ในปีนี้ หนึ่งในเป้าหมายยอดนิยมของหลาย ๆ คนก็คือ การเริ่มต้นลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวอย่างการลงทุนในกองทุนรวมซึ่งเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับ
นักลงทุนมือใหม่และมือเก๋า เพราะสะดวก ลงทุนง่าย มีผู้เชี่ยวชาญบริหารจัดการเงินลงทุนให้ และมีระดับความเสี่ยงและ
ประเภทของกองทุนให้เลือกลงทุนได้หลากหลายสินทรัพย์ สำหรับบทความนี้เรานำข้อมูลทั้งหมดที่เหมาะกับการลงทุนของมนุษย์เงินเดือนมาให้คุณได้ศึกษาแล้ว
เลือกกองทุนรวมตามเทรนด์ตลาดโลก มีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากกว่า
“มนุษย์เงินเดือนลงทุนอย่างไร” คำถามยอดฮิตในทุกปี เพราะวิธีการเลือกกองทุนเป็นสิ่งสำคัญที่ควรพิจารณามาเป็นอันดับแรก หากเลือกกองทุนได้ถูกต้องก็จะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า และช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
โดยทั่วไปแล้วการเลือกกองทุนตามเทรนด์ธุรกิจของตลาดโลก จะมีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้มากกว่า และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายการเงินที่ตั้งไว้ได้ โดยอาจจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่อยู่ในภาคธุรกิจดังต่อไปนี้
1. ธุรกิจดิจิทัล
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์ดิจิทัลยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการลงทุนในกองทุนระยะสั้นและระยะยาว ควรเลือกกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ, ฟินเทค, คลาวด์, เทคโนโลยี 5G หรือเทคโนโลยี AI ก็จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่องได้
2. ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
เนื่องจากปัญหาโลกร้อนที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อผู้คนทุกมุมโลก ดังนั้นเทรนด์การใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG จึงกำลังมาแรง การเลือกกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด การใช้น้ำอย่างยั่งยืน การเกษตรอัจฉริยะ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีที่จะสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน
3. ธุรกิจสุขภาพ
สำหรับเรื่องสุขภาพนั้น นับวันผู้คนจะยิ่งให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้คนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจและใส่ใจกับสุขภาพตนเองกันมากขึ้น หลังจากทั่วโลกผ่านโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดมาได้ ทุกคนจึงตระหนักดีว่า สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแลมาเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้นกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงดูมีอนาคตที่สดใส เหมาะแก่การเลือกลงทุนเป็นอย่างยิ่ง
รู้หรือไม่ กองทุนรวมแบบไหนเหมาะสมกับคุณ
เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมของภาคธุรกิจใด สิ่งต่อไปที่ต้องพิจารณาให้ดีสำหรับคำถามที่ว่า “มนุษย์เงินเดือนลงทุนอย่างไร” ก็คือ การเลือกประเภทของกองทุนรวมที่เหมาะสมกับความต้องการ และเป้าหมายทางการเงินของตนเอง โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ประเภทของกองทุนทั่วไป
กองทุนรวมมีให้เลือกลงทุนด้วยกันหลายประเภท ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนสามารถยอมรับได้ และผลตอบแทนที่คาดหวัง หากต้องการผลตอบแทนสูงก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่สูงกว่าได้ด้วย ซึ่งมีทั้งกองทุนจ่ายปันผล และกองทุนชนิดสะสมมูลค่าให้เลือก ตัวอย่างของกองทุนสำหรับมนุษย์เงินเดือน เช่น
- กองทุนตราสารหนี้ เป็นกองทุนที่เน้นความปลอดภัย ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชนที่มีความน่าเชื่อถือ ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ มีระดับความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง เหมาะกับผู้ที่อยากได้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินกับธนาคาร โดยมีให้เลือกทั้งแบบกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
- กองทุนรวมหุ้น เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่าง ๆ เช่น หุ้นในภาคธุรกิจไทย หรือหุ้นต่างประเทศ เป็นต้น ผู้ที่ลงทุนในกองทุนหุ้นมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความผันผวน และมีความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นจากการลงทุนก็สูงตามไปด้วย จึงเหมาะกับคนที่สามารถรับความเสี่ยงสูงได้
- กองทุนรวมผสม เป็นกองทุนที่มีการกระจายความเสี่ยง คือ ลงทุนทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุน ดังนั้นผู้ลงทุนในกองทุนรวมผสมจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ อีกทั้งความเสี่ยงขาดทุนจากการลงทุนก็มีน้อยกว่าผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นด้วย
- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เป็นกองทุนที่เน้นนำเงินลงทุนไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น โรงแรม รีสอร์ต โรงงาน หรือแม้แต่สนามบิน เป็นต้น กองทุนประเภทนี้อาจจะมีการจ่ายปันผลให้กับผู้ลงทุนอย่างสม่ำเสมอร่วมด้วย
- กองทุนรวมทองคำ เป็นกองทุนที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เหมาะสำหรับเป็นกองทุนกระจายความเสี่ยง และเก็งกำไรได้เป็นอย่างดี
2. ประเภทของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และลดหย่อนภาษีได้
สำหรับทั้งมนุษย์เงินเดือน และนักลงทุนทั่วไป สามารถเลือกลงทุนในประเภทของกองทุนรวมที่ช่วยให้ประหยัดภาษีได้ เป็นกองทุนที่มีประโยชน์แบบ 3 ต่อ คือ ได้สร้างความมั่นคงให้ชีวิต มีโอกาสทำให้เงินลงทุนเติบโตจากการลงทุนระยะยาว และช่วยให้ประหยัดภาษีเพิ่มขึ้นได้ โดยมีกองทุนยอดนิยมคือ
- กองทุนรวม SSF (Super Saving Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม เป็นกองทุนรวมที่ภาครัฐสนับสนุนให้ประชาชนมีช่องทางในการออมเงิน ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมนี้ช่วงระหว่างปี 2563 - 2567 โดยสามารถนำจำนวนเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนมาขอลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนภาษีการออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วย มีเงื่อนไขในการลงทุน คือ ต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ แบบวันชนวัน ในส่วนของนโยบายการจ่ายปันผล สำหรับ SSF นักลงทุนสามารถเลือกได้ว่า ต้องการชนิดจ่ายปันผล หรือชนิดสะสมมูลค่า
- กองทุนรวม RMF (Retirement Mutual Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นอีกหนึ่งกองทุนรวมที่รัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนมีช่องทางการออมเงินเพื่อการเกษียณ และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยสามารถนำจำนวนเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนมาขอลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนภาษีการออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วย มีเงื่อนไขในการลงทุน คือ ต้องลงทุนต่อเนื่องนับจากการลงทุนครั้งแรก หรืออย่างน้อย ๆ ต้องลงทุนแบบปีเว้นปี ต้องถือครองหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ และจะขายคืนได้ต่อเมื่อมีอายุครบ 55 ปีเท่านั้น และกองทุน RMF ไม่มีนโยบายจ่ายปันผลทุกกอง
วางแผนซื้อกองทุนรวมแบบรายเดือน หรือเป็นก้อนดีกว่ากัน
คำถามยอดนิยมต่อมาของ “มนุษย์เงินเดือนลงทุนอย่างไร” ก็คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ควรวางแผนซื้อกองทุนแบบรายเดือน หรือซื้อเป็นเงินก้อนใหญ่ทีเดียวไปเลย ซึ่งเราก็ได้นำเอาข้อมูลมาให้ประกอบการตัดสินใจเรียบร้อยแล้ว
1. ลงทุนในกองทุนรวมแบบรายเดือน
สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุนประเภทต่าง ๆ จะต้องเคยได้ยินคำว่า “DCA” หรือ Dollar-Cost Averaging กันมาแล้วแน่นอน การลงทุนในรูปแบบนี้คือการลงทุนเป็นงวด ๆ โดยอาจจะลงทุนรายเดือน เดือนละเท่า ๆ กัน โดยไม่ได้สนใจความผันผวนของราคาสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ในขณะนั้น มีข้อดีคือ สำหรับการลงทุนระยะยาวจะช่วยถัวเฉลี่ยต้นทุนสินทรัพย์ได้ จึงเป็นการกระจายความเสี่ยง ช่วยลดอารมณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเก็งกำไร และลดความเสี่ยงในการขาดทุนจากการลงทุนได้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเงินลงทุนไม่มาก และต้องการฝึกนิสัยการออมเป็นประจำสม่ำเสมอ
2. ลงทุนในกองทุนรวมแบบก้อนทีเดียว
วิธีการนี้เป็นวิธีการลงทุนที่เหมาะสำหรับผู้มีเงินเย็นลงทุนจำนวนมาก และมีความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์ที่จะลงทุนเป็นอย่างดี ซึ่งทำให้หาจังหวะในการเข้าซื้อช่วงที่ราคาต่ำได้ หากลงทุนในจังหวะนั้นได้ ก็จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนมากกว่าลงทุนแบบ DCA แต่ทั้งนี้ต้องมั่นใจว่า จังหวะในการเข้าซื้อหน่วยทุนนั้น เป็นจังหวะที่ดีสำหรับการเข้าซื้อแล้วจริง ๆ
อย่างไรก็ตามนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามความเหมาะสมกับแผนชีวิตของตนเองในแต่ละช่วงเวลา สิ่งสำคัญมากกว่าวิธีการก็คือ ยิ่งเริ่มเก็บออมและลงทุนได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น แม้แต่เงินร้อยก็กลายเป็นเงินล้านได้
5 กองทุนรวมเด่นที่ตอบโจทย์การลงทุนของมนุษย์เงินเดือน
ในปี 2024 นี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยามี 5 กองทุนน่าสนใจมาแนะนำให้กับมนุษย์เงินเดือน ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับเงินที่ได้จากการทำงานในแต่ละเดือน ผ่านการลงทุนในกองทุนรวมคุณภาพดี คือ
1. กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลคอลเล็คทีฟสมาร์ทอินคัม (KF-CSINCOM)
ประเภทกองทุน : กองทุนรวมตราสารหนี้ / กองทุนรวมหน่วยทุนลงทุนประเภท Feeder Fund / กลุ่มกองทุนรวม Global Bond Fully F/X Hedge
ระดับความเสี่ยง : ระดับ 5 เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง
สินทรัพย์ที่ลงทุน : เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนแบบมีความเสี่ยงในต่างประเทศ มีนโยบายการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ ชื่อ PIMCO GIS Income Fund (Class I-Acc) เป็นกองทุนหลัก ไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV กองทุนหลักบริหารโดย PIMCO Funds: Global Investors Series plc และจะกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ของภาครัฐและเอกชนทั่วโลก อย่างน้อย 2 ใน 3 ของ NAV โดยมุ่งหวังได้รับผลประกอบการเคลื่อนไหวสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management) และกองทุน KF-CSINCOM มุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวตามกองทุนหลัก (Passive Management / Index Tracking)
การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน : ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ
2. กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลแบรนด์อิควิตี้ (KFGBRAND)
ประเภทกองทุน : กองทุนรวมตราสารทุน / กองทุนรวมหน่วยทุนลงทุนประเภท Feeder Fund / กลุ่มกองทุนรวม Global Equity
ระดับความเสี่ยง : ระดับ 6 เสี่ยงสูง
สินทรัพย์ที่ลงทุน : เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนแบบมีความเสี่ยงในต่างประเทศ มีนโยบายการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ ชื่อ Morgan Stanley investment fund-Global Brands fund (Class Z) ไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV โดยกองทุนหลักจะลงทุนในหุ้นของบริษัทชั้นนำในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก บริหารจัดการกองทุนโดย Morgan Stanley Investment Management (ACD) Limited ซึ่งกองทุนหลักมุ่งหวังได้รับผลประกอบการเคลื่อนไหวสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management) และกองทุน KFGBRAND มุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวตามกองทุนหลัก (Passive Management / Index Tracking)
การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน : ตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
ตัวเลือกกองทุน : ชนิดสะสมมูลค่า (KFGBRAND-A) และชนิดจ่ายเงินปันผล (KFGBRAND-D)
3. กองทุนเปิดกรุงศรีเวิล์ดเทคอิควิตี้เฮดจ์เอฟเอ็กซ์ (KFHTECH)
ประเภทกองทุน : กองทุนรวมตราสารทุน / กองทุนรวมหน่วยทุนลงทุนประเภท Feeder Fund / กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม / กลุ่มกองทุนรวม Technology Equity
ระดับความเสี่ยง : ระดับ 7 เสี่ยงสูง
สินทรัพย์ที่ลงทุน : เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนแบบมีความเสี่ยงในต่างประเทศ มีนโยบายการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศชื่อ BGF World Technology Fund (Class D2 USD) เป็นกองทุนหลัก ไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV บริหารจัดการกองทุนหลักโดย BlackRock Luxembourg S.A. โดยกองทุนหลักจะลงทุนในหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีธุรกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในหมวดเทคโนโลยี และมุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management) ส่วนกองทุน KFHTECH มุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวตามกองทุนหลัก (Passive Management / Index Tracking)
การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน : ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ
ตัวเลือกกองทุน : ชนิดสะสมมูลค่า (KFHTECH -A) และชนิดผู้ลงทุนสถาบัน (KFGBRAND-I)
4. กองทุนเปิดกรุงศรี Equity Sustainable Global Growth (KFESG)
ประเภทกองทุน : กองทุนรวมตราสารทุน / กองทุนรวมหน่วยทุนลงทุนประเภท Feeder Fund / กองทุนรวม ESG (non-SRI Fund) / กลุ่มกองทุนรวม Global Equity
ระดับความเสี่ยง : ระดับ 6 เสี่ยงสูง
สินทรัพย์ที่ลงทุน : เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนแบบมีความเสี่ยงในต่างประเทศ มีนโยบายการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ ชื่อ AB Sustainable Global Thematic Portfolio (Class S1 USD) เป็นกองทุนหลัก ไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV บริหารจัดการกองทุนโดย AllianceBernstein (Luxembourg) S.a r.l. ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) และสอดคล้องกับธีมการลงทุนแบบยั่งยืนมากที่สุด โดยกองทุนหลักมุ่งหวังได้รับผลประกอบการเคลื่อนไหวสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management) ส่วนกองทุน KFESG มุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวตามกองทุนหลัก (Passive management / Index tracking)
การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน : ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ
ตัวเลือกกองทุน : ชนิดสะสมมูลค่า (KFHTECH -A) และชนิดผู้ลงทุนสถาบัน (KFGBRAND-I)
5. กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล ควอลิตี้ โกรท ฟันด์ – หน่วยลงทุนชนิดเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (UGQG)
ประเภทกองทุน : กองทุนรวมตราสารทุน / กองทุนรวมหน่วยทุนลงทุนประเภท Feeder Fund / กลุ่มกองทุนรวม Global Equity
ระดับความเสี่ยง : ระดับ 6 เสี่ยงสูง
สินทรัพย์ที่ลงทุน : เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนแบบมีความเสี่ยงในต่างประเทศ มีนโยบายการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ ชื่อ United Global Quality Growth Fund (Class USD Acc) เป็นกองทุนหลัก ไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV บริหารจัดการกองทุนโดย UOB Asset Management Ltd (Singapore) ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทชั้นนำทั่วโลก ที่คัดสรรมาแล้วว่ามีการเติบโตของส่วนแบ่งทางการตลาด มีฐานะการเงินและบริหารโดยทีมผู้บริหารที่แข็งแกร่ง รวมถึงการลงทุนในบริษัทที่มีโอกาสเติบโตได้ในอนาคตด้วย โดยกองทุนหลักใช้กลยุทธ์การบริหารกองทุนแบบเชิงรุก (Active Management) ส่วนกองทุน UGQG-M มุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวตามกองทุนหลัก (Passive management / Index tracking)
การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน : ตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
การลงทุนในกองทุนรวมที่มีโอกาสเติบโตทำได้ไม่ยาก โดยเฉพาะสำหรับมนุษย์เงินเดือนหรือวัยทำงานทุกท่านที่อาจจะไม่มีเวลาลงทุนแบบหุ้นรายตัว ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนตามเทรนด์โลกในแต่ละปีได้เลย และสำหรับนักลงทุนท่านใดที่มีความสนใจอยากลงทุนในกองทุนรวม แต่ยังไม่มั่นใจในการตัดสินใจของตนเอง สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ที่ช่องทางฮอตไลน์ 02-296-5959 ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่
วางแผนการเงิน ติดต่อกลับ
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
- KFGBRAND, UGQG ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนจึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทาให้ผู้ลงทุนขาดทุน หรือได้รับกาไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ากว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
- KFHTECH ลงทุนกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรม จึงอาจมีความเสี่ยงและความผันผวนของราคาสูงกว่ากองทุนรวมทั่วไปที่มีการกระจายการลงทุนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยหากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนทำการลงทุน
บทความโดย
ปริตา ธิติปรีชาพล
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา