ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนอยากซื้อหุ้นต่างประเทศเพราะเชื่อว่าทำกำไรได้ดีกว่าการลงทุนหุ้นในไทย แถมยังมีข้อดีต่าง ๆ อีกมากมายที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน แต่ก็ใช่ว่าการลงทุนหุ้นต่างประเทศจะมีแต่ข้อดีเสมอไป ยังมีข้อเสียที่นักลงทุนหน้าใหม่ต้องระมัดระวังด้วย จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน
ข้อดีของการซื้อหุ้นต่างประเทศ
1. มีโอกาสได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในบริษัทชั้นนำของโลก
บริษัทดัง ๆ ที่ทำกำไรได้สูงส่วนใหญ่อยู่ในตลาดของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Apple, Tencent, Tesla หรือ Meta แน่นอนว่าหากคุณซื้อหุ้นต่างประเทศก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนดีไปด้วย ยิ่งในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนด้วยแล้ว สามารถแลกเงินสกุลต่างประเทศเป็นเงินบาทได้มากขึ้นอีกด้วย
2. มีหุ้นดีใหม่ ๆ ที่มีโอกาสเติบโตสูง
หากซื้อหุ้นต่างประเทศจะมีโอกาสลงทุนในหุ้นใหม่ ๆ ที่ไทยไม่มี โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม New Economy ที่เน้นไปทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่อย่าง Fintech, E-Commerce, AI, Mobile Applications และ Healthcare เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ในขณะที่หุ้นไทยยังเป็นกลุ่ม Old Economy เสียส่วนใหญ่
3. ช่วยกระจายความเสี่ยง
ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น วันหนึ่งเราอาจต้องประสบปัญหาเงินเฟ้อที่เงินกลายเป็นกระดาษไม่มีค่า แน่นอนว่าถ้าลงทุนในประเทศเดียว 100% โอกาสเจ็บตัวย่อมมากกว่าคนที่แบ่งไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ 50% อยู่แล้ว ดังนั้น การซื้อหุ้นต่างประเทศจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยกระจายความเสี่ยงได้
4. ขายชอร์ต (Short Sell) ได้คล่องตัวกว่าไทย
ในประเทศไทยการขายชอร์ต*จะถูกควบคุมโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ถ้าลงทุนหุ้นต่างประเทศการขายชอร์ตจะทำได้ง่ายกว่า จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะสามารถทำเงินจากหุ้นต่างประเทศที่อยู่ในช่วงขาลงได้
*ขายชอร์ต (Short Sell) คือ การยืมหุ้นที่คาดว่าจะลงไปขายเพื่อทำกำไร เมื่อยืมครบกำหนดแล้วจะต้องซื้อหุ้นนั้นมาคืนและจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ให้ยืม เช่น ยืมหุ้นจากโบรกเกอร์มาขาย 100 บาท แต่ซื้อหุ้นมาคืนในราคา 50 บาท นักขายชอร์ตก็จะได้กำไร 50 บาท (กรณีที่หุ้นนั้นลงจริง)
5. กำไรจากการขายหุ้นได้รับการยกเว้นภาษี
เมื่อคุณซื้อหุ้นต่างประเทศกำไรที่ได้มาจะไม่ต้องเสียภาษี ยกเว้นเงินปันผลจะมีการหัก ณ ที่จ่าย 10% บางประเทศอย่างสหรัฐอาจมีการหักมากกว่าที่ 15-37% (ขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์แต่ละตัว) หรือบางประเทศก็ไม่หักเลย เช่น เวียดนาม นอกจากนี้ อาจมีการเรียกเก็บภาษีขาซื้อและขาขายด้วย แต่ไม่มากนัก โดยเฉลี่ยแล้วจะไม่ถึง 1%
ข้อเสียของการซื้อหุ้นต่างประเทศ
1. ใช้เงินลงทุนขั้นต่ำค่อนข้างมาก
ขึ้นชื้อว่าเป็นการซื้อหุ้นต่างประเทศ แน่นอนว่าต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง บางตัวขั้นต่ำอยู่ที่หลักหมื่น บางตัวก็หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน การลงทุนต่างประเทศจึงถูกจำกัดอยู่กับผู้ที่มีเงินก้อนใหญ่เท่านั้น
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ไม่มีเงินก้อนใหญ่จะไม่สามารถลงทุนต่างประเทศได้ แต่อาจจะเลือกไปลงทุนในกองทุนรวมที่เขาลงทุนหุ้นต่างประเทศอีกที โดยเงินลงทุนขั้นต่ำจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทเท่านั้นเอง
2. เสียค่าธรรมเนียมในการโอนเงินเข้า-ออกจากประเทศอยู่บ่อย ๆ
โดยปกติการซื้อขายหุ้นต่างประเทศต้องมีการโอนเงินเข้า-ออกประเทศอยู่บ่อย ๆ ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการโอน โดยแต่ละโบรกเกอร์จะมีราคาไม่เท่ากัน ดังนั้น ควรอ่านรายละเอียดหรือหนังสือชี้ชวนก่อนลงทุนหุ้นต่างประเทศเสมอ
3. ไม่มีการกำหนดราคา “สูงสุด” (Ceiling) “ต่ำสุด” (Floor) ที่สามารถซื้อขายได้ในวันนั้น
หุ้นต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ ไม่มีการกำหนด Ceiling และ Floor บางคนอาจมองว่าได้เปรียบเพราะมีโอกาสพุ่งทะลุเกิน 100% ซึ่งสามารถกอบโกยกำไรได้อย่างมหาศาล แต่ในทางตรงกันข้ามก็สามารถดิ่งลงไปถึง -80% ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับคนที่ไม่มีเวลามาดูพอร์ต เพราะอาจ Cut Loss* ไม่ทัน
*Cut Loss คือ การขายหุ้นทั้งที่ขาดทุน เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดทุนไปมากกว่านี้
4. ต้องยอมรับความเสี่ยงเมื่อค่าเงินผันผวน
สมมติเราได้กำไรจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่ ณ ขณะนั้นคือช่วงที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงมาก ๆ กลับกลายเป็นว่าเราขาดทุนเมื่อแลกกลับมาเป็นบาท และนี่ถือเป็นความเสี่ยงอันดับต้น ๆ ของการลงทุนต่างประเทศที่นักลงทุนจะต้องยอมรับ ไม่ว่าการลงทุนนั้นจะเป็นหุ้น กองทุนรวม หรือพันธบัตรก็ตาม
5. มีปัญหาด้านการสื่อสารและข้อมูลที่เป็นภาษาต่างประเทศ
การซื้อหุ้นต่างประเทศส่วนใหญ่ต้องสื่อสารและทำความเข้าใจข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ หากชำนาญอยู่แล้วก็ไม่มีอะไรต้องกังวล แต่สำหรับคนที่จะลงทุนหุ้นต่างประเทศอย่างหุ้นญี่ปุ่นหรือหุ้นยุโรป บางบริษัทอาจไม่มีข้อมูลภาษาอังกฤษให้ เพราะส่วนใหญ่จะใช้ภาษาประจำถิ่นของเขาเองมากกว่า แถมยังเป็นอุปสรรคของคนที่ตามข่าวสาร เพราะกว่าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษก็เสียเปรียบไปแล้ว
เปิดบัญชีซื้อหุ้นต่างประเทศได้อย่างไรบ้าง
1. เปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ในต่างประเทศ
ข้อดี: ค่าคอมมิชชันและค่าธรรมเนียมการซื้อขายถูกกว่าช่องทางอื่น
ข้อเสีย: ต้องสื่อสารและกรอกข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาที่โบรกเกอร์นั้น ๆ ใช้ หากไม่ถนัดภาษาต่างประเทศวิธีนี้จะค่อนข้างยาก
2. เปิดบัญชีและทำธุรกรรมกับโบรกเกอร์ในไทย
ข้อดี: สะดวกในการใช้บริการ ติดต่อสื่อสารง่าย มีโบรกเกอร์ให้เลือกหลากหลาย
ข้อเสีย: ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายแพงกว่าโบรกเกอร์ต่างประเทศ และนักลงทุนจะไม่มีกรรมสิทธิ์ในการซื้อขายหลักทรัพย์โดยตรง เพราะจะอยู่ภายใต้ชื่อของโบรกเกอร์ แต่ยังคงได้กำไรและเงินปันผลปกติ
3. ใช้บริการจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการลงทุนของต่างประเทศ
ข้อดี: ไม่ต้องใช้เงินมากในการซื้อขายหลักทรัพย์แต่ละครั้ง ค่าธรรมเนียมต่ำ บางที่สนับสนุนการใช้ภาษาไทย
ข้อเสีย: เนื่องจากอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานต่างประเทศ เมื่อมีอะไรผิดปกติที่เสี่ยงกระทบกับการลงทุนอาจจัดการได้ยากถ้าไม่คุ้นเคย
การเลือกโบรกเกอร์เพื่อลงทุนต่างประเทศควรศึกษาข้อมูลให้ดี เพราะบางที่ระบบอาจดีเลย์บ่อยจนราคาคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจส่งผลให้เราได้กำไรน้อยลง และควรตรวจสอบเงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงเรื่องของภาษีที่มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากที่สุด
สรุป
การซื้อหุ้นต่างประเทศนอกจากจะมีโอกาสได้ผลตอบแทนจากบริษัทชั้นนำของโลกแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เราได้พบเจอหุ้นใหม่ ๆ ที่ในไทยยังไม่มีอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดีทีเดียวหากใครคิดจะลงทุนหุ้นต่างประเทศ
ด้วยข้อจำกัดที่ต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำสูง ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้เช่นกัน แต่ไม่ว่าจะลงทุนต่างประเทศในรูปแบบไหน ควรคำนึงถึงข้อดีและข้อเสียอยู่เสมอ และควรทำแบบประเมินความเสี่ยงทุกครั้งก่อนลงทุน
หากคุณต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนอย่างมั่นคงในระยะยาวแล้วล่ะก็ Plan Your Money ยินดีให้คำปรึกษา โดยสามารถติดต่อทีม Plan Your Money ผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับที่
บริการที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรี
บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา