เพื่อคุ้มครองคุณและครอบครัว
คำพูดที่ว่า “ความไม่แน่นอน คือความแน่นอน” นั้น เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นความจริงที่โหดร้ายกับชีวิตของคนเรา
“วันนี้อาหารร้านที่เราชอบเปิดให้บริการ วันพรุ่งนี้กลับเลิกกิจการ”
“วันนี้ยังมีงานให้ยุ่งวุ่นวายทั้งวัน วันพรุ่งนี้ตกงานเสียแล้ว”
“วันนี้ยังอยู่ดีกินดี วันพรุ่งนี้ตายไปเสียแล้ว”
ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด แน่นอนจนเราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย เพราะไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ สภาพแวดล้อม ร่างกายของเรา ฯลฯ เราควบคุมอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ทุกอย่างแทบจะอยู่เหนือการควบคุมของเราทั้งสิ้น
แน่นอนว่าคนเราทุกคนต้องตาย “ความตาย” สำหรับผู้เป็นเจ้าของนั้นไม่ได้เดือดร้อนอะไรนักหนา หรือเรามักเรียกว่าไปสบายแล้ว แต่ “ความตาย” สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วยังไม่ตายต่างหากที่จะก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมาได้ ตัวอย่างเช่น หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต แล้วภรรยาไม่มีรายได้ แต่ต้องเลี้ยงดูลูก ๆ ต้องประสบกับชีวิตที่ลำบาก ก็เป็นตัวอย่างที่เราพบกันมามากแล้ว
สำหรับบทความในวันนี้ จะพูดถึงเครื่องมือทางการเงินที่จะมาแก้ปัญหา หรือใช้ป้องกันความเสี่ยงจากการเสียชีวิตของคนสำคัญ ซึ่งเครื่องมือนั้นก็คือ “
ประกันชีวิต” นั่นเอง
ทำไมต้องทำประกันชีวิต ประกันชีวิต มีประโยชน์อย่างไร
การทำประกันชีวิตเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้เอาประกันภัยและครอบครัว หากเกิดการเสียชีวิตเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขของสัญญาประกันชีวิต เช่น หากมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดสัญญา หรือเสียชีวิตในระหว่างสัญญา หรือทั้ง 2 กรณีรวมกัน จะได้รับเงินตามเงื่อนไขของสัญญา ขึ้นอยู่กับรูปแบบการประกันชีวิตที่ได้ทำประกันชีวิตไว้
สำหรับคนที่ต้องการทำประกันชีวิตนั้นจะต้องพิจารณาประเด็นดังต่อไปนี้คือ
ผลประโยชน์ที่เราต้องการซึ่งก็คือ ทุนประกัน (จำนวนเงินที่ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับจากบริษัทประกันชีวิต ในกรณีครบกำหนดสัญญา หรือเสียชีวิต (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการรับประกัน))
ตัวอย่างเช่น หัวหน้าครอบครัวมีภาระ
ผ่อนบ้านราคา 5 ล้าน ถ้าหัวหน้าครอบครัวไม่อยู่แล้ว ครอบครัวสามารถดำเนินชีวิตได้ไม่มีปัญหา ถ้าไม่ต้องผ่อนบ้านต่อ ดังนั้นหัวหน้าครอบครัวก็ควรทำประกันชีวิตให้ครอบคลุมภาระที่จะต้องผ่อนบ้าน ซึ่งในที่นี้คือมูลค่าเงินกู้ที่จะใช้ในการปลดหนี้บ้านโดยไม่ต้องรวมดอกเบี้ยนั่นเอง และในกรณีที่หัวหน้าครอบครัวผ่อนบ้านได้หมดก่อนที่จะเสียชีวิต ประกันชีวิตส่วนนี้ก็ยังคงเป็นมรดกให้กับภรรยา และลูกได้อีกด้วย
นอกจากสิ่งที่เราได้รับแล้วเราก็ก็ต้องมีสิ่งที่ต้องจ่าย หรือต้นทุนในการทำประกันด้วย นั่นก็คือ เบี้ยประกัน (จำนวนเงินที่จ่ายให้กับบริษัทประกันชีวิต เพื่อซื้อความคุ้มครอง โดยจ่ายเป็นงวด ๆ จนครบกำหนดสัญญา ตามที่ตกลงในเงื่อนไขการชำระเบี้ย โดยปกติค่าเบี้ยประกันจะมีจำนวนเงินเท่ากันทุกงวดจนครบสัญญา) ซึ่งในส่วนของเบี้ยประกันนั้น เราจะต้องเลือกให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระเบี้ยประกันของเราด้วย เพื่อไม่ให้เป็นภาระที่มากเกินไป โดยอาจจะเลือกชำระเบี้ยน้อย แต่ระยะเวลานาน หรือชำระระยะเวลาสั้น แต่เบี้ยสูง ตามความเหมาะสมนั่นเอง
เพียงเท่านี้เราก็สามารถใช้การทำประกันชีวิต เพื่อดูแลคนข้างหลังได้โดยไม่มีปัญหาแล้ว แต่ปัญหานึงที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้าเราไม่ตายแต่ต้องการใช้เงินหละ ตัวอย่างเช่น หัวหน้าครอบครัวมีลูกอายุ 3 ขวบ จะต้องเริ่มเก็บเงินส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยต่างประเทศตอนอายุ 18 ปี เป็นจำนวนเงิน 5 ล้านบาท ถ้าหัวหน้าครอบครัวทำประกันชีวิตที่เน้นแต่เรื่องความคุ้มครองอย่างเดียวก็คงจะไม่เหมาะสมเท่าไรนัก
ประกันสะสมทรัพย์ คืออะไร
บริษัทประกัน จึงมีการคิดค้นแบบ ประกันสะสมทรัพย์ ขึ้นมา ซึ่งก็คือ การประกันชีวิตที่บริษัทฯ จะจ่ายเงินในจำนวนที่กำหนดไว้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดตามสัญญา หรือจ่ายเงินตามทุนประกันให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงก่อนที่จะครบกำหนดตามสัญญา การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ ซึ่งส่วนของการออมทรัพย์คือส่วนที่ผู้เอาประกันภัยได้รับเงินคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด เป็นวางแผนการออมเงินให้เป็นไปตามเป้าหมายของเรานั่นเอง ถ้าตามตัวอย่างที่ได้กล่าวไปนั้น หัวหน้าครอบครัวจะต้องเก็บเงิน 15 ปีให้ได้ 5 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 333,334 บาท (ไม่รวมปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อ) หัวหน้าครอบครัวก็ควรนำเงินจำนวนดังกล่าวมาทำประกันสะสมทรัพย์ที่มีอายุสัญญา 15 ปี แทน เพราะถ้าหาก 15 ปีผ่านไปแล้วหัวหน้าครอบครัวยังไม่เสียชีวิต เงินออมส่วนนี้ก็จะถูกคืนกลับมาให้กับหัวหน้าครอบครัวเพื่อส่งลูกเรียนต่างประเทศได้นั่นเอง
ซึ่งข้อดีของประกันชีวิตเมื่อเทียบกับการเก็บออมตามปกติก็คือผลตอบแทนของประกันชีวิตในกรณีที่เสียชีวิตนั้นจะสูงกว่าเงินฝากเป็นอย่างมาก เพราะเรายังจ่ายเบี้ยประกันไปไม่มาก แต่ได้ผลตอบแทนเป็นทุนประกันก้อนใหญ่เลย (เหมือนมีคนมาเก็บเงินให้ครบแทนเรา) อย่างไรก็ตามผลตอบแทนของประกันชีวิตจะลดลงไปตามระยะเวลาของสัญญานั่นเอง
นอกจากนี้สำหรับคนไทยที่มีรายได้ต้องเสียภาษีก็สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิต และ
ประชีวิตแบบสะสมทรัพย์มาหักลดหย่อนได้อีกด้วย ทำให้เกิดประโยชน์ทางภาษีเป็นประโยชน์เพิ่มเติมยิ่งขึ้นไปอีก
หากผู้อ่านสนใจประกันชีวิตหรือประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์แล้วหละก็ ทางธนาคารกรุงศรีมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ ที่สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้
ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรี ติดต่อกลับ
บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา