เห็นโลกในมุมที่ต่างกับ สิงห์ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

เห็นโลกในมุมที่ต่างกับ สิงห์ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

By Krungsri Plearn Plearn
เดินเล่นในกรุงเปียงยาง ร้องเพลงระหว่างขับรถคนเดียวในนามีเบีย เที่ยวสวนสนุกในอัฟกานิสถานขณะที่เมืองข้าง ๆ มีการทิ้งระเบิด ปีนภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ การท่องเที่ยวอะไรที่คนปกติธรรมดาไม่ทำ วรรณสิงห์ทำ และเขาทำให้เราได้เห็นโลกในมุมที่ไม่เคยได้เห็น

ในเมืองที่กำลังมีสงคราม วรรณสิงห์เดินเล่นอยู่กับเพื่อนชาวอัฟกานิสถานของเค้า

เบียร์ท้องถิ่นของแอฟริกาใต้ชื่อว่า “อึม กอม โบ ที” พวกเขาดื่มมันมาเป็นพันปีแล้ว
นางเอกเอวีในประเทศญี่ปุ่น ถูกพัฒนาให้กลายเป็นเกิลกรุ๊ปสร้างชื่อเสียงโด่งดังไปพร้อม ๆ กับแสดงหนังเอวี
เกาหลีเหนือมีอินเทอร์เน็ตใช้ แต่เรียกว่าอินทราเน็ต จะเล่นได้แค่เว็บในประเทศเท่านั้น
เรื่องราวเหล่านี้เราเสิร์ชไม่เจอในกูเกิล เพราะมันเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดจากปากของนักเดินทางที่เข้าไปตามซอกหลืบของโลกเท่านั้น
สิงห์ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เขาทำไห้เราได้เห็นโลกในมุมที่แตกต่าง

นักผจญภัยในแดนอันตราย

โดนยึดพาสปอร์ตในสนามบินอัฟกานิสถานประเทศที่กำลังมีสงคราม
เดินสวนกับพ่อค้าโคเคนที่กำลังถูกประกาศจับในโคลัมเบีย
หนึ่งวันที่แอบหนีไปเดินเล่นในกรุงเปียงยาง
แต่ไกด์กลับรู้ว่าเขาไปไหนมาบ้างโดยไม่ต้องบอกสักคำ นั่นทำให้รู้ว่าถูกสะกดรอยตามเข้าให้แล้ว
และนั่นคือหลากหลายประสบการณ์ที่ “สิงห์ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” พบเจอระหว่างเดินทางที่ออกไปสำรวจซอกหลืบของโลก

จุดเริ่มต้นและที่มาของไอเดียการทำรายการเถื่อนทราเวล

จุดเริ่มต้นมีสองอย่าง หนึ่งคือในฐานะนักทำสารคดี ช่วงแรกก็ไปในฐานะพิธีกรที่ไม่รู้เรื่องอะไร แต่มีโอกาสได้เดินทางเยอะมากในช่วงเวลาประมาณ 8-9 ปี เริ่มจากประเทศธรรมดาอย่างอินเดีย จีน ญี่ปุ่นก่อน บางประเทศที่เถื่อน ๆ ก็มักมีเรื่องคาใจเสมออย่างประเทศรวันดา จนสุดท้ายได้ไปเรียนรู้เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของที่นั่นเข้า ต่อมาก็ไปอิสราเอล ปาเลสไตน์
ส่วนอีกด้านเป็นเรื่องส่วนตัว ช่วงที่เริ่มรายการเถื่อนทราเวลใหม่ ๆ เป็นช่วงที่ชีวิตแย่มาก ท้อกับทุกอย่าง รายการที่เคยทำปิดตัว ไม่รู้จะทำอะไรต่อ รับงานไปเรื่อย แต่มันไม่ใช่งานที่เรามี Passion อะไร เพียงหาเงินเลี้ยงชีพบวกกับมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ช่วงนั้นคล้ายเป็นคนซึมเศร้าเลยอยากรักษาตัวเอง อยากที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น จึงตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินไปแอฟริกาเลือกนามิเบียเป็นที่แรก ตอนนั้นยังถ่ายรายการไม่เป็นเคยแต่เป็นพิธีกรกับเขียนบท แต่คิดในใจแล้วว่า “ต่อให้ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไรเพราะไปด้วยเงินตัวเอง กลับมาค่อยตัดต่อเอาแล้วขายตามช่องต่าง ๆ” นั่นคือจุดเริ่มต้นของเถื่อนทราเวล ซึ่งไม่ได้คิดว่าจะมีคนดูมากมายขนาดนี้ คิดว่าได้ทำก็บุญแล้ว

ใช้หลักเกณฑ์หรือมุมมองในการเลือกสถานที่ทำรายการอย่างไร

“อันดับแรกเลยคือความอยากรู้ส่วนตัว เป็นคนอยากรู้อยากเห็นมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเขตสงคราม ธุรกิจเอวี เรื่องชาวเผ่า พวกเหยียดสีผิว เราอยากรู้ทุกเรื่อง ส่วนปัจจัยที่สองคือช่อง เพราะว่าไม่ได้ใช้ทุนตัวเองแล้ว ทางช่องจึงเข้ามาช่วยคัดเลือกสถานที่และเรื่องราว ปัจจัยสุดท้ายก็คือแฟน ๆ พอจบซีซั่นแรก กลุ่มแฟนก็เสนอหัวข้อเข้ามาอย่างเช่นเรื่องเผ่ากินคนในปาปัว ตรงนี้ก็เป็นไอเดียด้วยเหมือนกัน”

เล่ากระบวนการทำงานในแต่ละขั้นตอนให้ฟังหน่อย ว่าเริ่มยังไงในการออกเดินทางแต่ละครั้ง

“เริ่มจากคิดก่อนว่าอยากทำอะไรบ้าง เช่น เรื่องเขตสงครามต่าง ๆ , เรื่องหนาวสุดร้อนสุด, เผ่ากินคนก็เป็นหนึ่งไอเดียที่แปะเอาไว้ เสร็จแล้วก็มาดูความเป็นไปได้ ทางช่องไม่เอาก็คัดออก บางอย่างติดต่อข้ามปียังเข้าไม่ได้ก็มี เช่น อยากไปถ่ายในคุกที่นอร์เวย์ก็เข้าไม่ได้เพราะทางเจ้าหน้าที่ไม่มีเวลามาดูแล หรืออยากไปดูสถานที่ช่วยให้คนตายอย่างสงบที่สวิตเซอร์แลนด์ก็เข้าไม่ได้เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัวมาก จึงมีไอเดียมากมายที่เกิดขึ้นแล้วดับไปแต่ไม่ใช่ว่าล้มเลิกไปเลย หลังจากนั้นก็จะติดต่อคนในท้องถิ่นพวกฟิกเซอร์ที่ทำงานกับนักข่าว พี่ที่ทำงานให้บีบีซี ซีเอ็นเอ็นก็เคยทำงานด้วย บางที่เป็นเอเจนซี่ที่เขาพานักท่องเที่ยวเข้าไปอย่างปาปัวนิวกินีซึ่งพวกนี้จะราคาสูง 4-5 วันเกือบสองแสน ฉะนั้นถ้าไม่ได้ไปทำรายการก็แทบจะไปเองไม่ไหว”

ทำไมถึงกล้าลงพื้นที่คนเดียว และพื้นที่ไหนเข้ายากที่สุด

“จริง ๆ นักข่าวที่ทำงานคนเดียวในต่างประเทศมีเยอะมาก มันคล่องตัวและไม่เป็นเป้าสายตา เพราะเราไม่สามารถขออนุญาตได้ 100% ทุกครั้ง เดินไปคนเดียวถือกล้องโกโปรก็ทำรายการได้ บางวันใช้มือถือถ่ายก็มี ส่วนสถานที่ที่เข้ายากไม่ใช่เกาหลีเหนือ แต่กลับเป็นอัฟกานิสถานที่ขอวีซ่ายากกว่า เราต้องติดต่อ UN ที่ทำงานที่นั่นเพื่อให้ออกจดหมายรับรองว่าเราไปทำงานให้ จากนั้นเจอกับเจ้าหน้าที่ที่บังเอิญเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแต่เขาไม่มีโทรศัพท์สำหรับบ้านเราจึงต้องให้อีเมลรูปหน้าเขามาและผมต้องไปเดินหาในวันเวลาที่นัดกัน พอบินไปถึงปรากฏว่าโดนยึดพาสสปอร์ตที่สนามบิน คนที่นัดกันไว้ก็หาย หลายเหตุการณ์มาก ๆ เสียวที่สุดเพราะมันเป็นเขตสงครามของจริง เห็นความเวิ้งว้าง แห้งแล้ง ตึกที่โดนระเบิดทำลาย พอเห็นแล้วก็ถามตัวเองว่า เก่งพอจะทำสิ่งนี้ได้จริงไหม ความกลัวตายก็โผล่ออกมาชัดเจน แต่ก็ทำงานผ่านกลับมาได้”

เหตุการณ์ไหน ที่ประทับใจในตัวของผู้คนในดินแดนขัดแย้งที่ได้ไปเยือนมากที่สุด

“ประทับใจเพื่อนคนหนึ่งในอัฟกานิสถานชื่อว่า “คาเดีย” เขาเป็นฟิกเซอร์ที่ช่วยงาน ชอบในความพยายามค้นหาโอกาสให้กับตนเอง เงื่อนไขในการใช้ชีวิตในประเทศนั้นลำบากมาก แต่เขายังหาโอกาสให้ตัวเองได้เรียนภาษาอังกฤษ ได้เป็นนักข่าว ได้ทำงานเลี้ยงครอบครัวที่มีพี่น้องอีกสิบกว่าคน อีกเรื่องหนึ่งคือคนโคลัมเบีย รอบตัวมักมีคนโดนฆ่า โดนลักพาตัว แต่เป็นประเทศที่อารมณ์ดีมาก ถึงแม้จะผ่านเหตุการณ์พวกนี้มามากแต่เขายังยิ้มแย้มสนุกสนานอยู่ตลอด”

ดูแลความปลอดภัยให้ตัวเองอย่างไรบ้าง

“อาจยังดวงดีอยู่ เลยยังไม่เคยโดนขโมยหรือโดนปล้น จริง ๆ ไม่ได้ลงพื้นที่คนเดียวแต่จะมีไกด์ มีฟิกเซอร์อยู่ด้วย ถ้าตรงไหนไม่ควรถ่ายหรือถ่ายแล้วมีปัญหาเขาก็จะบอกว่าเอากล้องลง เพราะเวลาถ่ายงานเราจะโฟกัสกับสิ่งที่ถ่ายจนลืมความปลอดภัยไป”

มีความคิดเห็นแปลก ๆ จากคนที่มีมุมมองต่อโลกภายนอกต่างจากคุณบ้างไหม

“ความคิดเห็นแปลก ๆ ในบางครั้งก็มีประโยชน์ เช่น ตอนที่ไปเกาหลีเหนือก่อนรายการจะออนแอร์ ได้เอาภาพมาลงเฟซบุ๊กแล้วพูดว่าเปียงยางเป็นเมืองที่ใหญ่มากกว่าที่คิด ตอนนั้นก็โดนว่าเยอะมาก เพราะถูกคิดว่าอวยระบบเผด็จการ ทำให้ได้กลับมาคิดว่า ถ้าอยากจะทำงานทางด้านสื่อ ก็ควรจะรัดกุมกว่านี้”

การใช้วิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์ทำให้มองเห็นพื้นที่ขัดแย้งเหล่านั้นต่างไปจากคนรอบตัวบ้างไหม

“ไม่รู้ว่าเป็นเพราะจบเศรษฐศาสตร์รึเปล่า แต่รู้สึกอึดอัดใจในความขัดแย้ง เมื่อโอกาสทางเศรษฐกิจน้อย ผู้คนที่หาเช้ากินค่ำก็ยิ่งต้องไขว่คว้าหาโอกาสมากขึ้น ถ้ามีอำนาจต่อรองที่ดีพอ ผู้คนก็จะรวมกันและพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป แต่สงครามมักเกิดจากการที่ไม่ได้แบ่งสรรอำนาจกัน พอความขัดแย้งมีมากขึ้นความรุนแรงจึงเข้ามาจัดการแทน”

วรรณสิงห์เมื่อสิบกว่าปีก่อนเทียบกับปัจจุบันมีมุมมองเรื่องความเป็นมนุษย์เหมือนหรือต่างกันขนาดไหน

“ต่างกันเยอะ เมื่อสิบปีก่อนตัวเรามีคอนเซปเกี่ยวกับความถูกต้องชัดเจน สังคมชนิดใดคือสังคมที่ดีที่สุด ปัจจุบันนี้ก็ยังเชื่อถือแบบนั้นอยู่ เพียงแต่ความคิดชนิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนต้องเดินไปทางเดียวกัน อคติแบบนั้นมันละลายหายไปพร้อมกับการเดินทาง”

อุปกรณ์หรือหนังสืออะไรที่พกติดตัวไปตอนเดินทาง

“หลายอย่างและจะแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานที่ครับ หนังสือไม่ค่อยเอาไปเท่าไหร่เพราะมันมีน้ำหนักมาก สิ่งที่พกติดตัวไปบ่อย ๆ คือ โดรน เพราะมันทำให้เห็นมุมมองที่กว้างมาก”

ขอคำแนะนำสำหรับคนอยากออกไปเที่ยวเถื่อน ๆ บ้าง แต่ยังไม่กล้า

“ก็แนะนำให้เข้าไปที่ใกล้ ๆ อย่างสลัมคลองเตยก่อน สัมผัสความเป็นอยู่ ไปด้วยความอยากรู้ว่าเขาอยู่อย่างไร กินอย่างไร หรือไกลอีกนิดอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้ เพราะในบางพื้นที่เราไม่จำเป็นต้องไปพื้นที่เสี่ยง แค่ไปในพื้นที่ที่ไม่คุ้นชินเราก็ได้เรียนรู้แล้ว”

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณดูเป็นคนที่มีพลังชีวิตเหลือล้นขนาดนี้

“พอพูดก็รู้สึกได้ว่าเวลาเดินทางมันมีความสุขจริง ๆ มันเป็นสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกว่า นี่เป็นที่ที่ควรอยู่ ถ้าให้เลือกงานทั้งหมดบนโลกใบนี้ ณ ตอนนี้ ในวัยนี้ ก็เลือกงานนี้อยู่ดี ไม่ได้อยากเป็นอย่างอื่นแล้ว ทำอย่างมีความสุขและมี passion ยิ่งเรารู้ว่าสิ่งที่ทำมันมีความหมายกับผู้คนจำนวนมากยิ่งช่วยเพิ่มแรงให้ได้โดยที่ไม่ต้องมานั่งบิ้ว”
สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดในการคุยกับ สิงห์ วรรณสิงห์ ไม่ใช่แค่เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์ที่เขาถ่ายทอดออกมา ไม่ใช่แค่ความตื่นเต้นไปกับเหตุการณ์ที่เขาเจอ และไม่ใช่แค่การชื่นชมในความกล้าที่เดินไปในที่เสี่ยงอันตราย แต่กลับได้เห็นแบบอย่างของคนที่กำลังเดินตามความฝัน แล้วพยายามทำมันให้ดีที่สุด
เติมเต็มโอกาสท่องเที่ยวโลกกว้างในมุมใหม่ ๆ ด้วย สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคลกรุงศรี
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow