6 ข้อต้องรู้! ในการตั้งงบแต่งงานไม่ให้บานปลาย

6 ข้อต้องรู้! ในการตั้งงบแต่งงานไม่ให้บานปลาย

By Krungsri Plearn Plearn
ความรักอาจไม่ใช่เรื่องของเงินทอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแต่งงานและการสร้างครอบครัวนั้นต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยเลยล่ะครับ การวางแผนแต่งงานและการตั้งงบแต่งงานจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคู่รักทุกคู่ที่ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน เพราะทุกขั้นตอนล้วนมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมให้พร้อม โดยเริ่มจากการตั้งงบก่อนแต่งงาน ทั้งค่าใช้จ่ายระยะสั้นอย่างการจัดงานแต่งงาน และค่าใช้จ่ายระยะยาวหลังจากเป็นครอบครัวเดียวกัน

แต่วันนี้เราจะมาโฟกัสกันที่ค่าใช้จ่ายระยะสั้นหรือให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ การตั้งงบแต่งงานนั่นเองล่ะครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่อาจต้องใช้เวลาเก็บออมกันล่วงหน้าหลายปีเลยทีเดียว
 

1. ตั้งงบแต่งงานไว้ บนความต้องการที่เป็นไปได้

การแต่งงาน ไม่ว่าจะงานเล็กหรืองานใหญ่ก็ต้องมีการ “ตั้งงบแต่งงาน” ไว้ก่อนเพื่อให้เราได้วางแผนล่วงหน้าซึ่งจะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้บานปลาย และทำให้เรารู้ตัวว่าแต่ละเดือนทั้งคู่ต้องเก็บเงินเท่าไหร่เพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้น ต้องใช้เวลาเก็บเงินกี่ปี โดยแนะนำว่าในขั้นตอนนี้ควรคุยกันเพื่อให้ทราบความต้องการและ “ความคาดหวัง” ของกันและกันว่าจะต้องตั้งงบแต่งงานเท่าไร จึงจะพอสำหรับคุณทั้งคู่
ตัวอย่างเช่น เมื่อเราได้คุยกันเรื่องความคาดหวังของแต่ละฝ่ายแล้ว จึงตั้งงบแต่งงาน กางแผนค่าใช้จ่ายและรายได้ออกมา เช่น เราตั้งงบแต่งงานไว้ว่า จะจัดงานที่เชิญแขกไม่เกิน 200 คน ไม่ใช้ออแกไนเซอร์ มีเงินช่วยเหลือสมทบจากผู้ใหญ่บ้าง แผนค่าใช้จ่ายในงานแต่งที่ได้หน้าตาจะออกมาประมาณนี้ครับ
Wedding Budget
  Estimated Actual
รายได้    
เงินที่ทั้งคู่ตั้งใจจะเก็บ/ เดือน ฿ 10,000  
เงินสมทบจากผู้ใหญ่ (ถ้ามี) ฿ 100,000  
คำนวณระยะเวลาที่ต้องเก็บเงิน 3.3 ปี  
รวมรายได้ 500,000  
ค่าใช้จ่ายทั้งหมด    
ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 500,000  
การแต่งกายตามธรรมเนียม    
แหวนแต่งงาน 50,000  
ชุดพิธีหมั้น เจ้าสาว เจ้าบ่าว 15,000  
ชุดงานแต่ง เจ้าสาว เจ้าบ่าว 15,000  
ชุดเพื่อนเจ้าสาว เพื่อนเจ้าบ่าว 10,000  
ของประดับตกแต่งเจ้าสาว อื่น ๆ 5,000  
เครื่องประดับ -  
ช่างแต่งหน้า 10,000  
ช่างทำผม 10,000  
Other    
Total Apparel ฿ 115,000  
 
ค่าจัดงาน    
ค่าออแกไนเซอร์ -  
ของประดับตกแต่งงาน (ไม่รวมดอกไม้) 30,000  
การ์ดเชิญ 10,000  
ค่าดีไซน์การ์ดเชิญ -  
ค่าเช่าสถานที่ และอาหารในงาน 100,000  
เค้กงานแต่ง 5,000  
ค่าที่พักให้แขกผู้ใหญ่ 1 คืน x 20 คน 30,000  
ค่าของชำร่วยแจกแขก 200 คน 35,000  
ค่าช่างภาพ (pre-wedding/ on set) 30,000  
ค่าตัดต่อวิดีโองานแต่ง 5,000  
ค่าของรับไหว้ งานเช้า 5,000  
ค่าดอกไม้และจัดดอกไม้ในงาน 30,000  
ค่าดนตรี นักร้อง 30,000  
ค่าช่างเสียง อุปกรณ์เสียง 25,000  
เงินสำรอง 50,000  
Total Decorations ฿ 385,000  
จะเห็นได้ว่า เมื่อตั้งงบแต่งงานไว้แล้ว ทั้งคู่ต้องใช้เวลาเก็บเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในงานแต่งประมาณ 3.3 ปี โดยเก็บเฉลี่ยเท่ากันทุกเดือน เดือนละ 10,000 บาท (เท่ากับเก็บเงินคนละ 5,000 บาทต่อเดือน) ซึ่งในแผนนี้ ในช่องค่าใช้จ่ายควรมีค่าใช้จ่ายสำรองด้วย เผื่อไว้ในยามฉุกเฉินหน้างาน ซึ่ง Template นี้จะมีช่อง Estimated คือการประมาณค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น เพื่อบริหารเงินไม่ให้งบแต่งงานเกินจากที่ตั้งไว้ และมีช่อง Actual ให้เราได้กรอก คือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงครับ ซึ่งช่องรายได้ใน Template นี้จะยังไม่ใส่รายได้จากค่าซองงานแต่งและรายจ่ายที่เป็นค่าสินสอดครับ
สามารถดาวน์โหลดไฟล์ Template การตั้งงบแต่งงานและวางแผนค่าใช้จ่ายงานแต่ง ได้ง่าย ๆ และนำไฟล์มาปรับแต่งรายละเอียดให้เข้ากับงานของคุณบนโปรแกรม Microsoft Excel ได้ครับ
ส่วนใครที่มีความจำเป็นต้องเร่งให้การแต่งงานเร็วขึ้น บางคนอาจมองหาสินเชื่อส่วนบุคคล แนะนำให้ยื่นกู้กับสินเชื่อที่ได้ดอกเบี้ยต่ำ และไม่ยุ่งยากในการสมัครครับ เช่น สินเชื่อ Krungsri iFIN ที่สามารถยื่นกู้ได้ง่ายผ่านมือถือ และได้วงเงินสูงสุดถึง 5 เท่าของรายได้

2. ควรมีบัญชีเก็บเงินงานแต่งโดยเฉพาะ

เมื่อตั้งงบแต่งงานแล้ว การเก็บเงินคือขั้นตอนสำคัญที่สุดที่จะทำให้งานแต่งเป็นไปได้ ช่องทางการเก็บเงินเป็นงบงานแต่งจึงควรแยกบัญชีออกมาต่างหาก อาจเป็นบัญชีออมทรัพย์ เพราะมีสภาพคล่องมากกว่า เผื่อเบิกถอนออกมาจ่ายค่ามัดจำต่าง ๆ ในงานแต่ง และควรเป็นบัญชีที่ต้องใช้ลายเซ็นทั้งคู่ในการถอนเงินครับ

3. คอนเนคชั่น = สปอนเซอร์

หลายคนพบว่า คอนเนคชั่นเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแต่งงาน หรือช่วยทำให้งานออกมาตรงตามความต้องการมากขึ้น เช่น การมีเพื่อนเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ที่สามารถช่วยออกแบบการ์ดเชิญให้ในราคาประหยัด การมีเพื่อนรู้จักช่างภาพเวดดิ้งที่มีฝีมือและคุณภาพสมราคา การมีเพื่อนรู้จักออแกไนเซอร์ที่รับจัดงานเล็ก ๆ หรือจัดดอกไม้งานแต่ง หรือการที่เรารู้จักช่างแต่งหน้าทำผมฝีมือดี เป็นต้น

4. แยกงานผู้ใหญ่ กับงานเด็ก

ต้องยอมรับครับว่า งานแต่งงานเป็นความคาดหวังของคนหลายฝ่าย ไม่ใช่แต่เฉพาะเจ้าบ่าวเจ้าสาวอย่างเดียว การตั้งงบแต่งงานจึงต้องคิดถึงความต้องการของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายด้วย ซึ่งความคาดหวังเหล่านี้อาจทำให้งบงานแต่งงานบานปลาย จึงเริ่มมีคนนิยม “จัดงานหมั้นเช้า จัดงานแต่งบ่าย” เพื่อแยกกลุ่มแขกเหรื่อในงาน ให้งานเช้าเป็นงานที่ให้เกียรติผู้ใหญ่ให้มาเป็นสักขีพยาน ส่วนงานบ่ายก็เป็นงานที่เพื่อนของคู่บ่าวสาวได้ปาร์ตี้กันไป ด้วยบรรยากาศที่เรียบง่ายแต่เป็นกันเอง ซึ่งหลายครั้งจะพบว่าการจัดงานแนวนี้ช่วยประหยัดงบในการแต่งงานไปเยอะเลยครับ

5. เซฟค่าอาหารในงาน อย่ามองผ่าน ‘สตรีทฟู้ด’

สตรีทฟู้ดบ้านเราบางร้านเป็นระดับมิชลินสตาร์ แถมได้รับการยกย่องจากต่างชาติว่าเด็ดสุด ๆ การจัดงานแต่งแบบเน้นสตรีทฟู้ด ช่วยให้เราได้คัดสรรอาหารจากร้านที่น่าทานและรสชาติดีจริง ๆ รวมกันสักไม่เกินสิบร้านก็น่าจะสร้างความพึงพอใจให้แขกในงาน และประหยัดค่าใช้จ่ายในงานแต่งได้มากกว่าโต๊ะจีนครับ

6. งานเล็กหรือใหญ่ ก็ทำให้ ‘ประทับใจ’ ได้

สังเกตไหมครับ ความเล็กหรือใหญ่ของงาน ไม่ได้เป็นตัววัดความประทับใจที่เรามีต่องานนั้น ๆ เสมอไป บางครั้งเราไปงานแต่งเพื่อนที่จัดขึ้นเล็ก ๆ แต่บรรยากาศเป็นงานแต่งในฟาร์มสเตย์เก๋อย่าบอกใคร มีแขกไม่เกินสามสิบคน แต่ก็จัดออกมาให้ดูอบอุ่นประทับใจจนอยากบอกต่อ หากเราเน้นจัดงานเล็ก อาจทำให้ควบคุมบรรยากาศของงานและตั้งงบแต่งงานได้ง่ายกว่า โดยอาจจะไม่ต้องอาศัยวิดีโอพรีเซนเทชั่นใด ๆ เลยก็ได้
สำหรับคู่รักที่กังวลว่า จัดงานแต่งงานต้องใช้งบเท่าไหร่ และควรจะตั้งงบแต่งงานอย่างไรจึงจะครอบคลุม เพราะคุณอาจมีงบในส่วนนี้ไม่มากนัก อาจต้องลดค่าใช้จ่ายในบางส่วนที่สามารถประหยัดได้ เช่น การเลือกสถานที่จัดงานในสวนหรือร้านอาหาร แทนการจัดงานในโรงแรมที่มีราคาสูง วางแผนล่วงหน้าเพื่อจัดงานด้วยตนเองโดยไม่ต้องจ้างออแกไนเซอร์ เน้นเชิญครอบครัวและเพื่อนสนิทมาร่วมงาน อย่านำเงินก้อนไปทุ่มเทกับการจัดงานแต่งงานครั้งเดียวจนหมด
เพราะแม้ว่าการแต่งงานจะเป็นวาระสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ที่สำคัญกว่าคือภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวหลังการแต่งงาน
เมื่อคู่รักกลายเป็นครอบครัว ยิ่งถ้ามีสมาชิกตัวน้อยเพิ่มขึ้นมาด้วยแล้ว นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในทุกส่วน นอกจากจะตั้งงบแต่งงานแล้วก็ต้องไม่ลืมที่จะวางแผนการเงินให้รอบคอบตั้งแต่ก่อนแต่ง เพราะในระยะยาวยังต้องมีค่ารถคันใหม่หรือบ้านหลังใหม่ ค่าเทอมของลูกที่เพิ่มเข้ามา รวมถึงค่ารักษาพยาบาลเมื่อลูกเจ็บป่วยครับ

Credit: decor.mthai, the money case by the money coach, wedding-campus
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow