การวางแผนการลงทุนทั้งปีเพื่อการประหยัดภาษีขั้นเซียน
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

การวางแผนการลงทุนทั้งปีเพื่อการประหยัดภาษีขั้นเซียน

icon-access-time Posted On 04 พฤศจิกายน 2558
By Krungsri Guru
การลงทุนนั้นสามารถทำได้ตลอดทั้งปี โดยแบ่งลงทุนเป็นประจำทุกเดือน นอกจากจะเป็นการกระจายความเสี่ยงในเรื่องของราคาแล้ว ยังเป็นการฝึกวินัยในการออมอีกด้วย วันนี้ เรามีขั้นตอนการวางแผนการลงทุนและเคล็ดลับน่ารู้สำหรับการประหยัดภาษีมาฝากกันครับ

ขั้นตอนที่ 1 สำรวจรายได้

ประเมินรายได้และค่าใช้จ่ายรายเดือน ทั้งนี้เพื่อคำนวณวงเงินที่จะสามารถใช้ลงทุนในรอบ 1 ปี
ตัวอย่างเช่น คุณรอบคอบ อายุ 28 ปี ได้รับเงินเดือน เดือนละ 35,000 บาท โบนัสปีละ 1 เดือน หลังหักค่าใช้จ่าย รวมถึงประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในแต่ละเดือน คุณรอบคอบมีรายได้ประมาณเดือนละ 10,000 บาท

ขั้นตอนที่ 2 คำนวณวงเงินสูงสุดและรูปแบบการลงทุนใน LTF และ RMF เพื่อประหยัดภาษี

ทั้งนี้ เพื่อให้เรารู้เพดานของการลงทุนใน LTF, RMF ตามข้อกฏหมาย เราสามารถนำค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน LTF มาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น โดยไม่เกิน 500,000 บาท ในส่วนของ RMF สามารถลงทุนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษี และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยในส่วนของประกันชีวิตแบบทั่วไปนั้น สามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
ดังนั้น ในกรณีของคุณรอบคอบ มีรายได้ปีละ 35,000 x 13 = 455,000 บาท จะสามารถลดหย่อน LTF ได้สูงสุด เป็นจำนวนเงิน 15% x 390,000 = 68,250 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 5,687 บาท
คุณรอบคอบจึงตัดสินใจเลือกลงทุนในกองทุน LTF, RMF และประกันชีวิต โดยเน้นการลงทุนใน LTF ประกันชีวิต และ RMF ตามลำดับ เนื่องจากคุณรอบคอบประมาณการณ์ว่า จะมีความต้องการใช้เงินในช่วง 7 ปีข้างหน้า และอาจจะต้องมีการขายคืนหน่วยลงทุน LTF เพื่อนำเงินมาใช้ต่อไป

ขั้นตอนที่ 3 วางแผนการลงทุน

มูลค่าของหน่วยกองทุนนั้น มีขึ้นมีลงตามราคาสินทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนรวม LTF ที่เป็นการลงทุนในหุ้น ดังนั้น การเข้าซื้อกองทุนในช่วงเวลาที่ต่างกันย่อมทำให้ได้หน่วยลงทุนในราคาที่ต่างกัน หากเราไม่ได้ติดตามสภาวะของตลาดหลักทรัพย์อาจจับจังหวะการซื้อที่ถูกต้องได้ยาก หนึ่งในวิธีที่จะลดความเสี่ยงของราคาที่ผันผวนนี้ สามารถทำได้โดยการแบ่งซื้อหน่วยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยจำนวนเงินที่เท่า ๆ กัน หรือที่เรียกว่า Dollar Cost Averaging - DCA ด้วยวิธีการนี้ จะทำให้เราได้หน่วยลงทุนที่ราคากลาง ๆ ไม่ถูกที่สุด และไม่แพงที่สุดในช่วงรอบปี
คุณรอบคอบ แบ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 10,000 บาท ออกเป็นสองส่วน โดย 60% แรกสำหรับเงินออมฉุกเฉิน รวมถึงการลงทุนอื่น ๆ ส่วนอีก 40% ที่เหลือ ใช้เพื่อการลงทุนสำหรับการหักภาษี จากสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวคุณรอบคอบ จึงซื้อ LTF ทุกเดือน เดือนละ 3,000 บาท และ ซื้อ RMF ทุกเดือน เดือนละ 1,000 บาท ซึ่งทั้งสองรายการมีมูลค่าไม่เกินมูลค่าสูงสุดที่คำนวณได้ในขั้นตอนที่สอง ในส่วนของเบี้ยประกันคุณรอบคอบแบ่งเงินโบนัส ไปชำระเบี้ยประกันรายปี ปีละ 20,000 บาท
 

เคล็ดลับอื่น ๆ

 
  • การเลือกกองทุน LTF/ RMF ควรพิจารณาจากนโยบายการลงทุน และความสามารถของผู้จัดการกองทุน โดยส่วนหลังสามารถดูได้จากผลประกอบการย้อนหลัง อย่างน้อย 3 ปีเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน
  • เพื่อสร้างวินัยในการลงทุนด้วยวิธี DCA เราสามารถติดต่อขอให้กองทุนตัดบัญชีธนาคารรายเดือน เช่น ตัดบัญชีหลังวันเงินเดือนออก เพื่อซื้อหน่วยลงทุนทุกวันที่ 27 เป็นต้น การตัดบัญชีอัตโนมัติเหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้เข้าบัญชีในวัน และจำนวนที่แน่นอน เช่น พนักงานทำงานประจำ
  • สำหรับท่านที่ไม่มีเงินลงทุนใน LTF อย่างต่อเนื่อง ลองพิจารณาวิธีหมุนเงินลงทุนดูครับ โดยพยายามซื้อ LTF อย่างน้อยให้ครบ 7 ปีต่อเนื่อง เมื่อเข้าปีที่ 8 เราจะสามารถขาย LTF ส่วนที่ซื้อเมื่อปีที่ 1 และนำเงินส่วนนี้ มาซื้อ LTF ใหม่ ด้วยวิธีนี้อย่างน้อยเราจะได้รับผลประโยชน์ทางภาษีทุกปีครับ
  • พิจารณาการลงทุนผ่านกองทุน ทั้งเป็นแหล่งพักเงินออม รวมถึงการลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยเลือกกองทุนที่มีนโยบายสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การลงทุนของเรา เช่น ซื้อกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการออมเงินสำรองฉุกเฉิน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง ทั้งนี้อีกหนึ่งข้อดีของการลงทุนผ่านกองทุน คือ เราไม่ต้องเสียภาษีในส่วนของผลตอบแทนที่ได้รับจากการขายกองทุน
จะเห็นได้ว่า แผนการลงทุนที่ชัดเจนช่วยให้เรามั่นใจได้ว่า เราจะได้รับสิทธิ์การลดหย่อนภาษีจากการลงทุนได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในแต่ละเดือน เราควรวางแผนการลงทุนให้อยู่ในทางสายกลาง ไม่ตึงจนทำให้รายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง หรือหย่อนจนลงเอยด้วยการไม่มีเงินเหลือสำหรับการลงทุน
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา