ทุกคนย่อมฝันที่จะมีอิสรภาพทางการเงิน แต่เส้นทางไปสู่ความฝันอันสำเร็จนั้น มักผ่านเส้นทางขรุขระมากมาย การมีนิสัยเก็บออม และวางแผนการลงทุนจึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทางการเงินให้ถึงฝันเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การมีเคล็ดลับ หรือบทบัญญัติประจำใจ ยังช่วยภูมิคุ้มกันสุขภาพทางการเงินดีขึ้นได้อีกด้วย มาดูกันว่า บทบัญญัติ 10 ประการที่จะนำเราไปบรรลุเป้าหมายอิสรภาพทางการเงินที่ใคร ๆ ก็ทำได้ เริ่มต้นด้วย...
1. “ขยัน เอาธุระ ทำเหมาะจังหวะ ย่อมหาทรัพย์ได้”
ชีวิตในสังคมปัจจุบันนี้ นอกจากรายได้จากอาชีพหลักแล้ว อาจจะต้องพิจารณาการสร้างรายได้หลายช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงาน Office ที่ทำงานประจำ ซึ่งมีความเสี่ยงจากการถูกปลดจากงานอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว ดังนั้น ถึงแม้เราจะมีงานประจำทำอยู่ทุกวัน มีรายได้สม่ำเสมอทุกเดือน แต่เราก็ควรมองหาโอกาสในการสร้างรายได้จากช่องทางอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างธุรกิจใหม่ หรือการต่อยอดธุรกิจเดิมในกรณีของเจ้าของกิจการ
2. “ค่อย ๆ เก็บรวบรวมทรัพย์ ดังปลวกก่อจอมปลวก”
จริงอยู่ว่าการหารายได้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ความสามารถในการควบคุมการใช้จ่ายก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ถ้าเราหาเงินได้มาก แต่ใช้จ่ายออกไปมาก ก็ไม่ต่างอะไรกับการเทน้ำลงไปในแก้วก้นรั่ว ถึงจะเติมน้ำลงไปมากเท่าไร ก็ไม่มีวันเต็ม หลาย ๆ คนอาจใช้วิธี “ออมก่อนใช้” คือ แบ่งเงินออมออกมาจำนวนหนึ่งทันทีที่เงินเดือนออก แล้วจึงนำส่วนที่เหลือไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้เรายังต้องหมั่นเช็กสุขภาพการเงินอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถวางแผนบริหารการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. “พอเพียง พอกินพอใช้ อย่าหน้าใหญ่ อย่าซื้อของเกินตัว”
หมั่นเตือนสติให้รู้จักพอประมาณในการใช้จ่าย ทั้งสำหรับการเลือกซื้อของใช้ประจำวัน ไปจนถึงการตัดสินใจซื้อบ้าน ซื้อรถ นอกจากนี้ จงอย่าพยายามสร้างรายจ่ายประจำ โดยเฉพาะรายจ่ายที่ไม่มีความจำเป็นกับการดำรงชีวิต เช่น ค่ากาแฟแก้วละ 100 บาททุกวัน หรือค่าสมาชิกฟิตเนสรายปี ที่ไม่เคยไปใช้บริการ ถ้าตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ออกไปได้ อิสรภาพทางการเงินก็ไม่ไกลเกินเอื้อม
4. “ฉลาดลงทุน”
การลงทุนที่ชาญฉลาดจะช่วยให้เรามีอิสรภาพทางการเงินได้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่วิ่งไม่ทันอัตราเงินเฟ้อ เราควรหาวิธีใช้เงินออมให้ทำงานในรูปแบบต่าง ๆ นอกเหนือจากเงินฝากออมทรัพย์ เช่น การลงทุนในหุ้น กองทุน พันธบัตร หรือแม้แต่สินทรัพย์ เช่น ทอง ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ การตัดสินใจว่าจะเลือกการลงทุนแบบใดนั้น ควรขึ้นอยู่กับความรู้ ความถนัด ความชอบของผู้ลงทุน รวมถึงระดับความเสี่ยงที่รับได้ โดยเราอาจจะเช็กสุขภาพการเงินของเราเพื่อประกอบการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม การลงทุนควรแบ่งไปในสินทรัพย์หลายประเภทเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง A wise man does not put all his eggs in one basket นะครับ
5. “ทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย และหมั่นตรวจสอบบัญชีอยู่เสมอ”
การทำบัญชีเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเช็กสุขภาพการเงินในทุกวัน ทำให้เราเห็นถึงกระแสเงินสดในระหว่างเดือน เราสามารถนำตัวเลขเหล่านี้ไปวิเคราะห์ต่อได้หลายด้าน เช่น ตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของตัวเลขเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่แล้ว แล้วพิจารณาถึงเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงว่าเหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่ เราจะมีวิธีปรับปรุงในการเพิ่มรายรับ และลดค่าใช้จ่ายได้อย่างไร
6. “ปัญญาย่อมประเสริฐกว่าทรัพย์”
หมั่นศึกษาหาความรู้ พัฒนาตัวเองให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของตนเองในการทำงาน หรือการเสริมสร้างความรู้ในด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
7. “อย่าเป็นหนี้ เพราะการกู้หนี้ เป็นทุกข์ในโลก”
เช็กสุขภาพการเงินสักหน่อยว่าเราเป็นหนี้หรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นหนี้ในระบบ หนี้นอกระบบ หนี้บัตรเครดิตและอื่น ๆ ดังนั้น หากมีโครงการที่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ เช่น ซื้อบ้าน หรือซื้อรถ เราควรวางแผนการออมเงินล่วงหน้า และใช้เงินออมเป็นเงินก้อนหลักสำหรับการใช้จ่าย ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงดอกเบี้ยจากการกู้ยืม
8. “กินน้ำให้เผื่อแล้ง”
มองการณ์ล่วงหน้า เริ่มต้นจากวันนี้ที่เรายังสามารถสร้างรายได้ เราควรเตรียมวางแผนการเงินไว้สำหรับอนาคต เช่น การวางแผนเกษียณ การวางแผนการออมเงินสำหรับการศึกษาให้ลูก รวมถึงการเตรียมพร้อมสำหรับกรณีฉุกเฉิน ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครรู้ว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และจะมีความรุนแรงแค่ไหน แต่อย่างน้อยเราก็สามารถจำกัดวงเงินค่าเสียหายได้ด้วยการซื้อกรมธรรม์ประกันทรัพย์สิน และกรมธรรม์ประกันชีวิต หากว่าเรามีการวางแผนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ อิสรภาพทางการเงินก็จะมาเร็วขึ้นอย่างแน่นอน
9. “คบคนเช่นใด ย่อมเป็นคนเช่นนั้น”
การคบเพื่อนมีส่วนสำคัญอย่างมากกับสุขภาพการเงิน ลองนึกภาพดูว่า ถ้าเราใช้ชีวิตอยู่กับกลุ่มเพื่อนเจ้าสำราญ วัน ๆ ชวนกันแต่ไปเที่ยวสังสรรค์ ท่องราตรี ใช้ของราคาแพง หากเราจิตไม่แข็งพอ สุดท้ายเราก็จะหลงติดไปกับการใช้ชีวิตที่สุรุ่ยสุร่ายในแบบเดียวกัน ในทางตรงข้ามหากเราคบเพื่อนกลุ่มนักลงทุน วัน ๆ ก็ชวนกันคุยแต่เรื่องลงทุน เช่น ช่วงนี้ลงทุนอะไรดี ซื้อกองทุนอะไรดี เราก็จะได้ซึมซับความรู้ในการลงทุนไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน ในยุค Social Media เช่นนี้ เราสามารถเลือกคบเพื่อนได้ง่ายขึ้นด้วยการติดตามเพจของกลุ่มนักลงทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันในการลงทุน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญของผู้ที่ต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน
10. “ดูแลตัวเอง”
หากเปรียบร่างกายของเราเป็นเหมือนเครื่องจักรผลิตเงิน โดยมีจิตใจเป็นระบบประมวลผลสั่งการ วันใดที่ระบบประมวลผลทำงานผิดเพี้ยน หรือวันที่เครื่องจักรเกิดชำรุด ผลผลิตที่ได้ย่อมจะพลาดไปจากเป้าหมาย เพราะฉะนั้นนอกจากเช็กสุขภาพการเงินแล้ว อย่าลืมดูแลและเช็กสุขภาพใจ และสุขภาพกายกันให้ดีนะครับ
เคล็ดลับง่าย ๆ 10 ข้อที่ทำให้ทุกคนมีอิสรภาพทางการเงิน เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ รับรองสุขภาพทางการเงินแข็งขัน!