ผมมีคำถามสัมภาษณ์ 3 ข้อที่ใช้ถามคนที่มาฝึกงานเป็นประจำ 3 ข้อนั้นคือ
คำถามข้อที่ 1
“คุณทะเลาะกับคนอื่นครั้งสุดท้ายเมื่อไร? เพราะอะไร?”
เมื่อได้คำตอบแล้ว จะถามต่อว่าแล้วคุณแก้ไขยังไง? คำถามนี้จะช่วยให้คุณเลือกพนักงาน เพื่อช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เพราะคำถามนี้สามารถเห็นคุณสมบัติหลายอย่าง อย่างแรก คือ “ความซื่อสัตย์” หรือ “Honesty” หลายท่านอาจจะแปลกใจว่า คำตอบที่ผมได้รับในการสัมภาษณ์บ่อยมาก คือ “ไม่ค่อยทะเลาะกับใคร” ซึ่งทั้งท่านและผมก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่ไม่เคยมีข้อขัดแย้ง มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่อมีคนหมู่มาก ย่อมมีการอิจฉา หรือแย่งทรัพยากรเป็นธรรมดา อีกอย่างคนที่ไม่เคยทะเลาะกับใคร ผมก็คงไม่อยากให้มาร่วมงานด้วยเท่าไร เพราะการมีจุดยืนมีผลพลอยตามมาด้วย นั้นคือคนที่มีจุดยืนต่างกัน เช่น คนที่มีจุดยืนในเรื่องความตรงต่อเวลากับคนที่ไม่มีจุดยืนนี้ เป็นต้น
สอง คือ “ความเป็นมืออาชีพ” หรือ “Professionalism” อีกหลายครั้งที่ได้คำตอบว่า ทะเลาะกับแฟนมา เขานอกใจหนู หนูจับได้ ทะเลาะกับกิ๊กของแฟน ทะเลาะกับแม่ เพื่อนยืมตังค์ไม่คืน เป็นต้น ถึงแม้ในโลกธุรกิจจะมีทั้งงานผสมกับเรื่องส่วนตัวได้มากขึ้น และผมก็ชอบที่รู้ถึงสารทุกข์สุกดิบของพนักงาน ใครแต่งงานเมื่อไร ลูกเป็นอย่างไร สงกรานต์ไปเที่ยวไหน แต่คงเป็นสิ่งที่ “ไม่เหมาะ” กับการสัมภาษณ์งาน อย่างน้อยก็ควรจะแยกแยะความเป็นมืออาชีพออกมา
สาม คือ “สติ” ผู้สัมภาษณ์บางคนเงียบไป 2 นาที บางคนขอเวลาคิด บางคนขอเวลารวบรวมคำพูด โดยการอ้างว่าไม่อยากพาดพิงถึงบุคคลที่สาม คำถามแบบนี้ไม่มีใครตอบได้อย่างเพอร์เฟคหรอกครับ รวมถึงตัวผมเองด้วย (ผมเคยถูกถามด้วยเช่นกัน) ต้องใช้ “สติ” ในการเรียบเรียงคำพูดเพื่อให้เป็นความจริง และไม่บวกไม่ลบจนเกินไป ส่วนใหญ่ผู้ถูกสัมภาษณ์จะพูดจาคล่องแคล่วก่อนมาเจอคำถามนี้ เพราะเตรียมคำตอบมาจากบ้านแล้ว คำถามนี้จะทดสอบว่าสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างไร
อย่างที่สี่ ซึ่งเป็นอย่างสุดท้าย คือ “ไหวพริบ” คนที่ตอบคำถามนี้ได้ดี และผ่านการสัมภาษณ์ เป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ ตอบอย่างตรงไปตรงมา มีความเป็นมืออาชีพ รับผิดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน มีสติในการขอเวลาคิดคำตอบไม่เงียบนานเกินไป คำพูดไม่พุ่งพล่านออกจากปาก แล้วยังมีไหวพริบในการแก้ปัญหา คือ บอกวิธีแก้ปัญหา หรือเยี่ยมกว่านั้น คือ “การป้องกันปัญหาครั้งหน้า” ก่อนถูกผมถามต่อด้วยซ้ำ คำตอบที่ผมคิดว่าเหมาะสมและอยากให้มาร่วมงาน ก็น่าจะตอบประมาณว่า “การสื่อสารในองค์กรไม่ชัดเจน ทำให้เข้าใจผิดพลาด ทำให้ลูกค้าเสียหาย ปัญหาเกิดมาจากคู่กรณีของเราทั้งสองคนด้วย และโครงสร้างขององค์กร มีหลายแผนก มีหลายหัวหน้างาน จึงไม่มีข้อมูลกลาง ดิฉันจึงตัดสินใจปรึกษาหัวหน้าและช่วยกันสร้าง Committee ขึ้นมา เพื่อเป็นสร้างความเข้าใจในตัวงานร่วมกัน สำหรับการทำงานครั้งต่อไป จะได้มีข้อมูลที่ไม่คลาดเคลื่อนกันค่ะ” เป็นต้น
คำถามข้อที่ 2
“ถ้าผมเจออาจารย์สมัยมหาวิทยาลัยหรือมัธยมของคุณ กับเจ้านายเก่าคุณ แล้วผมถามเขาว่าคุณเป็นคนอย่างไร? คุณคิดว่าผมจะได้คำตอบประมาณไหนครับ?”
อาจจะดูยาว ยาก ดุ แต่ในบรรยากาศจริงแล้วไม่เป็นอย่างนั้น จุดประสงค์ก็คือ หนึ่ง “ตรรกะ” (Logic) ธรรมชาติของคำถามคือ อยากให้เปรียบเทียบระหว่าง อดีตอันไกลกับอดีตอันใกล้ ถ้าใช้ตรรกะก็จะสามารถตอบได้ง่าย โดยการเปรียบเทียบว่า สมัยนักเรียนเป็นอย่างไรและสมัยที่ทำงานครั้งสุดท้ายเป็นอย่างไร แล้วมาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของตัวเองได้
สอง คือ “การเจริญเติบโต” (Growth) โดยปกติคนเราเวลาผ่านไป 10 ปีต้องมีเรื่องที่พัฒนาขึ้นบ้าง ข้อดีที่เคยมีสมัยนักเรียนก็ต้องดีขึ้น ข้อเสียที่เคยมีสมัยเด็กก็ควรจะมีน้อยลง ในขณะเดียวกัน
สาม คือ “ความเสมอต้นเสมอปลาย” (Consistency) เพราะใน 10 ปี เรื่องบางเรื่องก็ยังไม่เปลี่ยน จุดแข็งที่เคยมีสมัยเรียน ภาวะผู้นำ ความสามารถในการวิเคราะห์ ก็ควรจะมีการถูกทดสอบในสิ่งแวดล้อมหลายองค์กร ทั้งภาคการศึกษาและบริษัท
สี่ คือ “การรู้จักตน” (Self-Awareness) รู้จักตนเองทั้งจุดเด่น จุดด้อย ของตนเองอย่าลำเอียง ทั้งในสายตาตนเองและสายตาคนอื่น
คำถามข้อที่ 3
“มีคำถามอะไรสำหรับเราไหมครับ? เกี่ยวกับบริษัทหรือสินค้าหรืออะไรก็ได้ครับ”
ทดสอบ “ความสนใจ” (Interest) ไม่ว่ายังไงก็ควรจะถามและควรมีความกล้าที่จะถาม ถ้าเขาถามเกี่ยวกับสินค้า อนาคตของบริษัทก็เห็นได้ว่าทำการบ้านมาแล้วบ้าง และสนใจอนาคต สนใจบริษัทมากกว่าตัวเอง ทดสอบในสิ่งที่เขาสนใจ เคยมีคนถามผมว่าโรงงานปล่อยน้ำเสียเท่าไร และเราบำบัดอย่างไร เพราะเธอสนใจในสิ่งแวดล้อม และหมู่บ้านที่เธออยู่เคยโดนรังแก โดยโรงงานที่ไม่แคร์ในเรื่องเหล่านี้ ผมตอบเธอทั้งหมด ถึงปณิธานการเป็นโรงงานสีเขียว และการเป็น “Conscious Company” หรือบริษัทที่ตระหนักถึงส่วนรวม สรุปเธอสัมภาษณ์ผมนานกว่าผมสัมภาษณ์เธอซะอีก
หวังว่า ตัวอย่างคำถาม 3 ข้อนี้เป็นคำตอบว่า “การเลือกพนักงานให้มาช่วยเสริมความสำเร็จขององค์กร” คืออะไรนะครับ