แจกเคล็ดลับการเตรียม New Year’s Resolution รับปี 2022!

แจกเคล็ดลับการเตรียม New Year’s Resolution รับปี 2022!

By จูนจูน พัชชา เฮงษฎีกุล
แจกเคล็ดลับการเตรียม New Year’s Resolution รับปี 2022!

พอใกล้สิ้นปี หัวข้อการตั้งปณิธานปีใหม่ หรือ New Year’s Resolution ก็เป็นเรื่องที่หลายคนต้องพูดถึง ยิ่งปีที่ผ่านมาเราทุกคนฝ่าอุปสรรคกันมาอย่างยากลำบาก หรืออย่างจูนเองที่แทบจะไม่ได้เริ่มทำอะไรใหม่ ๆ หรือพัฒนาตัวเองด้านไหนเลย เดือนมกราคมปี 2022 จึงกลายเป็นความหวังของเราว่าปีหน้าชีวิตฉันจะต้องดีขึ้น และมันจะดีขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเรามี New Year’s Resolution ของตัวเองนี่ล่ะ!
แต่ก่อนจะเข้าเรื่องเคล็ดลับการเตรียม New Year’s Resolution นั้น ต้องขอใช้ประสบการณ์จากการจัดพอดแคสต์ New Year New You ของ The Standard เรื่องการตั้งปณิธานปีใหม่ และเขียนเอาไว้ตั้งแต่ต้นบทความไว้เลยว่า ปณิธานปีใหม่นั้นมีหลากหลายมาก และไม่มีสูตรตายตัวว่ามันจะต้องเพิ่มคุณค่าในตัวเราด้านใดเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้น New Year’s Resolution ที่ดี ไม่ควรมาจากเสียงบรรทัดฐานของสังคม จากการนั่งอ่านเว็บไซต์ Self-Help หรือนิตยสารใด ๆ ที่แนะนำว่าเราควรทำแบบนั้นแบบนี้ แต่ควรมาจากตัวเราเองจริง ๆ มากกว่า
เช่นเดียวกันกับบทความนี้ หากข้อไหนที่รู้สึกว่าเป็นประโยชน์ ก็ลองหยิบไปทำตามกันดู ข้อไหนที่ทำไม่ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลว และถ้าเราไม่ได้อยากตั้งปณิธานปีใหม่ ก็ไม่เห็นเป็นอะไร แต่ถ้าใครสนใจตั้งเป้าหมายให้ตัวเองปีหน้า จูนรวบรวมเคล็ดลับมาแชร์กันค่ะ
มองปีนี้ ก่อนมองปีหน้า

มองปีนี้ ก่อนมองปีหน้า

ก่อนที่เราจะตั้งปณิธานปีใหม่ขึ้นมาได้สักข้อ การวิเคราะห์ตัวเอง และสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้มาก่อนจะช่วยให้เราเลือกปณิธานข้อนั้น ๆ ได้ง่ายขึ้น ลองเริ่มจากการถามตัวเองอย่าง “ปีที่ผ่านมาตลอด 12 เดือนเกิดอะไรขึ้นกับฉันบ้าง?” “ปีที่ผ่านมาฉันได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญอะไรบ้าง?” หรือ “ปีที่ผ่านมาฉันรู้สึกว่าตัวเองยังขาดอะไรไปบ้าง?”
หลังจากทบทวนตัวเองไปแล้ว ตอบคำถามตัวเองว่าอะไรที่สำคัญกับเราจริง ๆ เป้าหมายอะไรมีความหมายสำหรับเรามากที่สุด และคำถามที่จูนชอบมากที่สุดคือ “เรามองเห็นตัวเองในอนาคตเป็นแบบไหน?” เพราะมันจะช่วยให้เราเห็นภาพของตัวเองได้ชัดขึ้น และนำมาสู่การตั้งปณิธานปีใหม่ที่เป็นของเราอย่างแท้จริง โดยนอกจากเราจะเห็นภาพชัดเจนแล้ว เรายังมีแรงผลักดันในตัวเองให้ทำให้สำเร็จด้วย
The same old ‘SMART’ practice

The same old ‘SMART’ practice

ไม่พูดถึงข้อนี้ไม่ได้เลย เพราะการตั้งปณิธานปีใหม่เป็นเรื่องท้าทาย และน้อยคนที่จะสำเร็จ จนมีนักวิจัยเมื่อปี 1981 ที่ออกมาหาสูตรสำเร็จให้ New Year’s Resolution ด้วยการบัญญัติตัวย่ออย่างคำว่า SMART ที่ย่อมาจาก Specific (ชัดเจน), Measurable (วัดค่าได้), Achievable (ทำสำเร็จได้จริง), Relevant (ตอบโจทย์ตรงประเด็น), และ Time-bound (กำหนดเวลา)
 
  • Specific : เป้าหมายของเราควรจะชัดเจน ไม่ใช่แค่การตั้งกว้าง ๆ ว่า ฉันอยากหุ่นดีขึ้น แต่ควรจะกำหนดไปเลยว่า ฉันจะลดน้ำหนักให้ได้ 5 กิโลกรัม และถ้าจะให้ดีก็ควรกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนเอาไว้ด้วย
 
  • Measurable : นอกจากการลดน้ำหนักที่สามารถตั้งเป้าเป็นตัวเลขที่วัดค่าได้แน่นอนแล้ว เป้าหมายอื่น ๆ อย่างการเลิกดื่มแอลกอฮอล์ หรือฝึกอ่านหนังสือให้มากขึ้น ก็ควรใช้การวัดที่แน่นอนมาเป็นกรอบเช่นกัน เช่นจดไว้เลยว่าใน 1 อาทิตย์ ดื่มแอลกอฮอล์ไปกี่แก้ว หรือฝึกอ่านหนังสือได้แล้วกี่เล่ม
 
  • Achievable : ข้อนี้เป็นข้อที่อาจจะยากหน่อย เพราะเป้าหมายของเราควรจะเกิดขึ้นได้จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ควรท้าทายมากพอที่จะทำให้เราตั้งใจที่จะทำมันด้วยเช่นกัน เช่น หากเราเพิ่งเรียนจบ และกำลังจะหางานทำ การตั้งเป้าว่าจะได้เป็นผู้จัดการสาขาในบริษัทหนึ่ง ก็อาจจะดูเกิดขึ้นได้ยากไปสักหน่อย แต่หากเราปรับให้เป้าหมายยังคงความท้าทาย แต่เกิดขึ้นได้จริง เช่น ภายใน 6 เดือน ฉันจะต้องได้งานในบริษัทสักที่ และภายใน 1 ปี ฉันจะต้องทำยอดขายให้บริษัทตามเป้า แม้จะฟังดูท้าทายแต่เป้าหมายเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นให้เราตั้งใจ และโฟกัสกับมันมากขึ้น
 
  • Relevant - เช่นเดียวกับที่บอกไปในหัวข้อแรก การตั้งปณิธานปีใหม่ควรจะมีคุณค่า และตอบโจทย์สำหรับเราโดยตรง เราคงไม่อยากตั้งเป้าที่จะวิ่งให้ได้ 5 กม. ในเวลา 30 นาที ถ้าเราไม่ใช่คนชอบออกกำลังกายแบบวิ่ง เพราะฉะนั้นเป้าหมายของเราควรมาจากตัวเรา และเพื่อตัวเราจริง ๆ
 
  • Time-bound : ถึงจะเรียกว่าเป็น New Year’s Resolution ที่แทนการตั้งเป้าหมายสำหรับทั้งปี แต่เคล็ดลับจริง ๆ ของการบรรลุปณิธานคือการตั้งกรอบเวลาที่ชัดเจน เวลาที่ควรตั้งคือประมาณ 3 เดือนแรก จะยิ่งทำให้เราไม่มีเวลามาผัดวันประกันพรุ่ง และยังคงมีแรงวิ่งตามเป้าหมายของเราอยู่ อย่างไรก็ตามการกำหนดเวลาก็ควรเชื่อมโยงกับความยากง่ายของเป้าหมายของเราด้วยนะ
ทำซ้ำจนเป็นนิสัย

ทำซ้ำจนเป็นนิสัย

แน่นอนว่าหลาย ๆ ปณิธานไม่ใช่เป้าหมายที่ทำครั้งเดียวสำเร็จได้เลย แต่ต้องเกิดจากการทำซ้ำ ๆ เป็นกิจวัตร แต่การจะสร้างอุปนิสัยใหม่ได้ให้ตัวเองชิน และยอมทำทุกวันมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จูนเคยเขียนบทความถึงการสร้างนิสัยที่ดีง่าย ๆ ผ่านการเข้าใจการทำงานสมอง ซึ่งบอกถึงวิธีสร้าง “คิว” ให้ตัวเองด้วยการผูกกิจกรรมใหม่นั้นเข้ากับกิจกรรมที่เราทำอยู่แล้วเป็นกิจวัตร เช่น หากเราตั้งเป้าที่จะหัดใช้ไหมขัดฟัน ก็ควรฝึกทำทุกครั้ง “หลัง” แปรงฟัน เพื่อสร้างคิวให้ตัวเองชินว่าแปรงฟันเสร็จ ต้องต่อด้วยการใช้ไหมขัดฟันทันที เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เราชินกับการทำกิจกรรมใหม่ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
สะดุดได้ไม่เป็นไร

สะดุดได้ไม่เป็นไร

การที่เราตั้งใจตั้งเป้าพัฒนาตัวเองนั้น ถือว่าเป็นเรื่องน่าชื่นชมมาก ๆ แล้ว แต่หากวันไหนเกิดหมดไฟ หรือเผลอสะดุดไปบ้าง เช่น ลืมตื่นมาวิ่งตอนเช้า หลังจากทำมาได้ 2 อาทิตย์ เพราะดันไปเที่ยวกับเพื่อนจนดึก ก็อย่ารู้สึกผิดจนถึงขั้นล้มเลิกความตั้งใจไปซะหมด เราสามารถเผลอกินชานมไข่มุกทั้ง ๆ ที่ตั้งเป้าจะลดน้ำหนักได้ หรือเราอาจจะเผลอช้อปปิ้งรองเท้าใหม่ ทั้ง ๆ ที่ตั้งเป้าจะเก็บเงินก็ได้ แต่อย่าล้มเลิกปณิธานปีใหม่ของเราก็พอ ทำต่อไปตามเป้าหมาย และอย่าใจร้ายกับตัวเองเกินไปนะ
จากผลการศึกษาของ University of Scranton ระบุว่ามีคนเพียงแค่ 8% เท่านั้นที่สามารถบรรลุปณิธานปีใหม่ของตัวเองได้สำเร็จ เพราะฉะนั้นการที่ปีผ่าน ๆ มาเราไม่เคยทำปณิธานปีใหม่สำเร็จกันสักทีก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราเคยล้มเหลวไปแล้ว จะมาเริ่มต้นใหม่กันไม่ได้ ถ้าใครจะเริ่มตั้ง New Year’s Resolution ใหม่ในปี 2022 นี้ ลองหยิบเทคนิคข้างบนที่เขียนมาไปลองปรับใช้กันดู แล้วขอให้ทำสำเร็จกันทุกคนนะคะ!
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow