ปวดไปทั้งร่างกาย เพราะ Office Syndrome มาทักทาย

ปวดไปทั้งร่างกาย เพราะ Office Syndrome มาทักทาย

By Krungsri Plearn Plearn
ในการทำงานทุกวันนี้ ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานเป็นหลัก เพราะอย่างนี้เราเลยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนั่งทำงานอยู่กับที่ และใช้ท่าเดิม ๆ ตลอดทั้งวัน สำหรับใครหลายคนอาจต้องพบเจอกับอาการ Office Syndrome โรคยอดฮิตของคนทำงาน ที่มาพร้อมกับความเจ็บปวดให้รำคาญใจ แต่ก็ยังมีหลายคนที่ยังไม่ทราบที่มาของโรค Office Syndrome วันนี้เรามาทำความเข้าใจในเบื้องต้นกันเถอะ
โรค Office Syndrome คืออะไรกันนะ?
Office Syndrome คือกลุ่มอาการปวดเมื่อยหรือเกิดอาการชาบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ส่งผลมาจากการนั่งหรืออยู่ในท่าเดิม ๆ ที่ไม่เหมาะสมติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง กลุ่มคนที่มีอาการส่วนใหญ่เป็นพนักงานออฟฟิศ ที่ต้องทำงานเป็นระยะเวลานาน โดยส่วนใหญ่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำให้เสี่ยงเป็น Office Syndrome เช่น
  • นั่งหลังค่อม หรือนั่งห่อไหล่ หลังงอ
  • นั่งไขว่ห้างเป็นระยะเวลานาน ๆ
  • มีความเครียดจากการทำงาน นอนหลับไม่เพียงพอ หรือกินข้าวไม่ตรงเวลา
  • การใช้สายตาที่มากเกินไป จากการเพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์
โดยส่วนใหญ่อาการ Office Syndrome จะเริ่มต้นจากการเจ็บปวดเล็กน้อย แต่ถ้ายังปล่อยไว้ไม่รีบแก้ไข ปัญหาที่เล็กน้อยแบบนี้ อาจลุกลามส่งผลให้เป็นอาการบาดเจ็บเรื้อรัง ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวัน แต่ทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ ถ้าเราเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานเสียใหม่ รับรองได้ว่า โรค Office Syndrome จะต้องไม่มาทักทายเราแน่นอน

Step 1: ปรับท่านั่งในการทำงาน

  • อาการปวดเมื่อยหลัง และไหล่เกร็ง อาจมีสาเหตุจากการนั่งผิดท่า หรือนั่งหลังงอเป็นเวลานาน ควรนั่งให้สะโพกและขาตั้งฉากกัน
  • ปรับระดับความสูงของเก้าอี้ให้เท้าของเราติดพื้นได้โดยไม่ต้องเหยียดขา ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อขา
  • ปรับพนักเก้าอี้ให้ตรงประมาณ 100-110 องศาเพื่อที่จะให้มีองศาในการเอนหลัง เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  • ไม่ควรนั่งห่อไหล่ พยายามนั่งแล้วให้ไหล่ของเราอยู่ในท่าที่ผ่อนคลาย
  • ไม่ควรนั่งไขว้ห้าง พยายามนั่งในท่าผ่อนคลายกล้ามเนื้อจะส่งผลดีกว่า

Step 2 : ปรับโต๊ะทำงานให้เหมาะสม

  • วางหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่สูงในระดับสายตา โดยไม่ต้องก้ม หรือเงยให้ปวดคอ
  • ลองหาหมอนรองข้อมือในเวลาที่ต้องจับเมาส์ในการทำงาน
  • จัดมุมให้คีย์บอร์ดอยู่ในระดับเดียวกับข้อมือ และข้อศอกของเรา

Step 3 : เปลี่ยนพฤติกรรมในระหว่างทำงาน

  • ควรเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงานทุก ๆ 20 ถึง 30 นาที เพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณหลัง และไหล่
  • ปรับลดแสงสว่างจากจอคอมพิวเตอร์ และหมั่นกระพริบตา เพื่อลดอาการแสบตา หรือดวงตาเมื่อยล้า จากการเพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์
  • ออกกำลังกายเบา ๆ ระหว่างหยุดพักการทำงาน เช่น การสะบัดข้อมือ หรือหัวไหล่ เพื่อลดอาการกล้ามเนื้อเกร็งตัวจากการทำงาน
  • พักผ่อนสมองจากการทำงานหนัก เช่น การนั่งคุยกับเพื่อนร่วมงาน หรือการฟังเพลงเบา ๆ คลายเครียด
  • ดื่มน้ำอย่างน้อยทุก 15-20 นาที เพื่อสร้างความชุ่มชื่นให้กับร่างกาย

Step 4 : ฟื้นฟูร่างกายหลังเริ่มมีอาการ

หากมาถึงตรงนี้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน แล้วอาการเจ็บป่วยก็ยังไม่ดีขึ้น อาการเจ็บปวดจากโรค Office Syndrome เริ่มมีความรุนแรง เราก็ควรต้องเริ่มมองหาวิธีรักษาเพื่อบรรเทาอาการให้ดีขึ้น ซึ่งเราได้รวบรวมร้านเฉพาะทางที่รักษาผู้ที่มีปัญหาจากโรค Office Syndrome มาฝากกัน ใครใกล้ที่ไหน ไปใช้บริการกันได้เลย
  • Stretch Me by Let's Relax ร้านนวดที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านสรีระร่างกายคอยให้บริการ ตั้งแต่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง และมีโปรแกรมการนวดรักษาสำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บปวดร่างกายจากการทำงานหนัก โดยจะเน้นไปที่การยืดคอ นวดบ่าไหล่ กดจุดบริเวณที่มีปัญหาเจ็บปวด ปัจจุบันมีสาขาพร้อมให้บริการที่ ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเวิลด์ และไอคอนสยาม
  • F Rehab คลินิกกายภาพบำบัด ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ที่นี่มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้บริการรักษาโรค Office Syndrome โดยใช้วิธีที่ทันสมัย ผู้เข้ามารับบริการจะต้องถูกประเมินอาการเบื้องต้น และมีคอร์สให้เลือกรักษา ไม่ว่าจะเป็นเลเซอร์ลดอาการเจ็บปวด การใช้ไฟฟ้าบำบัดกล้ามเนื้อ หรือการรักษาแบบใหม่ด้วย Neurac Redcord ที่เป็นอุปกรณ์การออกกำลังกาย สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บปวดแผ่นหลังเรื้อรังอีกด้วย ปัจจุบันมีสาขาพร้อมให้บริการที่ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์
  • OSS Lounge คลินิกที่มีจุดเด่นเรื่องของการบำบัด รักษาอาการ Office Syndrome โดยเฉพาะ ที่นี่จะมีบริการรักษาโดยใช้ 3 ศาสตร์ในการรักษา คือ ศาสตร์ของการกายภาพ ศาสตร์แพทย์แผนไทย และศาสตร์การใช้พลังงานบำบัด โดยทุกขั้นตอนจะมีผู้เชี่ยวชาญ และนักกายภาพบำบัด เป็นผู้คอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
หากเราไม่อยากให้ทั้งชีวิตของเราเจ็บป่วยด้วยโรค Office Syndrome ต้องหมั่นให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ ไม่ละเลย ไม่โหมงานหนักจนเกินไป รักร่างกายให้เท่ากับรักงานที่เรากำลังทำอยู่จะดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา