นักลงทุนหลายท่านคงเคยประสบปัญหา "ซื้อได้ บริหารไม่เป็น" คือ รู้ว่าสินทรัพย์ไหนน่าสนใจ แต่พอราคาผันผวนมาก ๆ กลับไม่รู้จะจัดการอย่างไร จนบางครั้ง "ซื้อแพง ขายถูก" ขาดทุนสะสม หรือบางทีก็ถือสินทรัพย์มากเกินไปจนบริหารจัดการยาก ไม่สอดคล้องกับผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยงที่รับได้ ทำให้การลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
การบริหารการลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้ Krungsri The COACH ขอแนะนำให้รู้จักกับ
กลยุทธ์ SAA และ TAA ซึ่งเป็นวิธีจัดสรรสินทรัพย์หรือ
Asset Allocation อีกรูปแบบหนึ่ง ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณประสบความสำเร็จในการลงทุนกองทุนรวมทั้งระยะสั้นและระยะยาวจากทุกภาวะตลาด
SAA กลยุทธ์การลงทุนคู่ใจ สำหรับเป้าหมายลงทุนในระยะยาว
“SAA หรือ Strategic Asset Allocation” คือ แบ่งสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เช่น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น หรือ ทองคำ รวมเข้าไว้ด้วยกันด้วยสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมต่อเป้าหมายระยะยาว โดยกำหนดสัดส่วนสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับผลตอบแทนที่คาดหวัง และความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ระหว่างการลงทุนจะไม่มีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนสินทรัพย์ของ SAA ที่กำหนด จนกว่าปัจจัยพื้นฐานของสินทรัพย์จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่อาจมีการทบทวนเพื่อปรับสมดุลพอร์ต (Portfolio Rebalancing) อย่างน้อยปีละ 1 - 2 ครั้ง เมื่อสัดส่วนของสินทรัพย์ ณ ปัจจุบันเริ่มผิดเพี้ยนไปจากแผนที่วางไว้ โดยเปรียบเทียบจากผลการลงทุนในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ตัวอย่างการจัดพอร์ตลงทุนตามกลยุทธ์ SAA
สำหรับพอร์ต SAA (Strategic Asset Allocation) เราสามารถแบ่งประเภทของพอร์ต ตามผลตอบแทนและความเสี่ยง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและระยะเวลาลงทุนไว้ทั้งหมด 3 พอร์ต ดังนี้
1. พอร์ตสไตล์ Conservative
เป็นพอร์ตความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 3 - 4% ต่อปี เหมาะกับเป้าหมายที่มีระยะเวลาลงทุนไม่เกิน 3 - 4 ปี หรือสามารถรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำ
2. พอร์ตสไตล์ Moderate
เป็นพอร์ตความเสี่ยงปานกลาง คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 5 - 6% ต่อปี เหมาะกับเป้าหมายที่มีระยะเวลาลงทุนไม่เกิน 5 - 6 ปี หรือสามารถรับความเสี่ยงได้ปานกลาง
3. พอร์ต Aggressive
เป็นพอร์ตที่มีความเสี่ยงสูง คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 7 - 8% ต่อปี เหมาะกับเป้าหมายที่มีระยะเวลาลงทุนอย่างน้อย 7 ปีขึ้นไป หรือสามารถรับความเสี่ยงได้สูง
ตัวอย่างสัดส่วนแนะนำตามกลยุทธ์ SAA ของแต่ละพอร์ต
ที่มา : Data as of 20 May 2024. Source: Krungsri Investment Intelligent Office.
ข้อดีของกลยุทธ์ SAA
1. ลด/กระจายความเสี่ยงหรือความผันผวนของการลงทุน
ระหว่างเส้นทางการลงทุนระยะกลาง-ยาวได้ โดยที่ยังสามารถคาดหวังผลตอบแทนที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนได้อยู่ จากการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท
2. เพิ่มโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น
กว่าการถือสินทรัพย์เดียวที่มีความเสี่ยงของการกระจุกตัว เพราะหากสินทรัพย์นั้นไม่ดีอย่างที่คาด ก็จะทำให้เงินลงทุนทั้งหมดของเราขาดทุนไปเต็ม ๆ แต่หากกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์อื่นที่มีโอกาสเติบโตเช่นกัน ก็ยังมีโอกาสที่เงินลงทุนของเราจะได้กำไรจากสินทรัพย์นั้นบ้างบางส่วน
3. ช่วยลดความเสี่ยงจากการกะเก็ง คาดเดา
หรือฝากความหวังไว้ที่สินทรัพย์ใดเพียงอย่างเดียวเป็นปี ๆ แล้วต้องเปลี่ยนสินทรัพย์ลงทุนไปเรื่อย ๆ ทุกปี ตามภาวะตลาด เมื่อคาดเดาพลาด เพราะได้กระจายการลงทุนไปถือสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตหลาย ๆ สินทรัพย์ไปพร้อมกัน
ข้อจำกัดของกลยุทธ์ SAA
- อาจพลาดโอกาสในการทำกำไรระยะสั้นตามภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลง หากกำหนดสัดส่วนสินทรัพย์ที่เติบโตดีในช่วงเวลานั้นไว้ในพอร์ตน้อยจนเกินไป
- หากรับความเสี่ยงและความผันผวนได้สูงอยู่แล้ว การจัดพอร์ต SAA เพื่อกระจายความเสี่ยง มีโอกาสที่จะทำให้ได้ผลตอบแทนระยะยาว น้อยกว่าการลงทุนกระจุกเพียงในบางสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตสูงจริง ๆ (แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงและความผันผวนที่สูงเช่นเดียวกัน)
กลยุทธ์ TAA เทคนิคการปรับพอร์ตระยะสั้น ระหว่างการลงทุน
TAA หรือ Tactical Asset Allocation คือกลยุทธ์การ
จัดพอร์ตการลงทุนใน "เชิงรุก" โดยจะมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนจากสัดส่วนหลักตาม SAA ที่วางไว้ ในบางช่วงเวลา จากการวิเคราะห์คาดการณ์ผลลัพธ์ที่น่าจะเกิดขึ้นตามภาวะตลาดในขณะนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น ด้วยการปรับเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ที่มีโอกาสมีมูลค่าเพิ่มขึ้น หรือปรับลดสัดส่วนสินทรัพย์ที่มีโอกาสมีมูลค่าลดลงในช่วงนั้น
โดยวิธีการปรับสัดส่วนนั้นจะกำหนดไว้เป็นกรอบแคบ ๆ ในแต่ละสินทรัพย์ เช่น หากจะปรับเพิ่มสัดส่วน หรือ "overweight" หรือปรับลดสัดส่วน หรือ "underweight" ควรปรับเพิ่มหรือลด ไม่เกิน 5 - 10% จากสัดส่วนของสินทรัพย์นั้นตาม SAA ที่กำหนด ซึ่งจะมีการทบทวนหรือพิจารณาปรับสัดส่วนในการลงทุนระยะสั้น เช่น อาจจะเป็นประจำทุกเดือน หรือทุก ๆ ไตรมาส เป็นต้น
ตัวอย่างการปรับพอร์ตด้วยกลยุทธ์ TAA
ในการปรับพอร์ต TAA (Tactical Asset Allocation) ตามภาวะตลาด เราอาจอาศัยการศึกษาข้อมูลภาวะตลาด แล้ววิเคราะห์หรือตัดสินใจด้วยตัวเอง หรือศึกษาจากคำแนะนำของนักวิเคราะห์ โดยเมื่อมีปัจจัยอะไรที่มีโอกาสส่งผลกระทบเชิงบวก
โดยเราอาจจะกำหนดให้ overweight +5% ในสินทรัพย์เสี่ยงสูง ในพอร์ตเสี่ยงต่ำหรือเสี่ยงกลาง และอาจจะ +10% ในพอร์ตที่เสี่ยงสูง แต่หากมีผลกระทบเชิงลบต่อสินทรัพย์นั้น เราอาจจะกำหนดให้ underweight -10% สำหรับสินทรัพย์เสี่ยงในพอร์ตเสี่ยงต่ำหรือปานกลาง และอาจจะ -5% ในพอร์ตที่เสี่ยงสูง เป็นต้น
ตัวอย่างคำแนะนำของนักวิเคราะห์จาก Krungsri Investment Intelligent
ผลการปรับสัดส่วนหุ้น ด้วยการ overweight ด้วยกลยุทธ์ TAA ตามการวิเคราะห์ภาวะตลาด
จากคำแนะนำของ Krungsri Investment Intelligent เราจะปรับสัดส่วน ตามกลยุทธ์ TAA ตามคำแนะนำดังกล่าว โดยจะปรับเพิ่มสัดส่วนหุ้น (ลดสัดส่วนสินทรัพย์ปลอดภัย คือ เงินฝากตราสารหนี้ระยะสั้น สำหรับแต่ละพอร์ต โดยผลของการปรับ จะเป็นไปตามตารางดังนี้ (สัดส่วนก่อนปรับ คือ ตามกลยุทธ์ SAA สัดส่วนหลังปรับ คือตามกลยุทธ์ TAA)
ข้อดีของกลยุทธ์ TAA
1. ช่วยเพิ่มโอกาสที่ทำให้ผลตอบแทนโดยรวม
พอร์ตการลงทุนดีขึ้นในระยะสั้น จากจังหวะและโอกาสที่เอื้ออำนวยในการปรับเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ในพอร์ตที่มีโอกาสเติบโตแรงในช่วงเวลานั้น ๆ
2. ช่วยลดความเสี่ยงและความผันผวนในพอร์ต
จากการปรับลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงในพอร์ตลงในช่วงเวลาที่ตลาดมีโอกาสมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ใกล้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญสำหรับพอร์ตการลงทุนที่ไม่สามารถลงทุนเพิ่มได้ หรือเป็นพอร์ตที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ เช่น พอร์ตเงินเกษียณ เป็นต้น
3. ช่วยผ่อนคลายความรู้สึกและความกังวลของผู้ลงทุน
ที่อาจจะมีความอึดอัดกับการที่ต้องทนถือสินทรัพย์ด้วยการอยู่เฉย ๆ ท่ามกลางกระแสข่าวสารทั้งในแง่บวกแง่ลบ ด้วยการเปิดโอกาสให้ลงมือจัดการอะไรบางอย่างกับพอร์ตของตัวเองได้บ้างบางส่วน
ข้อจำกัดของกลยุทธ์ TAA
- มีความเสี่ยงที่อาจจะให้ผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตแย่ลงกว่าเดิม
จากการคาดการณ์ที่ผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการปรับสัดส่วนบ่อย หรือถี่จนเกินไป เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่เราจะคาดการณ์อย่างถูกต้องในทุก ๆ ครั้ง และอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการปรับเปลี่ยนแต่ละครั้งค่อนข้างสูง อย่างเช่น การลงทุนในกองทุนรวม จึงควรจะพิจารณาปรับเฉพาะในยามจำเป็นหรือในจังหวะที่สำคัญจริง ๆ มากกว่า
- เพื่อให้การวิเคราะห์คาดการณ์เป็นไปได้อย่างแม่นยำให้ได้มากที่สุด ผู้ลงทุนจึงจำเป็นที่จะต้องติดตามข่าวสารข้อมูล ภาวะตลาด อยู่ตลอดเวลา
เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในตลาดเป็นอย่างดี จึงเหมาะกับนักลงทุนเชิงรุกที่มีความกระตือรือร้น มากกว่าผู้ที่ต้องการลงทุนในเชิงรับด้วยการถือสินทรัพย์ด้วยสัดส่วนปกติไปยาว ๆ
กองทุนแนะนำ สำหรับพอร์ตการลงทุนที่วางแผนไว้
สำหรับการจัดพอร์ตตามกลยุทธ์ SAA ตามเป้าหมายที่ต้องการ หรือจะปรับสัดส่วนพอร์ตตามกลยุทธ์ TAA ทาง Krungsri THE COACH ก็ขอแนะนำกองทุนที่น่าสนใจ สำหรับในแต่ละสินทรัพย์จากทางกรุงศรี ไว้ดังนี้ :
Krungsri The COACH สรุป
หากเปรียบการลงทุนกับการเดินทางไกล SAA คือ กลยุทธ์ที่ใช้กำหนดจุดหมายและเส้นทางหลักล่วงหน้า ส่วน TAA ก็คือ การปรับเปลี่ยนเส้นทางระหว่างการเดินทาง เพื่อความรวดเร็วเมื่อเจออุปสรรค เปรียบเหมือนการใช้ทางลัด ซึ่งไม่ว่าจะใช้กลยุทธ์ TAA หรือไม่ นักลงทุนก็สามารถไปถึงจุดหมายได้ เพียงแต่กลยุทธ์ TAA อาจช่วยเพิ่มโอกาสให้ถึงที่หมายเร็วขึ้น แลกกับความเสี่ยงระหว่างทางที่อาจจะสูงขึ้นบ้างเล็กน้อย
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการวางแผนการลงทุนอย่างมืออาชีพ หรือมีข้อสงสัยและต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถ “ขอคำปรึกษาฟรี” กับที่ปรึกษาการลงทุนของกรุงศรี ซึ่งพร้อมให้คำแนะนำทั้งการจัดพอร์ต Asset allocation ด้วยกลยุทธ์ SAA และการปรับพอร์ตด้วยกลยุทธ์ TAA รวมไปถึงการเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมจากหลากหลาย บลจ. ชั้นนำ
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
- KFWINDX-A, KFGBRAND-A, KFNDQ-A ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
- KFWINDX-A, KFHTECH-A ลงทุนกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรม จึงอาจมีความเสี่ยงและความผันผวนของราคาสูงกว่ากองทุนรวมทั่วไปที่มีการกระจายการลงทุนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยหากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก
- KFHTECH-A, KF-HGOLD ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนทำการลงทุน
อ้างอิง