ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก 1 คนจนโต มีอะไรบ้าง?
เพื่ออนาคตลูก
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก 1 คนจนโต มีอะไรบ้าง?

icon-access-time Posted On 31 สิงหาคม 2566
By Krungsri The COACH
ในยุคสมัยนี้ที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง การจะเลี้ยงเด็ก 1 คนให้เติบโตมาในสังคม และได้รับสิ่งดี ๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย คงมีคุณพ่อคุณแม่หลายคู่ที่ไม่มั่นใจว่าถ้าเรามีลูกแล้วจะสามารถเลี้ยงได้ดีพอมั้ย? ดังนั้น เพื่ออนาคตอันสดใสของลูกน้อย และความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา "วางแผนการเงินและการออมเงิน" จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

วันนี้เราอยากพาเหล่าคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ไปเจาะลึกวางแผนการเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการมีลูกกัน

ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก 1 คนจนโต มีอะไรบ้าง?

Stage 1 : เริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงคลอดบุตร

1. ค่าใช้จ่ายช่วงตั้งครรภ์

เมื่อเราทราบแล้วว่ากำลังจะมีลูก ค่าใช้จ่ายแรกที่ต้องพบเจอ คือ การฝากครรภ์ และตามมาด้วยค่าพบแพทย์เพื่อตรวจครรภ์ ตลอด 9 เดือน มีค่าใช้จ่ายโดยประมาณที่ 1,500 - 2,000 บาทต่อเดือน* นอกจากนี้ อาจมีค่าอาหารบำรุงครรภ์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เช่น หมอนหนุนหลัง รองเท้าเพื่อสุขภาพ ครีมป้องกันท้องแตกลาย เข็มขัดพยุงครรภ์ เป็นต้น

(*ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลขึ้นอยู่กับแพ็กเกจ และโรงพยาบาลที่เลือก)
 
ค่าใช้จ่ายสำหรับการมีลูก
 

2. ค่าใช้จ่ายคลอดบุตร

ค่าทำคลอดนั้นสามารถเลือกได้ตามงบประมาณของคุณพ่อคุณแม่ได้เลย บางโรงพยาบาลจะมีจัดแพ็กเกจเหมาจ่ายค่าคลอดสำหรับคุณแม่และลูก ค่าใช้จ่ายโดยประมาณอยู่ที่ 30,000 – 100,000 บาท* หากคลอดในโรงพยาบาลรัฐจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน และคลอดแบบธรรมชาติจะถูกกว่าผ่าตัดคลอด

(*ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลขึ้นอยู่กับแพ็กเกจ และโรงพยาบาลที่เลือก)

Stage 2 : เด็กแรกเกิด

1. ค่าใช้จ่ายซื้ออุปกรณ์ สำหรับเด็กแรกเกิด

คุณพ่อคุณแม่จะต้องเตรียมอุปกรณ์ และของใช้ส่วนตัวสำหรับเด็กแรกเกิดให้พร้อมด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ผ้าห่อตัว ผ้าอ้อม นม เครื่องอุ่นนม เปลนอน ทิชชูเปียก อุปกรณ์อาบน้ำ คาร์ซีท เป้อุ้มเด็ก อาหารสำหรับเด็ก ฯลฯ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้เบ็ดเสร็จแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 - 50,000 บาท สำหรับคนที่มีงบจำกัดแนะนำให้ซื้อของชิ้นใหญ่ที่จำเป็นก่อน และยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมทุกเดือนอีกเล็กน้อย
 

2. ค่ารักษาพยาบาล และค่าวัคซีนต่าง ๆ

สำหรับเด็กช่วงแรกเกิด และเด็กเล็กเป็นวัยที่ร่างกายยังไม่แข็งแรง จึงมีโอกาสที่ลูกน้อยอาจจะป่วย ไม่สบายเป็นโรคต่าง ๆ ได้ ค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยอยู่ที่ครั้งละหลักพัน และอาจสูงถึงหลักหมื่นบาท และถ้าหากเป็นโรคที่มีอาการรุนแรง รวมถึงบางคนอาจมีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคต่าง ๆ (ราคาขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน และโรงพยาบาลที่เลือก)

ส่วนเด็กโตเป็นวัยที่เริ่มซุกซนมากขึ้น อยากรู้อยากลอง จึงอาจเกิดอุบัติเหตุจนบาดเจ็บได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องมีเงินสำรองไว้จ่ายด้านสุขภาพด้วย หรือจะทำประกันสุขภาพให้ลูกน้อยเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็ได้เช่นกันพ่อแม่ยุคใหม่เลือกประกันสุขภาพเด็กอย่างไรถึงจะตอบโจทย์ ตามมาอ่านต่อได้ที่นี่เลย
 

3. ค่าอาหาร และอาหารเสริม

ช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือนแรก ลูกน้อยจะกินนมแม่เพียงอย่างเดียว จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ค่อนข้างมาก หลังจาก 6 เดือนไปแล้ว จะสามารถทานอาหารอย่างอื่นได้ เช่น นมผง กล้วยบด ไข่บด ผักบดต่าง ๆ เป็นต้น โดยจะมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกส่วนนี้ประมาณ 3,000 – 5,000 บาทต่อเดือน ส่วนเด็กที่โตตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไปจะเริ่มรับประทานอาหารเหมือนกับผู้ใหญ่ได้แล้ว

Stage 3 : ลูกน้อยอายุมากกว่า 2 ปี

1. ค่าเล่าเรียนลูกน้อย

เมื่อลูกโตขึ้นก็จะถึงวัยที่ต้องเข้าเรียน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องวางแผนในระยะยาวเพื่อสามารถส่งลูก ๆ เรียนจนจบระดับการศึกษามหาวิทยาลัยได้ตามที่เราหวัง แนะนำเลือกโรงเรียนของลูกน้อยให้สอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงินของตนเอง โดยค่าเทอมจะขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนที่เลือก หากเป็นโรงเรียนรัฐบาลจะมีค่าเทอมถูกกว่า ค่าใช้จ่ายจะอยู่ประมาณ 20,000 – 50,000 บาทต่อปี ส่วนโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนนานาชาติค่าใช้จ่ายจะสูงถึงหลักแสน หรือล้านบาท (ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ยังไม่รวมค่าอุปกรณ์การเรียน และเครื่องแต่งกาย) 
 
ค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเทอมลูกน้อย
 

2. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก 1 คนที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายด้านอื่นอีกหลากหลาย เช่น ของเล่นลูก ค่าเดินทางท่องเที่ยว ค่าทำกิจกรรมเสริม งานอดิเรกของลูกน้อย เป็นต้น รวมถึงสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องทำงาน ไม่ได้มีเวลาเลี้ยงลูก อาจจะต้องใช้บริการพี่เลี้ยงเด็กมาช่วยดูแลแทน จะมีค่าใช้จ่ายใช้บริการพี่เลี้ยงประมาณ 10,000 – 20,000 บาทต่อเดือน (ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละครอบครัว)

วางแผนออมเงินเพื่อลูกได้ง่าย ๆ เพียง 4 ขั้นตอน

1. ตั้งเป้าหมายการมีลูก

เริ่มจากเรากำหนดก่อนว่าอยากมีลูกทั้งหมดกี่คน และอยากมีลูกช่วงปีไหน ถ้าอยากมีลูกหลายคนจะเว้นห่างกันกี่ปี เนื่องจากจำนวนลูกจะสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายด้วย ยิ่งมีลูกหลายคนยิ่งมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกมากขึ้น หากคุณพ่อคุณแม่คู่ไหนยังไม่แน่ใจว่าจะมีลูกกี่คน อาจพิจารณาจากความสามารถในการหารายได้ และความมั่นคงของงานตัวเองได้นะ เพื่อดูว่าตอนนี้เรามีความพร้อมที่จะเลี้ยงดูลูกทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้หรือไม่
 

2. สำรวจค่าใช้จ่ายที่ต้องเลี้ยงลูก

การเลี้ยงลูก 1 คนให้โตจนเรียนจบปริญญาตรีนั้น มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งเลย ซึ่งในแต่ละช่วงวัยจะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถดูค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่เราได้รวบรวม และสรุปไว้อยู่ด้านบนของบทความนี้ได้เช่นกัน ทั้งนี้ แต่ละครอบครัวก็มีสไตล์การเลี้ยงลูก และการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้น ค่าใช้จ่ายจึงอาจจะมากกว่า หรือน้อยกว่าก็ได้ รวมถึงอาจมีการยืดหยุ่นค่าใช้จ่ายตามสถานการณ์ได้อีกด้วย คุณพ่อคุณแม่ลองรวบรวมค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้ครบเพื่อประเมินดูว่าเราจะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกเท่าไหร่
 
ค่าใช้จ่ายเพื่ออนาคตมีลูก
 

3. จัดสรรเงินออม และเงินลงทุน

เมื่อเรารู้ค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้สำหรับเลี้ยงดูลูกน้อยแล้ว ลงมือวางแผนการเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ต้องใช้จ่ายได้เลย โดยเริ่มจากหักเงินออมในทุกเดือนจากรายได้ของคุณพ่อคุณแม่ แล้วแบ่งเงินออมบางส่วนไปลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสได้ผลตอบแทนมากขึ้น

ตัวอย่างการวางแผนการเงินเพื่อค่าใช้จ่ายการมีลูก เช่น


เป้าหมายระยะสั้น (1 - 3 ปี)

เป็นเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และอนาคตอันใกล้ จึงเป็นเงินก้อนที่มีความสำคัญมาก คำแนะนำเลือกออมเงินไว้ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เงินต้นสูญหาย
 

เป้าหมายระยะกลาง (3 - 5 ปี)

อาจเป็นเงินก้อนสำหรับไว้เตรียมเป็นค่าเล่าเรียน และเลี้ยงดูลูกน้อยเมื่ออยู่ในช่วงวัยอนุบาล รวมถึงวัยประถมศึกษา ระยะเวลานี้ยังพอจัดสรรเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นได้ เพื่อหาโอกาสเพิ่มผลตอบแทนให้ชนะอัตราเงินเฟ้อ

แนะนำลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชนที่มีความมั่นคง มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ต่ำ อายุตราสารคงเหลือประมาณ 3 ปี
 

เป้าหมายระยะยาว (5 - 10 ปีขึ้นไป)

ส่วนใหญ่มักเป็นเงินสำหรับค่าใช้จ่ายของลูกในช่วงวัยที่โตแล้ว อย่างช่วงวัยมัธยมศึกษา และเข้าเรียนมหาลัยจนเรียบจบ จึงมีระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน เราสามารถจัดสรรเงินส่วนนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ เช่น หุ้น หรือกองทุนรวม เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนในระยะยาวจะช่วยถัวเฉลี่ยความเสี่ยงได้

แต่หากบางคนยังไม่เข้าใจเรื่องการลงทุนมากนัก แนะนำจัดพอร์ตกระจายลงทุนในหลายสินทรัพย์ และจัดสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรืออาจแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาออมเงินในประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ก็ได้เช่นกัน เพื่อวางแผนรับมือกับความไม่แน่นอนของชีวิต

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
 

4. อัปเดตสถานการณ์ และปรับแผนการเงิน

หลังจากที่เราวางแผนการเงิน และการลงทุนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ และช่วยทำให้เราสามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ การติดตาม วัดผล และปรับแผนการเงินให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันให้มากที่สุด อาจกำหนดทบทวนแผนการเงินทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี ก็ได้

สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ยังคิดไม่ออกว่าจะเอาเงินออมสำหรับเลี้ยงลูกน้อยไปฝากไว้ที่ไหนดี แนะนำเลือกบัญชีที่ให้ดอกเบี้ยสูงหน่อย มีสภาพคล่องสูง คล่องตัว ฝาก-ถอนได้ไม่เสียค่าธรรมเนียม ไว้เป็นบัญชีสำหรับถอนเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ทางธนาคารกรุงศรีฯ มีตัวช่วยที่ตอบโจทย์มาก ๆ อย่าง เงินฝากออมทรัพย์ “มีแต่ได้ ออนไลน์” รับดอกเบี้ยสูงทุกเดือนตั้งแต่บาทแรก (อัตราดอกเบี้ย 1.50% ต่อปี สำหรับยอดเงินฝากน้อยกว่า หรือเท่ากับ 1 ล้านบาท) วิธีการเปิดบัญชีง่ายมาก เพียงเปิดบัญชีออนไลน์ได้ด้วยตัวเองผ่าน KMA krungsri app แค่นี้ก็สามารถช่วยเก็บออมเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นแหล่งเก็บเงินสำรองได้อย่างคุ้มค่าอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า กว่าเราจะเลี้ยงลูก 1 คนให้โตเต็มวัย และเรียนจนจบปริญญาตรีได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งเลย คนที่มีประสบการณ์ผ่านช่วงนั้นมาแล้วมักจะบอกกันว่า ค่าใช้จ่ายเลี้ยงลูก 1 คนรวมทั้งหมดแล้วอย่างต่ำอาจถึงหลักล้านได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายตามช่วงวัยของลูกน้อย และมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกต่อเดือนที่เราต้องจ่ายอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องวางแผนการเงินให้ดี และแผนการเงินที่เราเตรียมไว้ล่วงหน้าอาจจะต้องมีการปรับให้ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์และความจำเป็น ณ ช่วงเวลานั้น ๆ ด้วย
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา