ทันทีที่เพื่อนเอ่ยปากชวนไปช้อปปิ้ง ยุ้ยเชื่อว่าสาวๆ หลายคนหูผึ่งพร้อมตาลุกวาวกันทุกคนค่ะ ยิ่งได้ยินโปรโมชั่นลด 20-70% ด้วยยิ่งแล้ว เรื่องแบบนี้สาวนักช้อปถึงไหนถึงกัน ต่อให้ไกลแค่ไหนก็ไม่ต้องกังวลค่ะ สาวนักช้อปลุยได้สบาย
"ทุกๆ ความสำเร็จเริ่มต้นจากการวางแผน เราต้องวางแผนการใช้เงินประจำเดือนก่อน แล้วค่อยวางแผนการช้อปปิ้ง ซึ่งจะทำให้เราช้อปได้อย่างมีความสุขค่ะ"
เดินทั้งวันไม่เคยเหน็ดเหนื่อย จริงมั้ยค่ะ แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ การเป็นหนี้บัตรเครดิต เงินเดือนไม่พอใช้ ถึงขั้นวิกฤตอาจจะต้องยืมตรงโน้น มาโปะตรงนี้ เพราะฉะนั้นแล้วย่อมเป็นเรื่องปกติค่ะ ถ้าสิ้นเดือนจะไม่มีเงินเหลือเก็บ แถมยังมีหนี้ติดตามมาพร้อม กับเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าอีกด้วย
แต่ปัญหาทุกอย่างมีทางออกเสมอ บทความนี้จะช่วยให้สาวๆ นักช้อป มีเงินเหลือเก็บ แถมยังได้ช้อปปิ้งสมใจปรารถนาค่ะ ก่อนอื่นเราต้องเริ่มสำรวจตัวเองกันเสียก่อนว่า รายรับของเราแต่ละเดือนเท่าไหร่ รายจ่ายเท่าไหร่ จากนั้นก็เริ่มวางแผนการเงินได้เลยค่ะ อย่าลืมนะคะทุกๆ ความสำเร็จเริ่มต้นจากการวางแผน เราต้องวางแผนการใช้เงินประจำเดือนก่อน แล้วค่อยวางแผนการช้อปปิ้ง ซึ่งจะทำให้เราช้อปได้อย่างมีความสุขค่ะ
ตัวอย่างเช่น เงินเดือน 20,000 บาท หักเงินฝากเงินออม 3,000 บาท (10-15%)ในกรณีเงินออมนี้ขอร้องเป็นเงินออมที่ห้ามถอนนะคะ ห้ามถอน! ฝากลืมทิ้งไว้ในบัญชีเลยค่ะ เก็บอีก 2,000 บาท (10%) เพื่อให้บุพการี คุณพ่อ คุณแม่ ทำบุญใช้เงินในส่วนนี้ได้ค่ะ เก็บอีก 3,000 บาท (15%) เงินส่วนนี้เก็บสะสมไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น เงินประกันชีวิต หรือเอาไว้ใช้หากต้องเข้าโรงพยาบาล เก็บสะสมไว้ใช้ซื้อสิ่งของที่ใหญ่ เช่นดาวน์คอนโด หรือเก็บไว้เป็นเงินค่าเรียน สัมมนาต่างๆค่ะจากนั้นหัก 10,000 บาท (50%) เป็นค่าใช้จ่าย ค่าอาหาร ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าที่พัก ค่าโทรศัพท์ สำหรับสาวที่ชื่นชอบการช้อปปิ้งอาจใช้ลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แล้วเอาเงินที่เหลือในส่วนนี้ไปช้อปปิ้งได้นะคะ และสุดท้ายก็เป็นบัญชีสำหรับสาวนักช้อปค่ะ 2,000 บาท (10%) หรือบางคนสามารถออกแบบการใช้จ่ายของตัวเองอย่างง่ายๆ ได้ค่ะ บางคนแบ่งเงินเป็น 2 ก้อน เช่นรับ 20,000 บาท แบ่งเก็บ 8,000 บาท แบ่งใช้จ่ายรวมช้อปปิ้ง 12,000 บาท ก็ได้เหมือนกันค่ะ แต่อย่าลืมนะคะ ฝากแล้ว ฝากเลย ห้ามถอน!
"เวลาคนแย่งกันช้อปมันจะทำให้เราอยากช้อป ทั้งๆ ที่บางทีเราไม่ได้มีความอยาก ในเชิงจิตวิทยาเวลาเราเห็นคนมุง เราก็มุง เราเห็นคนรุมซื้อ เราก็จะรุมซื้อไปด้วย"
หลังจากที่เราวางแผนการเงินแบบง่ายๆ ไปแล้ว คราวนี้เรื่องช้อปปิ้ง สบายมากค่ะ ยังไงเงินเหลืออยู่แล้ว เพราะเราแบ่งเก็บก่อนใช้ ยังไงก็เหลือค่ะ คราวนี้ก้อนที่เหลือ ทั้งกิน ทั้งใช้ให้มันสุดๆ ไปเลยค่ะ แต่ยุ้ยก็มีเคล็ดลับนิดๆ หน่อยๆ ที่ใช้เวลาช้อปปิ้งแล้วทำให้เงินเหลือและได้ของที่คุ้มค่าค่ะ
1. อย่าช้อปตอนต้นเดือน หลังจากเงินเดือนออก อย่าเพิ่งช้อปปิ้งค่ะ เก็บเงินก่อน แบ่งค่าใช้จ่ายก่อน จากนั้นยุ้ยจะหมายตา หรือวางแผนไว้ว่าเดือนนี้จะซื้ออะไร เสื้อผ้ากี่ชิ้น รองเท้ามั้ย? กระเป๋ามั้ย ? แล้วยุ้ยจะเริ่มช้อปใกล้ๆ สิ้นเดือนค่ะ ยุ้ยจะช้อปเวลาที่คนเค้าไม่ช้อป เวลาไม่มีคนแย่งช้อปจะช่วยให้ความอยากช้อปลดลง เพราะถ้าเงินเดือนออกปุ๊ป หลายคนจะช้อปพร้อมๆกัน เวลาคนแย่งกันช้อปมันจะทำให้เราอยากช้อป ทั้งๆ ที่บางทีเราไม่ได้มีความอยาก ในเชิงจิตวิทยาเวลาเราเห็นคนมุง เราก็มุง เราเห็นคนรุมซื้อ เราก็จะรุมซื้อไปด้วยค่ะ ใกล้สิ้นเดือนบางคนเงินหมดแล้วไม่มีให้ช้อป ดังนั้นเทคนิคแรกช้อปช่วงใกล้สิ้นเดือนค่ะ ส่วนมากไม่ค่อยมีคนช้อป บางทีร้านค้าก็ลดราคาเพื่อดึงลูกค้าด้วยค่ะ
2. ฝึกวินัยในตัวเอง ยุ้ยเชื่อว่าหลายคนที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องใดๆ ก็ตาม ต้องเป็นคนมีวินัย การช้อปปิ้งก็เช่นกัน เราสามารถฝึกวินัยจากการช้อปปิ้งได้ค่ะ โดยวางแผนไว้ว่าเดือนนี้จะ ช้อปอะไรบ้างอย่างละกี่ชิ้น เช่น จะซื้อชุดทำงาน 3 ชุด กางเกง 2 ตัว รองเท้า 1 คู่ หลังจากวางแผนแค่ไหนก็ซื้อแค่นั้น ต้องเคร่งครัดในวินัยที่เราวางแผนไว้ค่ะ
3. วิธีการเลือกซื้อเสื้อผ้า สำหรับสไตล์การแต่งตัวแต่ละคนย่อมมีความชอบไม่เหมือนกันค่ะ แต่เทคนิคที่จะไม่ต้องซื้อเสื้อผ้าบ่อยๆ อย่างหนึ่งก็คือ อย่าซื้อเสื้อผ้าตามกระแสแฟชั่นมากนัก เพราะแฟชั่นเปลี่ยนแปลงเร็วมากอาจจะตกยุคได้ง่ายค่ะ เราอาจเลือกซื้อเสื้อผ้า ที่ดูธรรมดา แต่เก๋เท่ห์ ใส่ได้ทุกโอกาส ใช้การเลือกเสื้อผ้าสไตล์มิกซ์แอนด์แมชท์ เพราะจะช่วยให้แลดูมีเสื้อผ้าหลากหลาย
4. รอลดราคา ตอนเด็กเวลาเราอยากได้อะไร เรายังต้องรอเก็บสะสมเงินมาซื้อได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากกลับเป็นเด็กอีกครั้ง เราต้องฝึกตัวเองให้รอได้ค่ะ เคยเป็นมั้ยค่ะเวลาซื้อของราคาเต็มมาแล้ว มาเห็นเค้าติดป้ายลดราคาแล้วเจ็บใจ ดังนั้นรอช้อปปิ้งตอนลดราคา บางช่วงห้างสรรพสินค้าลดราคา 20-70% ค่ะ รับรองว่าประหยัดชัวร์ แต่อาจต้องอาศัยความเร็วหน่อยนะคะ เพราะของดีคนก็หมายตาค่ะ
5. แหล่งที่ช้อปปิ้ง สำหรับสถานที่ช้อปปิ้งแต่ละที่ค่าเช่าแตกต่างกันค่ะ ทำให้ราคาเสื้อผ้าแตกต่างกันถึงแม้สินค้าจะใกล้เคียงกัน ถ้าจะซื้อเสื้อผ้าแบรนด์เนมก็เลือกไปห้างซื้อตาม shop แบรนด์เนมได้เลยค่ะ แต่ถ้าเป็นเสื้อผ้าไม่มียี่ห้อหล่ะก็ควรเลือกร้านที่อยู่ในทำเลไม่แพงนัก เช่น แหล่งออฟฟิศเสื้อผ้าส่วนมากจะเอามาจากแพลตตินั่มราคาสูงแล้วแต่ว่าอยู่ในย่านออฟฟิศบริเวณไหน ดังนั้นบางที่ 1-2 เดือนยุ้ยก็ไปช๊อปปิ้งที่แพลตตินั่มทีเดียวเลยค่ะ ช้อปทีเดียวหายอยาก! รับรองเบื่อช้อปปิ้งไปอีกสักพักค่ะ
6. ดูแลรักษา เสื้อผ้าที่มีอยู่ให้ดีค่ะ เช่นผ้าบางชนิดควรซักมือ ควรแยกสีเสื้อผ้า ใช้น้ำยาถนอมผ้า เพื่อเป็นการดูแลรักษาให้เสื้อผ้าดูดี ไม่เป็นคราบ ไม่เป็นขุย จะได้ใช้คุ้มค่าอีกนานค่ะ เพราะแฟชั่นมักหมุนมาเป็นรอบๆ อาจเอากลับมาใช้ใหม่ได้ค่ะ
7. ใช้เงินสด การช้อปปิ้งไม่ควรใช้บัตรเครดิตค่ะ ถึงมีก็ไม่ควรใช้ เพราะจะใช้เพลินจนไม่รู้ลิมิตของตัวเอง แนะนำให้ใช้เงินสดที่มีในกระเป๋าค่ะ เพราะเราจะรู้ทันทีว่ามีเงินเหลือเท่าไหร่ เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆหรือไม่
8. อย่าไปเพราะเพื่อนชวน ข้อนี้สำคัญนะคะ บางทีเพื่อนชวนเพราะเพื่อนกำลังอยากช้อป ถ้าเราไปทุกครั้งที่เพื่อนชวนรับรองช้อปตามเพื่อนทุกครั้งแน่นอนค่ะ โดยปกติคนไทยไม่ค่อยกล้าปฎิเสธ เพื่อนลุ้น เพื่อนเชียร์ให้ซื้อ ขัดไม่ได้เพราะเกรงใจเพื่อนค่ะ ก็เลยต้องซื้อทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น ดังนั้นควรนัดแนะกับเพื่อนให้เป็นกิจจะลักษณะ เช่น ช้อปอาทิตย์เว้นอาทิตย์
9. อย่าช้อปเพราะแค่ของถูก หลายคนเจอป้าย sale ไม่ได้เป็นต้องวิ่งเข้าใส่ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า จำเป็นหรือไม่จำเป็นไม่รู้ รู้แต่ว่าลดราคา จริงอยู่สินค้าลดราคาจะช่วยเราประหยัด แต่ไม่เสมอไปค่ะ ลองเปิดตู้เสื้อผ้าดูสิค่ะ บางตัวซื้อเพราะลดราคาแขวนไว้ยังไม่เคยใส่เลยด้วยซ้ำ เชื่อเลยทุกคนต้องเป็น ที่บ้านยุ้ยก็ยังมีค่ะ อิอิ
10. ฝึกสติลดกิเลส ข้อนี้ใช้ได้กับทุกเรื่องค่ะ บางคนคิดว่าถ้าจะปฎิบัติธรรมต้องไปวัด แต่จริงๆ แล้วเราสามารถฝึกสติฝึกลดกิเลสได้ในชีวิตประจำวันได้ค่ะ ข้อนี้ยุ้ยทำบ่อยค่ะ เวลาไปช้อปปิ้งฝึกคิดช้าๆ อย่ารีบ อย่าใจร้อน เพราะถ้าเรารีบซื้อ รีบจ่ายตังค์ เราจะไม่ทันได้คิดค่ะ เช่นจะซื้อเสื้อสักตัว ยุ้ยก็จะคิดว่าจะใส่ไปไหน? ที่บ้านมีมั้ย? จำเป็นรึป่าว? สมราคามั้ย? ถ้าไม่ซื้อแล้วจะมีเสื้อผ้าใส่มั้ย? ถ้าคำตอบคือ ยังมี ยังไม่จำเป็น งั้นยังไม่ซื้อดีกว่า บางทีพอเราได้ลองคิดไตร่ตรอง เราจะรู้ว่ามันไม่ใช่สิ่งจำเป็นในตอนนี้ และนี่ก็เป็นวิธีฝึกสติและลดกิเลสได้ดีทีเดียว ลองฝึกดูนะคะ
สำหรับเทคนิค 10 ข้อที่ยุ้ยนำมาฝากนี้ ยุ้ยได้ใช้มาหมดแล้วค่ะ และบางทีเราควรเปิดตู้เสื้อผ้าดูบ่อยๆค่ะ เห็นเสื้อผ้า กระเป๋าเยอะๆ เราจะตกใจเองว่า “นี่เสื้อผ้าชั้นเหรอทำไมมันเยอะขนาดนี้” เห็นมากๆบ่อยๆก็เบื่อไปเองค่ะ ส่วนวิธีที่ได้ผลมากที่สุดสำหรับยุ้ย คือ วิธีการฝึกตัดกิเลสขั้นสูง เป็นการออกไปช้อปปิ้งในตอนที่ยังไม่ต้องการอะไร แต่เป็นการออกไปดูเทรนด์ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ดูๆ จับๆ สัมผัส พินิจพิเคราะห์ แล้วนึกถึง เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าที่เรามี นึกถึงความจำเป็น จะทำให้เรามีสติขึ้นค่ะ แล้วก็ปล่อยวางของในมือนั้นซะ! แล้วกลับบ้านมือเปล่า ยุ้ยชอบวิธีนี้มันดูโหดดีค่ะ แต่ได้ผล อิอิ ถึงจะยากสำหรับสาวนักช้อปแต่ก็ลองทำดูนะคะ รับรองสาวออฟฟิศแสนสวยอย่างเรา มีเงินเหลือแน่นอนค่ะ