมใหม่ของลูกราบรื่นและพ่อแม่ก็จะได้สบายใจ

4. ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

การวางแผนการเงินครอบครัวอย่างการลงทุน ลดรายจ่าย หรือหารายได้เสริม เพราะพ่อแม่ที่เป็นมนุษย์เงินเดือน รายได้จะมีความมั่นคงในระดับหนึ่ง แต่ยังเติบโตไม่เร็วเท่าค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายในระยะยาวเพื่อการศึกษาของลูก การออมเงินแบบลดภาษีรายได้ก็เป็นอีกวิธีในการลดรายจ่าย หรือการลงทุนในกองทุนต่าง ๆ ก็อาจจะเป็นการเพิ่มรายได้ และการทำธุรกิจต่าง ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยให้คุณมีรายได้เพิ่มขึ้น แถมยังเป็นการประกันความมั่นใจว่า เราจะมีรายได้เสริมอีกทาง หากมีความจำเป็นต้องออกจากงานหรือบริษัทที่ทำงานประจำ

5. ศึกษากองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา

ที่หลาย ๆ คนรู้กันในชื่อย่อว่า “กยศ.” นี่ก็เป็นอีกทางหนึ่งในการวางแผนและเก็บเงินเพื่อลูก ให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่หน้าที่ของคนที่รับกองทุนนี้ต้องมีความรับผิดชอบในการใช้ทุนคืน พ่อแม่ควรปลูกฝังเรื่องความรับผิดชอบแก่บุตรหลาน นอกจากนั้นยังมีการสอบชิงทุนเพื่อการศึกษาแบบต่าง ๆ หากลูกมีศักยภาพเพียงพอ คุณพ่อคุณแม่อาจจะเสนอให้ลูกลองสอบเพื่อรับทุนเรียนเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการศึกษา หรือจะวางแผนเงินฝากประจำที่ให้ดอกเบี้ยที่น่าพอใจก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
สุดท้ายนี้ผมขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคน และหวังว่าการวางแผนการเงินครอบครัวที่ดีจะนำพาไปสู่ความสำเร็จทางการศึกษาของบุตรหลานนะครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา