ความคาดหวังกับคำว่า

ความคาดหวังกับคำว่า "Made in ..." – อุปสรรคที่เจ้าของธุรกิจต้องก้าวข้ามให้ได้

By เกตุวดี Marumura
“Made in อะไรนั้น ... สำคัญไฉน”

เวลาซื้อสินค้าต่าง ๆ ท่านเคยถามพนักงานหรือพลิกป้ายสินค้าดูแหล่งผลิตไหมคะ ?

คำถามหนึ่งที่ดิฉันมักได้รับจากผู้ประกอบการ คือ “เวลาส่งสินค้าไทยไปต่างประเทศ สินค้า Made in Thailand อย่างเราจะเสียเปรียบหรือเปล่าคะ/ครับ ?” ผู้ประกอบการหลายท่านกลัวทัศนคติหรือความคาดหวังที่ลูกค้าจะมีต่อสินค้าที่ทำในบ้านเรา สำหรับท่านที่สนใจส่งสินค้าออกต่างประเทศและสงสัยเรื่องความเป็นแบรนด์ไทย ดิฉันมีคำถาม 3 ข้อง่าย ๆ ให้ท่านได้ตรวจสอบธุรกิจของตนเองค่ะ

1. สินค้าท่านเป็นสินค้าที่แสดงสถานภาพ หรือเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์หรือเปล่า ?


สินค้าที่แสดงสถานภาพ เช่น กระเป๋าหนังหรู เฟอร์นิเจอร์ไฮโซ แหล่งผลิตค่อนข้างมีผลเป็นอย่างยิ่งค่ะ อย่างน้ำหอม ใคร ๆ ก็อยากได้น้ำหอมจากฝรั่งเศส หรือรองเท้าหนังราคาแพง ก็คาดหวังอยากให้ทำในอิตาลี แต่หากสินค้าของท่านเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาไม่แพงจนเกินไป ท่านไม่ต้องห่วงเรื่องประเด็นนี้ค่ะ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะสนใจแหล่งผลิตอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก ไม่เชื่อลองเดินไปร้าน Zara หรือ H&M แล้วพลิกป้ายเสื้อผ้าดูสิคะ เราจะเห็นป้าย “Made in Morocco” หรือ “Made in Cambodia” ทั้งนั้น พวกเราอาจคิดนิดหน่อยว่า เอ๊ะ โมร็อกโกนี่อยู่ไหนนะ แต่หากเสื้อตัวนั้นสวยเก๋ เราก็หลวมตัวซื้ออยู่ดี

คำว่า “Made in …” ไม่มีผลต่อผู้บริโภคขนาดนั้นตราบใดที่ดีไซน์สินค้าหรือคุณสมบัติสินค้าตัวอื่น ๆ มัดใจลูกค้าได้

2. สินค้าท่านเกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์ของประเทศ (เมือง) หรือเปล่า


เมื่อเอ่ยถึงประเทศต่อไปนี้แล้ว ท่านนึกถึงสินค้าอะไรคะ ?

ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์

คงหนีไม่พ้นน้ำหอม เครื่องใช้ไฟฟ้า และช็อกโกแลต (บางท่านอาจนึกถึงนาฬิกา) ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น บริษัทจากสวิสเซอร์แลนด์ที่ผลิตช็อกโกแลต ก็ย่อมสร้างแบรนด์และการยอมรับได้ง่ายกว่าบริษัทเกาหลีที่จะส่งออกช็อกโกแลต

หากสินค้าท่านสอดคล้องกับเอกลักษณ์ที่คนชาติอื่นมองประเทศเรา นำจุดแข็งตรงนี้ไปพัฒนาให้เป็นประโยชน์

ในสายตาคนต่างชาติ ประเทศไทยโด่งดังเรื่องอาหาร สปา เครื่องหอม และงานหัตถกรรมสไตล์เอเชีย หากสินค้าท่านเกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์ของประเทศเช่นนี้ จงใช้ประโยชน์จากชื่อ “Made in Thailand” ให้เต็มที่ค่ะ อย่างแบรนด์ Tokachi Design Farm เจ้าของแบรนด์เห็นว่า เมืองโทคาจิ จังหวัดฮอกไกโด ดังเรื่องแป้งและนม เขาจึงติดต่อเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตแป้งหรือนมคุณภาพดี แต่ไม่เป็นที่รู้จัก และนำมาบรรจุในขวดและถุงเก๋ ๆ ขายเป็นกิฟท์เซ็ต
 
ความคาดหวังกับคำว่า "Made in ...." – อุปสรรคที่เจ้าของธุรกิจต้องก้าวข้ามให้ได้
Credit: TOKACHI DESIGN FARM PROJECT
เซ็ตนี้ ประกอบไปด้วยเมล็ดกาแฟ น้ำผึ้ง แยมรสนม และแป้งทำแพนเค้ก

คนญี่ปุ่นที่รู้จักชื่อเสียงของเมืองโทคาจิดีอยู่แล้วก็รู้สึกเชื่อว่า กิฟท์เซ็ตของแบรนด์ Tokachi Design Farm น่าจะอร่อยดีจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักผู้ผลิตแต่ละราย

3. สินค้าท่านตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนประเทศนั้น ๆ หรือไม่


ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเปิดรับสินค้าจากประเทศที่มีไลฟ์สไตล์ตรงหรือเหมาะกับประเทศตนเองมากกว่า

ดังเช่น บริษัท Kamedani บริษัทผู้ผลิตเซรามิก ได้ค้นพบว่า มีกลุ่มคนอเมริกันและคนออสเตรเลียที่ชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นอยู่มาก ประกอบกับคนสองชาตินี้ ชอบทานเนื้อย่างบาร์บีคิว ทางบริษัทจึงคิดค้นจานกระทะร้อนทรงกระเบื้องหลังคาญี่ปุ่นโบราณและประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง
 
ความคาดหวังกับคำว่า "Made in ...." – อุปสรรคที่เจ้าของธุรกิจต้องก้าวข้ามให้ได้

แต่หากท่านต้องการส่งออกสินค้าที่แสดงสถานภาพหรือเกี่ยวกับภาพลักษณ์ หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์ของประเทศ หรือมิได้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนในประเทศกลุ่มเป้าหมายแต่อย่างใด กล่าวย่อ ๆ คือ ไม่ตรงกับสามข้อด้านบนเลย ไม่ต้องห่วงนะคะ

ทางแก้ คือ ท่านต้องสร้างเอกลักษณ์ของสินค้าให้โดนใจผู้บริโภคจริง ๆ

มีงานวิจัยทางการตลาดระบุว่า แม้ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับ “Made in” แต่หากสินค้าชิ้นนั้นโดนใจผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติที่ใช่ หรือดีไซน์ที่ชอบ อิทธิพลของประเทศที่ผลิตก็จะลดลง ดังเช่น กรณีบริษัท Taiyo Toryo ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสีกระป๋อง พวกเขาคิดค้นสีรูปแบบใหม่บรรจุหลอดที่คนสามารถบีบเขียนบนพื้นกระจกหรือพื้นปูน แล้วลอกออกได้ตามใจชอบ ผลิตภัณฑ์นี้เป็นที่ถูกใจ Buyer ของอเมริกาและฝรั่งเศสเป็นอย่างยิ่ง และหากสังเกตดี ๆ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ขายความเป็นญี่ปุ่นหรือวัฒนธรรมใด ๆ แต่ขายได้ด้วยนวัตกรรมของสินค้าเอง
 
ความคาดหวังกับคำว่า "Made in ...." – อุปสรรคที่เจ้าของธุรกิจต้องก้าวข้ามให้ได้
ชื่อสินค้า Masking Color
Credit: Loftwork

นอกจากนี้ การสื่อสารก็เป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรลืม ในเมื่อคำว่า “Made in Thailand” ขายไม่ได้ เราอาจตั้งชื่อให้แบรนด์ดูเป็นแบรนด์อินเตอร์ไปเลย ตัวอย่างที่ดีมาก ๆ คือ ยาสีฟันเดนทิสเต้ ชื่อแบรนด์อินเตอร์ ใช้ภาพฝรั่งสองคนยิ้มให้กันฟันขาว ฉลากเป็นภาษาอังกฤษหมด ทำให้พวกเรานึกว่าเป็นแบรนด์ต่างชาติ (ยาสีฟันตัวนี้มีจำหน่ายที่ญี่ปุ่นด้วย คนญี่ปุ่นเอง ก็ไม่รู้ว่าเป็นแบรนด์ไทยค่ะ นึกว่าเป็นแบรนด์อินเตอร์) ขณะเดียวกัน ให้ข้อมูลที่สร้างความน่าเชื่อถือประกอบ เช่น มีมาตรฐานรองรับหรือใบรับรองต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยลดอคติที่มีต่อประเทศแหล่งผลิตได้ค่ะ

สุดท้ายนี้ อย่าปล่อยให้ความกังวลเรื่อง “Made in Thailand” เป็นอุปสรรคขวางกั้นไม่ให้คุณผู้อ่านส่งออกสินค้าไปต่างประเทศนะคะ ร่วมกันพัฒนาและส่งออกผลิตภัณฑ์ดี ๆ จากไทยไปยังต่างประเทศกันค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา