หน้าร้อนนี้ หากใครยังไม่มีแผนจะออกไปเที่ยวต่างจังหวัด ลองหันมาท่องเที่ยวแบบ One Day Trip ในกรุงเทพฯ กันดีกว่า เพราะเมืองกรุงยังมีสถานที่ท่องเที่ยวให้เพลิดเพลินกันอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นทริปเที่ยววัด ชมโบราณสถาน หรือออกไปหาของกินอร่อย ๆ แต่ถ้าใครอยากรวบทั้งสองทริปไว้ด้วยกัน น้องเพลินเพลินขอแนะนำให้ลองไปเที่ยว 9 วัดเก่ากลางกรุง ซึ่งไม่เพียงจะอิ่มใจกับการทำบุญ อิ่มตากับความงามของวัดวาอาราม แต่ยังมีร้านอาหารรสเด็ดให้แวะไปอิ่มท้องกันอีกด้วย
รวม 9 วัดเก่าแก่ในกรุงเทพ อิ่มบุญ อิ่มตา อิ่มท้อง เที่ยวจบในวันเดียว
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีวัดเก่าแก่มากมายที่สายบุญและสายประวัติศาสตร์ไม่ควรพลาด วันนี้น้องเพลินเพลินจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ 9 วัดเก่าแก่ในกรุงเทพที่มีความงดงามทางสถาปัตยกรรมและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การไปเยี่ยมชมสักครั้งในชีวิต รับรองว่า ไม่แพ้
วัดดังทั่วไทยในภาคอื่น ๆ แน่นอน!
1. วัดเทพธิดาราม เรียกขานตามความงามของขัตติยนารี
“พระปรางค์มีสี่ทิศพิสดาร โบสถ์วิหารการเปรียญล้วนเขียนทอง
ที่หน้าบันปั้นอย่างเมืองกวางตุ้ง ดูเรืองรุ่งรูปนกผกผยอง
กระเบื้องเคลือบเหลือบสลับเหลี่ยมรับรอง ศาลาสองหน้ารอบขอบกำแพง”
“รำพันพิลาป” ของท่านสุนทรภู่
วัดเทพธิดาราม เป็นวัดเก่าแก่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ริมกำแพงเมืองฝั่งตะวันออก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2379 ถวายเป็นพระราชกุศลพระราชทานแก่พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ คือพระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ผู้ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม และเป็นที่รักยิ่งของพระราชบิดา จึงพระราชทานชื่อให้ว่า “วัดเทพธิดาราม” ซึ่งอาจสื่อถึงพระนาม “อัปสรสุดาเทพ” นั่นเอง
จุดเด่นของวัดคือ หน้าบันของพระอุโบสถ และพระวิหาร ประดับด้วยกระเบื้องลวดลายแบบจีนตามพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 มีพระปรางค์ประจำทิศทั้งสี่ของพระอุโบสถ และภายในพระวิหารมีประติมากรรมพระอริยสาวิกา (ภิกษุณี) กำลังเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
วัดเทพธิดารามเป็นที่รู้จักในฐานะเป็นวัดที่สุนทรภู่เคยมาบวชเรียน นอกจากนี้ หอไตรของวัดเทพธิดารามยังได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมดีเด่นจากยูเนสโกเมื่อปี 2011 อีกด้วย

ภาพ : พระปรางค์วัดเทพธิดาราม ได้ชื่อว่าเป็นพระปรางค์ที่สร้างมาถูกต้องตรงตามแบบแผนมากที่สุด

ภาพ : แมววัดเทพธิดาราม นั่งข้างกระเบื้องลายจีน
สถาปัตยกรรมในวัดคาดว่าได้รับอิทธิพลจากการค้าขายกับจีนในสมัยรัชกาลที่ 3
ข้อมูลสถานที่ตั้ง
เลขที่ 70 ถนนมหาชัย สำราญราษฎร์ พระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
(Google Maps :
https://maps.app.goo.gl)
เวลาเปิดทำการ
เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 - 18.00 น.
สถานที่จอดรถ
มีสถานที่จอดรถ สามารถขับรถส่วนตัวมาได้เลย
2. วัดราชนัดดาราม กับโลหะปราสาทแห่งเดียวที่ยังเหลืออยู่ในโลก
เดินเลยวัดเทพธิดารามมาทางทิศเหนือ จะพบ “วัดราชนัดดาราม” วัดเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งสร้างพระราชทานเป็นพระเกียรติแก่พระราชนัดดาของพระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี ตั้งอยู่ใกล้ “ป้อมมหากาฬ” หนึ่งในสองป้อมรอบพระนครที่ยังหลงเหลือให้เห็น
วัดแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น คือ โลหะปราสาท เป็นอาคารยอดปราสาท 37 ยอด หมายถึงพระโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ที่ยอดปราสาทชั้นบนสุดใช้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ตรงกลางปราสาทมีบันไดเวียนให้ขึ้นไปชมวิวกรุงเทพฯ ได้โดยรอบ โลหะปราสาทหลังนี้ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างแทนเจดีย์ประธานของวัด ราวปีพ.ศ.2394 แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาล จึงมีการซ่อมสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา จนเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2506 สมัยรัชกาลที่ 9 จึงนับว่าใช้เวลาสร้างยาวนานมากเลยทีเดียว
โลหะปราสาทของวัดราชนัดดารามนี้ ถือเป็นโลหะปราสาทเพียงแห่งเดียวในโลกที่ยังเหลือให้ชมกัน โดยเชื่อว่าหลังแรกสร้างขึ้นในอินเดียสมัยพุทธกาล หลังที่สองสร้างในศรีลังกา สมัยพระเจ้าทุฏฐคามณีแห่งกรุงอนุราธปุระ ซึ่งทั้งสองหลังได้เสื่อมสลายไปหมดแล้ว
ชวนอิ่มท้องที่ถนนดินสอ
อิ่มบุญกับการเที่ยววัดมาพอสมควรแล้วก็ถึงเวลาเติมพลังด้วยของกินอร่อย ๆ โดยจากวัดราชนัดดารามเดินมาทางทิศตะวันตกเลี้ยวขวาไปทางถนนดินสอ ที่นี่มีร้านอาหาร และของกินขึ้นชื่อมากมาย ใครชอบอาหารภัตตาคาร บรรยากาศย้อนยุค อาจมาชิมสารพัดเมนูที่ “ร้านเมธาวลัย ศรแดง” หรือตรงเข้าไปอีกนิดจะพบกับร้านอาหารไทยขึ้นชื่ออย่าง “ร้านครัวอัปษร” ซึ่งทุกคนยกนิ้วให้ว่าไม่มีผิดหวัง
หรือหากใครติดใจบรรยากาศร้านอาหารแนวห้องแถวเก่า ๆ ลองแวะไป “ร้านมิตรโกหย่วน” แล้วแวะไปชิมเป็ดย่างอบน้ำผึ้ง-ข้าวหมูแดงรสเด็ด “ร้านเทียนซ้ง” ก็ได้ ตบท้ายด้วยเครื่องดื่มเย็น ๆ กับขนมปังอุ่น ๆ ที่ “ร้านมนต์นมสด” อย่าลืมแวะซื้อBขนมนางเล็ด และไข่ปลาหมึกย่าง ที่วางขายอยู่แถวนั้นติดไม้ติดมือกลับบ้านด้วย
ข้อมูลสถานที่ตั้ง
เลขที่ 2 ถนนมหาไชย แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
(Google Maps :
https://maps.app.goo.gl)
เวลาเปิดทำการ
เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น.
สถานที่จอดรถ
มีสถานที่จอดรถแบบเสียค่าใช้จ่าย โดยอัตราค่าบริการอยู่ที่ 40 บาทต่อคัน
3. วัดสุทัศนเทพวราราม
เดิมทีวัดแห่งนี้มีนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” สร้างในปี พ.ศ.2350 สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เมื่อครั้งโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากเมืองสุโขทัยมาประดิษฐานไว้กลางพระนคร แต่เพราะมาสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม”
วัดสุทัศนเทพวรารามเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 3 องค์ที่มีชื่อคล้องจองกัน ได้แก่ พระศรีศากยมุนี พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ และพระพุทธเสรฏฐมุนี ถือเป็นพุทธสถานเก่าแก่สวยงามใจกลางกรุงที่ต้องมาชมให้ได้สักครั้งในชีวิต ที่สำคัญยังเป็นวัดที่มีอุโบสถยาวที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
ข้อมูลสถานที่ตั้ง
เลขที่ 146 ถนนบำรุงเมือง แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
(Google Maps :
https://maps.app.goo.gl)
เวลาเปิดทำการ
เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 - 20.00 น.
สถานที่จอดรถ
ไม่มีสถานที่จอดรถในวัด แนะนำให้ไปจอดรถที่ลานจอดรถ J Park เสาชิงช้า หรือจอดบริเวณวัดบวรนิเวศราชวรวิหารได้
4. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในนาม “วัดพระแก้ว” ถือเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองที่ตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวังอันเป็นศูนย์กลางของกรุงรัตนโกสินทร์ วัดแห่งนี้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ. 2325 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอันศักดิ์สิทธิ์
จุดไฮไลต์ของวัดพระแก้วที่สายบุญ และสายประวัติศาสตร์ไม่ควรพลาดคือ พระอุโบสถอันงดงาม ที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ซึ่งมีเครื่องทรงเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ทั้งฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว โดยพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่บนบุษบกทองคำที่สลักลวดลายอย่างประณีตงดงาม
นอกจากนี้ วัดพระแก้วยังมีพระระเบียงคดล้อมรอบที่ประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ มีความยาวถึง 2 กิโลเมตร รวมทั้งยังมีพระมณฑปที่ประดิษฐานพระไตรปิฎก พระวิหารยอด และศาลาราย ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ และโบราณวัตถุล้ำค่าอีกมากมาย ที่ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมไทยด้วย
ข้อมูลสถานที่ตั้ง
ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง
(Google Maps :
https://maps.app.goo.gl)
เวลาเปิดทำการ
เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 - 15.30 น.
สถานที่จอดรถ
แนะนำให้จอดรถที่ลานจอดรถสนามหลวง (อยู่ใกล้วัดพระแก้วมากที่สุด) หรือจอดรถที่ท่ามหาราช ที่จอดรถของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร หรือราชนาวีสโมสร โดยจะมีอัตราค่าบริการอยู่ที่ชั่วโมงละ 15 - 40 บาท
5. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือที่ชาวไทย และชาวต่างชาติรู้จักกันในนาม “วัดโพธิ์” เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี มีเนื้อที่กว่า 50 ไร่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก เยื้องกับพระบรมมหาราชวัง และได้รับการยกย่องจากองค์การ UNESCO ให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) จากจารึกวัดโพธิ์ที่สะท้อนภูมิปัญญาของคนไทย
วัดโพธิ์นั้น เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย เป็นศูนย์รวมของศาสตร์ และศิลป์หลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นตำรายาโบราณ นวดแผนไทย วรรณกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ที่ถ่ายทอดผ่านภาพจารึกบนแผ่นหินอ่อน เสาศิลา และผนังโบราณสถาน สิ่งที่โด่งดังที่สุดคือพระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นพระนอนปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ ยาว 46 เมตร สูง 15 เมตร ประดับด้วยมุกที่ฝ่าพระบาทเป็นลายมงคล 108 ประการตามคติความเชื่อของพุทธศาสนา
นอกจากนี้ สายประวัติศาสตร์ และสายมูไม่ควรพลาดจุดชมที่สำคัญอื่น ๆ เช่น พระอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร ซึ่งบรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 1 ศาลาการเปรียญ มณฑปพระปรางค์ 4 องค์ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่รวบรวมโบราณวัตถุจำนวนมาก รวมถึงรูปปั้นฤาษีดัดตนที่เป็นต้นแบบของท่านวดแผนไทยที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก
ข้อมูลสถานที่ตั้ง
เลขที่ 2 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
(Google Maps :
https://maps.app.goo.gl)
เวลาเปิดทำการ
เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 19.30 น.
สถานที่จอดรถ
มีอาคารจอดรถ คิดค่าบริการชั่วโมงละ 30 บาท
6. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง)
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือวัดภูเขาทอง เป็นพระอารามหลวงชั้นโทที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เดิมชื่อวัดสะแก ก่อนจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ และพระราชทานนามใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จุดเด่นที่สุดของวัดแห่งนี้คือ “ภูเขาทอง” หรือ “พระบรมบรรพต” ซึ่งเป็นเจดีย์สูงทรงระฆังที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นโดยจำลองแบบมาจากพระบรมบรรพตในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่งานก่อสร้างเพิ่งแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความสูงถึง 77 เมตร ที่ยอดเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งขุดพบจากเนินเก่าในเมืองกบิลพัสดุ์
นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นบันไดวนรอบพระบรมบรรพตขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์ของกรุงเทพมหานครได้โดยรอบ โดยเฉพาะในช่วงพระอาทิตย์ตกดินที่จะเห็นภาพกรุงเทพฯ เปลี่ยนสีในมุมที่หาชมได้ยาก นอกจากนี้ วัดสระเกศยังถือเป็น “สะดือเมือง” และมีประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุในช่วงเทศกาลลอยกระทงทุกปี ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง
ข้อมูลสถานที่ตั้ง
เลขที่ 344 ถนนจักรพรรดิพงษ์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
(Google Maps :
https://maps.app.goo.gl)
เวลาเปิดทำการ
เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00 - 19.00 น.
สถานที่จอดรถ
สามารถจอดรถภายในบริเวณวัดได้ก่อนเวลา 15.00 น. ถ้าใครไปสายกว่านั้น หรือไปในช่วงที่วัดจัดงาน แนะนำให้ไปจอดรถที่สนามหลวง แล้วนั่งวินมอเตอร์ไซค์กลับมาที่วัด ก็จะสะดวกกว่า
7. วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกที่ตั้งอยู่บนถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2367-2375 สมัยรัชกาลที่ 3 โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (วังหน้า) เป็นแม่กองควบคุมการก่อสร้าง วัดบวรนิเวศมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทยขณะทรงผนวชหลายพระองค์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 9
สถาปัตยกรรมของวัดบวรนิเวศมีเอกลักษณ์โดดเด่น ผสมผสานระหว่างศิลปะไทยและจีน ตามพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยจุดที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนวัดแห่งนี้คือ พระอุโบสถที่มีมุขหน้ายื่นออกมา และมีปีกซ้าย-ขวา เป็นวิหารมุข ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญถึง 2 องค์ คือ
- พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต) อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี
- พระพุทธชินสีห์ อัญเชิญมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งประดิษฐานบนฐานชุกชีที่เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 9
อีกหนึ่งไฮไลต์ที่สำคัญคือ พระเจดีย์ทอง เจดีย์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ถัดจากพระอุโบสถ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีซุ้มเป็นทางเข้าสู่คูหา 4 ซุ้ม โดยตรงกลางประดิษฐานพระเจดีย์กะไหล่ทองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ล้อมรอบด้วยพระเจดีย์อีก 4 องค์ ซึ่งแต่ละองค์มีความสำคัญ และความหมายเฉพาะ
ข้อมูลสถานที่ตั้ง
เลขที่ 248 ถนนพระสุเมรุ แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
(Google Maps :
https://maps.app.goo.gl)
เวลาเปิดทำการ
เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น.
สถานที่จอดรถ
สามารถนำรถมาจอดที่ลานจอดรถของวัดได้ คิดค่าบริการชั่วโมงละ 10 บาท
8. วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโทที่ตั้งอยู่ใจกลางเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมมีชื่อว่า “วัดสามจีน” ตามตำนานที่เล่าว่า มีชาวจีน 3 คนที่เป็นมิตรสนิทกันได้ร่วมกันสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น ต่อมาจึงได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดไตรมิตรวิทยาราม" ในปี พ.ศ. 2482 และได้รับยกฐานะเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ. 2499
จุดเด่นที่มีชื่อเสียงโด่งดังของวัดไตรมิตรคือ “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “พระพุทธรูปทองคำ” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่หล่อด้วยทองคำบริสุทธิ์ทั้งองค์ มีความสูง 3.58 เมตร หน้าตักกว้าง 3.13 เมตร นับเป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประวัติที่น่าสนใจมาก เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ถูกปูนโบกทับหนาราว 10 เซนติเมตร เพื่อซ่อนความมีค่าไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 ขณะที่มีการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูป ปูนที่หุ้มอยู่ได้กะเทาะแตกออก จึงได้พบว่าภายใต้ปูนนั้นเป็นทองคำเนื้อบริสุทธิ์ทั้งองค์
นอกจากพระพุทธรูปทองคำแล้ว วัดไตรมิตรยังมีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นอื่น ๆ ได้แก่ พระอุโบสถแบบคอนกรีตเสริมเหล็กทรงจตุรมุข หลังคาลด 2 ชั้น หน้าบันทั้ง 4 ด้านประดับปูนปั้นรูปพระนารายณ์ พระอิศวร และพระพรหม ปิดทองประดับกระจก ภายในมีพระประธานชื่อพระพุทธทศพลญาณ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อโตวัดสามจีน” นอกจากนี้ยังมีธรรมาสน์ลายทองเท้าสิงห์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ประจำพระอุโบสถอีกด้วย
ข้อมูลสถานที่ตั้ง
เลขที่ 661 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
(Google Maps :
https://maps.app.goo.gl)
เวลาเปิดทำการ
เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น.
สถานที่จอดรถ
สามารถจอดรถในวัด หรือบริเวณโรงเรียนที่อยู่ข้าง ๆ วัดได้ แต่ที่จอดรถมีน้อย แนะนำให้เดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT มาลงที่สถานีหัวลำโพง ทางออก 1 แล้วเดินมาจะสะดวกว่า
9. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ “วัดแจ้ง” ในชื่อเดิม เป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดแจ้งเป็นวัดในเขตพระราชฐาน และเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตในสมัยนั้น ต่อมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงถือเป็นวัดประจำรัชกาลพระองค์
สัญลักษณ์อันโดดเด่นที่สุดของวัดอรุณคือ “พระปรางค์วัดอรุณ” หรือ “พระปรางค์แห่งรุ่งอรุณ” ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ขนาดใหญ่สูงถึง 82 เมตร ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และแล้วเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีลักษณะพิเศษตรงที่ประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสี เศษเครื่องถ้วยชามจีน และเปลือกหอย ทำเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยนำมาประกอบกันเป็นลวดลายดอกไม้ และใบไม้ที่สวยงาม สะท้อนแสงแวววาวยามต้องแสงอาทิตย์
นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นบันไดสู่พระปรางค์เพื่อชมวิวทิวทัศน์ของแม่น้ำเจ้าพระยา และกรุงเทพมหานครในมุมสูงได้ โดยเฉพาะในช่วงพระอาทิตย์ตกดินที่จะให้ภาพบรรยากาศที่สวยงามไม่มีที่ไหนเหมือน ด้วยความงดงามอลังการของพระปรางค์วัดอรุณ ทำให้วัดแห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติอย่างไม่ขาดสาย
นอกจากพระปรางค์ใหญ่แล้ว บริเวณโดยรอบยังมีปรางค์ทิศทั้ง 4 ทิศที่เป็นตัวแทนของสี่ทวีปและสี่ธาตุ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ประดับด้วยรูปปั้นกินนร กินรี พระพายทรงม้า และครุฑยุดนาค ที่ล้วนแล้วแต่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีและเครื่องถ้วยเช่นเดียวกับพระปรางค์ใหญ่ ส่วนภายในพระอุโบสถก็มีพระประธานที่สวยงา มและจิตรกรรมฝาผนังที่ทรงคุณค่าให้ได้ชื่นชม
ข้อมูลสถานที่ตั้ง
เลขที่ 158 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
(Google Maps :
https://maps.app.goo.gl)
เวลาเปิดทำการ
เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 18.00 น.
สถานที่จอดรถ
สามารถนำรถมาจอดบริเวณแถววัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือมาจอดแถวสนามหลวง หรือราชนาวีสโมสรที่อยู่ตรงข้ามกับวัดพระแก้วก็ได้
Tips by น้องเพลินเพลิน : เสริมบุญกับวัดดังได้ทุกที่ ทำบุญออนไลน์ผ่าน krungsri app
นอกจากการเดินทางไปทำบุญที่วัดแล้ว สายบุญสายมูทั้งหลาย สามารถเสริมบุญเสริมดวงกับวัดดังได้ง่าย ๆ ทุกที่ทุกเวลา ด้วยการทำบุญผ่านระบบออนไลน์
“e-Donation” ที่สำคัญยังนำยอดทำบุญไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย เรียกได้ว่าคุ้มค่าสองต่อ
สำหรับใครที่สนใจ สามารถบริจาคง่าย ๆ ผ่าน
krungsri app (กรุงศรีแอป) ได้เลย มีเงื่อนไขดังนี้
- บัญชีต้องมีคำว่า “e-Donation”
- ชื่อบัญชีต้องเป็น “ชื่อมูลนิธิ วัด โรงเรียน โรงพยาบาล”
- แจ้งความยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร
- บริจาคเสร็จแล้ว เช็กข้อมูลที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้เลย
การท่องเที่ยววัดในกรุงเทพไม่เพียงแค่เป็นการไหว้พระขอพรเท่านั้น แต่ยังเป็นการสัมผัสประวัติศาสตร์ และมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติไทย ทั้ง 9 วัดโบราณที่น้องเพลินเพลินแนะนำไปข้างต้น ล้วนมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีความงดงามทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันไป นอกจากจะได้อิ่มบุญกับการไหว้พระขอพร อิ่มตากับความงามของศิลปะไทยแล้ว ยังมีร้านอาหารอร่อย ๆ รายล้อมให้ได้อิ่มท้องอีกด้วย เป็นทริปสำหรับสายบุญ สายประวัติศาสตร์ และสายมูที่ไม่ควรพลาดในปี 2025 นี้