ตั้งเป้าการบริหารเงินกู้แบบ SMART ยังไง
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ตั้งเป้าการบริหารเงินกู้แบบ SMART ยังไง

icon-access-time Posted On 21 สิงหาคม 2557
By Krungsri Guru
ในปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศ เริ่มเข้าสู่ภาวะที่ดีขึ้น แต่สำหรับหลายคนจะรู้สึกว่าเงินทองนั้นหายาก แต่เวลาใช้นั้นใช้ง่าย และหมดเร็ว เพื่อนๆ เวลาจะใช้จ่ายแต่ละครั้งคงต้องคิดแล้วคิดอีกเหมือนกันใช่ไหมครับ ยิ่งการจะกู้เงินเพื่อซื้อสินทรัพย์ หรือลงทุนอะไรซักอย่าง บางคนก็วางแผนการกู้กันเป็นแรมปีเลยนะครับ ผมจึงอยากนำเสนอวิธีการตั้งเป้าการบริหารเงินกู้แบบ SMART เพื่อให้เพื่อนๆ ได้ไอเดียในการการบริหารเงินกู้ของตัวเองให้เกิดประโยขน์สูงสุดในแบบ SMART กันนะครับ
ผมขอยกตัวอย่างวิธีการตั้งเป้าการบริหารเงินกู้ของผมเอง ซึ่งเป็นประสบการณ์จริง ปัจจุบันผมกู้เงินหลักๆ อยู่ 2 อย่าง คือ รถ และบ้าน ซึ่งเป็นเงินกู้ก้อนโตที่สุดในชีวิตของผม อาจจะเหมือนกับเพื่อนๆ หลายคนที่อยู่ในวัยที่กำลังก่อร่างสร้างตัว ผมเองก็เคยปวดหัวกับการจะบริหารเงินกู้ก้อนโตอย่างนี้อย่างไร ไม่ให้ลำบากมากนัก ผมจึงได้พยายามค้นคว้าวิธีการบริหารเงินกู้อย่างไรให้สมดุลกับชีวิต ทั้งหาหนังสือเกี่ยวกับการบริหารเงิน ทั้งไปเข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับการเงินต่างๆ ก็ได้พบการบริหารเงินกู้แบบ SMART ที่ทำให้การใช้ชีวิตของเราสมดุลไม่ต้องหนักใจในการใช้หนี้เงินกู้จนลำบากเกินไป ผมเลยอยากจะขอแชร์ประสบการณ์การบริหารเงินกู้แบบ SMART ให้เพื่อนๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้กันครับ
ก่อนอื่นเราจะทำอะไรควรต้องมีการวางแผนใช่ไหมครับ การที่เราจะกู้เงินควรต้องมีการวางแผนที่ดีก่อน โดยการตั้งเป้าบริหารเงินกู้เป็นขั้นตอนว่าจะจัดการเงินกู้อย่างไรบ้าง
ผมจะยกตัวอย่างการบริหารเงินกู้บ้านก่อนครับ โดยผมได้จัดทำเป้าบริหารเงินกู้เป็นขั้นเป็นตอน ดังนี้

ขั้นแรกเป็นขั้นสำคัญ คือ กำหนดเป้าหมายการกู้เงิน
"ที่สำคัญในการขอยื่นกู้เงินซื้อบ้านนั้น ถ้าเรามีหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระอยู่ เช่น การผ่อนรถยนต์ ทางธนาคารก็จะนำหนี้ผ่อนรถยนต์ไปหักจากเงินเดือนของเรา ทำให้ความสามารถในการกู้ของเราลดลงอาจได้วงเงินที่ต่ำ"
ในอดีตคนสมัยก่อน เมื่อคิดจะเริ่มสร้างครอบครัว สิ่งที่คิดเป็นอันดับแรก คือ การมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่คนสมัยใหม่ กลับคิดว่าจะต้องมีรถยนต์ก่อน ทั้งๆที่หากมองให้ดี การซื้อที่อยู่อาศัย เป็น การลงทุนในทรัพย์สินที่มีความคุ้มค่ามากที่สุดนะครับ เพราะบ้านยิงเวลาผ่านไปนานราคายิ่งสูงขึ้น แต่รถยนต์ยิ่งเวลาผ่านไปนานราคายิ่งตกลง และที่สำคัญในการขอยื่นกู้เงินซื้อบ้านนั้น ถ้าเรามีหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระอยู่ เช่น การผ่อนรถยนต์ ทางธนาคารก็จะนำหนี้ผ่อนรถยนต์ไปหักจากเงินเดือนของเรา ทำให้ความสามารถในการกู้ของเราลดลงอาจได้วงเงินที่ต่ำจนบางทีกู้ซื้อบ้านไม่ผ่านเลยก็มีนะครับ กูรูทางการเงินหลายท่านจึงแนะนำให้ กู้ซื้อบ้าน ก่อนกู้ซื้อรถนะครับ ผมจึงกำหนดเป้าหมายกู้เงินลำดับแรก คือ กู้ซื้อบ้านก่อน ส่วนรถยนต์ไว้กู้บ้านผ่านแล้วค่อยมากู้ซื้อรถก็ยังไม่สาย เพราะสมัยนี้การกู้ซื้อรถ กู้ซื้อได้สะดวกมากมายเลยครับและที่สำคัญธนาคารต่างๆ จะพิจารณาอายุของผู้กู้ ถ้าอายุน้อยระยะเวลาการผ่อนชำระก็จะนานขึ้น เงินผ่อนต่อเดือนก็จะน้อยลง ทำให้เราสามารถมีกำลังในการผ่อนที่ไม่หนักจนเกินไป ผมจึงคิดว่าการตั้งเป้าการบริหารเงินกู้แบบ SMART ก็คือกู้ซื้อบ้านเป็นลำดับแรก และกู้ตอนที่อยู่ในวัยเริ่มทำงาน เป็นการบริหารเงินกู้ที่ชาญฉลาดที่สุด
ขั้นต่อมาก็คือ ประเมินความสามารถในการชำระหนี้
โดยทั่วไปสถาบันการเงินจะกำหนดเกณฑ์เงินงวดที่ผ่อนชำระค่าบ้านต่อเดือนไว้ที่ 35-40% ของรายได้สุทธิ (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 ใน 3 ของรายได้สุทธิ) เช่น ถ้ามีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน ความสามารถในการผ่อนชำระคือ 8,000 บาทต่อเดือน และค่ากลางในการคำนวณอัตราผ่อนชำระก็คือวงเงิน 1 ล้านบาท จะมีอัตราผ่อนชำระประมาณ 8,000 บาทต่อเดือนพอดี กรณีตัวอย่างผมมี รายได้สุทธิ 30,000 บาทต่อเดือน ความสามารถในการผ่อนชำระคือ12,000 บาทต่อเดือนผมจะสามารถกู้เงินที่วงเงิน 1.5 ล้านบาท แต่บ้านที่ผมต้องการจะซื้อราคา 2.5 ล้านบาท ผมดูแล้วคนเดียวกู้ไม่ผ่านแน่ๆ จึงให้น้องเป็นผู้กู้ร่วม น้องผมรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน ความสามารถในการผ่อนชำระคือ 8,000 บาทต่อเดือน กู้ได้วงเงิน 1 ล้านบาท รวมกับผมที่กู้ได้1.5 ล้านบาท รวมสองคนกู้ได้ 2.5 ล้านบาท พอดีราคาบ้านเลยครับ
 
"การตั้งเป้าการบริหารเงินกู้แบบ SMART ก็เหมือนการวางหมุดการเดินทางของชีวิตไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เปรียบเทียบได้กับการเดินเรือออกมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ ถ้าเราไม่ตั้งเป้าหมายการเดินเรือให้ดี อาจจะทำให้หลงเส้นทางจนเรืออับปางได้"
ผมจะทำการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารต่างๆ ซึ่งผมใช้วิธีการไปเดินตามงาน money expo ซึ่งแต่ละธนาคารจะมาออกบูทเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านอยู่แล้ว ผมก็จะเก็บข้อมูลหลายๆธนาคารมาเปรียบเทียบกันทีเดียว เรียกว่าเดินงาน money expo ทีเดียวเหมือนได้ไปหลายธนาคารเลยครับ โดยผมจะดูว่าธนาคารมีอัตราดอกเบี้ยในรูปแบบที่ต้องการหรือไม่ เช่น อัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลากู้ หรืออัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นในช่วงแรกจากนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว หรืออัตราดอกเบี้ยแบบอื่นๆ จากนั้นจึงดูที่อัตราดอกเบี้ยว่า ธนาคารใดสูงหรือต่ำกว่ากัน การผ่อนต่อเดือนของอัตราเงินกู้แบบต่างๆ เหมาะกับรายได้ของเราในตอนนี้และในอนาคตหรือไม่ นอกจากเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อย่าลืมเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่ทางธนาคารจะเรียกเก็บด้วยนะครับ เช่น ค่าประเมินมูลค่าหลักประกัน ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการไถ่ถอน จำนองก่อนกำหนด ว่าแต่ละธนาคารมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ผมจะเลือกธนาคารที่มีค่าใช้จ่ายตรงนี้น้อยที่สุดครับ
ขั้นสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือ บริหารเงินกู้แบบ SMART
เมื่อผมเลือกธนาคารที่เหมาะสม และทำเรื่องการกู้เงินซื้อบ้านจนผ่านเรียบร้อยแล้วก็สบายใจได้ว่ามีบ้านเป็นของตัวเองแล้ว แต่ก็มาหนักใจกับหนี้ก้อนโตว่าจะบริหารเงินกู้ก้อนนี้อย่างไรดีให้เหมาะสมกับชีวิต ผมก็เลยวางแผนที่อยากจะปลดภาระหนี้ก้อนนี้โดยเร็ว ซึ่งผมก็ได้พบเทคนิคการย่นระยะเวลาการผ่อนบ้านให้สั้นลง คือ การผ่อนชำระเงินกู้บ้านเพิ่ม เป็นจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละเดือน ขอยกตัวอย่างกรณีกู้ซื้อบ้าน ราคา 2.5 ล้านบาท ผ่อนเดือนละ 20,000 บาท ระยะเวลา ผ่อน 30 ปี ซึ่งหลายคนคงคิดว่าถ้าผ่อนตามระยะเวลาปกติ 30 ปี คงเกษียณอายุพอดี แต่ถ้าอยากให้ผ่อนให้หมดหนี้เร็วขึ้น จึงผ่อนชำระเพิ่ม เป็นจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละเดือน โดยวางแผนที่จะส่งเพิ่มอีกเดือน ละ 10% หรือ 2,000 บาท รวมแล้วเดือนหนึ่งจะส่งบ้านตกเดือนละ 22,000 บาท คำนวณออกมาแล้วจะผ่อนชำระหมดภายในระยะเวลาประมาณ 22 ปี ซึ่งหมดเร็วขึ้นกว่าการผ่อนตามระยะเวลาปกติถึง 8 ปีเลยนะครับ แถมยังลดดอกเบี้ยลงได้เกือบ 1 ล้านบาทครับ เคล็ดลับในการย่นระยะเวลาผ่อนให้สั้นลงก็คือ การตัดต้นไปทุกเดือน เมื่อต้นลดลงทุกเดือน เวลาก็สั้นลง ดอกเบี้ยก็ลดลงตามไปด้วย
การตั้งเป้าการบริหารเงินกู้แบบ SMART ก็เหมือนการวางหมุดการเดินทางของชีวิตไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เปรียบเทียบได้กับการเดินเรือออกมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ ถ้าเราไม่ตั้งเป้าหมายการเดินเรือให้ดี อาจจะทำให้หลงเส้นทางจนเรืออับปางได้ ก็เหมือนกับการใช้ชีวิตในยุคนี้ที่ต้องมีการใช้จ่ายต่างๆ มากมาย การจะไปถึงฝั่งฝันของการกู้เงินเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ก็อาจจะเจอมรสุมที่ถาโถมไม่รู้ตัว การตั้งเป้าการบริหารเงินกู้ให้รัดกุมไว้ล่วงหน้า ก็จะทำให้นาวาชีวิตก้าวไปได้อย่างปลอดภัยครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา