ไอเดียการตลาดในญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จอย่างร้อนแรงในปีที่ผ่านมา

ไอเดียการตลาดในญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จอย่างร้อนแรงในปีที่ผ่านมา

By Japan salaryman
ตลอดปี 2021 ที่ผ่านมา อย่างที่เป็นอันรู้กันว่าประเทศญี่ปุ่นก็ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่น้อยกว่าประเทศไหนในโลก สิ่งหนึ่งที่เป็นดัชนีชี้วัดว่าโควิด-19 ได้ทำลายสภาพเศรษฐกิจไปมากน้อยแค่ไหน คือปริมาณธุรกิจที่ประสบปัญหาล้มละลายภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ในปี 2021 จากข้อมูลของ TEIKOKU DATABANK (TDB) บอกว่าในปี 2021 มีธุรกิจล้มละลายอันมีสาเหตุเกี่ยวเนื่องมาจากภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากถึง 1,770 เคสเลยครับ มากกว่าปี 2020 (ที่มีเคสล้มละลาย 842 เคส) ถึง 2.1 เท่าตัว
สถิติจำนวนธุรกิจล้มละลายเนื่องมาจากโควิด-19
สถิติจำนวนธุรกิจล้มละลายเนื่องมาจากโควิด-19
https://news.yahoo.co.jp
หากแยกตามประเภทธุรกิจจะเห็นว่า ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากสุด มีสถิติการล้มละลายมากถึง 438 เคส ตามมาด้วยธุรกิจการก่อสร้าง 279 เคส ธุรกิจค้าส่งอาหาร 133 เคส ธุรกิจโรงแรม และเรียวกัง 120 เคส
แต่ในสถานการณ์ดังกล่าวที่อาจทำให้ขับเคลื่อนกิจกรรมทางธุรกิจได้ยาก ก็ยังพบว่า มีบางบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างร้อนแรงภายใต้สภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยใช้ไอเดียการตลาดบางอย่างเพื่อสร้างความต้องการของลูกค้า กระตุ้นยอดขาย และท้ายที่สุดช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้พ้นผ่านสถานการณ์อันยากลำบากไปได้สำเร็จ ไอเดียการตลาดสุดร้อนแรงในปี 2021 ที่ว่าจะมีอะไรบ้าง ผมได้รวบรวมมาให้แล้วครับ

1. Service Apartment ของโรงแรมอิมพีเรียลโตเกียว “ขายห้องหมดทันทีตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว”

Service Apartment ของโรงแรมอิมพีเรียลโตเกียว “ขายห้องหมดทันทีตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว”
โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียวถือเป็นโรงแรมใหญ่ระดับ 5 ดาวในกรุงโตเกียว สร้างขึ้นในปี 1890 หนึ่งในโรงแรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว มีที่ตั้งอยู่ทางใต้ของพระราชวังอิมพีเรียล ซึ่งทิวทัศน์ที่มองได้จากโรงแรมดีมาก จะมองเห็นทั้งพระราชวัง สวนสาธารณะฮิบิยะ ย่านกินซ่า เป็นต้น ถือเป็นโรงแรมในฝันของคนหลายคน อยากเข้าไปพักที่นี่สักครั้งในชีวิต และราคาก็แรงประมาณหนึ่งเลย (ผมลองเช็กใน booking หากต้องการเข้าพักช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ห้องขนาด 31 ตร.ม. จะอยู่ที่ 8,673 บาทต่อคืน ไม่รวมอาหารเช้า ส่วนห้องสวีทขนาด 115 ตร.ม. รวมอาหารเช้าอยู่ที่ 83,951 บาทค่อคืน)
จนกระทั่งโรงแรมอิมพีเรียลตัดสินใจโปรโมทบริการแบบใหม่ ‘APARTMENT AT THE IMPERIAL’ เปิดให้ลูกค้าเช่าห้องพัก ของโรงแรมในรูปแบบ Service Apartment คืออยู่ได้แบบรายเดือน ห้องแบบ Studio (ขนาด 30 ตารางเมตร) สนนราคาเดือนละ 360,000 เยนเท่านั้น (รวมภาษี และค่าบริการ) ซึ่งถ้าเอามาหารจำนวน 30 วัน ก็จะได้ค่าเฉลี่ยราคาเข้าพักที่ 12,000 เยนต่อคืน หรือประมาณ 3,480 บาท ถูกกว่าค่าเข้าพักในอัตราปกติค่อนข้างเยอะ
Service Apartment ของโรงแรมอิมพีเรียลโตเกียว “ขายห้องหมดทันทีตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว”
ห้องพักแบบ Studio (30 ตารางเมตร) (ภาพซ้าย)
ห้องพักแบบ Premier Studio (50 ตารางเมตร) (ภาพขวา)
ส่วนห้องพักแบบอื่น ๆ สนนราคาตามนี้เลยครับ
  • ห้องพักแบบ Premier Studio (ขนาด 50 ตารางเมตร) อยู่ที่ 600,000 เยน / 30 วัน
  • ห้องพักแบบ Connecting Studio (ขนาด 70 ตารางเมตร) อยู่ที่ 720,000 เยน / 30 วัน
ไม่สงสัยเลยครับว่า หลังจากที่โรงแรมอิมพีเรียลเปิดให้จองบริการนี้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 (เริ่มเข้าพักตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม) ห้องที่โรงแรมเตรียมไว้ทั้งหมด 99 ห้อง (3 ชั้น) ก็ขายหมดทันทีตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว เต็มไปยาว ๆ 4 เดือน ตั้งแต่ 15 มีนาคม ถึง 15 กรกฎาคม 2564 เลยครับ
นอกจากการให้บริการที่พักในระยะยาวในแบบ Service Apartment ที่มีครัว เฟอร์นิเจอร์ครบครัน มี Concierge Service ตลอด 24 ชั่วโมง ในชั้นที่ให้บริการแบบ Service Apartment จะมี Community Room ที่ให้บริการขนมปังฟรีทุกเช้า มีเครื่องซักผ้าเครื่องอบผ้า มีเตาไมโครเวฟให้ใช้ตามอิสระด้วย เนื่องจากโรงแรมอิมพีเรียลเป็นโรงแรมอยู่แล้ว ลูกค้า Service Apartment สามารถใช้บริการ Facilities ในส่วนของโรงแรมได้ด้วย เช่น ที่จอดรถ ฟิตเนส สระว่ายน้ำ ซาวน่า Hotel Lounge, Business Lounge และห้องประชุม เรียกได้ว่ามีครบครัน อยู่ในโรงแรมได้ไม่ต้องออกไปไหนเลยครับ
ล่าสุดที่ผมไปเช็กมา โรงแรมอิมพีเรียลเห็นว่าโปรโมชั่นนี้ขายดีมาก เลยขยายห้องพักแบบ Service Apartment เพิ่มอีก 2 ชั้น (66 ห้อง) ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2021 และเพิ่มอีก 7 ชั้น (184 ห้อง) ในเดือนธันวาคม 2021 (เข้าพักได้ตั้งแต่ 12 กุมภาพันธ์ - 31 มีนาคม 2023) ที่ผ่านมาด้วยครับ การปรับโรงแรมให้กลายเป็น Service Apartment เพื่อให้โรงแรมมีรายรับอย่างสม่ำเสมอ อาจจะฟังดูเป็นกลยุทธ์ธรรมดาสำหรับธุรกิจโรงแรมเพื่อการเอาตัวรอดในสภาวะแบบนี้ แต่ด้วยความที่เป็นโรงแรมในฝันของใครหลายคน ทำให้กลยุทธ์ทางการตลาดอันนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก นี่ถ้าอยู่ญี่ปุ่น ผมก็อยากไปลองสัมผัสประสบการณ์แบบนี้สักหนึ่งเดือนเหมือนกันครับ

2. ชุดนอนเสื้อสูท ของบริษัทอาโอกิ โฮลดิ้งส์ (AOKI HOLDINGS) เริ่มวางขาย พ.ย. 2020 มาจนถึงปัจจุบันขายได้ 80,000 ตัวแล้ว ขายออกเร็วกว่าสินค้าดั้งเดิมในธุรกิจหลายเท่าตัว

ชุดนอนเสื้อสูท ของบริษัทอาโอกิ โฮลดิ้งส์ (AOKI HOLDINGS)
ช่วงโควิดระบาด บริษัทญี่ปุ่นหลายบริษัทปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้านแทน แต่อย่างที่รู้กันว่าเวลาประชุมออนไลน์ จะแต่งตัวแบบชุดอยู่บ้านก็ไม่ได้ ต้องใส่เสื้อเชิ้ต ต้องใส่สูท ซึ่งเป็นเรื่องหนักใจของคนที่ต้องทำงานอยู่บ้านมาก การลุกขึ้นมาแต่งตัวเพื่อประชุมออนไลน์เป็นเรื่องชวนให้รู้สึกขี้เกียจมาก ถ้ามีชุดอยู่บ้านหรือชุดนอนที่ใส่สบาย แล้วมีลักษณะคล้ายกับการใส่เสื้อสูทอยู่คงจะดีนะ ทาง AOKI เห็นความต้องการตรงนี้จึงออกแบบผลิตภัณฑ์ขึ้นมาตอบโจทย์นี้ครับ
ชุดนอนเสื้อสูทถูกวางขายครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 ตอนนั้นทางบริษัทไม่ได้ตั้งชื่อว่า “ชุดนอนเสื้อสูท” เหมือนทุกวันนี้ แต่วางขายเป็นสินค้าตัวหนึ่งในกลุ่ม Home & Workwares แล้วไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก มีวันหนึ่งลูกค้าเดินเข้ามาในร้านแล้วถามหาว่า “ไม่มีชุดนอนเสื้อสูทหรอ?” ทางบริษัทจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อสินค้ามาเป็นชื่อเรียกว่า “ชุดนอนเสื้อสูท” เพราะคิดว่าน่าจะติดหูลูกค้ามากกว่า ยอมปริ้นโบรชัวร์ใหม่ เปลี่ยนป้ายสินค้าทั้งหมด ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ส่งเสริมทางการตลาด และเทรนด์พนักงานให้ใช้คีย์เวิร์ดสินค้าตัวนี้ว่า “ชุดนอนเสื้อสูท” แทน
ทางบริษัทวางคอนเซ็ปต์ “ชุดนอนเสื้อสูท” ไว้ว่า “เป็นมากกว่าชุดนอน แต่น้อยกว่าเสื้อผ้าแนวแฟชั่น” เหมาะกับการใส่ทำงานที่บ้านแล้วมีประชุมออนไลน์ เพราะใส่แล้วจะดูเหมือนว่า กำลังใส่สูทอยู่ เสื้อสูทเป็นวัสดุไหมพรม กางเกงมียางยืดรัดเอว มีให้เลือกใช้ทั้งของผู้ชาย และผู้หญิงด้วย
ชุดนอนเสื้อสูท ของบริษัทอาโอกิ โฮลดิ้งส์ (AOKI HOLDINGS)
ปัจจุบันชุดนอนเสื้อสูทขยายจุดขายว่า เป็นได้มากกว่าใช้สำหรับการประชุมออนไลน์ แต่จะใส่ทั้งวันตลอด 24 ชั่วโมงก็ได้ เช่น ใช้ไปทำงานจริง ๆ, ท่องเที่ยว, พาหมาเดินเล่น, ซื้อของ, ไปเที่ยวคาเฟ่, นอนกลางวัน, เล่นกอล์ฟ
ช่วงเดือนกันยายนปี 2021 มีสถิติว่า ชุดนอนเสื้อสูทมียอดขายทะลุ 30,000 ตัว เดือนมกราคม 2022 ที่ผ่านมามียอดขายรวมทะลุ 80,000 ตัวไปเรียบร้อยครับ ขายดีมาก และยังขายดีอย่างต่อเนื่อง เพราะตัวสินค้าออกแบบขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาได้จริง ๆ แถมออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสมมากครับ
จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ธุรกิจที่ผมได้ยกขึ้นมาแนะนำ เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงแรมอิมพีเรียลที่แต่เดิมลูกค้าเกือบครึ่งคือลูกค้าต่างชาติ พอเจอโควิดเลยต้องปรับตัวเปลี่ยนส่วนหนึ่งของธุรกิจโรงแรมมาเป็น Service Apartment ธุรกิจ “ชุดนอนเสื้อสูท” ของ AOKI HOLDINGS ก็เช่นเดียวกัน ปกติคือร้านขายเสื้อสูท หรือเสื้อผ้าสำหรับคนทำงาน พอคนทำงานไม่ออกไปทำงานที่บริษัทเหมือนเช่นเคย ความต้องการในการซื้อสูทจึงน้อยลง เลยออกแบบ “ชุดสูทเสื้อนอน” ขึ้นมาเพื่อสอดรับกับกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วที่สำคัญ “ชุดนอนเสื้อสูท” ของ AOKI HOLDINGS ขายดีขายไวยิ่งกว่าสินค้าหลักของร้านอีกด้วย พลังของไอเดีย พลังของการปรับตัวจำเป็นมาก ๆ สำหรับการทำธุรกิจในยุคนี้จริง ๆ ครับ

Reference:
1. “บริการ Service Apartment ของโรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว”
https://www.imperialhotel.co.jp
2. “ชุดนอนเสื้อสูท ของ AOKI HOLDINGS”
https://www.aoki-style.com
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow