มนุษย์เงินเดือนเตรียมตัวเอาชนะเงินเฟ้อยังไงดี?
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

มนุษย์เงินเดือนเตรียมตัวเอาชนะเงินเฟ้อยังไงดี?

icon-access-time Posted On 28 ตุลาคม 2565
by Krungsri The COACH
ถ้าพูดถึงเรื่องเงินตอนนี้ มนุษย์เงินเดือนหลายคนก็คงเริ่มที่จะพูดกันถึงรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะไหนจะฐานเงินเดือนไม่ขยับมาหลายปี โบนัสก็ไม่แน่นอน แถมยังมีวิกฤตเงินเฟ้อเข้ามาอีก… แต่หลายคนอาจจะกำลังไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของคำว่า “เงินเฟ้อ” และสิ่งนี้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ มากน้อยแค่ไหน

ซึ่งหลาย ๆ คนเคยได้ยินข่าวเรื่องภาวะเงินเฟ้อ แต่ยังหาความเชื่อมโยงกับชีวิตไม่เจอ และคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเงินที่มีอยู่ในมือก็ยังเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จึงละเลยไป แต่ในความเป็นจริงแล้วเงินเฟ้อเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด และส่งผลต่อเงินในกระเป๋าของเราโดยตรง แท้จริงแล้วเงินเฟ้อเป็นอย่างไร? และส่งผลกระทบกับเรายังไงมาดูกัน
 
เงินเฟ้อเกิดจากอะไร มีผลกระทบอย่างไรบ้าง

เงินเฟ้อ คืออะไร? มีผลกระทบอะไรบ้าง

“เงินเฟ้อ” ที่เรา ๆ คุ้นหูที่จริงแล้ว หมายถึง ภาวะเศรษฐกิจที่ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือถ้าพิจารณาจากค่าของเงิน เงินเฟ้อ คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ค่าเงินมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจะซื้อของชิ้นเดิมนั้นต้องใช้เงินมากกว่าเดิม แปลง่าย ๆ อีกแบบก็คือของแพงขึ้นนั่นเอง เช่น อาหาร เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงบริการอื่น ๆ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเท่าไหร่เมื่อเวลาผ่านไป โดยปกติจะวัดเงินเฟ้อด้วยการเปรียบเทียบราคาของสินค้าและบริการในวันนี้กับราคาเมื่อ 1 ปีก่อนหน้า สำหรับค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ เรียกว่า อัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% หมายความว่าราคาโดยเฉลี่ยในปัจจุบันสูงกว่าราคาในปีที่แล้วอยู่ 3% ตัวอย่างเช่น ถ้าก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 บาทในปีที่แล้ว และราคาเพิ่มเป็น 53 บาทในปีนี้ แปลว่าราคาเพิ่มขึ้น 3%
 
ทำไมถึงเกิดเงินเฟ้อขึ้นได้

ทำไมถึงเกิดเงินเฟ้อขึ้นได้?

เคยเอะใจกันบ้างมั้ย ว่าข้าวแกงจานหนึ่งที่เราเคยกินสมัยเด็กที่ซื้อได้ในราคาแค่ 25 บาทนั้น ปัจจุบันมีราคาเฉลี่ยอย่างน้อย ๆ ก็ 40-50 บาทเข้าไปแล้ว คำถามคือ ข้าวแกงจะยังขายในราคา 25 บาทไม่ได้เหรอ? เหตุที่เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นในโลกนี้ก็เพราะ 2 ปัจจัยสำคัญ เริ่มจาก
  1. ต้นทุนในการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น (Cost-Push Inflation) ผู้ผลิตสินค้าและบริการจึงปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น
  2. ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (Demand-Pull Inflation) ส่งผลทำให้จำนวนสินค้าและบริการไม่เพียงพอต่อความต้องการทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น
พูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อประชากรในโลกนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ความต้องการในสิ่งต่าง ๆ ทั้งข้าวปลาอาหาร สิ่งของจำเป็นก็เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรมีจำนวนเท่าเดิม หรือน้อยลง ด้วยเหตุนี้จำนวนเงินเท่าเดิมจึงไม่สามารถซื้อสิ่งที่เคยซื้อได้อีกต่อไป เนื่องจากความต้องการในสิ่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ข้าวของจึงต้องราคาแพงขึ้นนั่นเอง
 
มนุษย์เงินเดือนกับรายได้ที่ควรมีในสภาวะเงินเฟ้อ

มนุษย์เงินเดือนจะต้องมีรายได้เท่าไหร่ถึงจะรอดในสังคมเงินเฟ้อ?

เมื่อข้าวของต่าง ๆ มีราคาแพงขึ้น แล้วเราต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะอยู่ได้ ตอบได้ง่าย ๆ เลยคือ “รายได้ก็ควรจะเพิ่มขึ้นในอัตรา 7.86% ต่อปี อ้างอิงจาก ธปท. ธนาคารแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับอัตราเงินเฟ้อยังไงล่ะ เพียงเพื่อให้เงินที่มีอยู่ในมือมีกำลังซื้อเท่าเดิม เนื่องจากการที่ค่าของเงินลดลง หากจะมีกำลังจ่ายเท่าเดิม ก็จะต้องมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกัน เพราะฉะนั้น หากรายได้ไม่เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ ก็หมายความว่าคุณจนลงเรื่อย ๆ และมีกำลังซื้อหาจับจ่ายข้าวของน้อยลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากรายได้ในปัจจุบันของคุณพอจับจ่ายใช้สอยแบบเดือนชนเดือน ในแต่ละปีคุณควรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น เพื่อให้รายได้ยังครอบคลุมค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนโดยไม่นับความต้องการอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเมื่อมีครอบครัว ค่าเล่าเรียนลูก ค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่ เป็นต้น
 
เงินสำรองฉุกเฉินในสภาวะเงินเฟ้อ

เมื่อเกิดเงินเฟ้อ เงินสำรองฉุกเฉินก็จำเป็นต้องมี

เมื่อสภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เราอาจจะต้องลองประเมินสัดส่วนของเงินสดในบัญชีสำรองฉุกเฉินว่ายังเข้าเกณฑ์ตำรา 6 เดือนอยู่ไหม? ถ้ามีอยู่แล้วจะเซฟเงินสำรองต่อเพื่อให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้นก็ได้ แต่ถ้าคิดว่าเพียงพอแล้ว และงานที่ทำอยู่กับความต้องการในตลาดยังมีโอกาสอยู่มาก หรือกรณีแย่สุดหากตกงานมากะทันหัน ก็ยังสามารถนำเงินออมส่วนที่กันไว้ไปลงทุนต่อตามความเหมาะสมของสภาพคล่องของแต่ละคนได้

ลงทุนต่อสู้เงินเฟ้อ ควรลงทุนอะไรดี?

ในส่วนหมวดการลงทุน จะต้องทำการประเมินให้ดีว่า “เงินที่เราเลือกลงทุนนี้จะนำไปลงทุนกับสินทรัพย์ที่เรามีความรู้ ความเข้าใจเป็นอย่างดี และยอมรับระดับความเสี่ยงได้” รวมถึงการรอคอยผลตอบแทนจากการลงทุนได้นานแค่ไหน เพราะสินทรัพย์มีมากมาย อย่างเช่น กองทุน, หุ้น, ประกัน และอื่น ๆ

ณ ตอนนี้ สินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงสูงอย่างหุ้น และกองทุน (หุ้น) ก็มีความผันผวนอยู่พอสมควร บางคนอาจจะคิดว่า เงินก็เฟ้อ ตลาดหุ้นขาลง การที่เอาเงินเข้าไปลงทุนก็อาจทำให้เงินต้นหายไปทั้งมูลค่าหรือลดลงไปมากกว่าที่เรายอมรับได้ การจะหาทางนำเงินสดไปลงทุนรักษามูลค่าเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้ออย่าง หุ้นกู้เกรดเอ หรือพันธบัตรรัฐบาล ที่มีกรอบเวลาและการจ่ายดอกเบี้ยที่ชัดเจน ถึงแม้จะไม่สูงมาก ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

พออ่านมาถึงตรงนี้ก็พอจะเห็นภาพกันบ้างแล้วใช่ไหม ว่าเงินเฟ้อนั้นมีผลกระทบโดยตรงกับชีวิตของเรามากกว่าที่คิด ถึงแม้ในปัจจุบัน เราจะมีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน แต่เมื่อเวลาผ่านไป อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น จะทำให้เงินที่เรามีอยู่ในมือเสื่อมมูลค่าลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นหากเราไม่เร่งสร้างรายได้ หรือสร้างผลตอบแทนจากเงินต้นในอัตราที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ ในอนาคตเราจะจนลงเรื่อย ๆ รู้ตัวอีกทีก็ตอนเงินในมือที่เคยมีอยู่ในจำนวนเท่าเดิม ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายอีกต่อไปแล้ว
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา