หากจะหยิบยกความสำเร็จของงานแฟร์ระดับโลกขึ้นมาพูดคุยสักงานหนึ่ง งาน BIOFACH (บิโอฟาค) น่าจะเป็นงานแรก ๆ ที่ถูกกล่าวถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะในขณะที่สินค้าออร์แกนิคเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร เมื่อโลกมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น รวมถึงความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรดิน น้ำ และอากาศ งานแฟร์แสดงสินค้าอย่างบิโอฟาคจึงพัฒนาตัวเองสู่การเป็นแพลตฟอร์มออร์แกนิคที่เชื่อมโยงทุกมิติของเกษตรอินทรีย์เข้าไว้ด้วยกัน
Credit: Pexel.com
กลับมาที่เทรนด์สุขภาพ ในชั่วโมงนี้ความนิยมของการมี
สุขภาพดีได้ยึดโยงเข้ากับสินค้าออร์แกนิค ได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ความอิ่มตัวในการบริโภคอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบซึ่งคาดว่าน่าจะปนเปื้อนสารเคมีนั้น ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์เปล่งประกายขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
ย้อนกลับไปราว 27 ปีก่อนบิโอฟาคออกเดินทางด้วยภาพลักษณ์งานแฟร์เล็ก ๆ ในเมืองเนิร์นแบร์ก ประเทศเยอรมนี ในชื่อ เนิร์นแบร์ก เมสเซ่ (Nurnberg Messe) ก่อนจะกลายเป็นผู้นำเทรนด์ออร์แกนิคโลกในเวลาต่อมาด้วยชื่อ บิโอฟาค ซึ่งความสำเร็จดังกล่าว ไม่ได้มาจากการวางตัวเป็นออแกไนเซอร์เพียงอย่างเดียว
จริงอยู่ที่เทรนด์สุขภาพมาแรงจนฉุดไม่อยู่ โลกเราสะดวกสบายมากขึ้น คนเราก็อยากมีชีวิตอยู่ยาวนานมากเท่าที่จะมากได้ สินค้าออร์แกนิคในปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวม 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 3,436,295 ล้านบาท) แต่สิ่งที่บิโอฟาคดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนั้นคือ การทำให้โลกใบนี้เข้าใจเกษตรอินทรีย์อย่างที่ควรจะเป็น มาคุส รีทซ์ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายงานสินค้าระหว่างประเทศ บริษัท เนิร์นแบร์ก แมสเซ่ เผยกับสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจว่า เรื่องออร์แกนิคและอาหารปลอดภัยนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องอุดมคติ แต่เราจะทำให้เกิดขึ้นจริง ดังนั้น สิ่งที่เนิร์นแบร์ก แมสเซ่ทำจึงเป็นเหมือนปรัชญาของเกษตรอินทรีย์ที่หวังให้เรื่องดังกล่าวขับเคลื่อนไปอย่างถูกต้อง บนความเข้าใจเดียวกัน และเป็นมาตรฐานที่ยอมรับกันได้ทั่วโลก
Credit: Pexel.com
ในการจัดงานแต่ละครั้ง จากการขยายแพลตฟอร์มออกนอกเยอรมนีไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั้งบราซิล อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
งานแฟร์สุดอินเทรนด์งานนี้จะคราคร่ำไปด้วยคนในแวดวงออร์แกนิคทุกด้าน ทั้งผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ซื้อ ผู้บริโภค รวมถึงการเปิดพื้นที่เพื่อให้นักวิชาการมาให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งยังสร้างการจับคู่ธุรกิจให้เกิดขึ้นจากการพบปะ เจรจา แลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ ๆ กันในงาน เกิดเป็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องในฐานะพันธมิตรด้วย ซึ่งหลาย ๆ งานที่ผ่านมานั้น มีผู้คนให้ความสนใจเข้าร่วมชมงานกว่าแสนราย และในปี 2018 บิโอฟาคขยับเข้าหากลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้นด้วยหัวข้อสัมมนาที่หวังให้คนเจเนอเรชั่นนี้ พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่หรือสตาร์ทอัพจากกลุ่มธุรกิจออร์แกนิคในรูปแบบต่าง ๆ
โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมานำเทรนด์ออร์แกนิคไปสู่ผู้คนในวงกว้าง รวมถึงการบริหารจัดการและพัฒนาธุรกิจดังกล่าว ไปจนถึงนวัตกรรมอาหารที่กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวต่อเทรนด์และเทคโนโลยีใหม่ของโลกออร์แกนิค
ปี 2018 เนิร์นแบร์ก แมสเซ่ ได้เพิ่มประเทศไทยเข้าไปเป็นประเทศที่ 7 ในการขยายแพลตฟอร์มการจัดงาน ด้วยศักยภาพในเรื่องสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติของไทยเติบโตสูงขึ้นทุกปีและสามารถก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านเกษตรอินทรีย์แห่ง
อาเซียนได้ ซึ่งภาครัฐอย่างกรมการค้าภายในมองว่า จะส่งผลดีต่อตลาดออร์แกนิคในไทยอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสินค้าประเภทนี้ต่อตลาดในประเทศ ให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงความแตกต่างและคุณค่าของสินค้าเกษตรอินทรีย์ เมื่อเกิดความเข้าใจที่ดีแล้ว ความต้องการของตลาดก็จะเพิ่มมากขึ้นตาม ขณะเดียวกัน ความใกล้ชิดกับ
ตลาดโลกที่มากขึ้นก็จะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านการผลิตของไทยให้เป็นที่ยอมรับได้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย