การจัดการเงินเดือนอย่างฉลาด
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

การจัดการเงินเดือนอย่างฉลาด

icon-access-time Posted On 31 สิงหาคม 2558
By Krungsri the COACH
“สิ้นเดือน เหมือนสิ้นใจ” เหตุการณ์ที่เรียกว่า “ปกติ” สำหรับมนุษย์เงินเดือน ส่วนใหญ่หลายคนอาจฟังแล้วรู้สึกเป็นเรื่องขบขัน แต่คนที่ต้องประสบพบเจอกับเหตุการณ์เดือนชนเดือนคงไม่รู้สึกสนุกไปด้วยแน่นอนครับ
ดังนั้นการวางแผนใช้เงินเดือนอย่างไรให้คุ้มค่า ให้รอดพ้นภัยเดือนชนเดือน แถมยังเหลือไปลงทุน ไปดูแลคนที่เรารักได้ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม ลองมาดูวิธีการออมเงินแบบเป็นขั้นเป็นตอนต่อไปนี้ครับ

วิธีที่ 1 “ออมก่อนใช้”

 
ก่อนจะไปเลือกวิธีการเก็บออมในรูปแบบต่าง ๆ ต้องเริ่มต้นด้วยการเก็บเงินออมก่อนนำไปใช้จ่าย หรือเหลือเก็บค่อยนำไปใช้ เหลือจ่ายค่อยนำไปเก็บ หากเราไม่เริ่มต้นด้วยการเก็บเงินออมก่อน แต่รอให้เหลือเงินจากการใช้จ่ายแล้วเหลือเท่าไรค่อยนำไปออม เชื่อเถอะว่า โอกาสที่จะเหลือเงินหลังจากใช้จ่ายนั้น “น้อยมาก ๆ” จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว หากเราออมเงินเก็บก่อน เหลือจากเงินเก็บแล้วค่อยนำไปใช้จ่ายถือเป็น การจัดการเงินเดือนอย่างฉลาดที่สุด

วิธีที่ 2 “ออมเงินแบบ DCA”

 
การออมเงินแบบ DCA คืออะไร? ผมขอแนะนำแนวคิดของ DCA หรือ Dollar Cost Average ก่อนนะครับ โดยความหมายของ DCA แบบง่าย ๆ ก็คือ การซื้อสินทรัพย์ลงทุนแบบถัวเฉลี่ยเท่า ๆ กันทุกเดือน วิธีการลงทุนแบบ DCA ถือเป็นการจัดการเงินเดือนอย่างฉลาด โดยมีจุดเด่นเรื่องของวินัยในการลงทุน ยกตัวอย่างเช่น เราอยากซื้อหุ้นโรงพยาบาล แต่ก็กลัวเรื่องการขึ้น ๆ ลง ๆ ของราคาหุ้น เราจึงเข้าไปปรึกษาบริษัทหลักทรัพย์เพื่อขอคำปรึกษาวิธีการ “ออมหุ้นแบบ DCA” เราก็สามารถเข้าไปศึกษา และติดต่อขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ได้ทันที สมมติว่าเราต้องการให้ตัดเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของเราทุกเดือน ๆ ละ 5,000 บาท เพื่อซื้อหุ้นโรงพยาบาล ทำแบบนี้ราคาหุ้นที่ได้จะเป็น “ราคาเฉลี่ย” และเราจะไม่ต้องกังวลกับการกะจังหวะซื้อหุ้นที่ราคาแหว่งขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดเวลา ถือเป็นแนวคิดการลงทุนที่ชาญฉลาดมาก ๆ และเหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลาเฝ้าจอหุ้นมาก ๆ ครับ

วิธีที่ 3 “ใช้กองทุนรวม”

 
หลังจากที่เราออมก่อนใช้จ่าย และเลือกวิธีการลงทุนแบบ DCA กันแล้ว เครื่องมือต่อไปก็คือ การใช้กองทุนรวม เป็นที่สะสมความมั่งคั่งในระยะยาวให้กับเรา ทำไมผมจึงเลือกกองทุนรวม สาเหตุก็คือ ผู้จัดการที่บริหารจัดการกองทุนรวม รวมทั้งทีมงานทั้งหมดนั้น จะมีวิธีคิดที่ไม่เหมือนกับคนที่อาจจะห่างไกลจากความรู้การจัดการทางการเงิน การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และในแต่ละกองทุนรวมก็มีวิธีบริหารจัดการเงินของเรามากมาย เช่น ลงทุนในหุ้น ลงทุนในตราสารหนี้ หรือแม้แต่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เมื่อเรามั่นใจว่ากองทุนรวมจะช่วยเราได้ และเป็นที่สะสมความมั่งคั่งในระยะยาวให้กับเราได้ วิธีที่ผมแนะนำเมื่อจะซื้อกองทุนรวมก็คือ การลงทุนแบบ DCA นั่นก็คือ การซื้อเฉลี่ยเท่า ๆ กันทุกเดือนด้วยการตัดเงินจากบัญชีเงินเดือนของเราครับ ยกตัวอย่างเช่น เราเริ่มลงทุนด้วยการตัดเงินจากบัญชีเงินเดือนทุกเดือน ๆ ละ 5,000 บาทติดต่อกันมานาน 5 ปี เงินต้นของเราควรจะอยู่ราว ๆ 300,000 บาท แต่ด้วยการบริหารจัดการกองทุนรวมอย่างถูกต้องทำให้เงินต้นบวกกับส่วนต่างนั้นเพิ่มขึ้นมาเป็น 375,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากเงินต้นราว 25% ใน 5 ปี หรือเท่ากับเราได้รับผลตอบแทนราว 5% ต่อปี ถือว่าสูงอยู่นะครับ และหากเรามีวินัยมากพอสามารถตัดเงินจากบัญชีเงินเดือนได้เดือนละ 5,000 บาทต่อเนื่องเป็น 10 ปี ผมเชื่อเลยว่าเงินในพอร์ตกองทุนรวมของท่านจะทะลุ 1 ล้านบาทได้ไม่ยากเลยครับ

วิธีการที่ 4 “ทำประกัน”

 
วิธีสุดท้ายที่ผมอยากจะแนะนำวิธีการจัดการเงินเดือนอย่างฉลาดที่สุดก็คือ การทำประกัน ไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ ประกันสุขภาพ หรือแม้แต่ประกันสินทรัพย์ เช่น ประกันอัคคีภัย ประกันรถยนต์ เป็นต้น สาเหตุที่เราควรจะทำประกันก็คือ ประกันนั้นเปรียบเหมือน “กองหลัง” เพราะหากเราเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาในชีวิต ยกตัวอย่างเช่น เราเจ็บป่วยกะทันหัน แต่เราไม่ได้ทำประกันเอาไว้ ค่าใช้จ่ายการรักษาตัวเองจะสูงกว่าปกติแน่นอนครับ ยังไม่นับการเจ็บป่วยของคนรอบตัวเราอีกนะครับ ดังนั้นการทำประกันสำหรับมนุษย์เงินเดือนถือเป็นการจัดการเงินเดือนอย่างฉลาดที่สุดเช่นเดียวกับวิธีอื่น ๆ อย่างไม่ต้องสงสัยอะไรเลยครับ
วิธีการทั้ง 4 ที่ผู้เขียนได้นำเสนอมานั้น เราสามารถนำปรับมาใช้กับตัวเองได้ และสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับตัวเราเอง สำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้มากสามารถเลือกลงทุนในหุ้นโดยตรงก็ไม่ผิดกติกา แต่ประการใด สำหรับคนที่อยากสะสมความมั่งคั่งให้กับตัวเองอย่าลืม "ออมก่อนใช้" นะครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา