กระแสเกิร์ลกรุ๊ป BNK48 ที่สร้างปรากฏการณ์คุกกี้เสี่ยงทาย “แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ” จนเป็นที่รู้จักกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง และทำให้เหล่าเมมเบอร์สาว วัยใส ดูน่ารักแตกต่างกันในหลากหลายบุคลิก ได้ออกมาโชว์ตัวให้ทุกคนได้รู้จักกันมากขึ้น ไม่ว่าจะตามงานคอนเสิร์ต งานกีฬา งานเปิดตัวสินค้า และงานโฆษณา ซึ่งพวกเธอคงดังระเบิดไปไม่ได้เลย หากขาดกลุ่มคนเบื้องหลังอย่างแฟนคลับที่คอยสนับสนุนในทุกด้าน หรือที่เราเรียกกันว่า “โอตาคุ”
โอตาคุ หรือ “โอตะ” มาจากภาษา
ญี่ปุ่น หมายถึง “กลุ่มคนที่ชอบและคลั่งไคล้สิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมาก” แม้เดิมทีคำว่า โอตาคุ จะให้ความหมายในแง่ลบ สื่อถึงภาพลักษณ์ของผู้ชายสวมแว่น ชอบหมกมุ่นกับความชอบเกี่ยวกับ
เกม การ์ตูน และโลกส่วนตัวจนดูแปลกแยก แต่ทุกวันนี้ ต้องบอกว่าความเป็นโอตาคุมีหลายระดับมาก ไม่ว่าชายหรือหญิง หากคุณคลั่งไคล้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาก ๆ จนเข้าขั้นแฟนพันธุ์แท้ ก็ดูเหมือนจะถูกนิยามให้เป็นโอตะได้ง่าย ๆ
ถ้ามองในแง่ของธุรกิจ กลุ่มโอตะก็คงไม่ต่างจาก “Brand Loyalty” กลุ่มอื่น ๆ ซึ่งเชื่อมั่นในสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ คลั่งไคล้ จนกลายเป็นความภักดีต่อตราสินค้า และพร้อมจ่ายเพื่อให้ได้สนับสนุนสิ่งที่พวกเขารัก โอตะจึงอาจกลายเป็นโอกาสใหม่ของวงการธุรกิจที่สามารถจับทิศทาง
การตลาดของพวกเขาได้
สังเกตว่า หลังจากกระแส BNK48 ดังเปรี้ยง ก็มีหลายธุรกิจที่เริ่มจับเอาเหล่าเมมเบอร์มาเป็นพรีเซนเตอร์ ทั้ง
ทีมช้างศึก ยาโยอิ แลคตาซอย หรือ
FUJIFILM รวมถึงการถ่ายแบบทำโฟโต้บุ๊กและถ่ายกรุ๊ปช็อตลงในนิตยสารหลายหัว ช่วยกระตุ้นยอดขายสื่อสิ่งพิมพ์ เพิ่มมูลค่าให้กลายเป็นแรร์ไอเทมที่โอตะไทยทุ่มเงินจ่ายกันไม่อั้น ดังนั้น ทุกธุรกิจที่รีบคว้า BNK48 มาเป็นพาร์ตเนอร์ในช่วงนี้ ถือเป็นการลงทุนที่น่าจะคุ้มค่าทีเดียว เพราะไม่ว่าสาว ๆ จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางไหน กลุ่มโอตะที่มีศักยภาพในการจับจ่ายก็พร้อมควักกระเป๋า
เปย์กันเต็มที่
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ความสำเร็จในการหันมา
ทำการตลาดกับโอตะของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ เป็นผลลัพธ์อันชาญฉลาดของบริษัทต้นสังกัดอย่าง
48 Official ซึ่งวางกลยุทธ์การตลาดได้อย่างเหนือชั้น ได้แก่
1. เน้นการนำเสนอที่ดึงดูดใจ สำคัญกว่ารูปลักษณ์ภายนอก มีการคัดเลือกสมาชิกหลัก (เซ็นบัตสึ) ไม่สนับสนุนการศัลยกรรมและการถ่ายภาพแนวเซ็กซี่ เมมเบอร์แต่ละคนจึงมีความน่ารักและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างความโดดเด่นด้วยความสามารถ และการยอมรับจากกลุ่มแฟนคลับ
2. เพิ่มมูลค่าให้แบรนด์ด้วยการสร้างวัฒนธรรมเฉพาะตัวเช่น ห้ามสาว ๆ BNK48 มีแฟน เพื่อรักษาฐานแฟนคลับ และห้ามถ่ายรูปกับแฟนคลับเด็ดขาด แต่จะเปิดให้แฟนคลับซื้อบัตรถ่ายรูป เพื่อให้การถ่ายรูปกับสาว ๆ แต่ละครั้งเป็นโอกาสที่พิเศษ มีคุณค่า
3. เปลี่ยนซีดีเพลงและสินค้าที่ระลึกให้เป็นของหายาก โดยการไม่วางจำหน่ายตามแผงทั่วไป แต่จะเปิดให้สั่งจองในรูปแบบ Limited Edition ซึ่งมักพ่วงมากับบัตรจับมือศิลปิน ดึงให้โอตะเข้ามามีส่วนร่วมกับศิลปิน รวมทั้งใช้ระบบกาชา (Gacha) หรือการสุ่มว่าแฟนคลับที่ซื้อสินค้าของ BNK48 จะเปิดได้ศิลปินที่ตนชื่นชอบหรือไม่ ถ้ายังไม่ได้ที่ตรงใจ แฟนคลับก็พร้อมจะจ่ายเพิ่มเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้สินค้าชิ้นพิเศษที่เกี่ยวข้องกับศิลปินคนโปรด
4. กลุ่มเป้าหมายคือผู้ผลิตคอนเทนต์ (User Generated Content) เพราะโอตะไม่เพียงเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดในการสนับสนุนตัวศิลปินให้โด่งดังเท่านั้น แต่ความคลั่งไคล้ของโอตะยังกลายเป็นพลังสำคัญในการสร้างคอนเทนต์ดี ๆ ให้แก่ศิลปินอย่างมหาศาล ตลอดจนผนึกกลุ่มแฟนคลับให้ร่วมกันโปรโมทศิลปินคนโปรดได้ด้วย
5. จับมือพาร์ตเนอร์ในการผลิตสื่อ และโปรโมทผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งโซเชียลมีเดีย รายการโทรทัศน์ สื่อโฆษณา แบรนด์สินค้า ทำให้ชื่อเสียงของ BNK48 กระจายออกไปในวงกว้าง และเหล่าโอตะก็จะตามไปให้กำลังใจสาว ๆ รวมถึงสนับสนุนธุรกิจนั้น ๆ อย่างไม่ขาด อีกทั้งสามารถดึงกลุ่มโอตะหน้าใหม่เข้ามาสนับสนุนได้อีกไม่น้อยเลย
กระแสนิยม BNK48 ในเมืองไทยจะไปได้ไกลขนาดไหน คงต้องจับตาดูกันต่อไปอีกยาว ๆ แต่ถ้าธุรกิจไหนอยากจับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับโมเดลธุรกิจของสาว ๆ BNK48 ก็คงต้องกล้าเสี่ยงทำการตลาดกับโอตะกันในช่วงเวลานี้แหละ เพราะพวกเธอกำลังมาแรงกันจริง ๆ เพียงแค่เอ่ยชื่อ BNK48 โอตะทั่วเมืองไทยก็ตบกระเป๋าเตรียมพร้อมเปย์ทันที