เบื้องหลังสินค้าญี่ปุ่นที่ขายดีที่สุดในโลก

เบื้องหลังสินค้าญี่ปุ่นที่ขายดีที่สุดในโลก

By เกตุวดี Marumura

สินค้าญี่ปุ่นอะไรเอ่ย ขายดีที่สุดในโลก
สินค้านั้น ขายได้ถึงปีละ 10 ล้านคัน

ใช่แล้วค่ะ ดิฉันกำลังพูดถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ หากดูจำนวนรถยนต์ที่จำหน่ายได้ในแต่ละปี โตโยต้า เป็นแบรนด์ที่ขายดีที่สุดในโลก โดยรักษาตำแหน่งอันดับที่ 1 ในตลาดนี้ได้ถึง 4 ปีแล้ว แม้บริษัทโฟล์กสวาเกนจะตามมาติด ๆ เป็นอันดับที่ 2 แต่ก็เป็นการนับยอดขายรวมของทุกแบรนด์ในบริษัท ทั้ง Audi Lamborghini และ Volkswagen
หากดู Top 10 แบรนด์ที่ขายดีที่สุดในโลกนั้น มีแบรนด์ญี่ปุ่นถึง 3 แบรนด์ที่ติด Top 10 นี้ ได้แก่ นิสสัน (อันดับที่ 3) ฮอนด้า (อันดับที่ 7) และซูซูกิ (อันดับที่ 10) ถือว่าเป็นสถิติที่ไม่เลวเลยสำหรับประเทศที่หันมาผลิตรถยนต์ช้ากว่าชาวบ้าน ยุโรปและอเมริกานั้น เริ่มพัฒนารถยนต์มาตั้งแต่ช่วง 1900 ในขณะที่ญี่ปุ่นเริ่มพัฒนารถยนต์จริงจังหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
รถญี่ปุ่นบางรุ่น อย่างเช่น โตโยต้า โคโรลล่า เป็นที่นิยมในตลาดอย่างยาวนานตลอด 50 ปี มีการคำนวณว่า ในช่วงครึ่งศตวรรษนี้ รถโตโยต้า โคโรลล่า ถูกขายไปแล้วมากกว่า 30 ล้านคัน เฉลี่ยแล้ว ทุก 40 วินาที จะต้องมีลูกค้าสักคนที่ซื้อโคโรลล่า
อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จทั้งด้านยอดขายและเป็นที่รักของลูกค้าทั่วโลกอย่างยาวนานเช่นนี้?

1. ความคุ้มค่า (จนน่าแปลกใจ)

รถญี่ปุ่นเป็นการผสมผสานของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ล้ำหน้าในราคาประหยัด เหมือนขายของมูลค่า 10 ล้านในราคาเพียงแค่ 2 ล้าน ทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า เพราะตนคิดว่าได้อะไรมากกว่าเงินที่จ่ายไป
ความคุ้มค่าของรถญี่ปุ่นมีตั้งแต่การช่วยประหยัดน้ำมันมากที่สุด หรือใช้เครื่องยนต์ดีที่สุด อย่างรถ Mitsubishi Lancer หรือรถสปอร์ตนิสสันรุ่น GT-R ที่ใช้เครื่องยนต์แรงและดีระดับโลก อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ระบบเซนเซอร์ป้องกันการชนของโตโยต้า (Toyota Safety Sense) ที่มีเซนเซอร์ไวและแม่นยำ โดยใช้เซนเซอร์ถึง 2 ระบบ เพื่อสามารถให้เซนเซอร์ทำงานได้ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นยามอากาศไม่ดีหรือยามค่ำคืน
คนญี่ปุ่นจะไม่ได้คิดราคาโดยบวกเพิ่มจากต้นทุน หรือมุ่งมั่นทำรถหรูเพื่อหวังกำไร ในทางกลับกัน พวกเขาจะพยายามสร้างรถยนต์ที่ดีที่สุดในราคาประหยัดที่สุด เพื่อต้องการให้คนทั่วไปสามารถซื้อรถยนต์ขับได้ ขณะเดียวกัน ตนเองก็พยายามลดต้นทุนการผลิตทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระทางราคา

2. ใส่ใจในรายละเอียด

รถยนต์ญี่ปุ่นเป็นนวัตกรรมที่สะท้อนความเป็นคนญี่ปุ่น นั่นคือ ความละเอียดอ่อน และใส่ใจในทุกรายละเอียด แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเสียงปิดประตูที่เบา หรือที่วางแก้วน้ำและสิ่งของต่าง ๆ ในรถ
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์มาสด้าที่ถึงกับสร้างทีมเพื่อออกแบบเบาะนั่งในรถโดยเฉพาะ มีการตั้งเกณฑ์การวัดที่เรียกว่า Sheet Feeling Evaluation หรือการตรวจสอบสัมผัสเบาะ โดยทางทีมจะประเมินตั้งแต่วัสดุที่ใช้ทำเบาะ ความสบายในการนั่ง จนถึงการออกแบบสวิตช์ปรับเอนเบาะ และตำแหน่งของสวิตช์ที่สามารถจับได้ง่าย สมาชิกในทีมคนหนึ่งต้องนั่งเบาะที่ทางแบรนด์ออกแบบขึ้นมา โดยนั่งและให้ขยับขึ้นลงกว่า 1 พันครั้งเพื่อดูว่า นั่งแล้วปวดหลังหรือไม่ เธอต้องทำเช่นนี้สามรอบ เท่ากับเธอต้องนั่งบนเบาะและขยับหน้าหลังไปมามากกว่า 3 พันครั้งเลยทีเดียว จะมีรถยนต์ชาติใดที่นักออกแบบทุ่มเทและใส่ใจในรายละเอียดทุกจุดเช่นนี้
ความใส่ใจในรายละเอียด ในที่นี้ยังรวมถึงการมุ่งมั่นผลิตรถยนต์ที่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุดอีกด้วย ฮอนด้าใช้เวลาถึง 16 ปีกว่าจะพัฒนาระบบ Air Bag ให้สมบูรณ์ขึ้นมาได้ ในจุดที่ระบบทำงานได้ถูกต้องถึงร้อยละ 99 หรือโอกาสที่ระบบจะทำงานผิดพลาดนั้น มีเพียง 1 ในล้านครั้งเท่านั้น แต่ทางฮอนด้าก็รู้สึกว่า ยังไม่พอ พวกเขาส่งทีมไปศึกษาเทคโนโลยีและระบบต่าง ๆ จากนาซา เพื่อกลับมาผลิตระบบ Air Bag ที่สมบูรณ์แบบที่สุดให้จงได้

3. ความมุ่งมั่นและจิตวิญญาณผู้ผลิต

ความมุ่งมั่น มุมานะพยายามไม่ยอมแพ้ และจิตวิญญาณในการสู้ถึงที่สุดนั้น สถิตย์อยู่ในสินค้าญี่ปุ่นทุกอย่าง ไม่จำกัดเพียงแค่อุตสาหกรรมรถยนต์ คนญี่ปุ่น เมื่อพัฒนาหรือสร้างอะไร จะทำถึงที่สุด ซึ่งข้อนี้ เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของการสร้างรถยนต์ที่คุ้มค่า และใส่ใจในรายละเอียดแม้ในจุดที่ผู้บริโภคก็คาดไม่ถึง
อย่างโตโยต้า ก็มุ่งมั่นที่จะสร้างรถยนต์ที่ปลอดภัยที่สุด โดยคำว่า “ปลอดภัย” ที่โตโยต้ามุ่งมั่นสร้างขึ้นมานั้น หมายถึง จำนวนผู้เสียชีวิตเท่ากับศูนย์ กล่าวคือ ปลอดภัยต่อชีวิตทั้งคนขับและผู้ใช้ท้องถนนคนอื่น ๆ ต้องไม่มีใครเสียชีวิตเพราะรถโตโยต้า ทางบริษัทจึงเร่งพัฒนาระบบเซนเซอร์ที่ดีที่สุดและสามารถใช้ในทุกสถานการณ์
ถามว่า ความมุ่งมั่นเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบคือ เกิดจากทัศนคติในการทำงานของวิศวกรนักออกแบบของญี่ปุ่น พวกเขามองว่า ตนเองไม่ได้กำลังสร้างรถยนต์ แต่กำลังมอบ “อิสระในการเดินทาง” และเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คน หรือบางคนก็มองว่า ตนกำลังช่วยสร้างความฝันที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค พูดง่าย ๆ คือ คนญี่ปุ่นจะคิดถึงลูกค้าตลอดเวลา พวกเขาจินตนาการถึงใบหน้าอันแจ่มใสจากการที่ลูกค้าได้ขับรถดี ๆ คิดถึงความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และ “ความสุข” ที่ลูกค้าจะต้องได้รับจากสิ่งที่ตนเองสร้างขึ้น เมื่อคิดจะทำให้ผู้อื่นมีความสุข ตัวคนสร้างเองก็เกิดแรงบันดาลใจ และมุ่งมั่นที่จะฟันฝ่าอุปสรรคหรือก้าวข้ามความเป็นไปไม่ได้ต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้คนมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น พวกเขาภูมิใจและรักในงานที่ทำ เมื่อยิ่งรัก ก็ยิ่งทุ่มเทนั่นเอง
เราสามารถเรียนรู้อะไรจากอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นได้บ้าง?
ความมุ่งมั่นที่จะสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยพยายามทำสินค้าที่ดีในราคาย่อมเยา เกิดมาจากความปรารถนาดีเพื่อผู้อื่น ทำให้คนญี่ปุ่นตั้งใจผลิตสินค้า และใส่ใจในรายละเอียดต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้มาจากความตั้งใจช่วยเหลือผู้คน เมื่อแบรนด์ตั้งใจทำดีอย่างแท้จริง ผู้บริโภคก็จะรับรู้ได้ และมอบความเชื่อใจ ตลอดจนความจงรักภักดีในแบรนด์เป็นสิ่งตอบแทนนั่นเอง แนวคิดนี้ไม่ได้มีเพียงในอุตสาหกรรมรถญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังแฝงอยู่ในทุก ๆ บริการ ทั้งสายการบินญี่ปุ่น และการคิดค้นออกแบบสินค้าญี่ปุ่นให้ถูกใจคนทั่วโลก
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow