บริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นไม่ยอมแพ้! เร่งผลิตธุรกิจใหม่

บริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นไม่ยอมแพ้! เร่งผลิตธุรกิจใหม่

By Japan salaryman
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเดินทางไปทำงานที่ญี่ปุ่น หนึ่งหัวข้อที่เป็นที่พูดถึงกันอย่างหนักภายในบริษัทคือ บริษัทขนาดใหญ่เดี๋ยวนี้จะอยู่เฉย ๆ กินบุญเก่าต่อไปไม่ได้ ต้องรีบผลิตธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของตลาด และเพื่อความอยู่รอดของบริษัทเองด้วย

เพราะในญี่ปุ่นนั้นมีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรค่อนข้างมาก ความต้องการของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ฉะนั้น บริษัทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ (โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่) ต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงมากมายขนาดนี้

หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ที่ญี่ปุ่นคือ การสร้างสถานบ่มเพาะธุรกิจใหม่ขึ้นมา โดยครั้งนี้รุ่นพี่ที่บริษัทผมแนะนำสถานที่ที่ได้รับความสนใจในหมู่บริษัทขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า ARCH (อาร์ค) ซึ่งเป็นชื่อเรียกสั้น ๆ ของ TORANOMON HILL INCUBATION CENTER ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่เขตชูโอ ศูนย์กลางพาณิชยกรรมที่สำคัญของกรุงโตเกียว

หากพูดถึงสถานบ่มเพาะธุรกิจ เราจะนึกถึงสถานที่รวมตัวของธุรกิจสตาร์ทอัพมาเป็นอันดับต้น ๆ แต่ที่นี่เค้าปรับคอนเซ็ปต์ให้แตกต่างออกไป คือจะอนุญาตเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาเข้าเป็นสมาชิก
ไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพ

บริษัทญี่ปุ่นบริษัทไหนเป็นสมาชิกอยู่ในนี้บ้าง

ข้อมูลล่าสุดในเดือนตุลาคม ปี 2022 ระบุไว้ว่า ปัจจุบันมีสมาชิกที่เข้าร่วมใน ARCH เป็นบริษัทขนาดใหญ่มากถึง 110 บริษัท และมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 800 คน (มีการจำกัดจำนวนสมาชิกที่เป็นตัวแทนจากแต่ละบริษัท) ยกตัวอย่างเช่น
  • KOSÉ บริษัทผลิตเครื่องสำอางระดับพรีเมียมจากญี่ปุ่น
  • SUZUKI บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์
  • SEINO บริษัทผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร
  • Seven & I Holding บริษัทเชนร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เจ้าของเครือข่ายร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในญี่ปุ่น และเจ้าของแฟรนไชส์ในเอเชีย
  • TV TOKYO สถานีโทรทัศน์ทีวีโตเกียว
  • TV Asahi สถานีโทรทัศน์ทีวีอาซาฮิ
  • PANASONIC บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำระดับโลกจากญี่ปุ่น
ตัวอย่างบริษัทกลุ่ม ARCH
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างบริษัทส่วนหนึ่งที่เข้าเป็นสมาชิกในสถานบ่มเพาะธุรกิจแห่งนี้ จะเห็นได้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นแทบทุกวงการให้ความสนใจในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก และต้องการพัฒนาธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้นให้ได้ ผ่านการทำกิจกรรมในพื้นที่นี้

เข้ามาใน ARCH จะได้อะไรบ้าง?

ARCH คือพื้นที่ที่ช่วยสนับสนุนให้บริษัทขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นสามารถสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้ โดยมีความแตกต่างจากสถานบ่มเพาะธุรกิจทั่วไปค่อนข้างมาก ขอสรุปประเด็นที่ผมเข้าใจดังต่อไปนี้

1. มีโปรแกรมให้ความรู้สำหรับบริษัทที่ต้องการเปิดธุรกิจใหม่โดยเฉพาะ

จากสถิติในปัจจุบันพบว่า บริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นจะเปิดธุรกิจใหม่เมื่อพบว่า ธุรกิจเดิมมีผลประกอบการซบเซา และกำลังกลัวว่าถ้าปล่อยไว้แบบนั้นจะกระทบต่อรายได้ของบริษัท จึงคิดหาธุรกิจใหม่ขึ้นมาซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในการสร้างธุรกิจใหม่ (ผมเองก็เคยประสบปัญหาเช่นนั้นตอนบริษัทอยากทำธุรกิจใหม่ในประเทศไทย แต่บริษัทยังไม่มีองค์ความรู้มากพอเกี่ยวกับการขยายธุรกิจ แล้วให้ผมหาหนทางเอาเองในตอนนั้น) ซึ่ง ARCH จะออกมาแก้ไขปัญหาตรงนี้ คือ ไม่ว่าใครที่ได้รับมอบหมายให้คิดธุรกิจใหม่ ก็สามารถทำได้ไม่ต้องมีประสบการณ์มาก่อน โดยใน ARCH จะมีการจัดสัมมนาหลากหลายจากวิทยากรมากความสามารถ ตั้งแต่วิธีคิด (Mindset), ทักษะ (Skill) ในการสร้างธุรกิจใหม่ รวมไปถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการสร้างสิ่งใหม่ ๆ เป็นต้น
ประสบการณ์การเข้าร่วมธุรกิจ

2. เป็นสถานที่เปิดให้บริษัทต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกใน ARCH ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ เพราะไอเดียใหม่ ๆ มักจะเกิดได้ง่ายหากมีความร่วมมือระหว่างกัน หากบริษัทเอาจุดแข็งที่มีในบริษัทตัวเอง ไปผสมผสานกับจุดแข็งของบริษัทอื่น ก็จะช่วยให้เกิดธุรกิจใหม่ได้ง่ายขึ้น

3. ช่วยให้เกิดแรงกระตุ้นระหว่างกันและกัน

เพราะเมื่อเห็นว่าบริษัทอื่น ๆ ขยันขันแข็งในการสร้างธุรกิจใหม่ บริษัทเราก็ต้องขยันบ้าง ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก ๆ อย่างบรรยากาศด้านใน ARCH จะเห็นเลยว่า หลายบริษัทขึ้นไวท์บอร์ด หรือสไลด์ powerpoint ให้เห็นเลยว่ากำลังทำอะไรอยู่

ซึ่งถ้าบริษัทเรามีเอี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ หรือหาความร่วมมือได้ยิ่งเป็นเรื่องดี ซึ่งสิ่งนี้แตกต่างจากการที่เราอยู่ในบริษัทตัวเองแล้วไม่เห็นว่ารอบข้างทำอะไร ทำให้ทำแต่สิ่งเดิม ๆ ขาดแรงกระตุ้น ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

ตัวอย่างธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นใน ARCH: ธุรกิจ SLEEP TECH ของ Nippon Telegraph and Telephone East Corporation (NTT EAST)

แต่เดิม NTT EAST เป็นที่รู้จักในนามของบริษัทผู้ให้บริการทางเทคโนโลยี โทรคมนาคมชั้นนำระดับโลก ซึ่งวันหนึ่งพวกเขาค้นพบว่า คนญี่ปุ่นมีค่าเฉลี่ยชั่วโมงการนอนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่น ๆ เมื่อรู้ว่าปัญหาการนอนคือปัญหาใหญ่ของคนญี่ปุ่น จึงอยากสร้างอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ประกอบกับบริษัทมีจุดแข็งคือ ด้าน IT และมีข้อมูลลูกค้าเป็นทุนเดิม จึงได้ตั้งธุรกิจใหม่ขึ้นมาชื่อว่า ธุรกิจ SLEEP TECH โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนอย่าง Brain Sleep ระดมสมอง หาความร่วมมือเพิ่มเติมจากในสถานบ่มเพาะธุรกิจอย่าง ARCH จนธุรกิจดังกล่าวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในปัจจุบัน
ตัวอย่างธุรกิจ Sleep Tech
NTT EAST สร้างธุรกิจ Sleep Tech ขึ้นมาในสถานบ่มเพาะธุรกิจ ARCH ผ่าน 7 Step นี้
photo credit: https://www.ntt-east.co.jp
หลังจากผ่านการบ่มเพาะธุรกิจใหม่จาก ARCH ปัจจุบัน NTT EAST ให้บริการธุรกิจการนอนดังต่อไปนี้
  1. ให้คำปรึกษากับทุกธุรกิจที่อยากแก้ไขปัญหาเรื่องการนอน ตั้งแต่ช่วยออกแบบบริการ นำเสนอการทดสอบเพื่อพิสูจน์ผลลัพธ์, ช่วยพัฒนาโมเดลการแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า
  2. ออกแบบโปรแกรมพัฒนาสุขภาพการนอนให้กับบริษัทที่ต้องการยกระดับสุขภาพของพนักงาน โดยจะทำการออกแบบสอบถาม ให้แผนการพัฒนาสุขภาพการนอน วัดผลคุณภาพการนอนพนักงานก่อนและหลัง เพื่อให้พนักงานของบริษัทนั้น ๆ มีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานได้ด้วย
  3. ให้บริการ Sleep Tech Platform โดยใช้ข้อมูล และองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ NTT EAST เก็บมาเป็นระยะเวลานาน ออกแบบเป็นแพลตฟอร์มที่เอื้อให้ลูกค้าใช้ในการพัฒนาสินค้า บริการ วิจัยเพิ่มเติม หรือใช้ออกแบบแอปพลิเคชัน เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการไป Business Trip ที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ ซึ่งผมคิดว่า ไม่ว่าเราจะเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ย่อมต้องพัฒนาธุรกิจใหม่อยู่เสมอ หากประเทศไทยมีสถานที่ ๆ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาธุรกิจใหม่ขึ้นมาเยอะ ๆ แบบที่ญี่ปุ่นสร้าง ARCH ขึ้นมา ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องดีมาก ๆ เลยตั้งใจเอาเรื่องนี้มาเล่าให้อ่านกัน หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในไทยเร็ว ๆ นี้ครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา