แนวทางการบริหารธุรกิจก่อนเข้าสู่ AEC

แนวทางการบริหารธุรกิจก่อนเข้าสู่ AEC

By Tim Pita

“ในการควบรวม AEC ประเทศที่เจริญมากจะได้เปรียบ ประเทศที่เจริญน้อยจะได้อานิสงส์ ส่วนประเทศกำลังพัฒนาที่ผลิตอะไรคล้าย ๆ กันจะลำบาก”

นี่คือ คำอธิบายที่ผมได้จากอาจารย์ Kristen Forbes จากมหาวิทยาลัย MIT เมื่อครั้งที่ได้บินกลับไปอเมริกาหลังที่เรียนจบมา อาจารย์ Forbes เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานในทำเนียบขาวหลายสมัย และท่านศึกษาการควบรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งความหมายก็คือ การที่ประเทศตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไปตกลงรวมตัวกัน เพื่อลดหรือยกเลิกอัตราภาษีศุลกากร ยกเลิกข้อจำกัดทางการค้า การลงทุน แรงงาน เพื่อให้สิทธิประโยชน์สำหรับประเทศในกลุ่ม
แน่นอนว่าการควบกลุ่มเศรษฐกิจมีหลายระดับจากหลายภูมิภาค มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผมจะขอยกตัวอย่างกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ EU ซึ่งปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า มีข้อเสียเต็มไปหมด ซึ่งอาจเกิดจากการแข่งขันทางการค้าที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้แต่ละประเทศกังวลว่า ถ้าไม่มีการรวมกลุ่มกันอย่างแน่นแฟ้น อาจไม่มีอำนาจในการเจรจาการค้า พูดง่าย ๆ ว่า หัวเดียวกระเทียมลีบ หรือกลัวตกรถไฟนั้นเอง
อีกสาเหตุที่ทำให้เกิดการควบรวมทางเศรษฐกิจที่หลายคนรุ่นเรา ๆ ยังไม่รู้ คือ สันติภาพและนัยทางการเมือง หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือ แนวคิดที่เราค้าขายกับกลุ่มลูกค้า เราก็จะเป็นมิตรทางการเมืองกับลูกค้าของเราด้วย (อ่านวีธีรับมือกับ AEC อย่างชาญฉลาด)
สาเหตุในการควบรวมนี้ชัดเจนมาก ทั้งในยุโรปและอาเซียนนับย้อนไปหลังสงครามเย็น ดร.ถนัด คอมันตร์ อดีต รมว.การต่างประเทศ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมอาเซียนในปี 2510 เพื่อการควบรวมเศรษฐกิจ โดยส่วนหนึ่งมีเหตุผลทางการเมืองและความกดดันในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเหตุผลเหล่านี้อาจเทียบเท่าหรือมากกว่าการมียุทธศาสตร์เพื่อความยั่งยืนที่ชัดเจน และเป็นประโยชน์ของการควบรวมเศรษฐกิจเสียมากกว่าความกังวลต่อการแพร่ขยายของคอมมิวนิสต์ แนวความคิดนี้ ริเริ่มมาตั้งแต่ 2510 และจะใช้จริง 2559-2560 คลาดเคลื่อนมาเกือบ 50 ปีกว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง

การไม่มียุทธศาสตร์เป็นรูปเป็นร่างในการควบรวมเศรษฐกิจนั้นนำปัญหามากมายมาให้

 
ถ้าจะพูดถึงอาเซียน จริงอยู่ว่าประชากรของอาเซียนจะเป็นตลาดใหญ่ 600 ล้านคน มี GDP ร่วมกันอาจเกิน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีพื้นที่ 4.4 ล้านตารางกิโลเมตร และมีโอกาสมากมาย แต่ข้อควรระวังที่เราเรียนรู้จาก EU ก็มีให้เห็น ยกตัวอย่างเช่น การที่ประเทศเจริญมากอย่างเยอรมันกับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเอสโตเนียใช้ค่าเงินเดียวกัน เป็นต้น อาจมองได้ชัดเจนขึ้นเมื่อเป็นตัวอย่างค่าเงินของประเทศสิงคโปร์และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวคงไม่เหมาะจะใช้ค่าเงินเดียวกัน
ปัญหาเรื่องการควบคุมดูแลกำกับซึ่งกันและกันนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในยุโรปและยังอาจเกิดขึ้นในอาเซียนด้วยก็เป็นได้ เพราะการเป็นเพื่อนบ้านอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกันเวลาคนหนึ่งเกเร ไม่สบาย ไอ จาม ย่อมติดถึงกัน ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น เมื่อ ค.ศ. 1991 ยุโรปมีสนธิสัญญา Maastricht treaty ซึ่งมีเงื่อนไขข้อแม้ว่า ประเทศต่าง ๆ จะเข้ารวมเป็นสมาชิกได้ก็ต่อเมื่อมีหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% และงบสาธารณะห้ามขาดดุลเกิน 3% ของ GDP เป็นวินัยทางการคลังที่เพื่อนบ้านแซงเราเหมือนกัน
มาถึง ค.ศ. 2010 เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปถึงจุดที่รุนแรงที่สุด ค่าเฉลี่ยของหนี้สาธารณะอยู่ที่ 88% และงบรัฐเดินเกินดุลอยู่ 6% ส่วนประเทศเจ้าปัญหากลุ่ม PLGS (Portugal Ireland Greece Spain) มีตัวเลขน่าใจหายที่ 119% สำหรับอิตาลี 142% สำหรับกรีซและ 96% สำหรับไอร์แลนด์ เกินเงื่อนไข 60% ของการเข้าเป็นสมาชิก EU ถึงเท่าตัวนึง
ลองกลับมามอง ASEAN แถบบ้านเรา ในขณะที่เอกชนอย่างเรา ๆ กำลังหาแหล่งวัตถุดิบที่ถูกกว่า แรงงานที่มีฝีมือกว่า คุ้มค่ากว่า แรงวิจัย โลจิสติกส์ที่ดีกว่า ซึ่งผมเชื่อว่าเอกชนไทยที่มีความสามารถพอสมควรและมีหน่วยงานคอยช่วยเหลือทั้งรัฐและเอกชน (อย่างบริษัทผมทำงานร่วมกับธนาคารกรุงศรีเพื่อลงทุนในพื้นที่ที่มีรำข้าวมากราคาถูก เช่น กัมพูชา พม่า และเวียดนาม) แต่ในระดับมหาภาค พวกเราซึ่งต้องหวังพึ่งรัฐบาลและตัวกลางเจรจา เป็นคนที่จะปลดล็อค “ความเสี่ยง” ที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมเศรษฐกิจต่างหาก
จากการที่ผมตามข่าว และตามฟังสัมมนามีโอกาสได้พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องทั้งไทยและต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะพุ่งไปที่ศักยภาพและโอกาส อีกทั้งเป็นหน้าที่ของเอกชนอย่างเรา ๆ ที่จะพุ่งเข้ามาสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทตัวเอง เรามองอาเซียนเป็นปิระมิด บนยอดสูงสุดเป็นสิงคโปร์ บรูไน ล่างสุดเป็น CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์, เวียดนาม) ที่เหลืออยู่ตรงกลาง ต่อไปนี้เรื่อง R&D วิจัย เรื่อง HR เรื่อง Logistics นี้ เรามุ่งไปที่ยอดของปิระมิดที่สิงคโปร์ ในเรื่องลดต้นทุน เรื่องหาวัตถุดิบ เรื่องแรงงานถูก เรามองไปที่กัมพูชาหรือพม่า ส่วนไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศขนาดกลางผลิตสินค้าคล้าย ๆ กัน (เนื่องจากภูมิอากาศคล้ายกัน วัตถุดิบคล้ายกัน) เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีที่สร้างความต่าง (Differentiation) หรือไม่สามารถลดต้นทุน (Cost Leadership) จะมีปัญหาเนื่องจากต้องมาตัดราคาแข่งกันไม่ว่าจะเป็น ปาล์ม ยาง ข้าว พลาสติก สิ่งทอ ซึ่งคงไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมากกว่านี้ (อ่านวิธีพัฒนาศักยภาพการเกษตรอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไกลใน AEC)
อีกหนึ่งภารกิจของเอกชนไทยอย่างเรา คือ การบริหารความเสี่ยงจากอาเซียน ด้วยการเริ่มตระหนัก พูดคุยและถกให้ตกผลึกกับภาครัฐ อาจผ่านช่องทางของหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม สภาทุน หรือสื่อสารตรงถึงรัฐบาล ให้อาเซียนเกิดภาพซ้ำรอยเดิมของยุโรปขึ้นได้อีก
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา