จัดระบบการใช้ชีวิต เมื่อได้เงินเยอะขึ้น แต่เวลาว่างน้อยลง

จัดระบบการใช้ชีวิต เมื่อได้เงินเยอะขึ้น แต่เวลาว่างน้อยลง

By Krungsri Guru

เมื่อเราเริ่มทำทุกอย่างได้ “เข้าที่เข้าทาง” สิ่งที่จะตามมาก็คือ “เรามีเงินเยอะขึ้น” แต่พอมีเงินเยอะขึ้น ทำไมมันช่างสวนทางกับการที่เรามีเวลาใช้ชีวิต “น้อยลง” ทำอย่างไรให้เราสามารถจัดระบบชีวิตเมื่อมีเงินเยอะขึ้น แต่ต้องมีเวลามากขึ้นด้วย มาดูกันครับ

 
ประการแรก
“เลือกทำแต่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในแต่ละสัปดาห์”
หากเป้าหมายในการทำงานของเรา “ไม่ชัดเจน” เราก็จะทำงานอย่างไม่มีทิศทาง การทำงานอย่างไม่มีทิศทางจะนำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า “ทุกอย่างเป็นเรื่องด่วนไปเสียหมด” เทคนิคง่าย ๆ ก็คือ หยุดพิจารณา และจงเลือกทำแต่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในแต่ละสัปดาห์ โดยเราควรเลือกงานที่มี IMPACT กับชีวิตเราสูงที่สุดก่อนทำงานที่ไม่ค่อยมีผลกระทบอะไรกับเรา เทคนิคง่าย ๆ แบบนี้ทำให้ได้เป็นประจำทุก ๆ สัปดาห์ เราก็จะทำงานใหญ่สำเร็จได้เรื่อย ๆ เวลาก็จะเหลือ ทำให้มีเวลาว่างมากขึ้นนั่นเอง
 
ประการที่สอง
“หัดไว้ใจคนรอบข้าง”
แม้เราจะเป็นคนเก่งทำงานได้สารพัด แต่หากเราทำงานคนเดียวรับรองไม่เครียดจัด ก็อาจจะเสียสติไปก่อน ลองหัด “ไว้ใจคนรอบข้าง” หรือลูกน้องเราบ้าง งานบางอย่างเราอาจคิดว่าถ้าไม่ทำด้วยตัวเองกลัวงานจะออกมาไม่ดี แต่ความจริงแล้ว หากเราใช้คนให้ถูกกับงาน งานจะออกมาดีกว่าที่เราลงมือทำเอง เพราะตัวเราที่ทำงานเยอะแยะมากมาย ทำให้ขาดสมาธิจดจ่อในงานใดงานหนึ่ง หน้าที่ของเราเพียงมองภาพกว้าง ส่วนงานที่ต้องจดจ่อ ต้องใช้สมาธิสูง ๆ ควรปล่อยให้ลูกน้อง หรือคนที่เราไว้ใจได้ทำแทน คนเราไม่ได้เก่งไปเสียทุกเรื่องนะครับ
 
ประการที่สาม
“จงออกแบบชีวิตเสียใหม่”
เมื่อเรารวยขึ้น แต่กลับพบว่าชีวิตเรายุ่งยากขึ้น มีเวลาน้อยลง แสดงว่า รูปแบบการใช้ชีวิตของเราเริ่มไม่เป็นระบบเสียแล้ว แนวคิดก็คือ เราต้องออกแบบชีวิตของเราใหม่ ต้องรู้จักการแบ่งเวลา มีเวลาว่าง เวลาทำงาน เวลาพักผ่อน เวลาให้กับครอบครัว เวลาสำหรับดูแลรักษาสุขภาพ บางครั้งการที่เราคิดว่าต้องทำงานให้เสร็จทันเวลา ทุกอย่างด่วนไปหมด แต่ความจริงแล้ว พอเราพิจารณาดี ๆ เราจะพบว่าบางงานด่วนจริง ๆ แต่งานบางอย่างด่วนเพราะใจเราอยากให้เสร็จเร็ว ๆ บางครั้งการทำงานเสร็จเร็วแต่ขาดความรอบคอบก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป

หากวันนี้คุณยุ่งมากไม่มีเวลาส่วนตัวเลย นั่นคือ “สัญญาณ” ที่ไม่ดีแล้ว ลองออกแบบชีวิตใหม่ดีกว่าครับ อย่าเอาตัวจมอยู่กับงานจนไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นเลยครับ
 
ประการที่สี่
ถอยออกมาเป็น “ผู้ดูข้างสนาม”
บางครั้งเราทำงานงก ๆ ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน เรากำลัง “ขลุก” อยู่กับงานจนมองไม่เห็นตัวเองว่า ชีวิตกำลังสับสนวุ่นวายขนาดไหน หลายคนคงเคยเห็นทีมฟุตบอล ระหว่างเชียร์บอลอาจคิดในใจว่าทำไมนักเตะในสนามจึงตัดสินใจผิดพลาด ความจริงแล้วการที่เราเป็นผู้เล่นเสียเอง เราจะมองไม่เห็นความผิดพลาดของตัวเอง กีฬาแทบทุกประเภทยังต้องมี “โค้ช” ที่เป็นผู้ดูข้างสนาม และคอยให้คำแนะนำนักกีฬาให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และนำไปสู่ชัยชนะในที่สุด

ตัวเราเองก็เช่นกันครับ หากเราจมอยู่กับงาน เราจะมองไม่เห็นความผิดพลาด และทำให้เราไม่มีเวลาส่วนตัว เพราะทุกอย่างดูยุ่งเหยิงไปเสียหมด ลองถอยออกมาเป็นผู้ดูข้างสนาม หยุดพัก หยุดคิดพิจารณาซักนิด งานบางอย่างเราไม่ต้องทำด้วยตนเองก็ได้ ให้เรามีเวลาส่วนตัวบ้าง รู้จักมอบหมาย เราต้องไว้ใจลูกน้องบ้าง ลองฝึกการกระจายงานออกไป ติดตามเพียงแต่ผลการดำเนินงาน ทำตัวให้เหมือนพี่เลี้ยง หรือ “โค้ช” ที่คอยฝึกนักกีฬาดี ๆ ให้เก่ง ๆ ทดแทนเราได้ ทำได้แบบนี้ชีวิตก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน
 
ประการที่ห้า
อย่าผัดผ่อนเวลา “พักผ่อน”
หลายคนเคยสัญญากับตัวเองว่า หากทำงานประสบความสำเร็จแล้วจะเดินทางท่องเที่ยวให้รางวัลกับตัวเอง แต่พอเอาเข้าจริง ๆ พอประสบความสำเร็จมีเงินมากขึ้น เวลาน้อยลง ก็อยากทำงานเก็บเงินให้มากขึ้นไปอีก จนลืมสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเอง ลืมเวลา “พักผ่อน” และก็ผลัดไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็กลับไปจมอยู่กับงานเหมือนเดิม แบบนี้นอกจากเราผิดสัญญากับตัวเองแล้ว ยังทำให้เราไม่มีเวลาส่วนตัว ทำงานหนักนาน ๆ พาลสุขภาพทรุดโทรมอีกด้วย
 
ประการสุดท้าย
“รู้ข้อจำกัดของตัวเอง”
หากเราไม่รู้จักว่าเรามีข้อจำกัดอะไรบ้าง เราก็จะทำมันไปเสียทุกอย่าง คนที่ประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งก็มาจากการบริหารจัดการเวลาที่มีอยู่เท่ากันในแต่ละวันอย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องมาพิจารณา และมองให้เห็นข้อจำกัดของตัวเราเอง ไม่ทำงานเกินตัว งานอะไรที่เกินกำลังต้องแบ่งออกไปบ้าง ทำได้แบบนี้เวลาก็จะเหลือมากขึ้น พักผ่อนได้มากขึ้นนั่นเองครับ

หากทำได้ตามข้อแนะนำด้านบน แม้จะยังทำไม่ได้หมดทุกข้อ ก็รับรองได้ว่า ชีวิตจะมีระบบระเบียบขึ้นอย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow