ออมเงินให้งอกเงยเป็นประจำได้ทุกเดือน
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ออมเงินให้งอกเงยเป็นประจำได้ทุกเดือน

icon-access-time Posted On 23 กันยายน 2558
By Krungsri Guru
ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสายอาชีพไหน หรืออยู่ในช่วงวัยใดก็สามารถมีแผนการออมที่เหมาะสมกับตัวคุณได้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เงินออมของคุณงอกเงยได้ในทุก ๆ เดือนก็คือ ความมีวินัยในการออมอย่างสม่ำเสมอ โดยวินัยการออมนั้นอาจสร้างได้จากการถูกบังคับด้วยเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา หรืออาจเป็นไปด้วยความสมัครใจเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า วันนี้เรามีตัวอย่างการลงทุนอย่างสม่ำเสมอในรูปแบบต่าง ๆ มานำเสนอกันครับ

1. กรมธรรม์ประกันภัย

ไม่ว่าจะเป็นประกันแบบออมทรัพย์ ประกันแบบบำนาญ หรือกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ด้วยเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาจะเป็นการบังคับให้เราต้องออมเงินสม่ำเสมอ ด้วยการจ่ายเบี้ยประกันเป็นรายเดือน หรือรายปี โดยผลตอบแทนที่ได้จะแตกต่างกันไปตามกรมธรรม์ บางกรมธรรม์มีกำหนดการจ่ายเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยคืนเมื่อครบสัญญา บางกรมธรรม์มีเงื่อนไขจ่ายคืนทุก ๆ 2-3 ปี นอกจากเงินต้นรวมดอกเบี้ย หรือความคุ้มครองที่จะได้รับแล้ว เรายังสามารถนำเบี้ยประกันไปหักลดหย่อนภาษีในแต่ละปีที่มีการจ่ายเบี้ยประกันอีกด้วย
 
เหมาะสำหรับ ผู้ที่ต้องการออมเงินในระยะยาว ต้องการสร้างหลักประกันของรายได้หลังวัยเกษียณ หรือต้องการซื้อความคุ้มครองให้กับครอบครัวในกรณีของประกันชีวิต รวมถึงผู้ที่หาช่องทางการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม

2. บัญชีเงินฝากประจำแบบขั้นบันได

อีกหนึ่งการออมอย่างสม่ำเสมอที่จะสร้างดอกเบี้ยได้สูงกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์โดยทั่วไป เช่น เปิดบัญชีเงินฝากแบบขั้นบันได 8 เดือน ด้วยเงินจำนวน 10,000 บาท และฝากเงินในครั้งต่อ ๆ ไปทุกเดือน ครั้งละ 10,000 บาท โดยสามเดือนแรก ได้รับอัตราดอกเบี้ย 1.70% ต่อปี เดือนที่ 4-6 ได้รับอัตราดอกเบี้ย 1.90% ต่อปี และเดือนที่ 7-8 ได้รับอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี
 
เหมาะสำหรับ ผู้ที่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินออมในส่วนนี้ภายในระยะเวลาของเงื่อนไข การฝากเงินทั้งนี้เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุด เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย

3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สำหรับพนักงานประจำในบริษัทเอกชน หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำหรับข้าราชการ การเป็นสมาชิก กบข. นั้นเป็นข้อบังคับของข้าราชการทุกคน แต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นความสมัครใจของลูกจ้าง หลักการทั่วไปคือ ลูกจ้างต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนทุกเดือน ซึ่งทั่วไปแล้วจะถูกตัดออกจากเงินเดือนโดยอัตโนมัติ และจะได้รับเงินคืนจากกองทุนเมื่อลูกจ้างเกษียณอายุ หรือเมื่อลาออกจากงาน ในแง่ผลตอบแทน นอกเหนือจากเงินสะสมรายเดือนจากลูกจ้างแล้ว ยังมีส่วนของนายจ้างที่จ่ายสมทบให้ลูกจ้างทุกเดือน รวมทั้งยังมีผลประโยชน์จากมูลค่าของหน่วยลงทุนที่สูงขึ้นจากการบริหารของกองทุน แถมเงินออมส่วนนี้ยังสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีในปีที่มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนอีกด้วย ด้วยผลประโยชน์หลายต่อดังนี้ เพื่อน ๆ พนักงานประจำคงไม่พลาดที่จะออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันนะครับ
 
เหมาะสำหรับ พนักงานประจำในบริษัทเอกชน ข้าราชการ

4. การลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Average)

คือ การซื้อสินทรัพย์โดยแบ่งซื้อด้วยจำนวนเงินเท่า ๆ กัน อย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลานาน โดยไม่สนใจราคา ณ วันที่ซื้อ การลงทุนเช่นนี้ เพื่อทำให้เกิดการเฉลี่ยราคาต้นทุน ไม่ว่าจะในกรณีหุ้นขาลง หรือขาขึ้น ทำให้เราได้ซื้อสินทรัพย์ในราคากลาง ๆ ถึงแม้อาจจะไม่ใช่ราคาที่ถูกที่สุด แต่ก็จะไม่เป็นราคาแพงที่สุด นับว่าเป็นการลดความผันผวน หรือความเสี่ยงของพอร์ตหุ้นของเราในระยะยาว ซึ่งเหมาะสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีราคาเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดเวลา เช่น หุ้น กองทุนที่ลงทุนในหุ้น
ตัวอย่างเช่น เปิดบัญชีออมหุ้นกับโบรกเกอร์ โดยเราสามารถกำหนดจำนวนเงินออมในแต่ละเดือน รายชื่อหุ้นที่ต้องการจะซื้อ และวันที่ที่จะทำการซื้อหุ้นในแต่ละเดือน เช่น ลงทุนจำนวนเงิน 2,000 บาททุกเดือนโดยลงทุนในหุ้น 2 ตัว ได้แก่ หุ้น A และ B ด้วยจำนวนเงินเท่า ๆ กัน โดยให้ทำการซื้อทุกวันที่ 5 ของเดือน ด้วยวิธีการลงทุนเช่นนี้ โบรกเกอร์จะตัดเงินออกจากบัญชีของเราเป็นประจำทุกเดือนเพื่อซื้อหุ้นตามคำสั่ง นอกจากการลงทุนผ่านบัญชีออมหุ้นแล้ว หลักการ DCA นี้สามารถนำมาใช้กับการซื้อ LTF / RMF ในแต่ละปีได้เช่นกัน โดยแทนที่จะซื้อหน่วยลงทุนปีละครั้ง เช่น ลงเงินทั้งก้อนในเดือนธันวาคม เราอาจแบ่งซื้อหน่วยลงทุนทุกเดือน หรือทุกไตรมาสเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุน
 
เหมาะสำหรับ นักลงทุนมือใหม่ นักลงทุนระยะยาว รวมถึงนักลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามสภาวะตลาด ผู้ที่ต้องการใช้เงินลงทุนต่อเดือนเป็นจำนวนไม่มาก แต่สามารถลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่อหุ้นสูงได้ ผู้ที่ต้องการลดความผันผวนของราคาซื้อของหน่วยลงทุน, หุ้นในพอร์ต

5. RMF (Retirement Mutual Fund)

หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF นั้นต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยห้ามระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน ยกเว้นกรณีไม่มีเงินได้ในปีภาษีนั้น ในแง่ของผลตอบแทน เงินลงทุนใน RMF สามารถนำไปยกเว้นภาษีสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในแต่ละปีที่มีการลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุนจะสามารถไถ่ถอนเงินคืนได้เมื่อมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงทุนครั้งแรก โดยเงินที่จะได้รับจากการไถ่ถอน คือ ส่วนต่างของราคาของหน่วยลงทุน ณ เวลาไถ่ถอนกับราคาซื้อเฉลี่ยตลอดการลงทุน โดยเงินที่ไถ่ถอนมานั้นจะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน
 
เหมาะสำหรับ ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ต้องการวางแผนการเกษียณ พนักงานบริษัทเอกชนหรือข้าราชการที่ต้องการเพิ่มช่องทางการออม ผู้ที่ต้องการได้รับประโยชน์จากเครดิตคืนภาษี
จะเห็นว่า แผนการออมนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละสาขาอาชีพ เช่น พนักงานบริษัทไม่ควรพลาดโอกาสที่จะเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนอาชีพอิสระ เช่น แพทย์ พนักงานขายอิสระ อาจลงทุนใน RMF หรือซื้อประกันแบบบำนาญ เพื่อสร้างความมั่นคงหลังเกษียณ นอกจากนี้ เรายังสามารถปรับแผนการออมปรับให้เหมาะกับสถานะการเงินในแต่ละช่วงชีวิต หากคุณเพิ่งเริ่มทำงาน เพิ่งเริ่มมีเงินออม รับความเสี่ยงได้ต่ำ อาจเริ่มลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น การซื้อประกัน การฝากเงินประจำแบบขั้นบันได จนเมื่อมีเงินออมมากขึ้น สามารถรับความเสี่ยงมากขึ้น อาจแบ่งเงินออมมาลงทุนในกองทุน หรือเปิดบัญชีออมหุ้น เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา