หลายคนคงเคยประสบปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้จ่าย ใช้เงินเดือนแบบเดือนชนเดือน เงินเข้ามาแล้วก็ออกไปอย่างรวดเร็ว ไม่เคยเก็บเงินได้เลย พอใกล้ถึงสิ้นเดือนก็ต้องหาตัวช่วย อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แล้วก็นับวันรอเมื่อไหร่เงินเดือนจะเข้ามา เป็นแบบนี้วนไปทุกเดือน อยากมีเงินเก็บเหมือนคนอื่นเขา แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ไม่รู้จะเก็บเงินยังไงดี
การเพิ่มรายได้ อาจเป็นคำตอบของปัญหานี้ แต่เชื่อหรือไม่ว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่รายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงไม่สามารถเก็บเงินได้ เพราะการใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นตามรายได้ เรียกว่ารายได้สูงขึ้น รสนิยมก็สูงตามรายได้ไปเรื่อย ๆ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำควบคู่ไปกับการ
หารายได้เพิ่มนั่นก็คือ การรู้จักเก็บเงิน แบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ และลงทุนเพิ่มเพื่อสร้างผลตอบแทน โดยลองทำตาม 3 ข้อนี้ แล้วชีวิตการเงินของคุณจะดีขึ้น จะสามารถเก็บเงินได้มากขึ้น
ข้อ 1. นำเทคนิคการเก็บเงินมาปรับใช้ให้เหมาะสมตามสไตล์ของตัวเอง
เพราะแต่ละคนอาจจะมีเทคนิคที่ถูกจริตของตนแตกต่างกันไปตามไลฟ์สไตล์ และความชื่นชอบส่วนตัว โดยยกตัวอย่างเทคนิคที่นิยมใช้กันแพร่หลาย เช่น
เทคนิคการเก็บเงิน ด้วยทฤษฎี 6 Jars
ทฤษฎี 6 jars หรือ ขวดโหล 6 ใบ ซึ่งคิดค้นโดย T. Harv EKer โดยแบ่งรายได้ที่เข้ามาแต่ละเดือน ออกเป็น 6 ส่วน หรือ 6 ขวดโหล เพื่อวัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่แตกต่างกัน ตามสัดส่วนดังนี้
โหลที่ 1 ค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวัน (Necessities Account) 55%
โดยโหลนี้จะมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 55% เพราะจะต้องจัดการกับค่าใช้จ่ายจำเป็น ค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพประจำวัน เช่น ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์, ค่ากิน, ค่าเดินทาง, ค่าที่พัก เป็นต้น
โหลที่ 2 เงินลงทุนเพื่อ
อิสรภาพทางการเงิน (Financial Freedom Account) 10%
โหลนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นโหลที่จะทำให้เรามีเงินเก็บ โดยเราจะแบ่ง 10% ของรายได้ไปลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนงอกเงย เช่น ลงทุนในเงินฝาก, ตราสารหนี้, กองทุนรวม, หุ้น, อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
โหลที่ 3 เงินลงทุนกับความรู้ และทักษะใหม่ ๆ (Education Account) 10%
นำเงิน 10% นี้ไปลงทุนหาความรู้ หรือพัฒนาทักษะที่ช่วยให้เราสร้างรายได้เพิ่ม หรือเติบโตในหน้าที่การงาน เช่น คอร์สเรียน, หนังสือ, การศึกษาต่อ เป็นต้น
โหลที่ 4 สำรองเงินเพื่อใช้จ่ายในอนาคต (Long Term Savings For Spending Account) 10%
สำรองเงิน 10% นี้เพื่อค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ เช่น เงินเก็บสำรองฉุกเฉิน, ประกันสุขภาพ, บ้าน, รถ, แต่งงาน เป็นต้น
โหลที่ 5 เติมไฟในการทำงาน ด้วยการให้รางวัลตนเอง (Play Account) 10%
หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการหาเงินเก็บเงิน ก็ให้รางวัลตนเองบ้าง กับ 10% นี้ เช่น กินอาหารหรู, ท่องเที่ยว, ซื้อเครื่องประดับ หรือแม้แต่การเก็บเงินเพิ่ม เป็นต้น
โหลที่ 6 แบ่งปันแก่ผู้อื่น สร้างความสุขทางใจ (Give Account) 5%
แบ่งสัก 5% เพื่อให้แก่ผู้อื่นบ้าง เช่น บริจาคเงิน, ทำบุญ, ให้ของขวัญ เป็นต้น
เทคนิคการเก็บเงิน ด้วยการแบ่งสัดส่วน 50 30 20
อีกหนึ่งเทคนิคที่เป็นที่นิยมแพร่หลายก็คือ เทคนิคการแบ่งสัดส่วนเงินแบบ 50 30 20 ของ Elizabeth Warren โดยแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วนได้แก่
ส่วนที่ 1 คือ 50% สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อการดำรงชีพ (Needs) จำพวก ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์, ค่ากิน, ค่าเดินทาง, ค่าที่พัก เป็นต้น
ส่วนที่ 2 คือ 30% สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อความสุขส่วนตัว (Wants) ซึ่งแตกต่างกันไปตามความชื่นชอบของแต่ละคน เช่น ท่องเที่ยว, กินอาหารหรู, เพิ่มทักษะความรู้, ช้อปปิ้ง, แบ่งปันผู้อื่น เป็นต้น
ส่วนที่ 3 คือ 20% สำหรับเก็บออมเพื่อลงทุน (Saving) โดยแบ่งลงทุนระยะสั้น กลาง ยาว ตามวัตถุประสงค์ของเงิน เช่น เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน จะลงทุนระยะสั้น, เงินเก็บเพื่อแต่งงานในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า จะลงทุนระยะกลาง หรือเงินเก็บเพื่อเกษียณอายุ จะลงทุนระยะยาว เป็นต้น และสำหรับใครที่อยากเก็บเงินได้เยอะ ๆ อาจจะลดส่วนที่ 2 ลง 5-10% แล้วมาเพิ่มในส่วนนี้ ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
ข้อ 2. สำหรับมือใหม่ที่เริ่มเก็บเงิน อาจจะมองว่าวิธีการเก็บเงินตามข้อ 1 นั้นยากเกินไป เพราะยังไม่มั่นใจในวินัยของตนเองว่าจะมีความสม่ำเสมอขนาดไหน ลองเพิ่มเทคนิคที่จะช่วยสร้างวินัยการเก็บเงินให้กับตนเองตามนี้
เก็บเงินก่อนใช้เสมอ
วิธีเก็บเงินก่อนใช้เสมอ คือ เมื่อได้รับเงินเดือนมา ให้กันเงินส่วนที่จะเก็บออมออกมาก่อน เพื่อนำไปลงทุนหรือฝากเข้าบัญชีที่ไม่สามารถเบิกใช้ได้ทันที ป้องกันไม่ให้เรานำเงินส่วนนี้มาใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งถ้าเราใช้เทคนิค 6 jars ก็กันเงิน 30% ในส่วนของ Financial Freedom Account 10%, Education Account 10% และ Long Term Savings For Spending Account 10% หรือถ้าใช้เทคนิค 50 30 20 ก็กันเงิน 20% ในส่วนของ Savings ออกมาไว้สำหรับเก็บออม หรือลงทุนโดยเฉพาะ
เก็บเงินเท่าที่ช้อป
วิธีเก็บเงินเท่าที่ช้อป ก็สามารถทำได้ โดยท่องไว้เสมอว่า ถ้าเราจะซื้อสินค้าอะไร ที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นในการดำรงชีพ ให้เตรียมเงินไว้สองเท่าสำหรับราคาสินค้านั้น ๆ เสมอ โดยส่วนแรกนำไปจ่ายค่าสินค้าตามปกติ และส่วนที่สอง ให้นำเงินไปลงทุนหรือฝากเข้าบัญชีที่ไม่สามารถเบิกใช้ได้ทันที สำหรับเก็บออมและลงทุนโดยเฉพาะ แบบนี้ก็จะทำให้เราสามารถเริ่มเก็บเงินได้เช่นกัน สมมติว่าในแต่ละเดือน เราใช้จ่าย 50% สำหรับสิ่งจำเป็น และเราเหลือเงินอีก 50% แสดงว่าเราจะสามารถช้อปได้ 25% และต้องเก็บออมอีก 25% เป็นต้น
ข้อ 3. เมื่อเริ่มเก็บเงินได้แล้ว สิ่งสำคัญที่ควรจะทำควบคู่กันไป ก็คือการนำเงินที่เก็บไว้ไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน ทำให้เงินงอกเงยยิ่งขึ้นไปอีก โดยผู้ที่สนใจลงทุนจะต้องศึกษารายละเอียด ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข และความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ ประกอบกับการประเมินความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการลงทุนสำหรับเงินแต่ละส่วน รวมไปถึงผลตอบแทนที่คาดหวัง แล้วจึงตัดสินใจลงทุนให้เหมาะสมกับที่ตนเองรับได้ เช่น มีเงินเย็นสามารถลงทุนระยะยาวได้ แต่ไม่ต้องการความเสี่ยง ก็อาจจะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือเงินฝากธนาคาร แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้บ้าง ก็อาจจะลงทุนในตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ แต่ถ้าใครที่รับความเสี่ยงสูงได้ ก็อาจจะลงทุนในตราสารทุน หรือกองทุนรวมตราสารทุน เป็นต้น
โดยอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากการนำเงินไปลงทุน เปรียบเสมือนพลังการทวีคูณของเงิน เพราะจะยิ่งทำให้เงินเก็บของเรางอกเงยยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้เราสามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้เร็วกว่า เมื่อเทียบกับการเก็บเงินไว้นิ่ง ๆ โดยไม่ลงทุนอะไรเลย ซึ่งจะแสดงตัวอย่างของการนำเงินไปลงทุน เพื่อหาผลตอบแทน และลงทุนแบบทบต้นไปเรื่อย ๆ ให้เห็นว่า เมื่อระยะเวลาผ่านไป เงินเก็บของเราจะงอกเงยขึ้นเพียงไร ดังนี้
ลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ คาดหวังผลตอบแทน 3% ต่อปี
*อ้างอิงผลตอบแทนจาก ผลตอบแทนเฉลี่ยหุ้น หรือกองทุนรวมหุ้นของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว
อ้างอิง ข้อมูล ณ วันที่ 30/12/2021
www.krungsriasset.com
กรณีที่เรารับความเสี่ยงได้ต่ำ และความหวังผลตอบแทนไม่สูงนัก จะเห็นได้ว่าหากเราเริ่มเก็บเงินและลงทุนที่ 12,000 บาท ต่อปี (หรือ 1,000 บาท ต่อเดือน) เมื่อผ่านไป 10 ปี เงินเก็บของเราจะมีมูลค่าถึง 141,694 บาท เมื่อเทียบกับการไม่ลงทุนเลย เราจะมีเงินเก็บเพียง 120,000 บาท
หรือหากเริ่มเก็บเงินและลงทุนที่ 120,000 บาท ต่อปี (หรือ 10,000 บาท ต่อเดือน) เมื่อผ่านไป 10 ปี เงินเก็บของเราจะมีมูลค่าถึง 1,416,935 บาท เมื่อเทียบกับการไม่ลงทุนเลย เราจะมีเงินเก็บเพียง 1,200,000 บาท
ลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน คาดหวังผลตอบแทน 8% ต่อปี
*อ้างอิงผลตอบแทนจาก ผลตอบแทนเฉลี่ยหุ้น หรือกองทุนรวมหุ้นของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว
อ้างอิง ข้อมูล ณ วันที่ 30/12/2021
www.krungsriasset.com
กรณีที่เรารับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้ และคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าหากเราเริ่มเก็บเงินและลงทุนที่ 12,000 บาท ต่อปี (หรือ 1,000 บาท ต่อเดือน) เมื่อผ่านไป 10 ปี เงินเก็บของเราจะมีมูลค่าถึง 187,746 บาท เมื่อเทียบกับการไม่ลงทุนเลย เราจะมีเงินเก็บเพียง 120,000 บาท
หรือหาก
เริ่มเก็บเงินและลงทุนที่ 120,000 บาท ต่อปี (หรือ 10,000 บาท ต่อเดือน) เมื่อผ่านไป 10 ปี เงินเก็บของเราจะมีมูลค่าถึง 1,877,458 บาท เมื่อเทียบกับการไม่ลงทุนเลย เราจะมีเงินเก็บเพียง 1,200,000 บาท
จากตารางทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มมูลค่าของเงินเก็บด้วยการลงทุน ยิ่งเราลงทุนได้ผลตอบแทนต่อปีมากเท่าไร เงินเก็บของเราก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ทั้งนี้ผู้ลงทุนจะต้องระวังในเรื่องของความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้าเงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
สุดท้ายนี้ขอให้ทุกคนเจอวิธีการเก็บเงินที่ใช่สำหรับตนเอง และเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ตนต้องการ ต่อยอดเงินให้งอกเงยเพื่อความฝันที่ทุกคนตั้งไว้ และถ้าใครยังคิดไม่ออกว่าจะเริ่มศึกษาการลงทุนแต่ละประเภทจากไหน สามารถค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ธนาคารกรุงศรีฯ
www.krungsri.com