Business Disruption คืออะไร
Business Disruption คือ ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะตั้งแต่โลกของเรา มีเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ทุกอย่างก็ดูรวดเร็วไปหมด หลายธุรกิจที่เคยเป็นผู้สำเร็จในอดีตที่ทำกำไรมาอย่างยาวนาน เมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบันก็อาจจะไม่สามารถทำกำไรได้เหมือนเดิมแล้ว ผู้ประกอบการทุกคนจึงต้องมีทักษะใหม่เพื่อ “ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงธุรกิจ” ไปตามสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปให้ได้
ที่ญี่ปุ่นก็มีธุรกิจหลายประเภท ที่ประสบกับ Business Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำธุรกิจ มักเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้า หรือปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ธุรกิจเดิมต้องปรับตัว หรือสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจเดิม ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจมาก
ในบทความนี้ผมจะแนะนำวิธีการรับมือ Business Disruption พร้อมยกตัวอย่างบริษัทญี่ปุ่นอย่าง Sony Corporation ที่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้รอดพ้นจากสภาวะ Business Disruption จนอยู่รอดมาถึงปัจจุบัน เผื่อเป็นไอเดียให้กับใครก็ตามที่ต้องการแนวทางในการจัดการกับเรื่องนี้
Sony ถือเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องเล่นเกม และเครื่องเล่นสื่อบันเทิงระดับโลกเพราะสินค้าหลายอย่างมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลกยกตัวอย่าง เช่น เครื่องเล่นเกม PlayStation, เครื่องเล่นเพลงแบบพกพา Sony Walkman ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการฟังเพลงของมนุษยชาติทั้งโลก รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบเครื่องเสียง หูฟัง กล้องถ่ายภาพดิจิทัล เรียกได้ว่า Sony ติดลมบนมาอย่างยาวนาน แต่บริษัทขนาดใหญ่อย่าง Sony ก็ได้รับ
ผลกระทบจาก Business Disruption ดังต่อไปนี้
1. รายได้ลดลงมหาศาล
จากธุรกิจกล้องถ่ายภาพดิจิทัล โดยเฉพาะในช่วงปี 2010-2019 Sony มียอดขายกล้องดิจิทัลลดลงจาก 17.5 ล้านเครื่องลงมาเหลือ 6.1 ล้านเครื่อง เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงจากความนิยมในการใช้งานจากกล้องดิจิทัล เปลี่ยนไปใช้กล้องถ่ายรูปจากสมาร์ทโฟนที่ง่าย และสะดวกกว่า
Photo credit : Statista
ยอดขายกล้องถ่ายภาพดิจิทัลทั่วโลกก็ลดลง 87% ตั้งแต่ปี 2010
สถิติจากสมาคมผู้ค้ากล้อง และผลิตภัณฑ์ด้านภาพ (CIPA) ที่มีสมาชิกคือ Olympus, Casio, Canon, Kodak, Sony และ Nikon เป็นต้น
2. การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเกมออนไลน์
ซึ่งจะเห็นว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คู่แข่งของ Sony ในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องเกมหลายแห่ง เช่น บริษัท Microsoft ก็ออก Xbox Live ในปี 2002 ซึ่งทำให้ผู้ใช้งาน Xbox ซึ่งเป็นเครื่องเล่นเกมวีดีโอแบบคอนโซลสามารถเล่นเกมได้หลายผู้เล่น ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ บริษัท Nintendo อีกคู่แข่งคนสำคัญของ Sony ก็ออก
Nintendo Switch Online มาช่วยปลดล็อกให้ผู้เล่นเกม Nintendo Switch เครื่องเล่นเกมแบบพกพาที่เป็นคู่แข่งสำคัญของเครื่องเล่นเกม PlayStation ของ Sony ให้สามารถเล่นเกมได้หลายผู้เล่น ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ในปี 2018
นอกจากนี้ยังมีบริษัท Tencent บริษัท IT สัญชาติจีนที่เป็นเจ้าของเกมออนไลน์หลายตัว เช่น ROV, PUBG ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเล่นเกมของผู้คนจากการเล่นเกมเครื่องเล่นเกมแบบคอนโซลสู่การเล่นเกมออนไลน์มากขึ้น จนปัจจุบันเติบโตจนกลายเป็นบริษัทผลิตเกมออนไลน์อันดับ 1 ของโลก มีรายได้แซงหน้าธุรกิจผลิตเกมของบริษัท Sony ไปแล้ว
3. การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง
พฤติกรรมของลูกค้าในการรับชมสื่อบันเทิง จากที่เคยดูภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์เป็นหลัก เปลี่ยนแปลงไปเป็นการรับชมสื่อใน
ระบบสตรีมมิงออนไลน์ เช่น Netflix, Amazon Prime, Disney+ มากขึ้น ทำให้บริษัท Sony Pictures ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้านี้ เช่น การเซ็นสัญญากับ Netflix ให้สิทธิการสตรีมมิงหนังใหม่ ที่จะออกมาตั้งแต่ปี 2022-2026 นอกจากนี้ก็ยังได้เซ็นสัญญาร่วมกับ Disney+ (คู่แข่งของ Netflix) โดยให้สิทธิในการนำ Spider-Man รวมทั้งแฟรนไชส์อื่นๆ ที่เป็นลิขสิทธิ์ของ Sony Pictures มาอยู่ใน Disney+ หลังจากหมดสัญญากับ Netflix ในปี 2026
สิ่งที่ Sony ลงมือทำเพื่อให้ผ่านพ้น Business Disruption
1. เมื่อเห็นว่ายอดขายกล้องถ่ายภาพดิจิทัลลดลง จึงพยายามพัฒนาปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจ โดยการผลิตสินค้าใหม่ที่ตอบสนองกับไลฟ์สไตล์คนในยุคปัจจุบัน เช่น กล้องถ่ายรูป Sony ZV-E10 หรือกล้องสำหรับถ่าย Vlog ที่เปลี่ยนเลนส์ได้ มีขนาดกะทัดรัด เหมาะสำหรับคนทั่วไปที่ต้องการทำสื่อ (Creator) เป็นของตัวเอง โดยตัวกล้องมีคุณสมบัติเหนือกว่ากล้องถ่ายรูปจากสมาร์ทโฟนที่เข้ามา โดยกล้องรุ่นนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Sony คว้าแชมป์อันดับ 1 ยอดขายกล้อง Mirrorless จากสถิติครึ่งปีแรกของ 2023 ในญี่ปุ่นมาได้สำเร็จ
2. การเข้าไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ และเทคโนโลยีใหม่ ยกตัวอย่างเช่น Cogitai สตาร์ทอัพด้าน AI ปัญญาประดิษฐ์ ดึงผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกมาช่วยงาน รวมถึงการเปิดยูนิตธุรกิจใหม่อย่าง Sony Startup Acceleration Program (SSAP) ที่มีจุดประสงค์คือใช้ความรู้ความสามารถเชิงธุรกิจของ Sony ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีความฝันอยากผลักดันไอเดียให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้งมาปี 2014 โครงการนี้สามารถผลักดันสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดได้มากมาย
3. การพัฒนาแพลตฟอร์มสตรีมมิงออนไลน์แบบอัจฉริยะ คือ PlayStation Network ที่รวมระบบการสตรีมมิงเกม รายการทีวี และเนื้อหาความบันเทิงอื่น ๆ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ในการบันเทิงออนไลน์ เรียกได้ว่าเป็นผู้นำในการผลิตเครื่องเล่นเกมในอดีต ที่สามารถเอาชนะ Business Disruption และต่อยอดผลิตภัณฑ์มาได้จนถึงปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างบางส่วนของ Sony ที่รับมือต่อสถานการณ์ Business Disruption ที่เกิดขึ้นในยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้เล่นขนาดใหญ่อย่าง Sony ก็จำเป็นต้องปรับตัว เพื่อคงความได้เปรียบในอุตสาหกรรมที่ทำอยู่
Guideline เพื่อการเอาตัวรอดในยุคที่มี Business Disruption อยู่ตลอดเวลา
เชื่อว่ายุคนี้คือยุคที่มี Business Disruption มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่รวดเร็วที่สุด และมีโอกาสเพิ่มความเร็วมากขึ้นด้วย ฉะนั้น ในฐานะเจ้าของธุรกิจ และผู้ประกอบการ ควรจะมีแนวทางการรับมือกับ Business Disruption ที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจของคุณได้ทุกเมื่อ ซึ่งจะขออนุญาตแนะนำตามวิธีดังต่อไปนี้
1. Outsource จ้างผู้เชี่ยวชาญช่วยพัฒนาเทคโนโลยีให้กับบริษัท เพื่อเพิ่มมุมมองใหม่ ๆ ที่ใช้รับมือกับ Business Disruption ที่อาจจะเกิดกับเราได้ทุกเมื่อ โดยสาเหตุที่ให้จ้างผู้เชี่ยวชาญภายนอก เป็นเพราะว่า บริษัทส่วนใหญ่จะยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงอะไรที่ดูเสี่ยงจนเกินไป ทำให้พลาดโอกาสในการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ให้กับบริษัท
2. การพัฒนาและนำเทคโนโลยี IT มาใช้อย่างเต็มที่ เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงอย่าง Business Disruption ที่เกิดขึ้นรวดเร็วของเทคโนโลยี เช่น
การนำ Big Data, AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของบริษัท ซึ่งการเปิดรับเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ เข้ามาใช้อย่างเป็นประจำจะทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่นต่อ Business Disruption ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
3. พยายามค้นหาตลาดใหม่ ๆ จากองค์ความรู้ที่มีอยู่ขององค์กร เช่น บริษัท Sony ที่นำองค์ความรู้ด้านการต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่มาต่อยอดเป็นไอเดียใหม่ให้กลายเป็นสินค้า หรือบริการที่เกิดขึ้นมาจริง ๆ จึงเกิดมาเป็นธุรกิจชื่อว่า Sony Startup Accelaration Program (SSAP) ซึ่งการค้นหาตลาดใหม่โดยใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมนั้น ใช้ต้นทุนต่ำมาก แต่อาจจะต้องใช้วิธีการ Brainstorm จากพนักงานในบริษัทที่ทำงานใกล้ชิดกับลูกค้า ซึ่งเข้าใจความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
หวังว่าบทความนี้ จะช่วยให้คุณผู้อ่านเข้าใจ Business Disruption ว่าคืออะไร และมีอะไรที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจิจของเราให้มากขึ้น พร้อมวิธีเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ Business Disruption ดังที่กล่าวมาตั้งแต่เนิ่น ๆ ที่นอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้แล้ว ยังช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจได้ด้วย