Slow Life - ช้า ๆ แต่มั่งคั่ง ทำได้จริงไหม
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

Slow Life - ช้า ๆ แต่มั่งคั่ง ทำได้จริงไหม

icon-access-time Posted On 04 กันยายน 2558
By Nani
“อยากใช้ชีวิต Slow life”
เป็นประโยคที่นานิได้ยินบ่อยมาก ๆ เพราะเดี๋ยวนี้คน เราทำอะไรกันเร็วไปหมด แย่งกันกิน แย่งกันใช้ ห้างก็แย่งกันเดิน แข่งกันทำงาน แข่งกันพัฒนาตัวเอง ทั้งที่ทำทั้งหมดไปเพื่ออะไร? จากหนังสือเรื่อง Delivering Happiness เขาบอกว่าจริง ๆ แล้วคุณรู้ไหมว่า สิ่งที่เราทุกคนอยากได้ ที่กำลังไขว่คว้ากัน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ยศ ตำแหน่ง ครอบครัว คนรัก ฯลฯ ถ้าเราถามตัวเองว่าทำไมถึงอยากได้ ซ้ำไปมาหลายรอบ มันจะมาจบลงที่ “ก็เพื่อเราจะได้มีความสุขนั่นเอง”
นานิอ่านเจอบทความเกี่ยวกับ Slow life บทความหนึ่ง เขียนได้โดนมาก อธิบายคำว่า Slow Life คือ
การใช้ชีวิตแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างมีสาระ ชะลอตัวเองให้ไม่ไหลอย่างไร้ทิศทางไปตามกระแสสังคม ทำทุกอย่างด้วยสปีดที่ช้าลง เพื่อให้มีสติและซึมทราบความหมายของชีวิตได้มากขึ้น เป็นการสร้างสมดุลแห่งช่วงเวลาในชีวิตอย่างเหมาะสม อาจมีบ้างที่ชีวิตต้องการความเร่งด่วน แต่ถึงอย่างไรความเร่งด่วนคงไม่ได้จำเป็นกับชีวิตเสมอไป ฉะนั้นสิ่งไหนควรรีบให้รีบ สิ่งไหนช้าได้ก็อย่าเร่งตัวเองเกินไป”
อยากให้คนรุ่นใหม่หันมามองกระแสนี้ว่า เราควรใจเย็น เรารีบไปไหนหรอ? ทำไมต้องหงุดหงิดขนาดนั้น ถ้า 3G มันช้าไปสามวินาที หรือถ้ารถคันหน้าจะคิดนานว่าจะเลี้ยวดีหรือเปล่า ถ้าคุณลองหันมาเดินแทนที่จะขับรถไปกินข้าว (เฉพาะร้านใกล้ ๆ นะคะ ไม่ใช่เดินเป็นชั่วโมง) แล้วคุณอาจจะได้มองเห็นอะไรเยอะแยะกว่าตอนที่ขับรถที่มัวแต่มองถนนก็ได้นะคะ
นานิอยากเอาเรื่อง Slow life มา Mix กับเรื่องเงินด้วย คือ หลายคนบอกว่าใช้ชีวิต Slow life มันก็ดีอยู่หรอก แต่แบบเราเป็นมนุษย์เงินเดือนกว่าจะเลิกงานก็ดึกแล้ว ชีวิตเราผูกกับการทำงานที่เป็นวงจรแบบแผน มีข้อจำกัดของเวลา เช่น การเข้า-ออกงาน ตื่นแต่เช้าเพื่อไปทำงานให้ทัน ชีวิตเร่งรีบไปหมด แล้วยังมีวันหยุดแค่เสาร์อาทิตย์ เร่งรีบไปเสียหมด และปัญหาของคนส่วนใหญ่ก็ยังติดกับวงจรเดือนชนเดือน จะหาเวลาว่างให้ผ่อนคลายและบังคับตัวเองให้เย็นลง ช้าลง มันยาก
ดังนั้น การมีความคล่องตัวทางการเงินที่พร้อมจะรองรับกับ Lifestyle ที่ช้าลงและผ่อนคลายขึ้น วันนี้ถ้าใครอยากสามารถมีชีวิต Slow life ที่มาพร้อมฐานะทางการเงิน นานิจะมาเล่าให้ฟังถึงคน 3 กลุ่มค่ะ ให้คิดตามแล้วลองปรับตัวดู

1. คนที่รวยจริง ๆ

 
คือ บุคคลที่มีเครื่องจักรผลิตเงินสดเป็นของตัวเองอย่างแท้จริง เช่น มีธุรกิจ หรือมีทรัพย์สินที่คอยสร้าง Passive income ให้พวกเขาอยู่เสมอ โดยที่ไม่ต้องออกแรงมากนัก พวกเขาส่วนใหญ่ผ่านช่วงเวลาที่ต้องลำบากและลงแรงสร้างเครื่องจักรนี้ จนกระทั่งประสบความสำเร็จและมีอิสรภาพทางการเงินกันแล้ว ดังนั้นถ้าจะเห็นพวกเขาใช้ชีวิต Slow life ผนวกกับความหรูหราไฮโซ คลาสสิก ก็เหมาะสมควรอยู่ค่ะ เพราะได้ฝ่าฟันอุปสรรคจนมีวันนี้ แถมยังมีเงินวิ่งเข้าใส่ตลอดโดยไม่ต้องออกแรงมากอีกต่อไป

2. มนุษย์ทำงานยุคใหม่  

 
กลุ่มคนที่ยังเป็นคนทำงานหรือเป็น Working class อยู่ คือ ยังต้องทำงานแลกกับ Active income อยู่แต่พวกเค้ามีวิธีการหารายได้แบบใหม่ ที่ไม่เหมือนมนุษย์เงินเดือนยุคโบราณทั่วไปที่ยังทำงานตามแบบแผน และอยู่ในกรอบเดิม คือ ทำงาน 9 โมงถึง 5 โมงแลกกับเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ไม่มีรายได้จากทางอื่น ดังนั้นพวกเค้าก็เลยสามารถมีเวลาว่างเหลือให้มาใช้ชีวิต Slow life ได้เหมือนกัน

3. มนุษย์ทำงานยุคเก่า

 
คือ คนที่ยังมีรายได้น้อยและมีรายได้ทางเดียว เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัวก็คือ มนุษย์เงินเดือนยุคเก่ากำลังจะหมดความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ และในโลกแห่งทุนนิยมนี้ รายได้จะแปรผันตรงกับคุณประโยชน์ที่สร้างให้กับสังคมหรือบริษัท ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีมาแทนที่คน จำนวนลูกจ้างที่บริษัทต้องการก็จะน้อยลง และรายได้ของคนที่ยังเหลืออยู่หลังจากการลดจำนวนพนักงานก็จะน้อยลงตามไปด้วย
ตอนนี้ถ้าอยากจะหลุดออกจากวงจรชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่ต้องดิ้นรนเอาเวลาไปแลกเงิน เราต้องหันกลับมามองว่าตอนนี้เราอยู่กลุ่มไหน และถ้าอยากย้ายกลุ่มควรทำอย่างไร โลกมันเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ ค่ะ การที่เรานั่งจิบกาแฟแก้วละร้อยกว่าบาทอยู่ในห้างดังในวันธรรมดานั้น คนข้าง ๆ เราเขาอาจจะไม่ได้ตกงาน หรือว่างงานแล้วมานั่งผลาญเงินเสมอไปนะคะ คนที่นั่งข้างคุณอาจจะเป็น Coder นักพัฒนาแอปฯ หรือโปรแกรมเมอร์ที่ทำงานฟรีแลนซ์ รายได้หลายหมื่นต่อเดือนก็ได้ หรือคนนั่งถัดไปที่กำลังนั่งดูรูปในอินเทอร์เน็ต เขาอาจจะเป็นวิทยากรที่กำลังเตรียมสไลด์สำหรับไปพูดในวันเสาร์ที่จะถึงโดยมีค่าตัวพูดวันละแสน หรือคนที่กำลังนั่งหลบมุมคุยโทรศัพท์ เขาอาจจะกำลังสั่งซื้อสินค้ามาขายออนไลน์โดยมียอดขายหลายแสนต่อเดือน ทั้ง ๆ ที่ทำงานจริง ๆ วันละไม่กี่ชั่วโมง คนเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 ที่ถึงแม้จะยังต้องทำงาน แต่เขามีเวลามากกว่า และรายได้มากกว่าคนกลุ่มสุดท้าย เพราะอะไร? เพราะเขารู้จักเอาตัวเองไปเกาะกระแสโลกนั่นเอง
ยุคนี้เป็นยุคที่ข้อมูลมีสารพัดเต็มไปหมด ในขณะที่คนมีสมาธิสั้นลง ดังนั้นคนที่สามารถจับใจคนได้ด้วยคำพูดไม่กี่คำ แต่ได้ใจความ จึงสามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี ยุคนี้เป็นยุคทองแห่งอินเทอร์เน็ต ร้านค้าออนไลน์จึงมีโอกาสสู้กับเจ้าของร้านขายของธรรมดาทั่วไปได้ เพราะการมีความสามารถทำการตลาดดี ๆ ก็จะเจาะฐานลูกค้าที่กว้างไกลถึงทั่วโลกได้ โดยที่ไม่ต้องมีต้นทุนเช่าร้านแต่อย่างใด
บทความนี้ไม่ได้จะเขียนให้ทุกคนลาออกจากงานประจำนะคะ และไม่ได้เขียนเพื่อส่งเสริมให้คิดว่าเงินจะแก้ปัญหาเรื่องไม่มีเวลาได้ เพราะเงินมันก็แค่ส่วนหนึ่ง แต่บทความนี้สื่อใจความสำคัญ คือ
  • โลกเปลี่ยนไปแล้ว ความขยันและเวลาที่ใช้ในการทำงานไม่ได้การันตีถึงรายได้อีกต่อไป ดังนั้นเราควรจะหันมา Work smart แทนการ Work hard คือ เราควรเน้นเรื่องประสิทธิภาพของงาน ตั้งใจทำงานให้ใช้เวลาน้อยลง แต่ให้ได้ผลลัพธ์มากขึ้น
  • เมื่อรู้ว่าเรือที่เรานั่งอยู่ กำลังมีรอยรั่ว เช่น ถ้ารู้ตัวว่าเรายังเป็นมนุษย์ทำงานยุคเก่าอยู่ ในช่วงที่บริษัทต่าง ๆ กำลังลดคน แทนที่จะเพิกเฉยก็ควรจะเริ่มหาทางสร้างเสื้อชูชีพของตัวเอง เช่น การพัฒนาตัวเองและการมองหารายได้ทางอื่น ๆ ที่สามารถเกาะกระแสโลกยุคใหม่ แล้วทำควบคู่ไปโดยไม่กระทบงานประจำ
  • Slow life อาจไม่ใช่คำตอบ เพราะความสุขขึ้นอยู่กับเรา บางคนเป็นคน Hyper active ชอบทำอะไรหลายอย่าง โดยไม่เหน็ดเหนื่อยเพราะมันคือความสุข ดังนั้นควรหาทางสายกลางที่คุณสบายใจ ไม่ต้องเกาะกระแสสังคม ไม่ว่าจะเป็นการ Slow หรือการใช้ชีวิตหรูหราแบบที่คนชอบแชร์กันใน Social ถ้าเราไม่ได้ชอบแบบนั้น เอาเวลาไปทำสิ่งที่อยากทำจริง ๆ ดีกว่า แต่ถ้าคุณชอบ ก็ลองผันตัวเองมาเป็นเจ้าของเครื่องจักรผลิตเงินสด หรือไม่ก็มนุษย์ทำงานยุคใหม่ดู สร้างรายได้ให้มากพอที่จะรองรับการใช้ชีวิตในระดับที่คุณต้องการ เปิดใจให้กว้าง แล้วคุณจะรู้ว่าโลกนี้มันมีอีกด้านหนึ่งที่คุณอาจจะยังไม่เคยเห็นค่ะ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา