4 เคล็ดลับออมเงิน เก็บเก่งรวยเร็ว
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

4 เคล็ดลับออมเงิน เก็บเก่งรวยเร็ว

icon-access-time Posted On 04 ธันวาคม 2557
By Maibat
คนไทยยังออมเงินด้วยวิธีการฝากเงินไว้ในบัญชีธนาคารเป็นหลัก เพราะเรียนรู้มาจากบรรพบุรุษรุ่นต่อรุ่นจนเกิดความเคยชิน และรู้ว่าเงินต้นไม่หายได้รับดอกเบี้ยครบตามที่ตกลงไว้จนเกิดความรู้สึกอุ่นใจ แต่การฝากเงินไว้ในบัญชีธนาคารอาจทำให้พลาดโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าจากการออมเงินรูปแบบอื่นนะครับ
 
"สมัยนี้มีช่องทางใช้เงินอนาคตมากมายเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เรา ยังมีเงินไม่พอ ... เราจึงควรใช้เงินอนาคตอย่างรอบคอบในสิ่งที่จำเป็นและรู้ตัวว่าสามารถชำระคืนได้"
หลังจากประเทศไทยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรง ที่เรียกขานกันว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” อัตราดอกเบี้ยเงินฝากทยอยปรับลดลงจนอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลายาวนานถึงปัจจุบัน สวรรค์ของนักออมเงินก็หมดลงเพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทั่วไปเหลือไม่เกิน 3% ต่อปี โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปเหลือนิดเดียวแต่เป็นบัญชีที่คนไทยนิยมฝากเงินมากที่สุด ทำให้มูลค่าเงินออมที่แท้จริงแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย
นอกจากต้องเจอกับภาวะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำแล้ว ยังต้องเผชิญกับศัตรูการออมเงิน ที่มีชื่อว่า “เงินเฟ้อ” ทำให้ค่าของเงินออมลดลงจากการที่สินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะรายการใช้จ่ายค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าบ้าน และค่ารักษาพยาบาล ราคาแพงขึ้นมาก ดังนั้นเราจึงควรหาวิธีออมเงินรูปแบบอื่นที่ให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อและรับความเสี่ยงได้
เคล็ดลับออมเงิน เก็บเก่งรวยเร็ว” เพื่อสามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด
 

1. จงมีอัตราการออมเป็นบวกและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 
สูตรคำนวณ “อัตราการออม = (1 – ค่าใช้จ่าย/รายได้) x 100”
ตัวอย่างเช่น นาย เอ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,000 บาทและค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน 20,000 บาท เท่ากับมีอัตราการออมอยู่ที่ 33% หลังจากนั้นอีก 5 ปี นาย เอ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 50,000 บาทและค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน 45,000 บาท เท่ากับมีอัตราการออมอยู่ที่ 10%
ดังนั้น นาย เอ มีอัตราการออมเป็นบวก เพราะมีความสามารถหารายได้ทันกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่อัตราการออมลดลงจาก 33% เหลือ 10% เป็นสัญญาณที่ไม่ดี หากปล่อยไว้นาน นาย เอ อาจเป็นคนที่มีรายได้ดีแต่แทบไม่มีเงินออมเพิ่มเลย
ข้อแนะนำเพิ่มเติม การคำนวณรายได้ควรใช้รายได้สุทธิหลังหักภาษีเงินได้ จึงควรศึกษาวิธีการลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้อง และการคำนวณค่าใช้จ่ายควรคิดเฉพาะเงินที่ใช้เพื่อการบริโภคเท่านั้น ไม่รวมเงินที่ใช้ในการออมและลงทุน เพื่อให้เห็นอัตราการออมที่แท้จริงครับ
 

2. จงจัดสรรเงินออมให้เหมาะสม

 
แบ่งกองเป็น “เงินออมทั้งหมด =  เงินเพื่อใช้จ่าย + เงินเผื่อฉุกเฉิน + เงินเพื่อลงทุน”
เงินออมแต่ละกองมีหน้าที่แตกต่างกัน “กองแรก เงินออมเพื่อใช้จ่าย” มีหน้าที่สร้างสภาพคล่องและมีเงินใช้ตามที่เราต้องการ ดังนั้นต้องสามารถเข้าถึงเงินกองนี้ได้ทันที โดยปกติควรมีปริมาณให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 3 เดือน “กองสอง เงินออมเผื่อฉุกเฉิน” มีหน้าที่เสริมสภาพคล่องในช่วงที่มีความต้องการใช้เงินเกินปกติ ดังนั้นต้องสามารถเข้าถึงเงินกองนี้ได้ไม่นานนัก โดยปกติควรมีปริมาณให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 3 เดือน “กองสุดท้าย เงินออมเพื่อลงทุน” มีหน้าที่สร้างผลตอบแทนที่ดี ดังนั้นต้องเป็นเงินเย็นสามารถนำไปลงทุนได้นาน โดยนำไปลงทุนในสิ่งที่ตนเองรู้ลึกรู้จริงและรับความเสี่ยงได้
 

3. จงจัดสมดุลการออมในปัจจุบันและอนาคต

สมัยนี้มีช่องทางใช้เงินอนาคตมากมายเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เรายังมีเงินไม่พอ เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อนอกระบบ เป็นต้น ซึ่งอนาคตต้องจ่ายเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยก็นำมาจากเงินออมในอนาคตของคุณนั่นเอง
เราจึงควรใช้เงินอนาคตอย่างรอบคอบในสิ่งที่จำเป็นและรู้ตัวว่าสามารถชำระคืนได้ ขอยกตัวอย่าง บ้านพักอาศัยเป็นการใช้จ่ายเงินมากที่สุดในชีวิต ทาวน์โฮมใหม่ 3 ชั้นในเขตกรุงเทพชั้นกลางราคาขยับจากหลังละ 3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 5 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปีเท่านั้น ดังนั้นหากรอเก็บเงินให้ครบแล้วค่อยซื้อน่าจะต้องใช้เงินมากกว่า คนส่วนใหญ่จึงเลือกใช้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อให้เป็นเจ้าของบ้านได้ในราคาปัจจุบัน แต่ก็มีบางคนวางแผนผิดการเงินสะดุดไม่สามารถผ่อนบ้านต่อไปได้ การจัดสมดุลเงินออมในปัจจุบันและอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญต้องจัดการให้เหมาะสมกับคุณเอง
 

4. จงเรียนรู้การออมเงินรูปแบบอื่น

รู้หรือไม่ว่าช่องทางการออมมีมากกว่าการฝากเงินในบัญชีธนาคาร มีหลายช่องทางที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าและมีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ ผมขอเสนอ 4 รูปแบบการออมที่น่าสนใจ
4.1 กองทุนรวมตราสารหนี้ คือ การลงทุนในกองทุนรวมที่นำเงินเราไปลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร ตั๋วเงินคลัง บัตรเงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ เป็นต้น ซึ่งนโยบายชัดเจนไม่ลงทุนในตราสารหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงกว่า โดยกองทุนตราสารหนี้ซื้อขายได้ทุกวันมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าการฝากเงินขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนและได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
 
"ช่องทางการออมมีมากกว่าการฝากเงินในบัญชีธนาคาร มีหลายช่องทางที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าและมีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ"
4.2 หุ้นกู้บริษัทเอกชน คือ การลงทุนในตั๋วสัญญาใช้เงินระยะยาวที่ออกโดยบริษัทเอกชนที่ต้องการกู้ยืม โดยปกติซื้อขายผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการจัดตั้งเป็นตัวแทน ผลตอบแทนที่ได้รับเป็นดอกเบี้ยกู้ยืมตามที่หุ้นกู้ระบุไว้ มักขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ต้องการกู้ยืม ระยะเวลาครบกำหนด และอัตราดอกเบี้ยตลาด
4.3 พันธบัตรรัฐบาล คือ การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ออก โดยปกติซื้อขายผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการจัดตั้งเป็นตัวแทน ผลตอบแทนที่ได้รับเป็นดอกเบี้ยกู้ยืมตามที่พันธบัตรรัฐบาลระบุไว้ มักขึ้นอยู่กับระยะเวลาครบกำหนด และอัตราดอกเบี้ยตลาด จัดว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าหุ้นกู้บริษัทเอกชน
4.4 ประกันชีวิตที่เน้นการออมทรัพย์ คือ การลงทุนในประกันชีวิตที่มีรูปแบบกรมธรรม์เน้นผลตอบแทนมากกว่าความคุ้มครอง โดยปกติซื้อขายผ่านธนาคารพาณิชย์หรือตัวแทนประกันชีวิต ผลตอบแทนได้รับเป็นไปตามที่กรมธรรม์ระบุไว้ และหากมีระยะเวลาคุ้มครองครบ 10 ปีขึ้นไปสามารถนำค่าเบี้ยประกันไปใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุด 100,000 บาทต่อปี และหากเป็นกรรมธรรม์ที่สามารถชำระด้วยบัตรเครดิตก็จะได้รับสิทธิ์ประโยชน์เพิ่มเติมตามโปรโมชั่นที่บัตรเครดิตนั้นๆกำหนดไว้ ทำให้มีสิทธิ์ได้รับผลตอบแทนคุ้มถึง 3 ต่อนะครับ
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่เปิดโอกาสให้แชร์แนวคิดการเงินส่วนบุคคล และขอย้ำเพื่อนๆว่า การออมเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของความมั่งคั่งและมั่นคง ขอให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนกันนะครับ
บัญชีออมทรัพย์จัดให้ และบัตรกรุงศรี เดบิต จัดให้ D ใช้จ่ายปกติ ได้ทั้งฟรี แถมมีได้คืน
เคล็ดไม่ลับ e-book รวมสูตรเก็บเงินง่าย ฟรี ทำได้จริง ดาวน์โหลด คลิก
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา