คุณรู้มั้ย Emma Watson ดารานำหญิงในแฮรี่ พอตเตอร์ ได้ขึ้นพูดใน UN เพื่อรณรงค์ความเสมอภาคทางเพศ ตอนอายุ 24 คุณรู้มั้ย นักศึกษาจบใหม่ชาวอเมริกัน อายุ 20-22 หลายพันคนต่อปี ยอมทิ้งเงินเดือนสูง ๆ จากบริษัทดี ๆ เพื่อเข้าโครงการ Teach for America เพื่อไปเป็นครูในพื้นที่ที่ประชากรยังมีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างต่ำเป็นเวลา 2 ปี ด้วยหวังจะช่วยให้เด็กอเมริกันทุกคนให้ได้สิทธิทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม
คุณรู้มั้ยหนึ่งในผู้นำที่ริเริ่มการประท้วงนำคนเป็นหมื่นคนเพื่อทวงประชาธิปไตยให้ฮ่องกง คือ เด็กมัธยมอายุ 17
ยังมีอีกหลายตัวอย่างของคนอายุน้อย ที่ลุกขึ้นมาทำตามฝัน และใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย เวลาที่เห็นพวกเค้าแล้ว นานิก็มักจะอยากเอาหัวโขกกำแพงแล้วถามตัวเองว่า ‘นี่เราทำอะไรอยู่ฟระ?!’ นานิเชื่อว่าวัยรุ่นไทยก็เก่งไม่แพ้ชาติไหนหรอก เพียงแต่ถูกกรอบที่สังคมคนส่วนใหญ่ตีเอาไว้ว่า “เป็นเด็กเป็นเล็ก อย่ายุ่งเรื่องผู้ใหญ่ มีหน้าที่เรียนก็เรียนไป” หรือ “ทำดีอย่าเด่นจะเป็นภัย” นานิเชื่อว่า 2 คำสอนนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อชีวิตนักศึกษาจบใหม่อย่างพวกเราหลาย ๆ คน ข้อดีก็รู้กันอยู่แล้ว แต่ข้อเสียก็คือ มันตีกรอบให้เราแทบทุกคนเดินตาม และทำให้เห็นการออกนอก ‘กรอบ’ เป็นเรื่องประหลาด และไม่ดี/div>
แต่ถ้าลองคิดดู คนที่ประสบความสำเร็จสูง ๆ ที่สามารถเปลี่ยนโลกและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย พวกเค้ามีความเป็น ‘เอกลักษณ์’ ของตัวเองทั้งนั้น เราแทบไม่เคยเห็นบุคคลเหล่านั้นมีประวัติเหมือนคนทั่วไปเท่าไหร่ ว่าง่าย ๆ ก็คือ คน ‘มีของ’ ส่วนใหญ่ ชีวิตวัยเด็กหรือชีวิตนักศึกษาจบใหม่เค้าเป็นเด็กซ่ามาก่อน คอยตั้งคำถามและไม่ได้ยอมทำตามกฎเกณฑ์ที่สังคมวาดมาให้แบบเป๊ะเว่อร์ อย่างอุดมคติของเด็กจบใหม่หลายคนที่ว่า “เรียนดี ๆ ให้จบ จบมาหางานทำ ทำงานแล้วสร้างครอบครัว และทำงานหาเลี้ยงครอบครัวต่อไปจนเกษียณ อยู่ดูแลลูกหลานและจบชีวิตมนุษย์ธรรมดาอย่าง Happy Ending” หากนักศึกษาจบใหม่ทุกคนคิดแบบนี้ ชีวิตก็คงธรรมดาเกินไป พวกเค้าอยากมีชีวิตที่เจ๋งกว่านั้น!
ถ้าเลือกได้ คงไม่มีใครอยากติดอยู่ในวงจร 57 ปีหรอก คือ ตั้งแต่เกิดมา พออายุ 3 ขวบก็ต้องเข้าอนุบาล เรียน เรียน เรียน เพื่อให้ได้โรงเรียนดี ๆ มหาวิทยาลัยดี ๆ ชีวิตนักศึกษาจบใหม่สวยงามหางานดี ๆ ได้ในเวลาไม่นาน แล้วก็ทำงาน ทำงาน และทำงานไปจนอายุ 60 ปี ถึงได้เกษียณ ซึ่งถึงตอนนั้น อะไรหลาย ๆ อย่างที่อยากทำเราก็ทำไม่ไหวแล้ว ตั้งแต่เกิดมา นานิไม่เคยเจอใครที่พูดว่าชอบงานประจำจัง อยากทำไปตลอดชีวิต! ก็เห็นมีแต่คนบ่นเบื่อ หรือเหนื่อยกัน แต่ทำไมคนส่วนใหญ่ที่มีเป้าหมายอยากเกษียณก่อน หรืออยากเป็นนายตัวเองก่อนแก่ สุดท้ายเค้าก็ไปไหนไม่ได้อยู่ดี? ก็เพราะเค้ามองภาพสั้น ๆ ไงคะ คนส่วนใหญ่ชอบที่จะเลือกมองแต่วันนี้ เพราะวันข้างหน้ามันเป็นเรื่องของอนาคต ยังมองไม่เห็น เลยไม่ค่อยได้วางแผน
"เรื่องการวางแผนการเงิน กับเรื่องการใช้ชีวิตให้คุ้มค่าและมีความหมาย มันควรจะเป็นของคู่กัน ยิ่งเริ่มคิดได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ยิ่งได้เปรียบ หากใครวางแผนตั้งแต่ตอนเรียนหรือตอนเป็นนักศึกษาจบใหม่ได้เงินเดือนเดือนแรกเลยยิ่งดี"
มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จมาก ๆ ดังนั้นถ้าเราทำกำลังทำตามคนหมู่มากอยู่ละก็ มันก็ชัดเจนว่าอนาคตเราจะเป็นอย่างไร ถ้ามีฝัน อยากทำให้ได้ตามฝัน ก็ต้องเริ่มวางแผน วางเป้าหมายในชีวิต นักศึกษาจบใหม่คนไหนอยากทำอะไรที่มากกว่าหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวให้อยู่ได้เดือนต่อเดือน ก็ต้องเริ่มวางแผนการเงิน เพื่อนำไปสู่อิสรภาพจากระบบทุนนิยม หลายคนตั้งใจว่าจะเก็บตังเพื่ออนาคต แต่สุดท้ายก็แพ้ใจตัวเอง เห็นได้จากการที่เด็กจบใหม่หลาย ๆ คนใช้ชีวิตเดือนชนเดือน เพราะขาดความอดทน พอเงินเดือนออก ก็ต้องฉลอง โบนัสออกก็ต้องไปช้อปปิ้ง เดี๋ยวนี้สิ่งยั่วยุยิ่งเยอะอยู่
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเถียงว่า “ชีวิตต้องใช้ให้เต็มที่สิ จะมัวแต่งก กัดก้อนเกลือกิน เพื่ออนาคตอย่างเดียว มีเงินก็ไม่ใช้ได้ยังไง”
ก็จริงค่ะ ถ้าเอาแต่ฝันใฝ่ถึงอิสรภาพ จนหมกมุ่นเอาแต่หา หา หา รวยไป แทบไม่เคยได้ใช้ มุ่งแต่รอความสุขระยะยาวในอีกสิบปี ยี่สิบปี จะรวยไปทำไม แบบนี้เอาเงินทั้งหมดตอนนี้ไปใส่ในกองทุนเก็บไว้ให้ลูก แล้วไปบวชเลยดีกว่า นิพพานนี่สุขจริง สุขยาว! แต่ถ้าเอาแต่มองความสุขระยะสั้น ขอซื้อของ ไปเที่ยว มีความสุขทันที สุขตอนนี้ อาจจะทุกข์ตอนหลังเมื่อแก่แล้วแต่ยังหยุดทำงานไม่ได้ซักที แบบนี้ก็ได้แต่ฝันถึงอิสระกันต่อไป เทคนิคที่เราต้องเรียนรู้กันเนิ่น ๆ ตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาจบใหม่มันอยู่ที่การสร้างสมดุลระหว่างความสุขระยะสั้น กับความสุขในระยะยาว หาจุดสมดุลนี้ของตัวเองให้เจอ แล้วเราจะสามารถสร้างความมั่งคั่งที่มาพร้อมความสุขได้
นานิเชื่อว่า เรื่องการวางแผนการเงิน กับเรื่องการใช้ชีวิตให้คุ้มค่าและมีความหมาย มันควรจะเป็นของคู่กัน ยิ่งเริ่มคิดได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ยิ่งได้เปรียบ นานิเชื่อว่าวัยรุ่นไทยและนักศึกษาจบใหม่หลายคน ‘มีของ’ และนานิก็อยากเห็นวัยรุ่นไทยออกมา ‘ปล่อยของ’ กันเยอะ ๆ ดังนั้นในซีรีส์บทความของนานิบน Krungsri Guru นี้ นานิจะเขียนบทความดี ๆ สำหรับน้อง ๆ วัยเรียน นักศึกษา และเพื่อน ๆ นักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน เพื่อช่วยเป็นเพื่อนคู่คิดเรื่องการวางแผนการเงิน และการใช้ชีวิต สลับกันไปนะคะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการตั้งเป้าหมายชีวิตของเพื่อน ๆ พี่ ๆ และน้อง ๆ ที่ได้อ่าน
ก่อนไป ขอจบด้วยคำคมการใช้ชีวิตละกันค่ะ
“You only live once, but if you do it right, once is enough” – anonymous