วางแผนซื้อรถฉบับ First Jobber

วางแผนซื้อรถฉบับ First Jobber

By Krungsri Society

อยากมีรถสักคัน แต่ติดอยู่ที่อายุน้อย เงินเก็บก็ยังไม่เยอะ แล้วความฝันจะเป็นจริงได้ไหม บอกเลยว่าถ้าวางแผนซื้อรถดี ๆ ก็มีสิทธิ์ทำได้เหมือนกัน


สินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงโดยทั่วไปแล้วก็ต้องมี "รถยนต์" กับ "บ้าน" แต่ถ้ามาพูดถึงเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานก็น่าจะมองเรื่องการวางแผนซื้อรถยนต์เป็นหลักก่อน อาจจะด้วยว่าตอนนี้ยังอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ แล้วด้วยระบบรถสาธารณะบ้านเรายังไม่ได้ดีมาก การมีรถยนต์ส่วนตัวก็เลยดูเหมือนจะเป็นเรื่องจำเป็นไปโดยปริยาย การเก็บเงินวางแผนซื้อรถยนต์ก็เลยดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายหนึ่งที่หลาย ๆ คนตั้งเอาไว้
ถ้าถามว่าอายุน้อย ๆ ควรจะออกรถมั้ย ? หากว่ากันด้วยเหตุและผล การซื้อรถยนต์ถือว่าเป็นการซื้อสินทรัพย์เสื่อมมูลค่าที่จะปรับลดลงเรื่อย ๆ แล้วนอกเหนือจากค่าผ่อนงวดรถในแต่ละเดือนแล้ว ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เราต้องนำมาคิดพิจารณาด้วย ทั้งค่าน้ำมัน ค่าประกัน ค่าบำรุงรักษาต่าง ๆ บอกได้เลยว่าถ้าต้องการมีรถ Eco Car สักคันก็ต้องเตรียมเงินไว้ประมาณเดือนละ 10,000 - 12,000 บาทสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของรถยนต์คันหนึ่ง ดังนั้นเราจึงควรเลือกซื้อรถให้เหมาะกับกำลังซื้อของเรา ซึ่งถ้าเราใช้รถยนต์เยอะก็อาจจะต้องเตรียมไว้มากกว่านั้น ส่วนตัวก็เลยมองว่าอายุน้อย ๆ การมีรถยนต์สักคันอาจจะไม่ควรสักเท่าไร เพราะรายจ่ายเรื่องรถยนต์จะเป็นรายจ่ายที่เยอะมากต่อเดือน ดังนั้นเจ้าของรถมือใหม่ทั้งหลายจึงควรจะคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับรถคันแรกให้ดีเสียก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ
แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ คนอายุน้อย ๆ เพิ่งเริ่มทำงานอยากจะมีรถยนต์เป็นของตัวเองสักคันจะเตรียมตัวอย่างไร และวางแผนซื้อรถอย่างไร จึงจะเหมาะสม และไม่ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน มาฟังคำแนะนำกัน
ก่อนอื่นเลยหากว่าเราจะวางแผนซื้อรถยนต์ เราต้องรู้ราคารถยนต์หรือรุ่นรถยนต์ที่เราอยากได้ เพราะจะเป็นตัวที่กำหนดว่าเราต้องเตรียมเงินไว้เดือนละเท่าไร เพราะถ้าเป็นเด็กจบใหม่ ๆ มา การที่จะมีเงินสดเพื่อไปซื้อรถยนต์หนึ่งคันเลยน่าจะเป็นเรื่องที่ยากอยู่เหมือนกันถ้าไม่มีทางบ้านให้การสนับสนุน ดังนั้นส่วนใหญ่จะใช้บริการสินเชื่อรถยนต์เป็นหลักกันอยู่แล้ว ก็จะมีการผ่อนตั้งแต่ 12 เดือนไปจนสูงสุดแถว ๆ 72 เดือน
สิ่งที่เราควรจะรู้เกี่ยวกับการวางแผนซื้อรถ คือการผ่อนชำระค่างวด เพราะยิ่งเราผ่อนนานเท่าไรเราก็จะยิ่งโดนคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น เพราะการคิดดอกเบี้ยของการซื้อรถยนต์จะเป็นการคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ (Flat rate) ตัวอย่างเช่น
ถ้าเราเอารถเข้าไฟแนนซ์หรือใช้บริการสินเชื่อรถยนต์ สมมติว่ารถยนต์ราคา 600,000 บาท แล้วเราดาวน์ประมาณ 25% ก็คือ 150,000 บาท แปลว่าเราต้องใช้บริการสินเชื่อรถ 450,000 บาท

สมมติว่าโดนคิดดอกเบี้ยที่ 3% ต่อปี แล้วเราผ่อน 60 เดือนหรือ 5 ปี เวลาที่เขาคำนวณดอกเบี้ย เขาจะคำนวณด้วยการที่เอา 450,000 บาท มาคูณ 3% จะเท่ากับ 13,500 บาท แล้วเราผ่อนรถเป็นเวลา 5 ปี ก็เอา 13,500 x 5 ปี จะเท่ากับ 67,500 บาท นั่นแปลว่าเราจะมีหนี้ทั้งหมด 450,000 + 67,500 บาท จะเท่ากับ 517,500 บาท แล้วเราจะผ่อนงวดละเท่าไร ก็จะเอา 517,500 บาท มาหาร 60 งวด เราจะต้องผ่อนงวดละ 8,625 บาท
พอเห็นการคำนวณแบบนี้เราก็จะเห็นว่า หากว่าเราวางแผนซื้อรถ โดยสามารถดาวน์ได้เยอะเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นภาระต่องวดน้อยลง และถ้าผ่อนคำนวณงวดได้สั้น ก็จะเสียดอกเบี้ยน้อยเท่านั้น คำแนะนำก็คือ ควรจะเก็บเงินซื้อรถยนต์หรือควรนำเงินมาดาวน์ให้ได้ยิ่งเยอะยิ่งดี สัก 30 - 40% เป็นอย่างน้อย เพื่อลดภาระในแต่ละงวดลงไปอีก
นอกจากนี้ หลังจากที่เราคำนวณเสร็จแล้วว่าต้องผ่อนเดือนละเท่าไร ขั้นตอนต่อไปของการวางแผนซื้อรถคือ การดูค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าประกันรถยนต์ เป็นต้น เพราะเชื่อว่าเมื่อเราออกรถมาใหม่เราก็คงไม่อยากขับรถแบบไม่มีประกันแน่ ๆ เพราะถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ถ้าเกิดเราขับออกไปแล้วเกิดอุบัติเหตุมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ก็อาจจะทำให้เราประสบปัญหาการเงินในอนาคตได้ นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องค่าบำรุงรักษาต่าง ๆ ทั้งเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนยาง ก็เป็นรายจ่ายที่ไม่น้อยเหมือนกัน
ถ้าใครอยากคำนวณดูว่าเราต้องผ่อนเท่าไรยังไง ทางกรุงศรีฯ เราก็มีบริการ Plan Your Money ที่ไม่ได้ช่วยแค่การวางแผนซื้อรถ แต่เป็นการวางแผนการเงินของเราทั้งหมด เพียงแค่เรากรอกข้อมูล เราก็จะรู้ทันทีว่าเราต้องผ่อนงวดละเท่าไร และนอกจากเรื่องรถยนต์ Plan Your Money ก็ยังมีบริการคำนวณเรื่องการกู้ซื้อบ้าน รวมไปถึงการวางแผนภาษีที่จะช่วยทำให้เราเสียภาษีน้อยลง ทำให้เราเหลือเงินเก็บมากขึ้นด้วย
สุดท้ายก่อนที่เราจะวางแผนซื้อรถยนต์สักคันหนึ่ง อย่าลืมคิดคำนวณให้ดีก่อนว่าเราจำเป็นต้องใช้รถยนต์จริง ๆ เพราะอย่างที่เราเห็นว่าการมีรถยนต์ 1 คัน ก็มีรายจ่ายไม่ใช่น้อย ถ้าสำหรับคนที่ทำงานได้รับเงินเดือน 15,000 บาทแล้ว ต้องมีรายจ่ายเกี่ยวกับรถยนต์สูงถึง 80% ก็ไม่น่าจะรับภาระค่าใช้จ่ายไหวแน่ ๆ
ดังนั้นการมีรถยนต์คันหนึ่งเราก็จะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นมาไม่น้อยเหมือนกัน แนะนำว่าถ้าเรามีรถยนต์แล้วไม่ได้สร้างรายได้ให้กับเราเพิ่มเติมเลยมีแต่รายจ่าย ส่วนตัวก็แนะนำว่าอาจจะยังไม่ถึงเวลาที่ควรมี แต่ถ้าบางคนการเดินทางยากลำบากจริง ๆ อาจจะต้องหาวิธีการเดินทางรูปแบบอื่น ๆ ที่น่าจะช่วยประหยัดเวลาและรายจ่ายได้ การคำนวณต่าง ๆ จะช่วยทำให้เราเห็นภาพมากขึ้น ตัดสินใจได้ดีขึ้น และลดอารมณ์การใช้จ่ายลงแบบไม่คิดได้เป็นอย่างดี รถยนต์เป็นสินทรัพย์ที่ราคาค่อนข้างสูงก่อนซื้อควรวางแผนซื้อรถให้ดีก่อนทุกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow