อยากลงทุนในหุ้นกู้ มารู้ให้ลึก รู้ให้ชัด! ที่นี่เลย
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

อยากลงทุนในหุ้นกู้ มารู้ให้ลึก รู้ให้ชัด! ที่นี่เลย

icon-access-time Posted On 31 กรกฎาคม 2565
by Krungsri The COACH
ช่วงเวลาไม่นานมานี้หลาย ๆ คนคงได้ยินบ่อย ๆ กับคำว่า “หุ้นกู้” เพราะบริษัทเอกชนรายใหญ่ เริ่มเปิดขายหุ้นกู้มากขึ้น และเหล่านักลงทุนที่สนใจหุ้นกู้ก็มีมากเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย

และถ้านักลงทุนคนไหนสนใจซื้อหุ้นกู้แต่ยังลังเลอยู่ เพราะไม่มีเวลาศึกษา เราขออาสาชวนทุกคนมาอ่านบทความนี้ตั้งแต่ต้นจนจบไปด้วยกัน เพราะเราจะพาไปรู้ลึก จัดครบจนเข้าใจชัดเจน ถึง “หุ้นกู้” กันเลย
 
อยากลงทุนในหุ้นกู้ มารู้ให้ลึก รู้ให้ชัด! ที่นี่เลย
 

“หุ้นกู้ คืออะไร?” นี่คือสิ่งแรกที่เราต้องมาทำความรู้จักก่อน


หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง ที่บริษัทเอกชนเป็นคนออก โดยทุกครั้งที่บริษัทเอกชนออกหุ้นกู้ก็จะบอกจุดประสงค์ว่าจะนำเงินจากนักลงทุนไปใช้เพื่อทำอะไร เช่น บางบริษัทเปิดขายหุ้นกู้เพื่อต้องการระดมเงินไปลงทุนเพื่อขยายธุรกิจของเขา หรือพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เพื่อมาทำกำไรในตลาด ซึ่งจะจ่ายดอกเบี้ยให้เป็นผลตอบแทน ตามงวดที่กำหนดไว้

ถ้าพูดกันแบบชาวบ้าน เล่ากันง่าย ๆ ก็คือ บริษัทที่ออกหุ้นกู้ เขาต้องการที่จะยืมเงินเราไปลงทุน ดังนั้นเราก็จะเปรียบได้กับ “เจ้าหนี้” ส่วนบริษัทก็จะเปรียบเป็น “ลูกหนี้” นั่นเอง

หากเปรียบเราเป็นเจ้าหนี้ เราก็จะต้องได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าเงินต้นที่เราเสียไปถูกมั้ย? ซึ่งแปลว่า “เราต้องได้ดอกเบี้ย” เป็นผลตอบแทนจากการให้ยืมเงิน โดยปกติแล้วเหล่านักลงทุนนิยมซื้อหุ้นกู้ก็เพราะผลตอบแทนจากดอกเบี้ย โดยบริษัทเอกชนที่ออกหุ้นกู้จะกำหนดไว้ชัดเจนถึงอายุของหุ้นกู้ ตั้งแต่ 3 ปี 5 ปี 7 ปี หรือ 10 ปี และจะจ่ายดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามในสัญญา พร้อมทั้งจะจ่ายเงินต้นคืนเมื่อครบอายุของสัญญาอีกด้วย
 

ต่อมา เรามาดูกันที่รูปแบบของหุ้นกู้ ที่โดยส่วนใหญ่แล้วจะแบ่งออกเป็น 4 แบบหลัก ๆ


แบบที่ 1 หุ้นกู้มีประกัน หรือหุ้นกู้ที่บริษัทเอกชนนั้น มีทรัพย์สินค้ำประกันอยู่ และทรัพย์สินเหล่านั้นมีมูลค่ามากกว่าหุ้นกู้ที่บริษัทนำมาเสนอขาย เช่น บริษัทมีอสังหาริมทรัพย์ และที่ดิน หรือทรัพย์สินอื่น ๆ

แบบที่ 2 หุ้นกู้ไม่มีค้ำประกัน หรือหุ้นกู้ที่บริษัทนั้น ๆ มูลค่าทรัพย์สินของบริษัทนั้น ๆ อาจไม่ได้มากเท่าจำนวนมูลค่าหุ้นกู้ที่เสนอขาย แต่จะเน้นไปทางความน่าเชื่อถือของบริษัท และ “เครดิตเรทติ้ง” ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ของประเทศไทยได้จัดไว้ เช่น บริษัทนั้น ๆ ได้รับเครดิตเรทติ้ง AAA ก็จะเท่ากับว่าบริษัทนั้นมีความน่าเชื่อถือสูง ความเสี่ยงต่ำ

แบบที่ 3 หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ หากบริษัทเกิดล้มละลาย เงินลงทุนของเราจะได้คืนเต็มจำนวน และได้คืนก่อนหุ้นกู้ด้อยสิทธิ

แบบที่ 4 หุ้นกู้ด้อยสิทธิ หากว่าบริษัทที่ออกหุ้นกู้ล้มละลายนั้น เงินลงทุนของเราจะได้คืนหลังหุ้นสามัญ หรือหุ้นกู้ตัวอื่น ๆ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเราต้องรอรับเงินคืนตามลำดับนั่นเอง
 
อยากลงทุนในหุ้นกู้ มารู้ให้ลึก รู้ให้ชัด! ที่นี่เลย

และเราก็มาดูกันต่อที่อัตราดอกเบี้ยที่เราจะได้รับจากหุ้นกู้ โดยเราจะแบ่งเป็น 2 ข้อหลัก ๆ ด้วยกัน
  1. “เครดิตเรทติ้ง” ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ของประเทศไทยได้จัดไว้ หากบริษัทที่มีเครดิตเรตติ้งสูง คือ บริษัทมีความน่าเชื่อถือมาก มีโอกาสในการผิดนัดชำระน้อย จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้จะอยู่ในระดับต่ำ
  2. ระยะเวลาในการกู้ยืมยิ่งระยะเวลานานเท่าไหร่ อัตราดอกเบี้ยก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น เช่น หุ้นกู้ที่มีระยะเวลา 10 ปี หากเราตัดสินใจลงทุนเราก็จะได้รับดอกเบี้ยมากกว่าหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาเพียง 3 ปี
 

หุ้นกู้เหมาะกับนักลงทุนแบบไหน?


ต้องบอกตรง ๆ เลย การซื้อหุ้นกู้นั้นเหมาะกับนักลงทุนที่เน้นความเสี่ยงต่ำ ชอบรับผลตอบแทนประจำ เพราะส่วนใหญ่แล้วบริษัทเอกชนที่ออกหุ้นกู้นั้นมักเป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ธุรกิจพัฒนาขึ้นไปได้เรื่อย ๆ (อย่างไรก็ตามทุกการลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ) และปันผลตามดอกเบี้ยที่กำหนดไว้แต่ละงวด

ถ้าหากตัดสินใจได้แล้วว่าต้องการที่จะซื้อหุ้นกู้ ก็จำเป็นจะต้องรู้จำนวนเงินลงทุนที่ต้องเตรียมไว้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหุ้นกู้ทั่วไปในประเทศไทยนั้นมักจะเริ่มต้นที่ราคาหน่วยละ 1,000 บาท บางบริษัทก็สามารถเริ่มต้นลงทุนได้แล้วโดยไม่มีขั้นต่ำ เท่ากับว่าเรามีเงิน 1,000 บาท ก็สามารถซื้อหุ้นกู้ได้ แต่บางบริษัทก็จะกำหนดให้นักลงทุนขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 100,000 บาทนั่นเอง
 
อยากลงทุนในหุ้นกู้ มารู้ให้ลึก รู้ให้ชัด! ที่นี่เลย

เรามาต่อกันที่ วิธีการเสนอขายหุ้นกู้กัน
 

โดยหลัก ๆ แล้วมีการเสนอขาย 2 แบบ

  1. หุ้นกู้ที่มีเสนอขายในตลาดแรก คือ บริษัทที่มีการออกใหม่ และเริ่มเสนอขายเป็นครั้งแรก
  2. หุ้นกู้ที่มีเสนอขายในตลาดรอง คือ หุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนด และมีการซื้อขายระหว่างนักลงทุนด้วยกัน โดยอาจจะผ่านธนาคาร หรือตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงในปัจจุบันประเทศไทยเราเองก็สามารถซื้อขายหุ้นกู้ดิจิทัล ผ่านแอปฯ เป๋าตังของรัฐบาลได้แล้ว

เมื่อตัดสินใจจะเป็นนักลงทุนหุ้นกู้ เราก็ต้องรู้ถึงภาษีที่ต้องเสียด้วยเช่นกัน โดยภาษีที่เราต้องเสีย มีดังนี้
  1. ภาษีบนตัวดอกเบี้ยที่เราได้รับจากหุ้นกู้จะต้องเสียภาษีเงินได้ 15% ของจำนวนดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละงวด หรือทำความเข้าใจง่าย ๆ หากเราได้รับปันผลดอกเบี้ยแล้วเราก็จำเป็นต้องเสียภาษี 15% ทุกงวดที่ได้รับ
  2. ภาษีส่วนต่างที่ได้รับจากกำไรของหุ้นกู้ เมื่อหุ้นกู้ครบกำหนดสัญญาหรือแม้แต่จากการขายหุ้นก็จำเป็นจะต้องเสียภาษีเงินได้ 15% ของจำนวนกำไรส่วนต่างที่เราได้รับเช่นกัน

และทั้ง 2 ภาษีที่เราต้องเสียนั้นสามารถหักจ่ายได้เลยทันทีที่เราได้รับดอกเบี้ยปันผลเป็นงวด ๆ หรือเราจะรวบรวมภาษีทั้งหมดมาชำระภาษีครั้งเดียวตอนปลายปีก็ได้ แล้วแต่สะดวก

นี่ก็เป็นเรื่องราวของหุ้นกู้ที่เราหยิบมาแนะนำนักลงทุนแบบคุณ อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมเด็ดขาดว่า “หุ้นกู้ก็เป็นหนึ่งในการลงทุนเช่นกัน จึงมีความเสี่ยงรออยู่ เพราะฉะนั้นผู้ที่สนใจจะลงทุนควรศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง”
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา