เคล็ดลับการออมแบบฝากประจำอย่างไรให้ถึงเป้าหมาย
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เคล็ดลับการออมแบบฝากประจำอย่างไรให้ถึงเป้าหมาย

icon-access-time Posted On 30 มีนาคม 2559
By Krungsri the COACH
เราทุกคนล้วนมีสิ่งที่อยากได้ หรือมุ่งหมายให้สิ่งที่คาดหวังสำเร็จ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างต้องใช้เงิน ดังนั้น การประหยัด ออมเงิน หรือลงทุนในด้านต่าง ๆ ก็มีผลต่อการทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ในแง่ของการออม ปัจจุบันมีการออมหลายรูปแบบ มีทั้งแบบความเสี่ยงต่ำไปจนถึงความเสี่ยงสูง และอัตราของผลตอบแทนก็แตกต่างกันออกไป ในที่นี้จะขอแนะนำการออมแบบฝากประจำกับธนาคาร ซึ่งเป็นการออมที่มีความเสี่ยงต่ำมาก และอัตราผลตอบแทนค่อนข้างสูง เหมาะกับผู้ที่ไม่ชอบความเสี่ยง มาดูวิธีการออมง่าย ๆ ให้ถึงเป้าหมายกันเลยดีกว่า

1. เราต้องกำหนดเป้าหมาย และระยะเวลาที่จะบรรลุ 


หากกำหนดเป้าหมายได้เร็ว เราก็จะเริ่มการออมได้เร็ว ทำให้ออมได้แบบสบาย ๆ ไม่บีบรัดการใช้จ่ายมากเกินไป และทำให้มีเงินใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ถ้าเราเริ่มต้นการออมช้า เราอาจจะต้องใช้เงินในการออมต่อเดือนจำนวนมาก ทำให้ต้องจำกัดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ เช่น ออมเพื่อซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ ออมเพื่อซื้อรถ ดังนั้น อย่าละเลยการตั้งเป้าหมายฝากประจำไป

2. พิจารณาถึงความสามารถในการออม 


ความสามารถในการออมของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายรับและรายจ่ายของแต่ละบุคคล เราสามารถคำนวณจำนวนเงินที่สามารถออมได้จากการนำรายรับทั้งหมดมาหักลบค่าใช้จ่ายที่จำเป็นออก ซึ่งค่าใช้จ่ายบางรายการเราสามารถควบคุมได้ และอาจจะหักเงินออมสำรองไว้อีกจำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินแยกมาจากการออมแบบฝากประจำอีกทีหนึ่ง เช่น
  • รายรับ
    • เงินเดือน 15,000 บาท
  • รายจ่าย
    • ค่าเช่าบ้าน 2,500 บาท
    • ค่าน้ำ 500 บาท
    • ค่าไฟ 500 บาท
    • ค่าโทรศัพท์ 500 บาท
    • ค่าอาหาร 5,000 บาท
    • ค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่น ๆ 1,000 บาท
  • เงินออม
    • เงินออมสำรองกรณีฉุกเฉิน 1,000 บาท
    • เงินออมแบบฝากประจำ 4,000 บาท

3. เลือกประเภทของการออมแบบฝากประจำให้เหมาะสม 


ประเภทของการออมแบบฝากประจำหลายแบบ เช่น แบบ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน หรือ 36 เดือน ซึ่งถ้าระยะเวลาในการฝากนาน ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยก็จะสูง นอกจากนี้ยังมีการออมแบบฝากประจำที่ปลอดภาษีอีกด้วย การฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากมากกว่า 12 เดือน ส่วนมากจะเป็นการฝากแบบนำดอกเบี้ยที่ได้รวมกับเงินต้นที่ฝากในปีนั้น มาเป็นเงินต้นในปีถัดมา การคำนวณอัตราดอกเบี้ยสำหรับการเลือกประเภทการฝากประจำ เช่น จำนวนเงินฝาก 4,000 บาท ในข้อที่ 2 เลือกฝากประจำแบบ 12 เดือน มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.35 บาทต่อปี และเสียภาษีร้อยละ 15 ของจำนวนเงินดอกเบี้ยที่ได้ ผลตอบแทนทั้งหมดที่ได้แสดงดังนี้
 
เดือน จำนวนเงินที่ฝากต่อเดือน (บาท) จำนวนเดือนที่ฝาก จำนวนวันที่ฝาก ดอกเบี้ย (ร้อยละ) ดอกเบี้ยที่ได้ (บาท)
(เงินต้น × อัตราดอกเบี้ย/365 × จำนวนวันที่ฝาก)/100
1 4,000 12 365 1.35 54.00
2 4,000 11 334 1.35 49.41
3 4,000 10 304 1.35 44.98
4 4,000 9 273 1.35 40.39
5 4,000 8 243 1.35 35.95
6 4,000 7 212 1.35 31.36
7 4,000 6 181 1.35 26.78
8 4,000 5 151 1.35 22.34
9 4,000 4 120 1.35 17.75
10 4,000 3 90 1.35 13.32
11 4,000 2 59 1.35 8.73
12 4,000 1 31 1.35 4.59
รวมเงินต้น (บาท) 48,000     รวม 349.59
VAT 15% 52.44
ดอกเบี้ยที่ได้ทั้งหมด 297.16
ผลตอบแทนที่ได้ทั้งหมด (บาท) 48,297.16
การออมแบบฝากประจำ มีข้อดีมากมาย หากใครอยากรู้ สามารถอ่านบทความต่อได้เลยครับ

4. มีวินัยในการออม 


เมื่อตั้งเป้าหมายฝากประจำเอาไว้อย่างดีแล้ว พอได้รับเงินเดือนมาเราควรหักเงินออมก่อนเพื่อให้เป้าหมายของเราสำเร็จโดยเร็ว ถ้าเราไม่หักเงินออมก่อน เราอาจจะใช้จ่ายเกินความจำเป็น เพราะนึกว่าเงินยังเหลืออีกเยอะ ถึงเวลาสิ้นเดือนก็เหลือเงินออมเพียงนิดเดียว อีกทางหนึ่งที่จะช่วยเราจัดการเงินออมให้เป็นระบบ คือ การเลือกหักเงินออมจากบัญชีเงินเดือน เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเงินออมเลย ทำให้เราไม่สามารถนำเงินออกมาใช้จ่ายได้

5. ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น 


ก่อนใช้จ่าย เราควรคิดก่อนว่า สิ่งที่ซื้อมามีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน คุ้มกับเงินที่เสียไปไหม หรือว่ายังมีของเก่าที่ยังใช้ได้อยู่ไหม เราควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายแต่ละวันเพื่อดูว่า เราใช้จ่ายค่าอะไรไปบ้าง เมื่อครบหนึ่งเดือน ให้เรานำบัญชีรายรับรายจ่ายที่จดไว้มาดูว่าจะสามารถตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้ไหม ถ้าทำเช่นนี้จะทำให้เราควบคุมการใช้จ่ายได้ดียิ่งขึ้น เราก็จะมีเงินไปออมมากขึ้นให้สมกับที่ตั้งเป้าหมายฝากประจำหรือการออมและลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ เอาไว้
เพียงเท่านี้เราก็สามารถจัดการกับเงินออมของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถไปถึงเป้าหมายของเราได้โดยง่าย หากคิดเรื่องออม อย่าลืมนึกถึงการออมแบบฝากประจำนะครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา