ไอเดียการตลาดสไตล์ญี่ปุ่น คลายความเครียด พร้อมขจัด Pain Point

ไอเดียการตลาดสไตล์ญี่ปุ่น คลายความเครียด พร้อมขจัด Pain Point

By เกตุวดี Marumura

เมื่อไปเที่ยวญี่ปุ่น เราจะรู้สึกว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่น่าอยู่มาก อาหารอร่อย คนบริการดี การคมนาคม สาธารณูปโภคก็พร้อมเพรียง

แต่เมื่อถามคนญี่ปุ่น หลายคนจะบอกว่า อยากหนีไปอยู่ที่อื่นเหมือนกัน เนื่องจากพวกเขารู้สึก “เครียด” เครียดจากงานที่ละเอียด และต้องอยู่ในระดับที่เพอร์เฟ็กต์ การทำงานผิดพลาด คือ ความตาย ส่วนแม่บ้านก็เครียดกับความสัมพันธ์ระหว่างเหล่าแม่ ๆ หรือเครียดว่า เบนโตะลูกจะไม่สวยเท่าของลูกบ้านอื่น จะว่าไป คนญี่ปุ่นก็มีเรื่องเครียดในชีวิตมาก แถมคนญี่ปุ่นยังไม่มีศาสนาให้พึ่งพาทางจิตใจ คนส่วนใหญ่จึงมักระบายความเครียดด้วยการหาสินค้าหรือบริการมาเยียวยาหัวใจนั่นเอง

ในครั้งนี้ ดิฉันขอหยิบยกความเครียดของคนสามกลุ่ม และนำเสนอสินค้าสามอย่างที่ตอบโจทย์ชีวิตของพวกเขาที่ในขณะเดียวกันก็ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างงดงามค่ะ
 

เมื่อหนุ่มเครียด ...




ในภาวะที่ตลาดเบียร์ญี่ปุ่นหดตัว คนหนุ่มสาวเริ่มไม่ค่อยดื่มเบียร์ ไม่มีโมเมนต์ทำงานเหนื่อย ๆ กลับบ้าน เปิดตู้เย็นแล้วซดเบียร์โฮก ๆ เหมือนคนญี่ปุ่นรุ่นก่อน ผู้ชายวัย 20-30 ปีไม่อยากดื่มเบียร์ เพราะขม ทำงานเหนื่อย ๆ กลับบ้านมา อยากรีแลกซ์ ชิวชิว อยู่ที่บ้านมากกว่า ขณะเดียวกันก็คอยหา passion และความฝันในชีวิต

จากการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียด บริษัท Suntory จึงตัดสินใจออกเบียร์ Whitebelg โดยจำลองรสและกลิ่นของเบียร์เบลเยี่ยม กลิ่นหอมผลไม้อ่อน ๆ รสชาติไม่ขมเกินไป ดื่มง่าย รสชาติแบบเบียร์คราฟต์ (Craft Beer) โดยจำหน่ายในราคาเพียงร้อยกว่าเยน (สามสิบกว่าบาท)

ส่วนข้อความสื่อสารนั้น ทางแบรนด์ใช้คำว่า “No Bitter Life” ชีวิตไม่ต้องอดทนหรือทุกข์ยากอะไรขนาดนั้น มาใช้ชีวิตอย่างอิสระ ทำในสิ่งที่รักดีกว่า โดยเลือกเรื่องราวของคนต่าง ๆ ที่กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เช่น วิศวกร IT ที่บ้าเกม ตอนแรกไม่กล้าบอกใครเรื่องความเป็นโอตาคุ แต่ภายหลังก็กล้าแสดงออกและกล้าทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เป็นอิสระมากขึ้น

ด้วยรสชาติที่ถูกปาก ราคาที่โดนใจ และการสื่อสารที่สะท้อน pain point ของลูกค้าจริง ๆ ในปีแรก ยอดขาย Whitebelg พุ่งสูงถึง 1 ล้านลัง เกิดปรากฏการณ์วัยรุ่นหาซื้อเบียร์ชนิดนี้ ใครเจอเบาะแส จะโพสต์ลง SNS ทำให้ทุกคนสนุกกับการตามหาเบียร์ตัวนี้
 
ไอเดียการตลาดสไตล์ญี่ปุ่น คลายความเครียด พร้อมขจัด Pain Point

เมื่อประสบความสำเร็จในปีแรกอย่างงดงาม ทาง Suntory จึงดีไซน์กล่องเบียร์ใหม่ เป็นกล่องสองชั้น ใส่เบียร์ได้แปดกระป๋อง เมื่อหยิบมาดื่ม กระป๋องถัดไปจะไหลมารอที่ปากกล่องโดยอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องห่วงเรื่องหยิบเบียร์ยาก หรือกลัวเรื่องเปลืองพื้นที่ตู้เย็น ไม่ต้องคอยแช่เบียร์บ่อย ๆ
 
ไอเดียการตลาดสไตล์ญี่ปุ่น คลายความเครียด พร้อมขจัด Pain Point
 

เมื่อสาวออฟฟิศเครียด ...




สาวออฟฟิศตามเมืองใหญ่มักไม่ค่อยมีเวลาเป็นของตัวเอง งานหนัก กลับบ้านมาก็เหนื่อย ไม่ค่อยมีเวลาทำอาหารทานสักเท่าไร

บริษัท Marukome ผู้ผลิตซุปมิโซะเจ้าดังจึงออกผงซุปพร้อมทานรุ่นใหม่ ชื่อ “O miso Shiru no Uta” แปลว่า “เพลงของเหล่าซุปมิโซะ” เวลาเหนื่อย ๆ กลับบ้านมา ได้ดื่มซุปอุ่น ๆ ก็ทำให้หัวใจสาว ๆ พอจะชุ่มชื้นขึ้นมาได้บ้าง โดยเริ่มจาก....

....แค่เห็นกล่องซุปมิโซะสีขาวแต้มสีน้ำสวย ๆ ที่วางอยู่บนโต๊ะ ก็ทำให้สาวญี่ปุ่นหัวใจเบิกบานได้แล้ว หนึ่งกล่องมี 20 ซอง มีทั้งหมด 4 แบบให้เลือกตามเครื่อง ได้แก่ เต้าหู้ สาหร่ายคอมบุ ผัก และหอยลาย ซองแพ็กเกจจิ้งก็ใช้สีพาสเทลลายน่ารัก ชวนนึกถึงหนังสือภาพที่อ่านตอนเด็ก ๆ มิโสะก็ไม่ได้เป็นแบบซอสมิโซะเหมือนเจ้าอื่น แต่เป็นผง สาว ๆ ไม่ต้องกลัวเลอะมือ
 
ไอเดียการตลาดสไตล์ญี่ปุ่น คลายความเครียด พร้อมขจัด Pain Point

ความน่ารัก คือ ซุปมิโซะแต่ละแบบ จะมีเพลงของตัวเอง เช่น รสเต้าหู้ (โทฟุ) ชื่อเพลงคือ “อุฟุฟุ โนะ โทฟุ”

คำร้องและคำแปล (บางส่วน) ประมาณนี้ค่ะ

“อิโรจิโระ โทฟุ อุฟุฟุ วารัตเตหรุ
อุ โตะ ฟุ กะ อิปไป
อุฟุฟุ โนะ โทฟุ”
เจ้าเต้าหู้สีขาว หัวเราะอุฟุฟุ
มีคำว่า “อุ” กับ “ฟุ” เต็มไปหมดเลย
เจ้าเต้าหู้ที่หัวเราะอุฟุฟุ
 

ทั้งภาพบนซอง ทั้งคำและเสียงเพลงฟังดูอ่อนโยนไปหมด เหมาะกับการเยียวยาหัวใจสาวออฟฟิศจริง ๆ ค่ะ
 
ไอเดียการตลาดสไตล์ญี่ปุ่น คลายความเครียด พร้อมขจัด Pain Point
 

เมื่อสาว ๆ เครียดหน้ากลม ...




กระแสหน้าเล็กเรียวนี่ ไม่ได้ฮิตแค่ในเมืองไทย สาวญี่ปุ่นก็กรี๊ดนางแบบหรือนักแสดงที่หน้าเรียว ๆ เล็ก ๆ เช่นเดียวกัน แต่ด้วยใบหน้าสาวญี่ปุ่นหลายคนมีลักษณะกลม ๆ หรือหน้าไม่ได้เล็ก ๆ เหมือนไอดอล เลยกลายเป็นปมด้อยเล็ก ๆ ในใจของสาวญี่ปุ่น (พอ ๆ กับปัญหาตาตี่หรือตาชั้นเดียว แต่สำหรับดวงตา สาวญี่ปุ่นก็มีวิธีแก้โดยทาอายแชโดว์กับกรีดอายไลเนอร์ได้) ที่สำคัญ คนญี่ปุ่นยังไม่นิยมทำศัลยกรรมแบบเกาหลีหรือไทยเท่าไร เพราะกลัวเพื่อน ๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงกะทันหัน และรู้สึกเขินอาย

บริษัท Uni-charm เห็นโอกาสนี้ และอยากเนรมิตสาวหน้ากลมให้เป็นสาวหน้าเรียวชั่วข้ามคืนโดยไม่ต้องพึ่งมีดหมอ ทางบริษัทเลือกใช้สินค้าหนึ่งที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นทุกปี นั่นก็คือ มาส์กปิดปากนั่นเอง

คนญี่ปุ่นใส่มาส์กกันเป็นจำนวนมาก ด้วยหลากหลายสาเหตุ เช่น ป้องกันละอองเกสรต้นสน (ที่มักแพร่กระจายช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม) เพื่อป้องกันคนอื่นติดหวัดตนเอง ส่วนผู้หญิงบางคนต้องการปกปิดใบหน้าสดของตัวเอง ก็ใส่มาส์กขึ้นรถไฟ แล้วค่อยไปแต่งหน้าที่ทำงานก็มี

และนี่คือผลิตภัณฑ์ “มาส์กหน้าเรียว” ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์สาว ๆ ที่เครียดเรื่องหน้ากลมโดยเฉพาะค่ะ
 
ไอเดียการตลาดสไตล์ญี่ปุ่น คลายความเครียด พร้อมขจัด Pain Point

ด้านล่างของหน้ากาก เมื่อสวมใส่ จะเป็นมุมแหลมมากกว่ามาส์กธรรมดาทั่วไป ทำให้ใบหน้าผู้ใส่ดูเรียว ยาว
 
ไอเดียการตลาดสไตล์ญี่ปุ่น คลายความเครียด พร้อมขจัด Pain Point
Credit: Unicharm

มาส์กตัวนี้จึงเป็นที่นิยมในหมู่สาว ๆ ผู้รักสุขภาพตัวเอง ขณะเดียวกัน ก็อยากรักสวยรักงามด้วย เรียกได้ว่า Uni-charm ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่เคยใช้ดูแลสุขภาพ กลายเป็นเครื่องมือเสริมความงามได้

LESSON LEARNED:


โดยปกติแล้ว เวลาหาไอเดียสินค้าใหม่ ๆ นักการตลาดมักยึดติดกับคำว่า “หาความต้องการ” ของลูกค้าให้เจอ แต่สำหรับตลาดญี่ปุ่น ตลาดสินค้าส่วนใหญ่มักอิ่มตัว สินค้าที่มีในตลาดก็สามารถตอบโจทย์ปัญหาของลูกค้าได้แล้ว เช่น เบียร์ที่อร่อยเลิศ ซุปที่รสชาติถูกปาก ขณะเดียวกัน ก็ดีต่อสุขภาพ นักการตลาดญี่ปุ่นจึงเริ่มหันมาเล่นกับ “คุณค่าทางอารมณ์ (Emotional Benefit)” มากขึ้น

ผลิตภัณฑ์ทั้งสามชนิดข้างต้น ล้วนเกิดมาจากการที่นักการตลาดพยายามตีโจทย์ “ปัญหา” หรือ “ความกลุ้มใจ ความเครียด” ที่กลุ่มเป้าหมายเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย Gen-Y ที่กลุ้มใจกับการหาและแสดง Identity ตัวเอง สาวออฟฟิศที่เครียดกับการงานและต้องการพักผ่อน หรือสาว ๆ ที่กลุ้มใจกับใบหน้า และขาดความมั่นใจในตัวเอง

คำถามสำคัญที่จะทำให้ท่านสามารถตั้งโจทย์ หรือหาไอเดียผลิตภัณฑ์ที่สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้ และเล่นกับคุณค่าทางอารมณ์ได้ คือ “ลูกค้ารู้สึกอย่างไร” เช่น เมื่อเห็นผู้หญิงทำงานเดินกลับบ้านมา เปิดประตู และล้มตัวนอนบนโซฟา ท่านต้องจินตนาการให้ได้ว่า ผู้หญิงคนนั้น รู้สึกอย่างไร (เครียด/เบื่อ/เซ็ง/หงุดหงิด) จากนั้น คิดต่อว่า สินค้าที่เรากำลังจะออกแบบ (เบียร์ ซุป มาส์ก) จะช่วยเปลี่ยนพลังลบเหล่านั้น ให้กลายเป็นพลังบวกอย่างไรได้บ้าง เช่น
 
สินค้า = ซุป
สถานการณ์ที่สังเกต: ผู้หญิงทำงาน กลับบ้านดึก

“รู้สึกอย่างไร?”
วิเคราะห์: พวกเธอรู้สึกเครียด เหนื่อย หมดแรง

“แปลงลบเป็นบวกได้อย่างไร”
วิเคราะห์: ซุปที่จะทำให้พวกเธอรู้สึกอุ่นใจ เยียวยาจิตใจ

“สินค้าแบบไหน”
วิเคราะห์:
  • รสชาติต้องอร่อย แต่กลมกล่อม
  • หน้าตาผลิตภัณฑ์ โทน ดีไซน์ ควรดูอ่อนโยน

บทความนี้ ถ่ายทอดวิธีการมองปัญหาและสร้างไอเดียผลิตสินค้าแบบญี่ปุ่น แต่หากท่านใด สนใจเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์แบบญี่ปุ่นเพิ่มเติม ขอแนะนำบทความ ทำอย่างไรให้แพ็กเกจจิ้งเก๋ไก๋สไตล์ญี่ปุ่น หรือเบื้องหลังสินค้าญี่ปุ่นที่ขายดีที่สุดในโลกค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา