วิธีเช็กเบอร์มิจฉาชีพออนไลน์ หยุดแก๊งคอลเซ็นเตอร์กวนใจ

วิธีเช็กเบอร์มิจฉาชีพออนไลน์ หยุดแก๊งคอลเซ็นเตอร์กวนใจ

By Krungsri Plearn Plearn
กริ๊งง กริ๊งงง~
“สวัสดีค่ะ เราติดต่อจากเจ้าหน้าที่ธนาคาร คุณมียอดค้างชำระจากบัตรเครดิต…”

บทสนทนาแบบนี้คุ้น ๆ กันใช่เลยใช่ไหมล่ะ? ไม่ว่าใครก็ต้องเคยมีประสบการณ์ตรง หรือได้ยินเหตุการณ์มาจากคนใกล้ตัวแน่ ๆ เพราะเหตุการณ์ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” เคยระบาดอยู่ช่วงระยะหนึ่ง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2564 โดยแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐบ้าง หรือเจ้าหน้าที่ขนส่งและหนักที่สุดก็คือปลอมเป็นเจ้าหน้าที่จากธนาคารโทรมาเพื่อหลอกว่าคุณมียอดค้างชำระจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ และเข้าใจผิด หลอกให้โอนเงินจนเกิดความเสียหายหลายล้านบาท ปัจจุบันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังไม่หมดไป และปัญหาผู้เสียหายถูกหลอกหลวงจนเสียหายก็ยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะด้วย เพราะหลงเชื่อกลโกงของมิจฉาชีพหรืออาจจะไม่รู้ทันเหตุการณ์ก็ตาม แต่ไม่ต้องกังวลไป

วันนี้เราจะมาบอกวิธีเช็กเบอร์หรือเบอร์แก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์กันว่าทำอย่างไรได้บ้าง? เพื่อให้เรากับคนใกล้ตัวรู้ทันกลโกงมิจฉาชีพ ไม่ตกเป็นเหยื่ออีกต่อไป มาทำไปพร้อมกันเลย…
เช็กเบอร์มิจฉาชีพ

ความแตกต่างระหว่าง “เจ้าหน้าที่ตัวจริง” กับ “มิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์”

มาจับความต่างระหว่าง “มืออาชีพ” กับ “มิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์​” เวลาเจอเบอร์มิจฉาชีพ เบอร์แปลกโทรมาแอบอ้าง…จริงอยู่ที่ว่าการไม่รับเบอร์แปลก อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อความสบายใจ แต่บางครั้งก็อาจเป็นเบอร์ที่ต้องการแจ้งเรื่องสำคัญเข้าจริง ๆ ก็ได้

กลยุทธ์แรกที่เราสามารถตรวจสอบเบอร์มิจฉาชีพได้ก่อนก็คือ “มีสติก่อนรับสาย” เวลาเราเจอเบอร์แปลกโทรมาก็มักจะเกิดอาการตกใจ จนเผลอให้ข้อมูลทุกอย่างไป ดังนั้นเราต้องมีสติก่อนเพื่อไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวเผลอหลุดไปถึงมิจฉาชีพ…

วิธีสังเกตเจ้าหน้าที่ตัวจริง กับมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์

  1. “เจ้าหน้าที่ตัวจริง” จะใช้เบอร์ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ที่ได้ลงทะเบียนไว้จริงส่วนใหญ่เป็นเบอร์โทร 4 ตัวอักษร ๆ ไม่ใช่เบอร์ติดต่อส่วนตัว หรือเบอร์ที่ขึ้นต้นด้วย 08X, 09x หรือ 02 ซึ่งส่วนมากหากเป็น “เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการ” ตัวจริงก็จะไม่ติดต่อหาเราก่อนแน่นอน อย่างกรมสรรพากร การโทรคมนาคม ไปรษณีย์ไทย หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น แต่หากเป็นกรณีเบอร์มิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ก็มักจะใช้เบอร์ส่วนตัว แล้วตามด้วยเสียงอัตโนมัติเพื่อให้เรากดหมายเลข 9 ถัดไปเพื่อรับข้อมูลต่อ
  2. “เจ้าหน้าที่ตัวจริง” จะไม่ใช้เสียงอัตโนมัติรับสายหลังจากกดรับ แต่จะเป็นเสียงพูดของคนจริง ๆ พร้อมยืนยันข้อมูลของผู้รับสาย เช่น ชื่อจริง นามสกุลจริง เลขบัตรประชาชน หรือข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ที่สามารถตรวจสอบได้ แต่ถ้าเป็นเบอร์มิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็มักจะหลอกแอบถามข้อมูลส่วนตัวของเรา เช่น “ดิฉันกำลังเรียนสายกับใครคะ”
  3. เมื่อรับสายแล้ว “เจ้าหน้าที่ตัวจริง” จะต้องพูดเข้าประเด็นที่ติดต่อเข้ามา ไม่เหมือนกับเบอร์มิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่จะถามหลังโอนสายต่อว่า “คุณต้องการติดต่อเรื่องอะไรคะ” เพราะมันค่อนข้างที่จะไม่มีเหตุผลเอาซะเลย ถ้าเราได้รับเบอร์ติดต่อว่ามียอดค้างชำระ… แต่เจ้าหน้าที่กลับถามว่าต้องการติดต่อเรื่องอะไร? แบบนี้คิดไว้เลยว่าเป็นเบอร์มิจฉาชีพชัวร์
  4. เบอร์มิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักส่งลิงก์มาทาง SMS โดยใช้คำหลอกล่อ เช่น “คุณเป็นผู้โชคดีได้รับเงินรางวัล xxx คลิกลิงก์นี้เพื่อกรอกข้อมูล” “คุณมียอดเงินเข้าจำนวน… โปรดกดยืนยัน” ซึ่งหากเป็น “เจ้าหน้าที่ตัวจริง” จากธนาคาร จะไม่มีการส่งลิงก์มาทาง SMS อย่างแน่นอน
รู้ทัน SMS ปลอมจากเบอร์มิจฉาชีพ
อีกทริคหนึ่งที่เราสามารถจับไต๋มิจฉาชีพได้ก็คือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักใช้คำพูดข่มขู่ให้คนฟังรู้สึกหวาดกลัว เช่น ตอนนี้คุณมียอดค้างชำระบัตรเครดิต หรือคุณมีค่าปรับจราจรผ่าไฟแดง เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักการอย่างหนึ่งของจิตวิทยาเมื่อเรารับเบอร์แปลกที่ไม่รู้จักก็มักจะเกิดความหวาดระแวง สับสน และสงสัยก่อนอยู่แล้ว หลังรับสายเมื่อเจอการใช้ถ้อยคำข่มขู่ก็ยิ่งทำให้เกิดอาการตื่นตระหนกใจได้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีก

ในช่วงแรก ๆ ที่มีการระบาดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์มักจะหลอกถามชื่อ และหมายเลขบัตรประชาชนของผู้เสียหาย ทำให้ถูกหลอกดึงข้อมูลไปได้ง่าย ๆ ซึ่งหลังจากนั้นเราก็มักจะรู้ทันกลโกงหลอกถามแบบนี้คือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ช่วงหลังแก๊งมิจฉาชีพพวกนี้ก็อัปเกรดขึ้น รู้ชื่อนามสกุล และหมายเลขบัตรประชาชนของผู้เสียหายโดยไม่ต้องถาม ทำให้หลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตัวจริง

กรณีเจอแก๊งคอลเซ็นเตอร์อัปเกรดที่รู้ข้อมูลของเรา ให้ตั้งสติเยอะ ๆ แล้วไล่ลำดับความคิดในหัวว่าเรื่องที่เจอเป็นเรื่องจริงไหม? เช่น มีเบอร์มิจฉาชีพแอบอ้างว่าติดต่อจากเจ้าหน้าที่ธนาคารเรื่องบัตรเครดิต แต่ถ้าเราไม่ได้เปิดบัตรเครดิตอยู่แล้วก็ให้วางใจได้เลย ถ้าเป็นกรณีหลอกโอนเงิน อย่างเรื่องค่าปรับ หรือการลงทุน ให้มั่นใจไว้ว่าเรากำลัง “ถูกหลอก” เพราะเจ้าหน้าที่ราชการ หรือธนาคารตัวจริงจะไม่มีทางให้เราทำการโอนเงินโดยตรงไปยังบัญชีอย่างเด็ดขาดหากมีเรื่องค่าปรับ หรือจำเป็นต้องโอนเงินใด ๆ เจ้าหน้าที่ก็ต้องให้ทำธุรกรรมภายในหน้าสาขาของธนาคารเท่านั้น

รับมือ “เบอร์แปลก” จัดการแก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์

หลังจากที่เรารู้กลโกงของพวกมิจฉาชีพแล้ว ก็มารับมือกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในแบบฉบับที่เราเริ่มลงมือทำเองได้เลยกันดีกว่า เพราะยิ่งระวังตัวไว้ก็เป็นผลดีกว่าปล่อยให้ถูกเบอร์มิจฉาชีพโทรมาหลอก หรือเป็นหูเป็นตาแทนคนรอบข้างได้อีกด้วย เพราะนานวันเข้าแก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ก็ยิ่งอัปเกรดวิธีการโกงหลากหลายขึ้นไปอีก…

1. ติดตั้งแอปพลิเคชันบล็อกเบอร์แปลก หรือกรองเบอร์สแกมเมอร์

การติดตั้งแอปพลิเคชันที่สามารถช่วยกรองเบอร์แปลกเวลาโทรเข้ามาก็ช่วยระวังได้มากขึ้น เช่น Whoscall เนื่องจากระบบของแอปฯ Whoscall มีฟังก์ชันให้ผู้ใช้งานสามารถรายงาน หรือกดสแปมเบอร์มิจฉาชีพได้ ทำให้เบอร์โทรนั้น ๆ จะถูกจัดเข้าในระบบแจ้งเตือน และจะเด้งที่หน้าจอโทรศัพท์ทันทีหากเบอร์แปลกนั้นเป็นเบอร์มิจฉาชีพที่เคยถูกรายงานไว้

2. ไม่โอนเงินทุกกรณี หากมีปัญหาให้ติดต่อหน่วยงานนั้น ๆ ด้วยตัวเองเท่านั้น

รูปแบบการหลอกของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คือหลอกให้ผู้เสียหายจ่ายค่าปรับ ด้วยการบอกเลขบัญชีแล้วให้โอนเงินเข้าทางนั้นพร้อมกับหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เพื่อความปลอดภัยในทุกการทำธุรกรรม เราควรเดินทางไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่เองโดยตรง อีกทั้งยังเป็นการช่วยยืนยันได้อีกด้วยว่าเราเป็นผู้บริสุทธิ์

3. ไม่กดลิงก์ ไม่เปิดข้อความ หรือดาวน์โหลดอะไรก็ตามที่ปลายสายส่งมา

เพราะในลิงก์อาจมีระบบไวรัสที่สามารถควบคุมการทำงานทุกอย่างจากระยะไกลได้ซึ่งอาจทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างรวมถึงสั่งการโอนเงินได้เองโดยที่เราไม่รู้ตัว ทางที่ดีที่สุดคือไม่ควรกดลิงก์ที่ถูกส่งมาใน SMS เลยเด็ดขาด

4. บล็อกเบอร์ต่างประเทศด้วยตัวเอง

แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักใช้เบอร์โทรมา 2 แบบก็คือ
  1. เบอร์โทรต่างประเทศ ซึ่งถ้าเราเจอเบอร์แปลกที่เป็นหมายเลขจากต่างประเทศอย่าง +66 แล้วโทรมาซ้ำ ๆ หลายครั้งโดยที่เราเองก็ไม่รู้จัก สามารถกดบล็อกได้เองโดย กด *138*1# แล้วโทรออก
  2. เบอร์ส่วนตัวในไทย เช่น 08X ซึ่งถ้าเป็นเบอร์ในไทยก็อาจเป็นได้ทั้ง 2 อย่างคือเบอร์มิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์กับเบอร์คนทั่วไปอย่างพนักงานขนส่ง เราสามารถเช็กเองได้ด้วยแอปฯ Whoscall เป็นต้น

5. เผลอโอนเงินไปแล้ว จัดการอย่างไร

ถ้าเราเผลอกดโอนเงินไปก่อน สามารถรายงานแจ้งไปยังช่องทางต่าง ๆ ได้ดังนี้
  • ติดต่อ Hotline ของธนาคารกรุงศรีโทร. 1572 กด 5 ตลอด 24 ชั่วโมง
  • แจ้งสายด่วน สอท. 1441
  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร. 1599
  • แจ้งความออนไลน์ https://www.thaipoliceonline.go.th/
  • ศูนย์ PCT โทร 081-866-3000
ที่สำคัญคือ เก็บข้อมูล และหลักฐานต่าง ๆ ที่เราได้ทำการโอนหรือธุรกรรมให้ปลายทางนั้นไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีความต่อไป ทั้งนี้ หากเรารู้ตัวแล้วว่าถูกหลอกโดยมิจฉาชีพ ให้รีบดำเนินการติดต่อธนาคารแล้วแจ้งความทันที เพื่อนำหมายศาลจากตำรวจไปยืนยันกับทางเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อติดตามเงินของเรากลับคืนมา

นอกจากวิธีรับมือเบอร์แปลกที่อาจเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้ว ก็ยังมีทริครู้ทันกลโกงอื่น ๆ ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยิ่งรู้เยอะไว้ก่อนก็ยิ่งดีกว่า เพื่อที่เราจะได้มีวิธีรับมือ และไม่ตกใจตอนที่เจอปัญหานั้นเข้าจริง ๆ แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าบางครั้งการมีเบอร์แปลกติดต่อเข้ามาก็อาจจะไม่ใช่แก๊งคอลเซ็นเตอร์เสมอไป ดังนั้นสิ่งที่จำเป็น และสำคัญไม่แพ้กันคือ “ตั้งสติ” เพื่อไม่ให้ถูกหลอกถามข้อมูลได้ และทุกการสนทนา ไม่ควรให้ข้อมูลใด ๆ กับปลายสาย เท่านี้ก็ช่วยป้องกันเราจากพวกแก๊งมิจฉาชีพได้ระดับหนึ่งแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow