โลกเราทุกวันนี้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลายๆ คนอาจจะมองเห็น “โอกาส” ที่ลอยอยู่ใน “อากาศ” ในขณะที่บางคนอาจจะมองไม่เห็นแม้แต่อากาศที่จะใช้หายใจเพราะความลำบากในชีวิต ดังนั้นใครก็ตามที่มองเห็นโอกาสก่อนคนอื่น ย่อมสามารถที่จะทำกำไรจากโอกาสนั้นได้เร็วกว่า จริงไหมครับ?
แต่สิ่งหนึ่งที่ตามมาหลังจากที่เรามองเห็นโอกาสในการทำกำไร มันคือสิ่งที่เรียกว่า “ธุรกิจ” ที่เราจะต้องสรรค์สร้างขึ้นมาในรูปแบบต่างๆ อย่างที่เราต้องการ ตั้งแต่การเป็นเจ้าของคนเดียวไปจนถึงบริษัทมหาชนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ แต่รูปแบบที่ฮอตฮิตที่สุด เห็นทีจะหนีไม่พ้น ธุรกิจที่อยู่ในรูปแบบนิติบุคคล อย่าง Start up ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทต่างๆ ที่มีมากมายอยู่ในทุกวันนี้ ที่จัดตั้งขึ้นมาและต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั่นแหละครับ
ใครบางคนกล่าวไว้ว่า “เมื่อมีธุรกิจ ก็ต้องมีปัญหา” ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่ตามมาก็มักจะเป็นเรื่องของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ใครหลายคนมองว่ายากแสนยาก ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมใจมาว่าต้องพบกับปัญหาภาษี แถมบางครั้งยังคิดว่าการจ้างคนทำบัญชี คือ คำตอบของธุรกิจ!
แต่ผมขอบอกตรงๆ เลยครับว่า ต่อให้การจ้างคนทำบัญชีจะเป็นคำตอบที่ดีก็ตาม แต่เจ้าของธุรกิจอย่างเรา ๆ นั้นจำเป็นต้องรู้เรื่องภาษีนิติบุคคลไว้บ้าง อย่างน้อยที่ว่าจะได้ตรวจสอบความถูกต้องของคนทำบัญชีได้และไม่เกิดผลร้ายต่อตัวเองเมื่อสรรพากรเรียกตรวจสอบในอนาคต
และทั้งหมดนั้นก็เป็นที่มาของบทความในตอนนี้เรื่อง “3 ความเข้าใจผิดเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล” ที่ผมได้สรุปมาแล้วว่า มีเรื่องแบบไหนบ้างที่เจ้าของธุรกิจมักเข้าใจผิดและเผอเรอไป เรามาดูกันเลยครับ
1. ยิ่งกำไรน้อย ยิ่งเสียภาษีน้อย
ความเข้าใจผิดแรกนั้น เริ่มต้นจากความคิดที่ว่า ธุรกิจที่ยิ่งกำไรน้อยเท่าไร ก็ยิ่งเสียภาษีนิติบุคคลน้อยเท่านั้น เอ๊า!! ถ้าแบบนี้เราก็ทำให้ “ธุรกิจขาดทุน” เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งคำพูดก็ถือว่าเป็นคำพูดที่ถูกครึ่งหนึ่งครับ แต่เราต้องไม่ลืมเงื่อนไขที่ว่า ขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้น ต้องเป็น
ขาดทุนทางภาษี ไม่ใช่
ขาดทุนทางบัญชี เพราะธุรกิจต้องมีการปรับปรุงรายการกำไร (ขาดทุน) ทางบัญชีให้กลายเป็นกำไร (ขาดทุน) ทางภาษีเสียก่อน แล้วค่อยคำนวณโดยการคูณอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่กฎหมายกำหนดครับ
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่งมีการขาดทุนทางบัญชี 1 ล้านบาท แต่พบว่ามีค่าใช้จ่ายจำนวน 2 ล้านบาทที่ไม่มีเอกสารหลักฐานการจ่าย และเป็นรายจ่ายส่วนตัวของเจ้าของธุรกิจ ซึ่งรายจ่ายในส่วนนี้จะไม่สามารถถือเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ ก็เลยกลายเป็นว่า ขาดทุนทางบัญชีจำนวน 1 ล้านบาทก็จะถูกบวกกลับเข้าไปด้วยค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าว ทำให้บริษัทมีกำไรทางภาษี จำนวน 1 ล้านบาทแทน
2. จดทะเบียนเป็น SMEs ได้ลดอัตราภาษีแน่ๆ
เรื่องต่อมาก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราได้ยินกันบ่อยๆ กับคำว่า
“SMEs ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีนิติบุคคล” โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่มีเงื่อนไขตามที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ คือ “เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท” หรือพูดสั้นๆ ก็คือสำหรับธุรกิจที่มี
“ทุนชำระไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อปี” จะได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งผมเคยเขียนอธิบายไว้ในบทความที่ชื่อว่า "3 วิธีที่ทำให้ธุรกิจของคุณประหยัดภาษีแบบสุด ๆ" (
อ่านบทความ) ไปตามอ่านกันได้ครับ
สิทธิพิเศษในการลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2557
ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท |
ยกเว้นภาษี |
ส่วนที่เกิน 300,000 - 1,000,000 บาท |
15%
|
ส่วนที่เกิน 1,000,000 บาท |
20%
|
แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหานั่นคือ คำว่า “และ” ซึ่งหมายถึงธุรกิจของเราจะต้องมีทั้งสองเงื่อนไข คือ
ทุนชำระที่ไม่เกิน 5 ล้านบาท และ รายได้น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อปี ไปพร้อม ๆ กัน และถ้าหากปีใดมีการผิดเงื่อนไข ปีต่อไปก็ไม่มีสิทธิในการใช้ตามเงื่อนไขการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลนี้อีกด้วย!!
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่ง มีรายได้ในปี 2556 จำนวน 29 ล้านบาท และมีทุนชำระจำนวน 5 ล้านบาท สำหรับรอบบัญชีปี 2556 จะสามารถใช้สิทธิลดอัตราภาษีได้ แต่ถ้าปี 2557 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 35 ล้านบาท และมีทุนชำระ 5 ล้านบาท จะถือว่าบริษัทแห่งนี้หมดสิทธิในการเป็น SMEs ที่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลทันที ถึงแม้ว่าในปี 2558 บริษัทนี้จะกลับมามีรายได้ต่ำกว่า 30 ล้านบาทก็ตาม
3. ภาษีครึ่งปี พี่ต้องจ่ายด้วยหรอ?
สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่คำนวณภาษีจากกำไรสุทธิทางภาษีนั้น นอกจากยื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับรอบบัญชีแล้ว (ภ.ง.ด. 50) ยังมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบบัญชีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) ภายใน 2 เดือนหลังจากวันครึ่งรอบบัญชี เช่น ถ้ารอบบัญชีของบริษัทคือวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม วันครึ่งรอบบัญชีคือวันที่ 30 มิถุนายน โดยต้องยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีให้ทันกำหนดเวลาภายในสิ้นเดือนสิงหาคมของทุกปี มิฉะนั้นจะมีปัญหาทั้งค่าปรับ (สูงสุด 2,000 บาท) และเงินเพิ่ม (คิดจากภาษี) ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนอีกด้วย
นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการประมาณกำไรสุทธิครึ่งปีขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิจริง โดยไม่มีเหตุอันสมควร อาจจะทำให้ธุรกิจของเราต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของเงินภาษีอีกด้วยครับ ซึ่งรายละเอียดในส่วนนี้ผมขอแนะนำให้ปรึกษาทางบัญชีเพิ่มเติมครับ
สิ่งที่เจ้าของธุรกิจทุกคนต้องระวังและเตรียมพร้อมเสมอ คือ การเสียภาษีให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
เพื่อลดโอกาสเจอพี่ๆ สรรพากร รวมถึงต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มมากมายโดยที่ไม่จำเป็น
สุดท้ายนี้ @TAXBugnoms ขอฝากข้อคิดสั้น ๆ ก่อนจากกันไว้ว่า บางครั้งแล้วการทำสิ่งที่ยากในตอนแรกอย่างเรื่องภาษีนิติบุคคลอาจจะสร้างความลำบากให้กับชีวิต แต่ถ้าเราคิดที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ท้ายที่สุดแล้วมันก็คือสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ เพื่อให้ธุรกิจของเรานั้นก้าวต่อไปได้อย่างสง่างามครับผม!! (
อ่านบทความแนวทางวางแผนการเงิน-ภาษี)