"The Great Onboarding" เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน

By รวิศ หาญอุตสาหะ
ถ้าหากพูดถึง “The Great Resignation” เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยคุ้นหูกันมาแล้ว จากการที่หลาย ๆ สื่อ หลาย ๆ บทความมีการกล่าวถึงกระแสที่พนักงานจะลาออกเป็นจำนวนมากในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มฟื้นตัว และหันไปหางานใหม่จากหลาย ๆ เหตุผล ไม่ว่าจะอยากพักผ่อน อยากได้งานที่ดีกว่าเดิม อยากได้เงินที่เยอะกว่าเดิม
แน่นอนว่าถ้ามองจากมุมของภาคธุรกิจกันแล้ว กระแส The Great Resignation ดูไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไหร่ จากการเป็นฝ่ายที่ต้องเสียทรัพยากรบุคคลของตัวเองไป หรือการที่เราพอเห็นข่าวว่าพนักงานที่เหลือนั้นเหนื่อยมากขึ้น เพราะต้องแบกรับจำนวนงานที่มากขึ้นจากการที่เพื่อนร่วมงานลาออก
แต่ในมุมกลับกัน ถ้าเราลองมองอีกฝั่งหนึ่ง นี่ก็อาจจะเป็นโอกาสสำหรับผู้นำธุรกิจ หรือว่าฝ่ายทรัพยากรบุคคล ที่จะมองหา “โอกาส” จากกระแสการลาออกครั้งใหญ่นี้ ศึกษาและสังเกตว่าตอนนี้พนักงานเหล่านี้กำลังจะมุ่งหน้าไปที่ไหนกัน และเตรียมองค์กรให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานด้วย “The Great Onboarding”
เตรียมพร้อมรับ “The Great Onboarding”

เตรียมพร้อมรับ “The Great Onboarding”

เมื่อมี “The Great Resignation” ที่พนักงานจำนวนมากอยากลาออก “The Great Onboarding” คงเป็นอีกหนึ่งวิธีการลดปัญหาการลาออกของพนักงาน ผ่านการสร้างประสบการณ์การต้อนรับที่ดีให้กับพนักงานใหม่นั่นเอง
จากการศึกษาของ Qualtrics XM Institute พบว่าพนักงานอเมริกัน 72.4 ล้านคน หรือเป็นจำนวนกว่า 52% ของแรงงานทั้งหมด มีแนวโน้มที่จะมองหางานใหม่ภายใน 6 เดือนข้างหน้านี้ มากกว่า 14% ในปี 2019 เลยทีเดียว
ทำให้เราอาจจะคาดการณ์ได้ว่า ในปัจจุบันนี้ พนักงานมีแนวโน้มที่จะไม่มีความพึงพอใจกับบริษัทที่กำลังทำงานอยู่ ถ้าหากบริษัทไม่ปรับตัวกับความต้องการใหม่ ๆ ของพนักงาน อย่างเช่น เรื่องของความปลอดภัย ความยืดหยุ่นในการทำงาน รวมถึงค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีขึ้น ด้วยเหตุผลทั้่งหมดทั้งมวลนี้ ก็อาจส่งผลต่อการตัดสินใจให้พวกเขาจากบริษัทเดิมไป และสมัครเข้าไปในบริษัทที่ตอบรับความต้องการเหล่านี้ของพวกเขาแทนที่จะทนอยู่ที่เดิม
แต่สิ่งสำคัญในการหาทางออกในเรื่องนี้เลยคือ ในขณะที่ธุรกิจ และบริษัทต่าง ๆ กำลังพยายามที่จะรับมือกับความผันผวนในตลาดแรงงาน ถ้าหากว่าผู้นำคนไหนที่สามารถจะพัฒนาเรื่องของทรัพยากรบุคคลให้ตอบรับความต้องการของพนักงาน ที่มีความเหมาะกับยุคและสมัยได้มากกว่า จะสามารถที่จะคว้าโอกาสจากการปรับเปลี่ยนในตลาดแรงงานในครั้งนี้ และสามารถที่จะคว้าตัวพนักงานใหม่ ๆ ที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในองค์กร รวมถึงรักษาพนักงานเก่า ๆ ให้อยู่กับองค์กรได้มากกว่าเช่นกัน
ทุกวันนี้ Job Seekers เป็นใคร และกำลังมองหาอะไรกันอยู่?

ทุกวันนี้ Job Seekers เป็นใคร และกำลังมองหาอะไรกันอยู่?

จากข้อมูลของ Qualtrics XM Institute ณ ปัจจุบัน กลุ่ม Job Seeker ที่ใหญ่ที่สุดจะอยู่ที่ระหว่างอายุ 25 - 34 ปี ซึ่งส่วนมากผู้ที่อยู่ในกลุ่มผู้ที่อยู่ในช่วง Mid Career ที่อยู่ในตลาดแรงงาน และทำงานมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว
คนเหล่านี้เมื่อพวกเขาต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง จากการที่ได้พบปะเจอะคนในทุก ๆ วัน กลายเป็นต้องนั่งทำงานจากที่บ้าน ทำให้พวกเขาเริ่มที่จะตั้งคำถามกับตัวเองถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “ชีวิต” และ “การทำงาน” ของพวกเขาว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ทำให้สิ่งที่หลาย ๆ คนต้องการในตอนนี้คือ “ความยืดหยุ่น” ในเรื่องของสถานที่ เวลา และวิธีการทำงานของพวกเขาเอง

รักษาพนักงานผ่านการสร้าง Onboarding Experience ที่ดี

แทนที่เราจะเน้นย้ำไปให้ความสนใจกับการที่พนักงานกำลังหนีจากเราไปทีละคนทีละคน ผู้นำองค์กรควรจะหันมาให้ความสนใจกับการรักษาพนักงานที่เก่ง และพนักงานที่เข้ามาใหม่มากกว่า ผ่านการพัฒนาการจัดการพนักงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์การทำงานที่ดีกว่าเดิมให้กับพวกเขา
โดยส่วนมากแล้วกระบวนการต้อนรับพนักงาน หรือ Onboarding จะมักไม่ได้ถูกดีไซน์ออกมาอย่างดี หรือบางที่กลับไม่มีเลยด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรู้สึกและประสบการณ์ของพนักงานใหม่ที่กำลังจะเข้ามาทำงาน ทำให้หลายครั้งพนักงานใหม่ ๆ จะมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อการเริ่มงานใหม่ ไม่รู้สึกถึงการต้อนรับ ไม่รู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของทีม ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของความไม่พอใจที่พวกเขาอาจจะเก็บไว้
รักษาพนักงานผ่านการสร้าง Onboarding Experience ที่ดี
แต่แน่นอนว่าอย่างที่เรารู้ว่าในปัจจุบันมีสิ่งที่เรียกว่า The Great Resignation อยู่ทำให้องค์กรไม่ใช่แค่ปัญหาคนลาออกผ่านวิธีที่ผิวเผิน อย่างการเสนอเงินที่มากขึ้น แต่ต้องพัฒนาไปถึงจุดเริ่มต้นที่พวกเขาเข้ามาทำงาน สร้างประสบการณ์ Onboarding ที่มีทั้งคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ ในการที่จะช่วยให้พนักงานรู้สึกถึง “Sense of Belonging” และรู้สึกว่าพวกเขามีคุณค่าบางอย่างต่อทีมและต่อองค์กร
โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช่นนี้ที่พวกเราทุกคนต้องกลับมาทำงานจากที่บ้าน อีกทั้งการทำงานแบบไฮบริดจะกลายมาเป็นสิ่งที่อยู่กับเราไปอีกนาน ทำให้การสร้างความประทับใจ การสร้างความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก เพราะมีหลากหลายคนที่รู้สึกว่าเมื่อเข้ามาทำงานตอนทุกคน Work From Home กลับรู้สึกเหมือนโดนทิ้ง ไม่ได้คุยกับใคร ไม่รู้จักหรือสนิทกับใคร ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในทีม อย่างการไม่ค่อยมีส่วนร่วม ไม่ค่อยมีความคิดเห็น และอาจจะไปจนถึงการที่บุคคลนี้ตัดสินใจที่จะลาออกจากองค์กรเลยทีเดียว

สภาพแวดล้อมเปลี่ยน พนักงานเปลี่ยน องค์กรจึงต้องเปลี่ยน

นอกจากเรื่องของการสร้างประสบการณ์ที่ดีแล้ว สิ่งสำคัญเลยคือ การที่เราต้องทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ เมื่อรูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป ไม่แปลกที่ความต้องการของพนักงานจะเปลี่ยนไปเช่นกันครับ ไม่ว่าจากทั้งเรื่องของความต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานที่มากขึ้น โอกาสที่จะได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ชีวิตที่มีความสมดุลระหว่างงานและชีวิตที่มากขึ้น หรือความช่วยเหลือจากองค์กรเมื่อพวกเขารู้สึกเหนื่อย และหมดไฟกับการทำงาน
ทำให้ผู้นำองค์กรหรือแม้แต่หัวหน้าทีมจะต้องแสดงความเห็นอกเห็นใจที่มากขึ้น ให้ความสำคัญกับเสียงของพนักงาน ความพึงพอใจของพนักงาน และสุขภาพของพนักงาน โดยเฉพาะในส่วนของสุขภาพจิต ที่หลายคนมักจะมีปัญหากันเมื่อเริ่มเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน
สภาพแวดล้อมเปลี่ยน พนักงานเปลี่ยน องค์กรจึงต้องเปลี่ยน
ดังนั้น การลงทุนทั้งเรื่องของการพัฒนาการจัดการพนักงานและการสร้างประสบการณ์ Onboarding จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้พนักงานใหม่ ๆ นั้นมีส่วนร่วมกับทีมมากขึ้น ช่วยให้พวกเขามองเห็นทั้งเป้าหมายขององค์กร และเป้าหมายของตัวเอง และเป็นการสร้างการเริ่มต้นใหม่ที่น่าประทับใจให้กับพวกเขา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะช่วยลดอัตราการลาออกให้กับองค์กรนั่นเอง
ถ้าองค์กรไหนมีพนักงานที่เรารู้สึกว่าทำไมเขาเงียบ ๆ หรือรู้สึกว่าเขาไม่มีส่วนร่วมกับองค์กรเลย ลองหันกลับมาดูว่าองค์กรของเรามีกระบวนการ Onboarding หรือยัง เพราะประสบการณ์ที่พวกเขาเจอในครั้งแรก อาจเป็นตัวตัดสินว่าพวกเขาจะปฏิบัติตัวอย่างไรต่อไปในองค์กรนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow