“ต่อ ธนภพ” กับไลฟ์สไตล์สบาย ๆ แต่เต็มไปด้วยแง่คิดและแนวทางไป “ต่อ”

“ต่อ ธนภพ” กับไลฟ์สไตล์สบาย ๆ แต่เต็มไปด้วยแง่คิดและแนวทางไป “ต่อ”

By Guest Guru

พูดถึงหนุ่มมาดกวน อารมณ์ดี และเป็นขวัญใจของสาว ๆ นาทีนี้คงหนีไม่พ้น “ต่อ ธนภพ” ที่นอกจากจะหน้าตาดี คารมคมคายแล้ว ยังมีแนวคิดในการใช้ชีวิตดี ๆ อยู่เพียบ วันนี้ Krungsri Guru ได้มีโอกาสสัมภาษณ์หนุ่มหล่อขวัญใจสาว ๆ เกี่ยวกับแนวทางการใช้ชีวิต แนวคิดการใช้เงินในปัจจุบันที่ต่อบอกกับเราว่า “เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้ใช้เงินเก่ง” ลองมาพิสูจน์ความเป็นตัวตนของหนุ่มหน้าใสคนนี้กันเลย

ต่อ ธนภพ
 

1. แนะนำตัวหน่อย ตอนนี้เรียนที่ไหน เป็นยังไง และผลงานตอนนี้มีอะไรบ้าง

ชื่อ ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร ครับ ตอนนี้เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า Packaging สำหรับผลงานที่มีออนแอร์อยู่ก็มี “O-Negative รักออกแบบไม่ได้” ส่วนแพลนปีนี้ที่คาดว่าจะได้ดูกันก็มี ซีรีส์เรื่องใหญ่ของ GDH ชื่อ “Project S” เป็นโปรเจกต์เกี่ยวกับกีฬา และละครช่องสาม 2 เรื่อง คือ เล่ห์รักสลับร่าง กับ คิวปิด ตอน กามเทพปราบมาร ครับ
“มันเหมือนกับนาฬิกาเรือนหนึ่ง ที่วันหนึ่งเราได้กลายเป็นฟันเฟืองในนั้นให้มันหมุน
ก็เลยทำให้ผมเต็มที่กับสิ่งนั้นมาตลอดครับ”
 

2. ช่วยบอกหน่อยว่า ทำไมถึงเข้าวงการได้ เริ่มจากอะไร

ตอนแรกผมเคยเป็นนายแบบมาก่อน เป็นนายแบบของ Bangkok International Fashion Week หรือ BIFW ก็เป็นนายแบบ มีโมเดลลิ่ง คือ สมัยก่อนผมเป็นคนขี้อายครับ คือ การที่ต้องมาเดินแบบก็อายมากอยู่แล้ว ขนาดที่มีการขอพี่โมเดลลิ่งไว้ว่า อะไรก็ได้ที่ไม่ต้องแอคติ้งเยอะ จนทำงานมาสักระยะ ผมว่าเรื่องแบบนี้มันขึ้นอยู่กับโอกาส โอกาสของคนเราเวลามันเข้ามา ถ้าไม่คว้าเอาไว้ก็อาจจะหลุดลอยไป แต่วันหนึ่ง พอโอกาสมันเข้ามาเรื่อย ๆ ไม่หยุด คนรอบข้างเราก็บอกว่าน่าจะลองดูนะ ผมก็เลยลองไปแคสโฆษณา แต่ก็ไม่ติด (หัวเราะ) แต่ผมก็ไม่ยอมแพ้นะ ก็ลอง ๆ ไปเรื่อย ๆ จนทะลุกำแพงของตัวเอง ในที่สุดก็ได้งานแรก และหลังจากงานแรกก็มีงานอื่น ๆ ตามมา เริ่มมี MV เริ่มไปเป็น DJ จนผลงานของเราเริ่มแพร่หลายออกมา แล้วผลงานเหล่านั้นก็ไปสู่สายตาของคนทำงานอย่างผู้กำกับ หรือมืออาชีพต่าง ๆ ซึ่งคนที่ทำให้ผมได้อยู่ GDH คือ พี่ย้ง ทรงยศ มาเห็นที่ผมเล่น MV เพลง ถึงเวลาฟัง ของพี่ดา เอ็นโดรฟิน คือ ผมทำงานมาไม่นานหรอก แต่ทำเยอะมาก หลายแขนง เป็น DJ จัดรายการ เล่น MV เดินแบบ ถ่ายแบบ นู่นนี่นั่น ก็จะวนเวียนอยู่ประมาณนี้ แต่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเท่าไหร่ว่า เด็กคนนี้เป็นใคร จนพี่ย้งเห็น MV นั้นแล้วเป็นช่วงจังหวะที่พี่เขาคิดจะทำ “ฮอร์โมน” ผมอยู่ตั้งแต่ตอนแรกเริ่มที่โปรเจกต์นี้ยังเป็นแค่ความคิดของพี่ย้ง ยังไม่ได้วางแผนหรือดำเนินการอะไร
ครั้งแรกที่ผมเข้ามาที่บ้าน “นาดาว” หรือ “GTH” ในยุคนั้นสำหรับวัยรุ่นไม่มีใครไม่รู้จัก GTH (ชื่อเดิมของ GDH) คือ มันเป็นชื่อที่ยิ่งใหญ่มาก ผมหยุดยืนอยู่หน้าบ้านนานมากนะ ก่อนจะเข้าไปข้างใน รู้สึกว่า ที่นี่จริง ๆ หรอ ที่เขาเรียกเรามา แล้วก็เข้าไปข้างในคุยกันนานมาก แชร์ประสบการณ์ บอกเล่าชีวิตให้ฟัง จนมีช่วงหนึ่งในชีวิตของผมไปจุดประกายให้พี่ย้ง จนพี่เขาเสนอมาว่า “เรามาทำงานด้วยกันไหม เราอยากได้ชีวิตคุณ คุณมาเล่นชีวิตของคุณให้เราดูหน่อยได้ไหม” แล้วพี่เขาก็เล่าโปรเจกต์ “ฮอร์โมน” ขึ้นมา ซึ่งจริง ๆ แล้วผมว่าในฐานะของเด็กคนหนึ่ง มันไม่มีอะไรมาการันตีให้เรา คือ มีผู้ใหญ่คนหนึ่งมาพูดถึงโปรเจกต์หนึ่ง และก็บอกว่าไม่รู้จะเกิดขึ้นได้ไหมหรือคนจะยอมรับไหม แต่เขาแค่ถามเรากลับมาว่า เชื่อใจเขาไหม เรารู้สึกถึงความจริงใจบางอย่างตั้งแต่ที่เราก้าวเข้ามาที่นี่ ก็เลยรู้สึกว่า ลองก้าวเข้าสู่บ้านหลังใหม่ดู เลยเข้ามาอยู่ที่นาดาว แต่ตอนแรกก็ยังไม่ได้ทำอะไรนะครับ ตั้งนานจนวันหนึ่งที่โปรเจกต์กำลังจะเริ่ม ก็รู้สึกว่า เราได้ก้าวเข้ามาสู่สังคมอีกแห่งที่มีคนมากมายซึ่งพร้อมจะเป็นทีมกับเรา พร้อมที่จะได้เจอประสบการณ์ใหม่ มันเหมือนกับนาฬิกาเรือนหนึ่ง ที่วันหนึ่งเราได้กลายเป็นฟันเฟืองในนั้นให้มันหมุน ก็เลยทำให้ผมเต็มที่กับสิ่งนั้นมาตลอดครับ
ต่อ ธนภพ

3. ถ้าไม่ได้เป็นนักแสดงอยากจะทำอะไร

ไม่ได้คิดไว้นะครับ จริง ๆ เด็ก ๆ ก็เคยคิดว่าอยากเป็นตำรวจ เด็ก ๆ ทุกคนจะชอบทหาร ตำรวจ แต่พอโตขึ้นมาแล้วผมอยากเป็นจิตรกร คือ ผมเคยเห็นในหนังที่เห็นจิตรกร เวลาเดินทาง เวลาไปไหนแล้ววาดรูป ผมชอบ แต่พอโตขึ้นมาอีกระดับทำให้เราเรียนรู้ว่า เราทำแบบนั้นอย่างเดียวไม่ได้ แค่วาดรูปตามใจไปวัน ๆ ไม่ได้ เราต้องทำงาน จนพอผมเรียน ม.ปลาย ก็รู้สึกว่าตัวเองอยากเรียนสถาปัตย์ อยากเป็นสถาปนิก แต่ก็เจอปัญหาอีก เพราะผมเอ็นฯ ไม่ติด ตอนแรกผมรู้สึกพังมาก อุตส่าห์เรียน ติว สอบตรง ทุกอย่าง แต่ก็ไม่ติด รู้สึกชีวิตจบแล้ว จนถึงจุดหนึ่งที่ได้อยู่กับตัวเองมาก ๆ แล้วรู้สึกว่าชีวิตเราหยุดแค่นี้ไม่ได้ เราเพิ่งอายุเท่าไหร่เอง จนมานั่งทบทวนตัวเองว่าเราต้องการอะไร ตอนแรกผมคิดว่าจะลองสอบใหม่ แต่ผมก็ลองถามตัวเองใหม่ว่า เราเต็มที่แล้วใช่ไหมกับการสอบนั้น แล้วก็มีคำตอบออกมา 2 อย่าง คือ 1) เราเต็มที่แล้วแต่ไม่ได้ กับ 2) เราอยากเข้าที่นี่จริงรึเปล่า เหมือนถ้าเราอยากเข้าที่นี่จริง เราคงพยายามได้มากกว่านี้ มันเลยเป็นเหตุผลให้ผมไม่เคยถอยหลัง ไม่เคยหยุด เวลาเดินหน้าก็จะมุ่งไปข้างหน้า จะรู้สึกว่า เพราะนี่คือชีวิต ชีวิตคนเราถ้าไม่อยากจำเจ คือ ต้องเดินเรื่อย ๆ จะหยุดก็เบื่อ จะถอยก็เหมือนกลับไปที่เดิม และผมรู้สึกว่าในโลกนี้มีไม่มากนักหรอกที่จะได้เรียนตรงตามที่เราอยากเรียนจริง ๆ ผมก็เลยลองมองหาเส้นทางใหม่ ลองไปเอกชนไหม หรือมีมหาวิทยาลัยไหนที่อยากเรียน ก็เพิ่งรู้ว่ามันมีการยื่นคะแนนรอบสองด้วย จนในที่สุดก็ได้มาเรียนในคณะที่เรียนอยู่ในปัจจุบันครับ

4. รายได้ที่คิดว่าเหมาะสมกับเราคือประมาณเท่าไหร่

ผมว่า คนเรามันไม่มีลิมิตหรอก เพราะมนุษย์เรามีความโลภ ไม่มีคำว่าพอหรอก เท่าไหร่มันจะพอ เป็นไปไม่ได้ ทุกวันนี้ที่ผมหาเงินมาแล้วให้พ่อ แม่ ผมยังไม่รู้สึกว่ามันพอเลย ทั้ง ๆ ที่ผมยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย สำหรับผมเลยมองคำว่า “พอ” ประเมินไม่ได้ น่าจะอยู่ที่ความสุขกับการที่เป็นอยู่มากกว่า
ต่อ ธนภพ

5. ทุกวันนี้ใช้เงินไปกับเรื่องอะไรบ้าง

ก็เรื่องกินครับ ผมเป็นคนไม่ค่อยกล้าใช้เงินนะ ของที่ผมใช้หรือของที่ซื้อทุกวันนี้ ถือเป็นเสี้ยวเล็ก ๆ มาก ๆ เลย ถ้าเทียบกับที่ผมซื้อให้พ่อ ให้แม่ ผมรู้สึกว่าเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่เสื้อผ้าแพง ๆ ตัวเป็นแสน ในเมื่อเวลาเราอยู่กอง เราก็ต้องถอดไว้อยู่ดี มันไม่จำเป็นอะไรขนาดนั้น แค่ตัวละไม่กี่ร้อย เราก็ใส่ได้ สิ่งเดียวที่ผมอยากจะใช้เงิน คือ อยากให้กลับคืนกับพ่อแม่ เพราะว่า ผมก็เคยทำไม่ดีกับท่านไว้ ตามประสาวัยรุ่นแหละ มันก็เลยรู้สึกว่าถ้าวันนี้มีโอกาสแล้วก็ต้องตอบแทนท่านบ้าง เขาหาเลี้ยงเรามาได้ตั้ง 20 ปีแล้ว ผมเพิ่มจะเริ่มแค่ 2 ปีเอง ก็อยากรู้เหมือนกันว่าถ้าจะต้องเลี้ยงเขาไปอีก 18 ปี จะรู้สึกยังไง
 
“ผมอาจจะทำให้พวกท่านรู้สึกเต็มไม่ได้ แต่จะทำยังไงให้เขารู้สึกขาดน้อยที่สุด”
 

6. เคยมีปัญหาเรื่องการเงินหรือหมุนเงินไม่ทันมั้ย ถ้ามีแล้วจัดการยังไง

ต่อ ธนภพ
ไม่เคยนะครับ (หัวเราะ) คือ บ้านผมก็ไม่ได้ร่ำรวยมาก แถมเมื่อก่อนเคยเจอวิกฤตฟองสบู่แตกด้วย คือ เคยผ่านจุดที่ลำบากมาก่อน จริง ๆ ที่ผมอยากให้ท่านก่อนเพราะรู้สึกว่า ผมมีช่วงที่ขาดแล้วเราไม่รู้ว่าท่านจะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน ผมอาจจะทำให้พวกท่านรู้สึกเต็มไม่ได้ แต่จะทำยังไงให้เขารู้สึกขาดน้อยที่สุด ฉะนั้นปัญหาเรื่องเงินไม่ค่อยอยู่ในหัวผมเลย ของราคาเป็นหมื่นผมคิดแล้วคิดอีก แต่ของราคาเป็นล้านผมซื้อให้พ่อได้โดยไม่ลังเลเลย มันเป็นเรื่องปกติ ผมไม่เคยกังวลเรื่องเงินเลย วันหนึ่งถ้าผมไม่มีเงินเลย ผมก็รู้สึกว่าผมหาความสุขได้ โดยที่ไม่ได้เดือดร้อน เพราะมีพวกท่านอยู่
 
“ของราคาเป็นหมื่นผมคิดแล้วคิดอีก แต่ของราคาเป็นล้านผมซื้อให้พ่อได้โดยไม่ลังเลเลย”

7. ปกติซื้อสินค้าที่อยากได้จากช่องทางไหนบ้าง

จะชอบซื้อกับคนที่ปฏิบัติตัวดี ๆ กับเรา คือ ผมจะมีร้านประจำนะ คือ ถ้าร้านไหนที่ธนภพเข้าไปแล้ว คุณจะเจอธนภพไปอีกนาน ผมจะไม่ค่อยเปลี่ยนร้านเท่าไหร่ คือ ร้านไหนที่ผมซื้อแล้ว แสดงว่าผมเลือกแล้วจริง ๆ ผมเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงาน เวลาที่เราเต็มที่กับงาน แล้วเห็นบางคนเขาไม่เต็มที่กับงาน ผมจะคิดว่า มาทำงานทำไม ไม่เต็มที่เลย ไม่ได้ต้องการให้มาโอ๋ เหมือนผมเคยเข้าร้านแบรนด์เนม แต่เขาปฏิบัติไม่ดี ผมเดินออกทันที ไม่ว่าเขาจะหรูแค่ไหนก็ตาม ผมเป็นคนไม่แคร์เรื่องนี้ รู้สึกว่าเรามาให้เงินคุณ เรามาซื้อ การปฏิบัตินี่สำคัญมาก คือ ไม่ต้องโอ๋ แต่ต้องทำให้สบายใจ หรือประทับใจเวลาเดินเข้ามาแล้วอ่ะครับ

8. คิดว่าในปัจจุบัน บัตรเครดิต จำเป็นไหม เพราะอะไร

จริง ๆ ผมก็เพิ่งมีเหมือนกันนะ ปีนี้เอง แม่เพิ่งให้ใช้บัตรเครดิตไม่นานมานี้เอง คือ ปกติเวลาผมหาเงินมาก็จะอยู่ที่ป๊ากับแม่ ตัวเราก็จะไม่มีเงินติดตัวเยอะ เงินส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่กับเรา คือ บางครั้งเราอยากซื้ออะไรให้ท่าน แต่เงินไม่ได้อยู่กับตัว จะไปขอก็แล้วบอกให้เขารู้ก็ไม่ดี บางทีอยากเซอร์ไพรส์ท่านนะ อย่างล่าสุดที่จะซื้อของวาเลนไทน์ให้แม่ เป็นของที่ปกติผู้ชายก็ไม่ค่อยซื้อหรอก แต่เป็นแม่ เราก็ซื้อให้โดยไม่เขิน แล้วพอมีบัตรเครดิตบางทีมันก็ใช้จ่ายไปกับเรื่องพวกนี้ก่อนได้

9. ถ้าสามารถมีบัตรเครดิตได้โดยไม่ต้องมีเงินเดือน คิดว่าดีหรือไม่

ดีนะครับ ผมว่าบัตรเครดิตเป็นเรื่องความฉลาดของคนใช้เลยแหละ คือ ไม่ว่าคุณจะมีกี่ใบก็แล้วแต่ มีไปเถอะ แต่คุณต้องฉลาดในการใช้ คือ ต้องรู้อยู่ตลอดว่า เรามีเงินเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่าบัตรเครดิตคือเงินในอนาคต เราต้องใช้แล้ว ต้องรีบหา ต้องรีบจ่าย มันเป็นความรู้สึกที่ว่า แค่วันนี้ไม่อยากพกเงินสดก็เลยรูด (หัวเราะ) จริง ๆ มันก็มีฟังก์ชันของแต่ละบัตรอีก ต้องเลือกให้เหมาะกับการใช้จ่ายของเรา เพื่อที่จะให้มันได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น

10. อยากจะฝากผลงานอะไรให้แฟน ๆ ติดตามไหม

ผลงานก็อย่างที่บอกไปตอนแรก คือ ก็อยากจะฝากให้ช่วยสนับสนุน อาชีพอย่างผม พูดตรง ๆ มันขาดคนสนับสนุนไม่ได้ จริง ๆ แล้วที่ผมเรียกคนดูว่า คนสนับสนุน ไม่ใช่ให้มองว่า คุณดูด้อย แต่ผมไม่มีพวกคุณไม่ได้ เพราะเป็นคนเล่น ก็ต้องมีคนดู มันก็เป็นกำลังใจ เป็นการต่อยอดอะไรหลาย ๆ อย่าง
ต่อ ธนภพ
“คำว่า “ไอดอล” จริง ๆ มันไม่จำเป็นต้องเลียนแบบ แต่เหมือนเด็ก ๆ กำลังเข้าใจผิดว่า ต้องทำท่าทางให้เหมือน แต่งตัวให้เป๊ะ บางครั้งแค่ได้ฟังความคิดของคนนั้น ๆ แล้วเรารู้สึกว่าความคิดเขาดี นั่นแหละ คือ การยึดแนวความคิดของเขาเป็นไอดอลแล้ว”
 

11. มีอะไรอยากแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการเงินของเพื่อน ๆ ไหม

ผมรู้สึกว่า เด็ก ๆ สมัยนี้ใช้เงินเก่งจัง เดี๋ยวนี้เห็นเด็กผู้ชายวัยรุ่นบางคน แต่งตัวที ชุดเป็นแสน ผมก็สะดุ้งเหมือนกัน แต่ก็ไม่ผิดนะ ถ้าบ้านรวยก็เป็นสิทธิ์ที่คุณจะทำได้อยู่แล้ว แต่ผมอยากจะฝากถึงคนที่รู้สภาพการเงินของตนแล้วนะครับว่า “ให้รู้จักใช้นิดนึง บางอย่าง เราไม่ต้องตามทุกคนหรอก แบบเขาใช้ของแพงแล้วไง เราหาของถูก แต่แต่งตัวเก่ง เราเท่กว่าคนแต่งตัวแพงอีก”
แล้วก็อยากฝากเรื่อง “การหาตัวเองให้เจอ” สมัยนี้เป็นยุคแห่งการเรียนรู้และการเลียนแบบ เด็กพยายามตั้งคนให้เป็นไอดอล คำว่า “ไอดอล” จริง ๆ มันไม่จำเป็นต้องเลียนแบบ แต่เหมือนเด็ก ๆ กำลังเข้าใจผิดว่า ต้องทำท่าทางให้เหมือน แต่งตัวให้เป๊ะ บางครั้งแค่ได้ฟังความคิดของคนนั้น ๆ แล้วเรารู้สึกว่าความคิดเขาดี นั่นแหละ คือ การยึดแนวความคิดของเขาเป็นไอดอลแล้ว มันไม่จำเป็นว่า เด็กคนนี้ได้เงินเดือน เดือนละ 2,000 บาท แต่จะซื้อเสื้อตัวละหมื่นที่ศิลปินในดวงใจใส่ ให้เหมือนเขา เราว่ามันผิดจุด แล้วถ้าศิลปินคนนั้นรู้จะไม่ภูมิใจด้วยซ้ำ

เรื่อง: ฐิยาภรณ์ อากาศ
ภาพ: พีรพงษ์ ปกรณ์รัศมี
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา