คิดจะเคียงคู่ ต้องบริหารการเงินให้ไม่มีสะดุด
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

คิดจะเคียงคู่ ต้องบริหารการเงินให้ไม่มีสะดุด

icon-access-time Posted On 12 กรกฎาคม 2565
by Krungsri The COACH
คบกันมาตั้งนานหลายปี ทุกอย่างเริ่มลงตัว ความมั่นคงเริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ หลายคู่รักคงเริ่มมองถึง บ้าน รถ หรือทายาทตัวน้อย นี่คือสิ่งที่ทำให้เราต้องมองเรื่องการบริหารเงินและชีวิตคู่ของเราในอนาคตข้างหน้ากันมากขึ้น เพราะเมื่อเป้าหมายมีหลายอย่าง ยิ่งระยะเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ อนาคตที่รอเราอยู่อาจทำให้จากที่เราเพียงแค่การบริหารเงินแบบชีวิตคู่ ก็ต้องเข้าสู่การวางแผนการเงินฉบับคนมีครอบครัวอีกด้วย
 
คิดจะเคียงคู่ ต้องบริหารการเงินให้ไม่มีสะดุด

หากระหว่างทางของชีวิตคู่เราสามารถบริหารเงินและชีวิตคู่ไปพร้อม ๆ กันได้ดี สำหรับคนมีคู่ทุกคนเราขอให้บทความนี้เป็นตัวช่วยในการบริหารเงินแบบชีวิตคู่ของคุณ

ก่อนอื่นเลยถึงแม้ว่าพื้นฐานของชีวิตคู่คุณรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่การที่เรามองถึงเป้าหมายที่อยากมีร่วมกัน เราก็ต้องมาเข้าสู่แนวความคิดที่ไปด้วยกันเพื่อลดความขัดแย้งกันก่อน

เริ่มจาก “วิธีสร้างแนวคิดฉบับคู่รัก” โดยเราจะแบ่งออกเป็น 3 วิธีหลัก ๆ

คิดจะเคียงคู่ ต้องบริหารการเงินให้ไม่มีสะดุด
 

1. ความมุ่งมั่นเท่าเทียมกัน

เราทั้งคู่อาจจะต้องทุ่มเทให้กับเป้าหมายอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งเวลา พลังกาย และพลังใจ หรือถ้าหากมีใครสักคนพยายามทำให้เป้าหมายมาใกล้ขึ้นตลอดเวลา ในขณะที่อีกคนพอใจกับความพยายามรูปแบบเดิม ความไม่พอใจก็จะค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น และนำไปสู่ความล้มเหลว หรืออาจจะรวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ด้วย เพราะฉะนั้นหากเราคุยให้ชัดให้เคลียร์ถึงความมุ่งมั่นที่เท่าเทียมกัน เรื่องราวเหล่านี้จะไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป
 

2. เคารพกันและกัน

เมื่อแต่งงานกันสักพัก คู่รักมักจะสูญเสียความเคารพซึ่งกันและกัน จนเผลอต่อว่าหรือใช้คำพูดไม่เหมาะสมใส่กัน ดังนั้นวิธีที่เราจะรู้ได้ว่า คู่ของเรายังเคารพกันและกันหรือไม่ เราอาจจะใช้เวลาในการทำความเข้าใจกันและกันในทุกสัปดาห์ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคู่เรา เพราะหากมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือคำพูดที่เปลี่ยนไป เราจะได้นำมาปรับ รวมถึงอาจจะได้ความคิดเห็นที่มีประโยชน์กลับมาอีกด้วย
 

3. รู้วิธีที่จะหยุดพูดเรื่องงาน และโฟกัสกับเวลาส่วนตัวได้จริง ๆ

หากเมื่อไรก็ตามที่เรานำงานกลับมาบ้าน มักจะเต็มไปด้วยเรื่องงานที่เหนื่อยยากและความเครียด ยิ่งเมื่อมีเรื่องของคู่แต่งงานเข้ามาด้วยแล้วนั้น จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายหากทั้งสองฝ่ายไม่เรียนรู้วิธีหยุดพักละทิ้งงานไว้ก่อนเข้าบ้าน ก็จะทำให้แย่กันไปใหญ่ ฉะนั้น ถ้าหากเราลองแบ่งการใช้ชีวิตทั้งสองมิติให้ดี ทั้งมิติเรื่องงานและความสัมพันธ์ ก็จะช่วยลดปัญหาที่ตามมาได้

และเมื่อความสัมพันธ์เริ่มลงตัวสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ การบริหารเงินและชีวิตคู่ เพื่อให้เป้าหมายของเราเข้าใกล้มากขึ้นเรื่อย ๆ
 
คิดจะเคียงคู่ ต้องบริหารการเงินให้ไม่มีสะดุด

หากเราอยากจัดการบริหารการเงินแบบชีวิตคู่ให้อยู่หมัด เราอาจจะลองทำตามวิธีนี้ เริ่มจากแบ่งบัญชีหลัก ๆ ออกเป็น 4 บัญชี

1. บัญชีกลางสำหรับค่าใช้จ่าย

บัญชีนี้จะเป็นบัญชีที่มีค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่แน่นอน อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนบ้าน เป็นต้น ดังนั้นเพื่อบริหารการเงิน และชีวิตคู่ในบัญชีนี้โดยไม่กระทบใครคนใดคนหนึ่ง เราอาจจะแบ่งค่าใช้จ่ายรายเดือนออกจากของแต่ละฝ่ายในจำนวนเงินที่เท่ากันออกมา เพื่อไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ เพราะหากเรายืนหยัดที่จะคู่กันแล้วเรื่องการเงินจึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง
 

2. บัญชีเงินออมและเงินสำรองยามฉุกเฉิน

โดยบัญชีนี้จะเป็นบัญชีที่เก็บออมเพื่อเป้าหมายและสำรองยามฉุกเฉิน อย่างที่เรารู้ ๆ กันว่าชีวิตมักเกิดเรื่องไม่คาดคิดอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นหากเราทั้งคู่มีเงินออมและเงินสำรองไว้มากเท่าไร ระยะปลอดภัยรอบตัวเราก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
 

3. บัญชีเพื่อการลงทุนคู่

ในยุคสมัยนี้การลงทุนถือเป็นสิ่งที่จำเป็นจะทำให้เงินของเราได้ทำหน้าที่ของมันไป ถ้าหากเราทั้งคู่มองถึงการลงทุนที่งอกเงยเพื่อผลลัพธ์ กำไรตอบแทน จะทำให้เราบริหารการเงินและชีวิตคู่ของเรามีหลักมีฐานมากขึ้น โดยเราอาจจะลองนำเงินในสัดส่วนที่เท่ากันแบ่งไว้ลงทุนร่วมกัน คุณ และคู่ของคุณก็จะเปรียบเสมือนหุ้นส่วนในชีวิตกัน
 

4. บัญชีเพื่ออนาคต

หากว่าเราอยากมีทรัพย์สินอย่างอื่นเพิ่มเติม หรือหลัก ๆ แล้วต้องการที่จะอยากมีลูก การมีบัญชีเหล่านี้จะทำให้เราสามารถ วางแผนการเงินฉบับคนมีครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น เพราะเมื่อไรก็ตามที่เจ้าตัวน้อยลืมตาขึ้นมาแล้ว ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก็จะตามเรามาอีกด้วย และเงินจากบัญชีเพื่ออนาคตจะเป็นเงินที่ทำให้เราใช้จ่ายเพื่อเจ้าตัวน้อยได้ดี

ถ้าหากว่าใครที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนก่อน หรือหากกำลังบริหารเงินและชีวิตคู่ รวมไปถึงวางแผนการเงินฉบับคนมีครอบครัว เราขอแนะนำ "ชีวิตคู่อยู่กัน 2 คนจัดการเงินแบบอยู่สบาย" กับ Krungsri The COACH ที่จะทำให้คุณวางแผนง่ายขึ้น คลิกเลย

 
ท้ายที่สุดแล้วเราอาจจะต้องแยกกระเป๋ากันใช้จ่าย แต่แบ่งเงินบางส่วนไว้เป็นเงินกองกลางของครอบครัวตามที่ตกลงกันไว้ เพื่อลดความขัดแย้งทางความชอบ และลักษณะนิสัยด้านการใช้จ่ายที่แตกต่างกันของทั้งคู่ แถมยังเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายร่วมกันโดยไม่ให้คนใดคนหนึ่งแบกรับความเครียดไว้เพียงฝ่ายเดียว ที่สำคัญยังเป็นการสร้างวินัยด้านการใช้จ่ายในครอบครัวอีกด้วย
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา