สร้างนิสัยที่ดีได้ง่าย ๆ แค่เข้าใจการทำงานของสมอง

สร้างนิสัยที่ดีได้ง่าย ๆ แค่เข้าใจการทำงานของสมอง

By จูนจูน พัชชา เฮงษฎีกุล
เมื่อต้นปีใหม่ที่ผ่านมาน่าจะมีหลาย ๆ คนเซ็ตเป้าหมายประจำปี หรือ New Year Resolution กันเอาไว้บ้าง และหนึ่งในปณิธานปีใหม่ยอดฮิตก็หนีไม่พ้นการเก็บเงินให้มากขึ้นนี่แหละ หรือบางคนอาจจะตั้งเป้าว่าจะไปออกกำลังกายที่ยิมให้มากขึ้น เพราะตั้งแต่สมัครมาแล้วไปใช้ไม่ถึงห้าครั้ง แต่การจะทำตามเป้าหมายให้สำเร็จนั้นมันก็ไม่ง่ายเสมอไป มีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำได้สามสี่วัน แล้วก็ล้มเลิกกับไปใช้ชีวิตแบบเดิม แต่คนที่เขาทำได้สำเร็จนั้น เขาทำยังไงกันนะ?
เคยได้ยินที่เขาพูดต่อ ๆ กันมาไหมคะว่า ถ้าเราอยากทำอะไรให้ได้จนเป็นนิสัย ต้องทำสิ่งนั้น ๆ ติดต่อกัน 21 วัน แล้วสุดท้ายเราจะชินกับการกระทำนั้น จนติดเป็นนิสัยไปเอง แต่จริง ๆ แล้วทุกการกระทำที่เราเลือก มันก็ไม่ได้ใช้มาตรฐาน 21 วันนี้แบบเดียวกันเสมอไป Jeremy Dean นักเขียนเจ้าของหนังสือ Making Habits, Breaking Habits: Why We Do Things, Why We Don’t, and How to Make Any Change Stick เคยกล่าวถึงการทดลองชิ้นหนึ่งของ University College London ที่ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 96 คน ลองเลือกกิจกรรมใหม่ ๆ ที่พวกเขาไม่เคยทำ 1 อย่าง แล้วฝึกให้ทำสิ่งนั้นทุก ๆ วันจนเกิดเป็นนิสัย บางคนก็เลือกอะไรง่าย ๆ อย่างการหันมากินผลไม้ทุกมื้อเที่ยง บางคนก็เลือกอะไรเหนื่อยกว่านั้นอย่างการวิ่งหลังเลิกงานทุกเย็น และทุก ๆ 84 วันของการศึกษา พวกเขาจะต้องเข้าไปรายงานความสำเร็จของตัวเอง จนในที่สุด ผลการศึกษาก็ระบุว่า จำนวนวันโดยเฉลี่ยของทุกคนที่ทำกิจกรรมใหม่ให้กลายเป็นนิสัยได้นั้นสูงถึง 66 วัน และหนึ่งในตัวแปรสำคัญคือ ความยาก-ง่าย ของกิจกรรมนั้น ๆ นั่นเอง เช่น คนที่เลือกการกินน้ำ 1 แก้ว หลังตื่นนอน ก็อาจจะทำสำเร็จจนเป็นนิสัยได้ภายในเวลาแค่ 20 วัน ส่วนคนที่เลือกการกินผลไม้ ก็อาจจะใช้เวลาถึง 40 วันเลยทีเดียว
การศึกษานี้เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจการ “สร้างอุปนิสัย” ของตัวเอง แน่นอนว่า อะไรที่ทำ ง่าย ๆ เราก็มักจะติดนิสัยง่าย ๆ เพราะฉะนั้นหนึ่งในเทคนิคของการหลอกให้ตัวเองทำอะไรจนเป็นนิสัย ก็คือการทำให้กิจกรรมนั้นมันง่ายสุด ๆ นี่แหละ แล้วการเก็บเงิน การออกกำลังกาย การกินคลีน มันจะง่ายขึ้นได้ยังไงล่ะ?

รู้จักคิวตัวเอง

ทุกวันนี้คนเราทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันแบบ “automaticity” ซึ่งคือความสามารถในการทำอะไรแบบไม่ต้องใช้ความตั้งใจจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น เช่น การขับรถไปกลับจากบ้านไปที่ทำงาน เราก็อาจจะฟังเพลงไปด้วย คิดเรื่องอื่นไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถควบคุมการขับรถตรงหน้าได้อยู่ หรือคำที่เราอาจมักได้ยินบ่อย ๆ อย่าง Muscle Memory หรือการทำอะไรซ้ำ ๆ จนร่างกายจำได้ว่าต้องทำยังไงโดยไม่ต้องโฟกัสกับสิ่งนั้นมาก (เช่น การพิมพ์คีย์บอร์ด, การเล่นเครื่องดนตรี, การเต้น เป็นต้น) ก็เกี่ยวข้องกับ automaticity เช่นเดียวกัน
“automaticity” แฝงตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของเราตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอน การเก็บเตียง แปรงฟัน ทำอาหารเช้า ไปจนการขับรถ ซึ่งสมองของเราสั่งการได้อย่างอัตโนมัติเมื่อเราอยู่ในสถานการณ์นั้น เพราะเราทำสิ่งนั้นมาซ้ำ ๆ ทุกวันเป็นเวลานาน จนเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “คิว” (cue) ซึ่งคือสถานการณ์หรืออะไรสักอย่างที่กระตุ้นให้เกิด “การกระทำ” หรือพฤติกรรมที่ทำตอบสนองคิวนั้น ๆ อย่างอัตโนมัติ คิวอาจจะหมายถึง สถานที่ เช่น ทุกครั้งที่เราขับรถมาถึงที่ทำงาน เรามักจะหยิบเสื้อกันหนาวออกมาใส่ทันที แม้ว่าตรงนั้นจะยังไม่ใช่ห้องแอร์ก็ตาม คิวอาจจะเป็นช่วงเวลา เช่น ทุก เวลาประมาณบ่ายสามกว่า ๆ เรามักจะชอบเดินออกไปซื้อกาแฟกินนอกออฟฟิศ คิวอาจจะหมายถึงอย่างอื่น ทั้ง สภาวะอารมณ์ตอนนั้น ผู้คนรอบข้าง หรือกิจกรรมที่ทำก่อนหน้านั้น เป็นต้น และการกระทำที่เราทำตอบสนองต่อคิวนั้น ทันที ก็จะกลายเป็นกิจวัตรประจำวันไปโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นการจะสร้างนิสัยใหม่ให้ตัวเอง คือการเอามันไปผูกกับคิวพวกนี้นี่ล่ะ ถ้าเรารู้ว่าเราทำกิจกรรมอะไรบ่อย ๆ อยู่แล้วเป็นกิจวัตร ลองเพิ่มสิ่งที่เราต้องการทำจนเป็นนิสัยพ่วงเข้าไปเลย เช่น การเปิดแอพธนาคารแล้วโอนเงินเข้าบัญชีเงินเก็บครั้งละ 5 บาท ทุกครั้งที่เราเปิดอินสตาแกรม

ลด Friction

Friction อาจแปลง่าย ๆ ในภาษาไทยว่าแรงเสียดทาน แต่ Friction ในการสร้างอุปนิสัย คือความยุ่งยาก สิ่งที่จะมาต่อต้านไม่ให้เราสร้างอุปนิสัยได้ง่าย ๆ ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าเราซื้อขนมหวาน ช็อคโกแลตบาร์ หรือขนมขบเคี้ยวติดบ้านเอาไว้เยอะ ๆ Friction ในการที่เราจะเดินไปเปิดตู้เย็น แล้วหยิบมากิน ก็จะต่ำมาก เมื่อเทียบกับการที่เรารู้สึกอยากกิน และต้องเดินไปซื้อที่ร้านหน้าปากซอย หรือต้องขับรถออกไปนอกหมู่บ้าน มีผลการศึกษาเมื่อปี 2006 จาก International Journal of Obesity ที่พบว่า ถ้าบนโต๊ะในออฟฟิศมีการวางโถใส่ลูกอมเอาไว้ใกล้กับระยะที่มือเอื้อมถึงแบบง่าย ๆ จะทำให้พนักงงานหยิบลูกอมมากินมากกว่าปริมาณเดิมถึง 2.1 เม็ด และนี่เองคือความทรงพลังของ Friction
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เราเห็นกันบ่อย ๆ คือสตรีมมิงแพลตฟอร์มอย่าง Netflix ที่ออกแบบให้ทุก ๆ ท้าย เอพิโสดจะมีการโชว์ตัวเลขนับถอยหลังก่อนจะเล่นเอพิโสดถัดไปแบบเราต้องไม่เอื้อมมือไปหยิบรีโมทด้วยซ้ำ ซึ่งถือเป็นการลด Friction ที่ทำให้เราทำกิจกรรมการดูซีรีส์แบบต่อเนื่องจนติดงอมแงม
เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากทำกิจกรรมอะไรให้ต่อเนื่องจนเป็นนิสัย จงลด Friction และทำให้มันง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากเราเคยมองว่าการเก็บเงินหรือการบริหารจัดการทางการเงินเป็นเรื่องยุ่งยาก ต้องไปเข้าคอร์สเรียนรึเปล่า ต้องทำบันทึกประจำวันทุกวันเลยรึเปล่า เข้าแอปพลิเคชั่นของธนาคารทีไรก็ปวดหัวกับข้อมูลเต็มไปหมด เราก็อาจจะหมดแรงจูงใจในการเริ่มเก็บเงิน แต่ถ้าเราลด Friction ลง และลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการเก็บเงินเราออกไป เช่น การใช้แอปพลิเคชั่นที่มีฟีเจอร์ช่วยในการออมเงินให้ง่ายขึ้น เช่น การตั้งโอนล่วงหน้าไว้เลยทุกเดือน เมื่อเงินเดือนเราเข้าบัญชีเมื่อไร ก็จะถูกแบ่งส่วนหนึ่งที่เราต้องการเก็บออมโอนมาบัญชีเงินเก็บได้ทันที หรือการเลือกใช้แอปพลิเคชั่นทางการเงินที่ใช้ง่าย ดีไซน์เป็นมิตร ที่เราสามารถออกแบบเมนูที่เราใช้บ่อย ๆ ให้อยู่หน้าแรกได้เลย แค่นี้การจัดการเงินของเราก็ดูไม่ยุ่งยากวุ่นวายเท่าเดิมแล้ว
นอกจากเราจะนำวิธีสร้างอุปนิสัยเหล่านี้มาปรับใช้ในการออมเงินแล้ว ยังนำไปใช้กับเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตได้ตั้งแต่การเรียน การทำงาน การมีวินัยในการออกกำลังกาย ไปจนถึงการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน อ่านจบแล้วถ้าอยากเริ่มเอาจริงกับปณิธานปีใหม่นี้อีกครั้งก็ยังทันนะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา