จิตใจที่เข้มแข็ง คือสกิลการลงทุนที่สำคัญ
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

จิตใจที่เข้มแข็ง คือสกิลการลงทุนที่สำคัญ

icon-access-time Posted On 05 ตุลาคม 2564
By นิ้วโป้ง อธิป กีรติพิชญ์

ในสถานการณ์โรคระบาด ที่กระทบทั้งสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน และการทำมาหากิน ส่งผลให้ผู้คนยุคนี้มีความเครียดกับวิกฤตในขณะนี้อย่างสูง แต่สิ่งที่เราควรทำ นอกจากการ์ดห้ามตกเพื่อดูแลสุขภาพตนเองแล้ว จิตใจเราก็ห้ามตกด้วย การปรับอารมณ์ให้รู้เท่าทันว่าโลกหลังโควิดมีอยู่จริง มีกำลังใจ ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ และยังมีจิตใจที่เข็มแข็ง มีความหวังในการวางแผนชีวิตระยะยาวที่เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการวางแผนออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ ซึ่งเริ่มช้าก็ไม่ดี หยุดทำก็ไม่ได้

เคยมีคำกล่าวว่า “คนที่ดีที่สุด ที่จะเลี้ยงดูเราในวัยเกษียณ ไม่ใช่ลูกหลาน ญาติมิตรที่ไหน ...แต่เป็น “ตัวเราเอง” ในยามที่ยังหนุ่มสาวอยู่”
หนึ่งในหน้าที่สำคัญของมนุษย์ยุคนี้ ที่ไม่ได้เกิดมารูปหล่อพ่อรวย คาบช้อนเงิน ช้อนทอง มาตั้งแต่เกิด คือการออมเงินเพื่อเลี้ยงดูตัวเองให้ได้ในยามเกษียณ “อย่างเพียงพอและมีความสุข” คนสมัยก่อนอาจจะส่งต่อความเชื่อว่า จงอดออม แล้วระดมเงินฝาก เพราะประเทศไทยเคยอยู่ในยุคดอกเบี้ยสูงมากในระดับเกินกว่า 10% ต่อปีมาก่อน ดังนั้นที่เคยสอนกันมาว่าให้ออมเงินไว้กับธนาคาร จึงเป็นชุดความเชื่อที่คนยุคหนึ่งจำฝังใจ เพราะนอกจากปลอดภัยแล้วยังได้รับผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมในระดับเกิน 10% ต่อปี แต่โลกปัจจุบันนั้นไม่ใช่ เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้วที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะสูงมากขนาดนั้น
หากต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง โดยจะลงทุนกับสินทรัพย์เสี่ยงต่ำเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตร ตราสารหนี้ หรือแม้แต่การฝากเข้าบัญชีเงินฝากประจำ จะเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะออมเงินได้ก้อนใหญ่เพื่อการเกษียณ ลองคำนวณกรณีตัวอย่าง นายสมชาย เป็นมนุษย์เงินเดือน พนักงานบริษัทเอกชนคนหนึ่ง จบปริญญาตรีอายุ 22 ปี เงินเดือนสตาร์ทเริ่มต้น 18,000 บาท แล้วก็ทำงานไปเรื่อย ๆ อยู่รอดปลอดภัยดีตลอดมากระทั่งเกษียณอายุ 60 ปี
ระหว่างทางเงินเดือนขึ้นทุกปี ๆ ละ 5% ไม่เคยขาด (ถือว่าเยอะพอสมควรในยุคนี้) เป็นเวลา 38 ปี ด้วยสมมติฐานนี้ เงินเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณของเขาคือ 114,939 บาท ซึ่งเทียบเท่ากับผู้บริหารระดับกลางขององค์กรเอกชน ถือว่าสมเหตุสมผลเมื่อตรวจสอบกับระดับเงินเดือน Middle Management Level ปัจจุบันนะครับ ทีนี้ลองสมมติว่า นายสมชายเป็นคนที่ออมเก่งมาก คือออมได้ในระดับ 30% ของรายได้ตั้งแต่ปีแรกถึงปีสุดท้ายที่ทำงานตลอดชีวิต กรณีที่ออมเงินไว้ในที่ที่ไม่มีผลตอบแทนเลย(0%) ... นายสมชายจะมีเงินออมไว้ใช้เพื่อเกษียณ 6.98 ล้านบาท คำถามคือ เพียงพอไหม?
หนึ่งในวิธีการประมาณการยอดนิยมอย่างง่ายว่า หลังเกษียณเราควรจะเตรียมเงินไว้อย่างน้อยเท่าไรจึงจะพอ โดยที่ยังคงดำรงคุณภาพชีวิตเหมือนสมัยที่ยังทำงานอยู่อย่างใกล้เคียงที่สุด ให้คำนวณจากครึ่งหนึ่งของเงินเดือนสุดท้าย คูณด้วย12 (ปรับเป็นปี) แล้วคูณด้วยจำนวนปีที่คาดว่าจะใช้เงินก้อนนี้ เช่น อายุขัย 85 ปี ก็มีจำนวนปีที่จะใช้เงินเกษียณ = 85-60 = 25 ปี นั่นเอง ดังนั้น นายสมชายควรต้องเตรียมเงินเกษียณไว้ = (114,939 / 2) คูณ 12 และ คูณ 25 = 17.24 ล้านบาท !!! นั่นหมายความว่า แม้นายสมชายจะออมเงินได้มากถึง 30% ของรายได้ทุกปีมาตลอดชีวิต แต่หากไม่มีผลตอบแทนบนเงินออมเลย จะมีเงินออมเพื่อเกษียณเพียง 6.98 ล้านบาท ซึ่งยังน้อยกว่าเป้าหมาย 17.24 ล้านบาทอยู่มาก จากการคำนวณ หากนายสมชายต้องการจะมีเงินออมเพื่อเกษียณ 17.24 ล้านบาท ตามเป้าหมาย จำเป็นต้องได้ผลตอบแทนเฉลี่ยตลอดทางการออม 38 ปี ที่ระดับประมาณ 6% ต่อปี
ตัวเลขผลตอบแทนเฉลี่ย 6 % ต่อปี นับว่าไม่มีทางเป็นไปได้เลยสำหรับการลงทุนแบบความเสี่ยงต่ำเพียงอย่างเดียว คนสมัยก่อนเพียงนำเงินออมมาฝากธนาคารไว้ก็ได้ผลตอบแทนสูงระดับ 10% ขึ้นไป จึงไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ที่ต้องลงทุนทั้งสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงสูงไปพร้อมกัน แต่คนยุคนี้ไม่ได้นะครับ จำเป็นต้องมองหาการลงทุนระยะยาวที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อรับผลตอบแทนที่มากขึ้น เพราะฉะนั้น แนวคิดเรื่องการออมเงินเพื่อวัยเกษียณจะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อมีการจัดสรรเงินออมส่วนหนึ่งไว้ในตลาดหุ้นด้วยเท่านั้น อาจไม่จำเป็นต้องออมไว้ในหุ้นทั้งหมด แต่อย่างน้อยจะต้องจัดสรรไว้ส่วนหนึ่งเสมอ เพื่อให้ผลตอบแทนเฉลี่ยของทั้งพอร์ตประมาณ 6% ต่อปี ตามเป้าหมาย
แล้วทางเลือกอื่น นอกจากการฝากเงินคืออะไร?
จิตใจที่เข้มแข็ง คือสกิลการลงทุนที่สำคัญ
ทางเลือกที่ 1 พันธบัตร หรือตราสารหนี้ แม้ว่าทางเลือกนี้จะดูปลอดภัยและเสี่ยงต่ำ แต่ประมาณการผลตอบแทนก็ต่ำไปด้วย อยู่ที่ 1.5-3% ต่อปี
ทางเลือกที่ 2 กองรีท REIT คือ REAL ESTATE INVESMENT TRUST ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยมีรายรับเป็นกระแสเงินสดจากค่าเช่าซึ่งมีหลายประเภท เช่น กองรีทอาคารสำนักงาน กองรีทห้างสรรพสินค้า กองรีทโรงงานและคลังสินค้า ทางเลือกนี้จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมา แต่ประมาณการผลตอบแทนจากเงินปันผลต่อปีก็สูงตามไปด้วย อยู่ที่ 4-6% ต่อปี
ทางเลือกที่ 3 กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) คือกองทุนที่ระดมทุนจากผู้ลงทุนทั่วไปโดยระบุว่าจะนำเงินไปลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ไฟฟ้า ประปา ทางด่วน ท่าอากาศยานหรือสนามบิน โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม รถไฟฟ้า เป็นต้น ทางเลือกนี้จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมา แต่ประมาณการผลตอบแทนจากเงินปันผลต่อปีก็สูงตามไปด้วย อยู่ที่ 4-6% ต่อปี
ทางเลือกที่ 4 หุ้นไทย คือการลงทุนหุ้นที่มีพื้นฐานดี มีการเติบโต และจ่ายปันผล ในตลาดหุ้นไทย ทางเลือกนี้จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาจากทางเลือกที่ 2 และ 3 แต่ประมาณการผลตอบแทนต่อปีก็สูงตามไปด้วย อยู่ที่ 7.7% ต่อปี ทั้งนี้ผลตอบแทนรวมตลาดหุ้นไทย (SET TRI) ย้อนหลัง 10 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ 7.77% ต่อปี (ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ณ วันที่ 31 มี.ค. 64)
การออมเงินโดยการกระจายสัดส่วนทั้งสินทรัพย์เสี่ยงต่ำและสินทรัพย์เสี่ยงสูงผสมกัน ที่เราเรียกว่าการทำ Asset Allocation จะช่วยลดความเสี่ยงรวมของพอร์ตได้ โดยเงินออมส่วนหนึ่งจะต้องลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกที่ 2-4 ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นด้วยเท่าน้ัน ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ข้อ 2-4 มีทั้ง ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) และผลต่างส่วนเพิ่มของราคาหุ้น (Capital Gain)
ผลตอบแทนที่เป็นไปได้ ระดับ 7-8 % ต่อปีน่าจะยังคาดหวังจากตลาดหุ้นไทยในระยะยาวได้อยู่ และการลงทุนในหุ้น ยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับการฝากแบงก์ และดีกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ซึ่งในระหว่างทางการถือหุ้นที่ยาวนานตั้งแต่เริ่มทำงานกระทั่งถึงวัยเกษียณ แน่นอนว่าคนยุคนี้จะต้องเจอกับความผันผวนที่สุดโต่งกว่าคนยุคก่อนแน่นอน เพราะนโยบายการเงินสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบหนัก ๆ นโยบายการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ต่างส่งผลกระทบให้ตลาดหุ้นผันผวนทั้งสิ้น
จิตใจที่เข้มแข็ง มีความอึดอดทนต่อความผันผวน จึงเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนระยะยาว นักลงทุนที่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง หรือสร้างพอร์ตเพื่อเลี้ยงดูตัวเองในวัยเกษียณ หลายครั้งมาจากที่พวกเขาไม่มีความอึดเพียงพอ ไม่อดทนเพียงพอที่จะถือหุ้น หรือทยอยลงทุนเก็บหุ้น เพื่อที่จะรอคอยวันของมัน หลายคนถือไม่นาน หุ้นขึ้นไปเพียงเล็กน้อยก็รีบขายออกไปก่อน (กลัวจะลงมาที่เดิม) หรือเจอปัญหา อุปสรรค วิกฤตการณ์บางอย่างที่ทำให้กังวลใจ กลัว ก็เปลี่ยนใจจากสิ่งที่ตัวเองเคยคิดวิเคราะห์ไว้ได้อย่างรวดเร็ว และรีบเทขายหุ้นล้างทั้งพอร์ตเพื่อถือเงินสด หากเป็นแบบนี้คงยากที่จะลงทุนระยะยาวประสบความสำเร็จได้
นักลงทุนจึงต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง ทนทานต่อความผันผวน และแรงกดดัน ให้ได้ ... ต้องอยู่เฉย ๆ ให้เป็นในบางช่วงเวลา และต้องมีความหาญกล้าที่จะเติมเงินลงในพอร์ตหุ้น ในช่วงที่ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงในระยะยาวเพราะในโลกความเป็นจริง การมีความรู้ ทักษะในการลงทุน อาจจะไม่พอในการคงอยู่ในตลาด … "จิตใจที่เข้มแข็ง ทนทานต่อแรงกดดัน" จึงจัดเป็นสกิลทักษะขั้นสูง ที่นักลงทุนควรต้องมีติดตัว
อย่าลืมว่าระยะเวลาที่ยาวนาน หนทางอันขรุขระ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางลงทุนที่ทุกคนต้องผ่าน ต้องอาศัย “จิตใจที่เข้มแข็ง” ซึ่งถือเป็นสกิลการลงทุนที่สำคัญ เพื่อใช้ในการเดินทางฝ่าฟันไปให้ได้ครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา