มุมมองการลงทุนแบบคนญี่ปุ่นเป็นอย่างไร
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

มุมมองการลงทุนแบบคนญี่ปุ่นเป็นอย่างไร

icon-access-time Posted On 28 ตุลาคม 2559
By เกตุวดี Marumura
สมัยอยู่ญี่ปุ่น อาจารย์ญี่ปุ่นบอกดิฉันว่า “ประเทศไทยน่าจะตามญี่ปุ่นอยู่ประมาณ 10 ปีนะ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี หรือเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เช่น รถไฟ ระบบการชำระเงินต่าง ๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องการเงิน ดิฉันคิดว่า คนไทยเรากระตือรือร้นเรื่องการเงิน การลงทุน ไม่แพ้คนญี่ปุ่นเลย คนญี่ปุ่นลงทุนกับอะไร มากหรือน้อยเท่าไร มีทัศนคติอย่างไรกับการลงทุนบ้าง ลองมาดูกันค่ะ

ชนชาตินักออม มิใช่ นักลงทุน

ดิฉันลองถามคำถามนี้กับเพื่อนคนญี่ปุ่นรอบ ๆ ตัว ตั้งแต่อาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังวัย 50 ปี ผู้ประกอบการรายย่อยและเล่นหุ้นเป็นงานอดิเรก ตลอดจนแม่บ้านญี่ปุ่น ทั้ง 3 ท่านตอบเหมือนกันว่า คนญี่ปุ่นไม่ค่อยได้ลงทุนในกองทุนหรือตราสารหนี้หรอก แม้แต่การซื้อขายหุ้น ก็ยังเล่นกันไม่มากนัก
แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะพยายามออกนโยบายมากระตุ้นการลงทุนต่าง ๆ แต่คนญี่ปุ่นผู้รักความแน่นอน ไม่อยากเสี่ยง ก็ไม่ค่อยกล้าลงทุนมากนัก ตัวเลขยอดการลงทุนก็ยังไม่ถึงเป้าที่รัฐบาลวางไว้
คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเป็นนักออมมากกว่า พยายามเก็บหอมรอมริบ โดยเป็นค่านิยมที่ถูกปลูกฝังมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ว่า ให้ประหยัด ไม่ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย เพราะฉะนั้น ไม่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะออกนโยบายกระตุ้นการบริโภคอะไรก็ตาม คนญี่ปุ่นก็ยังตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินอยู่ดี
ธนาคารญี่ปุ่นรายงานว่า ในปี ค.ศ. 2015 คนอเมริกามีสัดส่วนทรัพย์สินการลงทุนร้อยละ 47 จากสินทรัพย์ ในขณะที่ญี่ปุ่นมีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้น ด้านการถือหุ้นนั้น คนอเมริกาลงทุนหุ้นมากกว่าญี่ปุ่นถึง 3 เท่า
ทว่า ในช่วง 4-5 ปีนี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยธนาคารติดลบ เศรษฐกิจไม่แน่นอนต่างผลักดันให้คนญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่หันมาสนใจการลงทุนมากขึ้น

นักลงทุนญี่ปุ่น มีจำนวนมากไหม

สมาคมผู้ซื้อขายหลักทรัพย์ประจำประเทศญี่ปุ่นได้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 7 พันคนทั่วประเทศญี่ปุ่น และพบว่า ร้อยละ 18 ของกลุ่มตัวอย่างถือหลักทรัพย์อย่างน้อย 1 ประเภท หากคำนวณคร่าว ๆ ตอนนี้ประชากรญี่ปุ่นมี 120 ล้านคน หากเอา 18% คูณจำนวนประชากรที่อายุ 20 ปีขึ้นไป (ซึ่งสามารถลงทุนได้) ก็จะมีผู้ถือหลักทรัพย์ประมาณ 18 ล้านคนค่ะ (ประมาณ 2 เท่าของประชากรในกรุงเทพฯ) แต่ถ้าดูนักลงทุนอิสระ ที่เน้นการค้าขายเป็นอาชีพ ตัวเลขก็ลดลงเหลือเพียงแค่ร้อยละ 3 ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น
กลุ่มที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ กลุ่มสาวญี่ปุ่น เป็นสาวที่อายุระหว่าง 25 ถึง 39 ปี บริษัทหลักทรัพย์ Rakuten ให้ข้อมูลว่า หากดูสถิติจำนวนผู้ที่เริ่มซื้อกองทุนเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ช่วง 2012 ถึง 2014 นี้จำนวนผู้ซื้อสาวกลุ่มนี้ มีตัวเลขสูงขึ้นถึง 3.7 เท่าภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี
คนอีกกลุ่มที่เริ่มหันมาใส่ใจด้านการลงทุนมากขึ้น ก็คือ กลุ่มผู้สูงอายุ นั่นเอง อาจเป็นเพราะคนกลุ่มนี้คิดว่า เงินบำนาญอาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพในอนาคต กอปรกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ค่อยดี เกรงว่ายอดเงินบำนาญที่รัฐจะจ่ายให้อาจมีจำนวนลดลง จุดเด่นของนักลงทุนสูงวัยประเภทนี้ คือ แม้รายได้เฉลี่ยจากบำนาญไม่สูงนัก ตกปีละ 2-3 แสนบาท แต่พวกเขาพยายามนำเงินออมและเงินบำนาญมาลงทุน โดยลงทุนในรูปแบบที่หลากหลายมากกว่าทั้งกองทุน และการซื้อขายหุ้น

นักลงทุนญี่ปุ่นลงทุนเท่าไร

ในแบบสอบถามของสมาคมผู้ซื้อขายหลักทรัพย์ประจำประเทศญี่ปุ่น ร้อยละ 47 ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่า มีรายได้เฉลี่ยส่วนบุคคลต่ำกว่า 1 ล้านบาท/ปี ผู้วิจัยพบว่า นักลงทุนญี่ปุ่นอิสระส่วนใหญ่ (ร้อยละ 30) ลงทุนทั้งในหุ้นและผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ รวมแล้วประมาณ 3-10 ล้านบาท รองลงมา คือ ร้อยละ 20 ลงทุนระหว่าง 1.5-3 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนวัย 20-30 ปี มักลงทุนอยู่ระหว่าง 3 แสนถึง 1 ล้านบาท
หากดูกลุ่มผู้หญิงญี่ปุ่นช่วงอายุ 25-39 ปี รายได้เฉลี่ยหลังหักภาษีของพวกเธอประมาณ 7 หมื่นบาทต่อเดือน สาว ๆ ช่วง 20-29 ปี มักลงทุนเฉลี่ยประมาณเดือนละ 6 พันบาทต่อเดือน ส่วนพอขึ้นวัยเลข 3 มูลค่าการลงทุนก็จะขยับเป็น 8 พันบาทต่อเดือน เรียกได้ว่าเจียดค่าขนมมาสร้างรายได้เพิ่มนั่นเอง

ลงทุนกับอะไร

ยังไม่มีรายงานที่ระบุแน่ชัดว่าคนญี่ปุ่นลงทุนประเภทใดมากที่สุด แต่จากการสังเกตหนังสือขายดีด้านการลงทุน ส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการเล่นหุ้นและการลงทุนในกองทุน ส่วนการลงทุนทางอสังหาริมทรัพย์ ในอดีตคนญี่ปุ่นลงทุนซื้ออพาร์ทเมนท์หรือพื้นที่ว่างทำเป็นที่จอดรถ ทว่า หลังเกิดวิกฤติซับไพร์ม การลงทุนประเภทนี้ อาจไม่ได้รับความนิยมเท่าใด
รายงานของ Rakuten Securities ระบุว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นในวัย 20 และ 30 ปี มักจะลงทุนกับกองทุนรวมหุ้น Investment Trust เพราะลงทุนได้ทีละนิด ส่วนใหญ่ลงทุนแบบ Passive Fund1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนรวมดัชนี (Index Fund)2 เนื่องจากสามารถเริ่มลงทุนได้ทีละน้อย และไม่ผันผวนมากจนเกินไป

ความเข้าใจผิดด้านการลงทุน

แม้คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับการลงทุนมากขึ้น แต่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้าลงทุนอยู่ดี อาจเป็นเพราะคนญี่ปุ่นเป็นชาติที่ค่อย ๆ ตัดสินใจ กลัวความเสี่ยง และมีความเชื่อ (ผิด ๆ) ดังต่อไปนี้
  • การลงทุนเป็นเรื่องของคนรวย (จริง ๆ แล้ว มีวิธีลงทุนทีละน้อยก็ได้ โดยที่ญี่ปุ่นสามารถซื้อกองทุนได้ตั้งแต่ 150 บาทขึ้นไป)
  • ถ้าไม่ชนะ ได้เงินเยอะ ๆ ก็พ่ายแพ้ไปเลย (จริง ๆ แล้ว มีวิธีค่อย ๆ ทำกำไรทีละนิด หรือค่อย ๆ สะสมกำไรแท้ ๆ)
  • ถ้าตนเองไม่มีพรสวรรค์ด้านนี้ คงไม่ประสบความสำเร็จ (จริง ๆ แล้วอาจนำเงินไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินบริหารแทนก็ได้)
  • การซื้อหุ้น คือ การพนัน (จริง ๆ แล้ว การซื้อหุ้นอาจมองได้ว่าเป็นการช่วยสนับสนุนบริษัทนั้น)
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เห็นได้เลยว่า มุมมองของคนญี่ปุ่นที่มีต่อการลงทุนอาจไม่เหมือนกับของคนไทยนัก อย่างไรก็ตาม ลองเรียนรู้จากญี่ปุ่นแล้วย้อนดูตัวเรานะคะ สำหรับใครที่กำลังมองหาวิธีลงทุนที่เหมาะกับเรา อย่าลืมหมั่นหาความรู้อ่านบทความกันนะคะ

 
1 Passive Fund = การลงทุนที่มีสูตรชัดเจน ใช้ระบบเทรด ไม่ต้องใช้ผู้จัดการกองทุน
2 Index Fund = กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งหมดที่ประกอบกันเป็นดัชนี

Reference: งานศึกษาทัศนคติต่อกองทุนของนักลงทุนอิสระ โดย Japan Securities Dealers Association
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา