วางแผนเก็บค่าเทอมเพื่อลูก สำหรับพ่อแม่ยุคใหม่
เพื่ออนาคตลูก
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วางแผนเก็บค่าเทอมเพื่อลูก สำหรับพ่อแม่ยุคใหม่

icon-access-time Posted On 13 พฤษภาคม 2563
By Krungsri the COACH
ในปัจจุบันเรื่องค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูก ๆ นั้น ได้กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจที่จะมีลูกของคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการศึกษาอย่างค่าเทอมนั้น มีการปรับตัวสูงขึ้นใน ทุกๆ ปี จนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยแล้ว ดังนั้นการที่ครอบครัวหนึ่งต้องการที่จะมอบการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับลูก ๆ จึงมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงและต้องการการวางแผนค่าเรียนลูกที่รัดกุม เพราะเรื่องของค่าเล่าเรียนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่กังวลว่าจะกระทบต่อสถานะทางการเงินของครอบครัว จนบางครอบครัวอาจถึงขั้นตัดสินใจที่จะไม่มีลูกเลย อย่างไรก็ตามหากเรามีการศึกษาหาข้อมูล และวางแผนการลงทุน วางแผนเก็บค่าเทอมเพื่อลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ เรื่องค่าใช้จ่ายก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลอีกต่อไป วันนี้เรามาดูกันว่าเราควรจะวางแผนเก็บเงินส่งลูกเรียนกันอย่างไรบ้าง
หากเราจะพูดถึงการวางแผนค่าเรียนลูกนั้น ควรจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ดังต่อไปนี้
  • ช่วงวัยที่ 1 ก่อนอนุบาล และอนุบาล 1 – 3 เป็นระยะเวลา 4 ปี
  • ช่วงวัยที่ 2 ประถมศึกษา ป.1- ป.6 เป็นระยะเวลา 6 ปี
  • ช่วงวัยที่ 3 มัธยมศึกษา ม.1- ม.6 เป็นระยะเวลา 6 ปี
  • ช่วงวัยที่ 4 อุดมศึกษา เป็นระยะเวลาประมาณ 4 ปี ถึง 7 ปี
สำหรับช่วงวัยที่ 1 และ 2 กล่าวได้ว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญสำหรับลูก เนื่องจากในช่วงวัยอนุบาลถึงประถมศึกษานั้น เป็นช่วงเวลาสำหรับการปูพื้นฐาน และเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมเมื่อลูกเติบโตขึ้น
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังวางแผนเก็บเงินเพื่อลูก สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ต้องเริ่มพิจารณาจากแผนการศึกษาที่คุณได้วางแผนไว้สำหรับลูก เช่น ต้องการให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนอนุบาลที่ใด เรียนโรงเรียนประถมศึกษาแบบไหน จะเป็นโรงเรียนรัฐบาล เอกชน นานาชาติ หรือโรงเรียนทางเลือกอื่น ๆ เป็นต้น โดยเราควรพิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยด้านอื่น ๆ ของครอบครัวด้วย เช่น รายได้ปัจจุบันของครอบครัว ทำเลที่ตั้ง และการเดินทาง เป็นต้น รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการศึกษา เช่น ค่าหนังสือ ค่าเสื้อผ้า ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนพิเศษ ทัศนศึกษา เป็นต้น นอกจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว ค่าเทอมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่เราต้องพิจารณาให้เหมาะสมตามความสามารถในการเก็บเงินส่งลูกเรียนของแต่ละครอบครัว โดยทางเราได้รวบรวมข้อมูลค่าเทอมสำหรับช่วงประถมศึกษาของแต่ละโรงเรียนมาให้ตามตารางด้านล่าง
ซึ่งเมื่อเราได้ข้อมูลในการวางแผนค่าเรียนลูกทั้งเรื่องของค่าเทอม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยประมาณแล้ว โปรดจำไว้ว่าตัวเลขที่ได้เป็นค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ซึ่งเราอาจพิจารณาเพิ่มอัตราเงินเฟ้อเข้าไปอีกประมาณ 3-5 % ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น

คุณพ่อคุณแม่ควรเก็บออมเงินเพื่อส่งลูกเรียนไว้ในสินทรัพย์ประเภทไหน?

หลังจากที่เรารวบรวมข้อมูลค่าใช้จ่ายมาได้ทั้งหมดแล้ว ขั้นตอนต่อไปของการเก็บเงินค่าเทอมให้ลูกคือ วางแผนเลือกใช้วิธีการเก็บเงินให้เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายในแต่ละช่วงอายุของลูก
โดยในช่วงเริ่มต้นของลูก ค่าใช้จ่ายช่วงก่อนเข้าประถมนั้นถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เราก็ควรลงทุนเก็บค่าเทอมเพื่อลูกในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เน้นรักษาเงินต้น และที่สำคัญต้องมีสภาพคล่องที่สูง เช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เงินฝากประจำ เป็นต้น
ต่อมา ค่าใช้จ่ายสำหรับชั้นประถมศึกษาของลูกนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นใน 5-6 ปีข้างหน้า เราจึงสามารถวางแผนเก็บค่าเรียนให้ลูกโดยจัดสรรเงินไปลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ เพราะการลงทุนระยะยาวจะช่วยถัวเฉลี่ยความเสี่ยง และเพิ่มผลตอบแทนให้มากขึ้น เช่น การลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลาง และกองทุนรวมผสม เป็นต้น เพื่อให้เราเห็นภาพมากขึ้น เรามาดูตัวอย่างประกอบกัน
สมมติวันนี้คุณพ่อคุณแม่ อายุ 30 ปี มีลูก 1 คน อายุ 1 ขวบ ซึ่งลูกจะเข้าเรียน ป.1 เมื่อลูกอายุ 7 ปี ทั้งคู่วางแผนจะให้ลูกเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเอกชน (คาทอลิก) ค่าเทอมปัจจุบันอยู่ที่ 80,000 บาท/ปี รวมค่าเทอมทั้งหมด 6 ปี ประมาณ 730,000 บาท แต่หากต้องการให้ลูกเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนนานาชาติ ค่าเทอมปัจจุบันอยู่ที่ปีละ 300,000 บาท รวมค่าเทอมทั้งหมด 6 ปีประมาณ 2,735,000 บาท โดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อสำหรับการศึกษาอยู่ที่ประมาณปีละ 5%
ซึ่งตัวเลขนี้แหละคือ จำนวนเงินที่เราต้องเตรียมเก็บค่าเทอมให้ลูกภายใน 6 ปี เมื่อเราได้ตัวเลขมาแล้ว เราก็เริ่มนำเงินมาจัดสรรเพื่อลงทุนด้วยระยะเวลา 6 ปี เพราะหากเราใช้วิธีออมเงินเพียงอย่างเดียวในแต่ละเดือนเราอาจจะต้องเก็บออมเงินเป็นจำนวนมาก และอาจจะไปถึงเป้าหมายของเราได้ยาก ดังนั้น นอกจากการออมเงินเพียงอย่างเดียว เราแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เก็บเงินค่าเทอมเพื่อลูกด้วยเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ อย่าง การลงทุนควบคู่กันไปด้วย โดยลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงระดับกลางถึงสูง เช่น หุ้น ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำ และที่สำคัญควรกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปหลากหลายสินทรัพย์ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงและความผันผวนจากการลงทุน แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ยังขาดความชำนาญในการจัดพอร์ตการลงทุน สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมผสมซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะมีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพคอยบริหารจัดการการลงทุนให้กับเรา
จากตัวอย่าง หากเราต้องการเก็บเงินส่งลูกเรียนในโรงเรียนเอกชน (คาทอลิก) โดยมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงระดับกลาง (โดยสมมติให้ผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ 5% ต่อปี) ไว้แล้ว เมื่อคำนวณแล้ว เท่ากับเราจะต้องเก็บเงินค่าเทอมลูกประมาณเดือนละ 8,800 บาท แต่ถ้าเราไม่ได้นำเงินมาลงทุนเลย เราต้องเก็บเงินให้ได้ถึงเดือนละ 10,200 บาท และในกรณีตัวอย่างเดียวกัน ถ้าหากเราต้องการให้ลูกเข้าเรียนที่โรงเรียนนานาชาติ โดยมีการลงทุนในกองทุนฯ แล้ว เราจะต้องเก็บเงินประมาณเดือนละ 32,650 บาท แต่ถ้าเราไม่ได้นำเงินมาลงทุนเลย เราต้องเก็บเงินให้ได้ถึงเดือนละ 38,000 บาท ซึ่งจะเห็นว่าตัวเลขที่เราต้องเก็บนั้นต่างกันมากเลย ดังนั้น การวางแผนค่าเรียนลูกด้วยการออมและการลงทุนให้ดีตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยแบ่งเบาภาระเราได้อย่างมาก
สุดท้ายเมื่อมีการวางแผนลงทุนเก็บออมเพื่อลูกแล้ว สิ่งจะขาดไปไม่ได้เลย คือ การหมั่นทบทวนแผนการลงทุนของเรา คอยติดตามสถานการณ์และปรับแผนการเงินให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสถานะการเงินของเราอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พยายามศึกษากองทุนดีๆ ในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพราะการทบทวนจะช่วยให้เราสามารถตั้งเป้าหมายและวางแผนการออมเงินเพื่ออนาคตของลูกเพิ่มเติมในด้านอื่น ๆ ได้มากยิ่งขึ้น และที่สำคัญต้องการลงมือทำ จึงจะเห็นผล (เริ่มวางแผนการลงทุนเพื่ออนาคตของลูกรักได้ที่นี่)
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา