นับเป็นธรรมชาติของหุ้นทุกตัวที่ราคาย่อมมีขึ้นและลง การเข้าออกให้ถูกจังหวะย่อมเป็นหนึ่งในช่องทางการสร้างกำไรให้กับนักลงทุน โดยหุ้นแต่ละประเภทจะมีลักษณะที่ต่างกันไป เช่น หุ้นกลุ่ม commodities มักจะมีราคาขึ้น/ลงเป็นวัฏจักร ซึ่งนักลงทุนอาจใช้กลยุทธ์ “ขึ้นขาย ลงซื้อ” หรือซื้อที่ราคาต่ำ แล้วไปขายที่ราคาสูงเพื่อทำกำไรเป็นรอบ ๆ
แต่ก็ยังมีหุ้นอีกบางกลุ่มที่เหมาะกับ
การลงทุนระยะยาวมากกว่า โดยนักลงทุนจะรอซื้อเมื่อราคาตกลงมาก ๆ เพื่อสะสม และถือหุ้นเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อขายทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ หุ้นเหล่านี้ต้องเป็นหุ้นที่ผ่านการพิจารณามาแล้วว่า เป็น
"หุ้นดี"ซึ่งหมายถึง หุ้นที่มีพื้นฐานดี มีผู้บริหารดี มีการเจริญเติบโตของกำไรอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และยังอยู่ในเทรนด์ มีโอกาสของการเจริญเติบโตในอนาคต
ซื้อของดีราคาถูก
การซื้อหุ้นของบริษัทหนึ่งก็เท่ากับการเป็นเจ้าของร่วมในบริษัทนั้น โดยเจ้าของกิจการเองก็ย่อมมีความพยายามสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจ ขยายกิจการ สร้างความมั่งคั่ง ซึ่งผลกำไรและความมั่งคั่งนี้เองก็ส่งผลดีต่อราคาพื้นฐานของหุ้นให้มีราคาสูงขึ้น และแน่นอนว่า ผู้ถือหุ้นก็จะได้รับความมั่งคั่งนี้ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลที่ได้รับในแต่ละปี หรือส่วนต่างราคาเมื่อขายหุ้นออกไป
แต่ราคาหุ้นย่อมมีขึ้น มีลง และหุ้นดีเหล่านี้ก็จะมีช่วงเวลาที่ราคาลดลงเช่นกัน ส่วนใหญ่ราคาที่ลดลงนั้นเกิดจากข่าว หรือสถานการณ์บางอย่างที่มากระทบความรู้สึกของตลาด เช่น สงคราม ภัยพิบัติ ความวุ่นวายในบ้านเมือง ข่าวที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม หรือตัวบริษัทโดยตรง ซึ่งเมื่อนักลงทุนตกใจ หรือเกิดอาการไม่มั่นใจ ส่วนใหญ่จะตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทันที หลายครั้งการขายเกิดขึ้นก่อนทำการวิเคราะห์เสียอีก เช่นนี้ ทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสลดลงต่ำกว่าราคาพื้นฐาน หรือราคาที่เหมาะสม หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เราจำเป็นต้องพิจารณาให้ดีถึงความเกี่ยวข้องของข่าว หรือสถานการณ์กับหุ้นตัวที่เราจะซื้อ หากพบว่า ข่าวดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับพื้นฐานของหุ้น หรือหากมีแต่ก็เป็นเพียงช่วงระยะสั้น ๆ ก็นับว่าเป็นโอกาสในการเข้าซื้อของดีราคาถูก โดยเมื่อตลาดซึมซับข่าว และทำการย่อยข้อมูลแล้ว หรือหลังจากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ราคาหุ้นควรจะวิ่งกลับขึ้นมาสู่ราคาพื้นฐานของมันอีกครั้ง
ส่วนต่างความปลอดภัย
สำหรับราคาในการเข้าซื้อ นักลงทุนอาจพิจารณาจากราคาพื้นฐานของหุ้น ลบด้วยส่วนต่างความปลอดภัยซึ่งก็คือ กำไรขั้นต้นที่นักลงทุนกำหนดไว้นั่นเอง ราคาพื้นฐานเป็นการคำนวณราคาหุ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ของบริษัท เช่น รายได้ มูลค่าสินทรัพย์ การคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจ และอื่น ๆ ตามทฤษฎี ไม่ว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงอย่างไร สุดท้ายก็ต้องวิ่งเข้าสู่ราคาพื้นฐานนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น หุ้น A ราคาพื้นฐาน 10 บาท โดยนักลงทุนตั้งส่วนต่างความปลอดภัยที่ 20% ดังนั้น นักลงทุนจะเข้าซื้อเมื่อราคาหุ้น A ตกลงเหลือ 8 บาท และหากเป็นไปตามทฤษฎี ราคาหุ้นควรจะวิ่งกลับไปที่ 10 บาท ซึ่งนักลงทุนอาจขายออกเพื่อทำกำไร หรือหากแนวโน้มราคายังเป็นขาขึ้นก็อาจจะถือต่อเพื่อไปขายในราคาที่สูงขึ้น แต่ในทางตรงข้าม หากราคาหุ้นกลับวิ่งต่ำลงไปอีก เหลือ 7 บาท นักลงทุนอาจจะตัดสินใจซื้อหุ้นเพิ่มอีกเพื่อเฉลี่ยต้นทุนให้มีราคาต่ำลงเพราะมีความมั่นใจว่า ราคาหุ้นจะต้องกลับไปที่ 10 บาทอีกครั้งหนึ่ง
เพื่อลดค่าเสียโอกาสในการซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่า นักลงทุนสามารถแบ่งเงินลงทุน เพื่อทยอยซื้อหุ้นในราคาแต่ละระดับ การทยอยซื้อในช่วงราคาขาลง จะทำให้ได้ต้นทุนที่ถูกลง แต่ในทางตรงข้าม การซื้อถัวเฉลี่ยในแนวโน้มขาขึ้นก็ย่อมทำให้ได้หุ้นในต้นทุนที่สูงขึ้นเช่นกัน
จากตัวอย่างข้างต้น เราอาจแบ่งเงินลงทุนก้อนแรกเมื่อราคาหุ้นลดลงเหลือ 8 บาท และซื้อเพิ่มเมื่อราคาลดลงที่ 7 บาท, 6 บาท
การเข้าซื้อหุ้นดี ในราคาถูก เป็นการสร้างกำไรโดยพิจารณาจากราคาพื้นฐานของหุ้น แต่การซื้อหุ้นให้ได้ราคาที่ต่ำที่สุดนั้นเป็นเรื่องยาก ดังนั้น เราอาจใช้วิธีซื้อหุ้นในราคาที่พอใจ โดยเผื่อค่าส่วนต่างความปลอดภัยไว้เป็นกำไรขั้นต้น และใช้วิธีทยอยเข้าซื้อเพื่อให้เหลือเงินลงทุนในการซื้อหุ้นเพิ่มเมื่อราคาลดลงไปอีกครับ