เดี๋ยวนี้อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้วเราอาจจะไม่รู้จักการโอนเงินให้เพื่อนผ่านทาง Application ของทางธนาคาร การสแกนจ่ายผ่าน QR Code การเอาบัตรที่เคยเติมเงินเอาไว้ก่อนแล้วมาชำระเงินแทนการใช้เงินสด
ใช่ครับ..เรื่องที่ผมกำลังจะพูดถึงคือ E-payment หรือระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสร้างมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนยุคปัจจุบัน และทำให้เกิดพฤติกรรมการจ่ายเงินใหม่ ๆ ที่เราเริ่มคุ้นเคยกันแล้วในตอนนี้ พอคนในสังคมใช้ระบบ E-payment มากขึ้น สังคมของเราก็จะกลายเป็น “สังคมไร้เงินสด” หรือ Cashless Society ออกไปไหนก็ไม่ต้องพกเงินสดมาก จับจ่ายสะดวกมากขึ้น
แล้วเพื่อน ๆ สงสัยหรือไม่ ว่าที่ประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่เรารู้จักในฐานะผู้นำทางเทคโนโลยีของโลก ตอนนี้กลายเป็น “สังคมไร้เงินสด” แล้วหรือยัง เราจะไปส่องกล้องดูประเทศญี่ปุ่นกันว่า “สังคมไร้เงินสด” ในญี่ปุ่นนั้นไปถึงไหนแล้ว...
สังคมไร้เงินสดในปัจจุบันของประเทศญี่ปุ่น
“ประเทศญี่ปุ่นยังใช้เงินสดเป็นหลัก ทั้ง ๆ ที่เพื่อนบ้านอย่างจีน เกาหลีใต้ เปลี่ยนไปใช้ E-payment กันเกือบหมดแล้ว”
คนที่ไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นบ่อย ๆ อาจไม่ค่อยแปลกใจในคำกล่าวข้างต้น และกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่เราจะระลึกเสมอว่า ก่อนไปเที่ยวญี่ปุ่นเราต้องแลกเงินบาทไทยเป็นเงินสกุลเยนเผื่อเอาไว้ เพราะร้านค้าบางร้านเขารับเฉพาะเงินสด
ใช่ครับ..ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังใช้เงินสดกันอยู่
อ้างอิง : จากเอกสาร Cashless Roadmap 2019 โดย Payments Japan Association
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นออกรายงานเกี่ยวกับ “สถานการณ์สังคมไร้เงินสดของญี่ปุ่นในปัจจุบัน” เมื่อเดือนมกราคม 2020 โดยอ้างอิงข้อมูลจากเอกสาร Cashless Roadmap 2019 ซึ่งเป็นข้อมูลที่เปิดเผยจาก Payments Japan Association ในเอกสารได้ระบุถึงสถานการณ์ Cashless ของประเทศต่าง ๆ ในโลกประจำปี 2016 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ประเทศเกาหลีใต้ 96.4%
- ประเทศอังกฤษ 68.6%
- ประเทศจีน 65.8%
- ประเทศออสเตรเลีย 58.2%
- ประเทศแคนาดา 56.3%
- ประเทศสวีเดน 51.5%
- ประเทศสหรัฐอเมริกา 46.0%
- ประเทศฝรั่งเศส 40.7%
- ประเทศอินเดีย 34.8%
- ประเทศญี่ปุ่น 19.9%
- ประเทศเยอรมัน 15.6%
แม้เป็นสถิติที่เก็บได้ในอดีตเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่ช่วยให้เห็นภาพชัดเจนเลยว่า ประเทศญี่ปุ่นยังมีสัดส่วนการใช้เงินสดค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประเทศรอบข้างอย่างจีน และเกาหลีใต้ที่เปลี่ยนมาใช้ระบบ E-payment เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยประเทศเกาหลีใต้เป็นสังคมไร้เงินสดสูงถึง 96.4% ประเทศจีนเป็นสังคมไร้เงินสดสูงถึง 65.8% ประเทศอังกฤษ ประเทศสวีเดน ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศฝรั่งเศสก็มีอัตราส่วนการเป็นสังคมไร้เงินสดสูงถึง 40-70%
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงพยายามกระตุ้นให้สังคมญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมไร้เงินสดมากขึ้น อย่างที่เห็นในสถิติสัดส่วนการเป็นสังคมไร้เงินสด ในปีถัด ๆ มาของญี่ปุ่นสูงขึ้นตามลำดับ
- ปี 2015 : 18.2%
- ปี 2016 : 20%
- ปี 2017 : 21.3%
- ปี 2018 : 24.1%
แต่เมื่อเอาไปเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้วยังค่อนข้างห่างอยู่พอสมควร
เพราะอะไรถึงทำให้สังคมญี่ปุ่นยังไม่กลายเป็นสังคมไร้เงินสดซักที?
สังคมไร้เงินสดที่เรากำลังพูดถึงนี้มีหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น การใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิตในการชำระเงิน, บัตรเติมเงินอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการจับจ่ายใช้สอยตามร้านสะดวกซื้อ, บัตรสำหรับใช้ในระบบขนส่งสาธารณะในญี่ปุ่น, การชำระเงินผ่าน Application ต่าง ๆ หรือ Application ของธนาคารที่เราต้องมียอดเงินอยู่ในบัญชีธนาคารเสียก่อน, ช่องทางการชำระเงินอื่น ๆ เช่น Apple Pay หรือ LINE pay เป็นต้น
ทั้ง ๆ ที่การเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยจากการใช้เงินสดมาเป็น E-payment จะมีประโยชน์หลากหลาย ทำไมคนญี่ปุ่นถึงยังไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ E-payment กันสักที เรามาดูสาเหตุกันครับ
1. ประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างปลอดภัย การพกเงินสดติดตัวมาก ๆ ยังไม่ค่อยเสี่ยง จึงนิยมพกเงินสดติดตัวและชำระเงินด้วยเงินสด หากเทียบกับบางประเทศที่มีโจรกรรมในประเทศเยอะ ยกตัวอย่างเช่น หลายประเทศในโซนยุโรป ถ้าเราไปเที่ยวต้องมีสติตลอดเวลา เพราะมีเคสฉกชิงวิ่งราวให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ผู้คนในประเทศนั้น ๆ จึงมีนิสัยหลีกเลี่ยงการพกเงินติดตัวเป็นจำนวนมาก ๆ และใช้บัตรเครดิตในการชำระเงินแทน
2. ประเทศญี่ปุ่นไม่ค่อยมีธนบัตรปลอม ทำให้คนญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นในการใช้เงินสดมาก ในขณะที่บางประเทศมีปัญหาเรื่องธนบัตรปลอม เมื่อผู้คนไม่เชื่อถือในธนบัตร ทำให้การเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้ E-payment เป็นเรื่องง่าย
3. ธนบัตรญี่ปุ่นค่อนข้างสะอาด ทำให้ทุกคนยังมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อการใช้เงินสด
4. การชำระเงินที่แคชเชียร์ด้วยเงินสดก็ง่าย เร็ว และไม่มีปัญหา ตอนเราไปเที่ยวจะสังเกตเห็นว่าแคชเชียร์ที่เก็บเงิน ทอนเงิน มีความคล่องแคล่วมาก ทำให้คนยังมองว่า ใช้เงินสดก็ดีแล้วนี่
5. ที่ญี่ปุ่นถอนเงินสดง่าย เพราะมีตู้ ATM เยอะ โดยเฉพาะตู้ ATM ในร้านสะดวกซื้อที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
6. คนญี่ปุ่นบางคนรู้สึกว่าการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต เหมือนเป็นการติดหนี้ ทำให้เลือกใช้เงินสดมากกว่า
7. ในฝั่งร้านค้ามีปัญหาเรื่องการลงทุนเครื่องรับชำระเงินที่มีต้นทุนค่อนข้างแพง ต้องเตรียมพื้นที่สำหรับเครื่องรับชำระเงิน หรือต้องติดตั้งระบบสัญญาณเครือข่ายซึ่งอาจจะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงเป็นสาเหตุที่ร้านค้าขนาดเล็กจำนวนมากตัดสินใจรับแต่เงินสด
8. สำหรับการใช้บัตรเครดิต ถ้าร้านค้าไม่ผลักภาระค่าชาร์จบัตรเครดิตให้ลูกค้า ร้านค้าก็ต้องรับผิดชอบเองเฉลี่ยประมาณ 3% ของยอดขาย (ขึ้นอยู่กับอัตราที่กำหนดโดยบริษัทบัตรเครดิต) ถ้ารับเป็นเงินสดก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายนี้ ทำให้ร้านค้าบางร้านในญี่ปุ่นยังไม่รับบัตรเครดิต
9. ร้านค้าที่เลือกรับเงินสด จะสามารถนำเงินสดไปหมุนเวียนใช้ต่อในธุรกิจได้เลย ในขณะที่การรับชำระแบบบัตรเครดิตจะได้เงินล่าช้ากว่าปกติ ทำให้ร้านค้าจำนวนมากเลือกรับเงินสด
ด้วยเหตุนี้ทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนมาก ยังสะดวกใจที่จะใช้เงินสดอยู่ครับ
แล้วทำไมญี่ปุ่นถึงอยากผลักดันให้คนในประเทศเปลี่ยนพฤติกรรมการจ่ายเงินมาเป็นแบบ “ไร้เงินสด” (Cashless Society)
ประโยชน์ของการเปลี่ยนมาเป็นสังคมไร้เงินสด มีมากมายหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น
1. ประโยชน์ต่อผู้บริโภค
- สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ง่าย โดยไม่ต้องพกเงินติดตัว คนจ่ายเงินใหญ่ก็ไม่ต้องถือเงินสด เยอะ ๆ คนจ่ายเงินซื้อของในร้านสะดวกซื้อก็ไม่ต้องมากังวลเรื่องเศษเงินทอนที่ได้รับมา
- สามารถเช็กประวัติการใช้เงิน และนำมาบริหารจัดการได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่ชอบบันทึกรายรับรายจ่ายเป็นประจำอยู่แล้ว
2. ประโยชน์ต่อร้านค้า
- ลดความยุ่งยากในการบริหารจัดการเงินสดของร้านค้าจากรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นระบุไว้ว่า เวลาที่ใช้ปิดบัญชีเมื่อสิ้นวันจะใช้เวลาเฉลี่ย 25 นาที/1 เครื่องแคชเชียร์ ถ้ามีการใช้จ่ายเงินผ่านระบบ E-payment มากขึ้นก็จะช่วยกระชับเวลาเหล่านี้ นอกจากนั้น ยังช่วยป้องกันเงินสดสูญหายจากความสะเพร่าของพนักงานร้าน หรือการโจรกรรมเงินสดที่อาจเกิดขึ้นได้
- โอกาสในการเพิ่มยอดขายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในแบบสำรวจความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น โดยThe Japan Travel Bureau Foundation (JTBF) ประจำปี 2016 ระบุไว้ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 70% รู้สึกว่า “ถ้าประเทศญี่ปุ่นรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรเครดิต มากกว่านี้ พวกเขาจะใช้จ่ายเงินมากกว่าเดิม” ฉะนั้น ถ้าร้านค้ารับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นก็มีโอกาสเพิ่มยอดขาย
- ร้านค้าสามารถนำข้อมูลผู้บริโภคมาวิเคราะห์ และปรับใช้กับการพัฒนาสินค้าตัวใหม่ ๆ หรือใช้ในการทำการตลาดได้
แม้ประเทศญี่ปุ่นจะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นผู้นำทางเทคโนโลยี แต่ในเรื่องการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-payment) จะเห็นว่า ยังมีตัวเลขค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศรอบข้างอย่างประเทศจีน และประเทศเกาหลีใต้ จึงยังไม่ได้เป็น “สังคมไร้เงินสด” อย่างเต็มตัว ภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก และพยายามผลักดันให้ทุกฝ่ายเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยจากการใช้เงินสด ให้เป็นแบบ “ไร้เงินสด” ปี 2025 พวกเขาตั้งเป้าหมายไว้ที่ 40% และสักวันนึงจะไปให้ถึงเป้าหมายระดับโลกนั่นคือ 80% ครับ
ขอให้ฝันนั้นเป็นจริงในเร็ววันครับ